พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

คุหัฏฐกสูตรที่ ๒ ว่าด้วยผู้ข้องอยู่ในถ้ําคือกาย

 
บ้านธัมมะ
วันที่  14 พ.ย. 2564
หมายเลข  40205
อ่าน  533

[เล่มที่ 47] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 699

สุตตนิบาต

อัฏฐกวรรคที่ ๔

คุหัฏฐกสูตรที่ ๒

ว่าด้วยผู้ข้องอยู่ในถ้ำคือกาย


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 47]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 699

คุหัฏฐกสูตรที่ ๒

ว่าด้วยผู้ข้องอยู่ในถ้ำคือกาย

[๔๐๙] นรชนผู้ข้องอยู่ในถ้ำคือกาย ถูกกิเลสเป็นอันมากปกปิดไว้แล้ว ดำรงอยู่ด้วยอำนาจกิเลสมีราคะเป็นต้น หยั่งลงในกามคุณ เครื่องทำจิตให้ลุ่มหลง นรชนผู้เห็นปานนั้นแล เป็นผู้ไกลจากวิเวก เพราะว่ากามคุณทั้งหลายในโลก ไม่ใช่ละได้โดย ง่ายเลย.

กามคุณทั้งหลายมีความปรารถนาเป็นเหตุ เนื่องด้วยความยินดีในภพ เปลื้องออกได้โดยยาก คนอื่นจะเปลื้องออกให้ไม่ได้เลย นรชนทั้งหลายมุ่งหวังตามในอนาคตบ้าง ในอดีตบ้าง คร่ำครวญถึงกามเหล่านี้ ที่เคยมีแล้วบ้าง อันตนเปลื้องเองได้ยาก และคนอื่นก็เปลื้องให้ไม่ได้.

สัตว์เหล่านั้นยินดี ขวนขวาย ลุ่มหลงอยู่ในกามทั้งหลาย ไม่เชื่อถือถ้อยคำของบัณฑิตมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ตั้งอยู่แล้ว

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 700

ในธรรมอันไม่สงบ ถูกทุกข์ครอบงำแล้วย่อมรำพันอยู่ว่า เราจุติจากโลกนี้แล้ว จักเป็นอย่างไรหนอ.

เพราะเหตุนั้นแล สัตว์พึงศึกษาไตรสิกขาในศาสนานี้แหละ พึงรู้ว่าสิ่งอะไรๆ ในโลกไม่เป็นความสงบ ไม่พึงประพฤติความไม่สงบเพราะเหตุแห่งสิ่งนั้น นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวชีวิตนั้นว่าเป็นของน้อยนัก.

เราเห็นหมู่สัตว์นี้ ผู้เป็นไปในอำนาจ ความอยากในภพทั้งหลาย กำลังดิ้นรนอยู่ในโลก นรชนทั้งหลายผู้เลวทรามย่อมบ่น เพ้ออยู่ในปากมัจจุราช นรชนเหล่านั้น ยังไม่ปราศจากความอยากในภพและมิใช่ภพทั้งหลายเลย.

ท่านทั้งหลายจงดูชนทั้งหลายผู้ถือว่า สิ่งนั้นๆ เป็นของเรา กำลังดิ้นรนอยู่ เหมือนปลาในแอ่งน้ำน้อยมีกระแสขาดสิ้นแล้วดิ้นรนอยู่ ฉะนั้น นรชนเห็นโทษแม้นั้นแล้ว ไม่พึงประพฤติเป็นคนถือว่าสิ่งนั้นๆ เป็น

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 701

ของเรา ไม่กระทำความติดข้องอยู่ในภพทั้งหลาย.

พึงกำจัดความพอใจในที่สุดทั้งสอง (มีผัสสะและเหตุเกิดแห่งสัมผัสสะเป็นต้น) กำหนดรู้ผัสสะแล้วไม่ยินดีในธรรมทั้งปวงมีรูปเป็นต้น ติเตียนตนเองเพราะข้อใด อย่าทำข้อนั้น เป็นนักปราชญ์ไม่ติดอยู่ในรูปที่ได้เห็นและเสียงที่ได้ฟังเป็นต้น.

กำหนดรู้สัญญาแล้ว พึงข้ามโอฆะเป็นมุนี ไม่ติดอยู่ในอารมณ์ที่ควรหวงแหน ถอนลูกศรคือ กิเลสออกเสีย ไม่ประมาทเที่ยวไปอยู่ ย่อมไม่ปรารถนาโลกนี้และโลกหน้า ฉะนี้แล.

จบคุหัฏฐกสูตรที่ ๒

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 702

อรรถกถาคุหัฏฐกสูตรที่ ๒

คุหัฏฐกสูตร มีคำเริ่มต้นว่า สตฺโต คุหายํ นรชนผู้ข้องอยู่ในถ้ำคือกาย ดังนี้.

พระสูตรนี้มีการเกิดขึ้นอย่างไร?

มีเรื่องเล่าว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับ อยู่ ณ กรุงสาวัตถี ท่านปิณโฑลภารทวาชะ ได้ไปยังพระราชอุทยานของพระเจ้าอุเทน ชื่ออาวัฏฏกะ ใกล้ฝั่งแม่น้ำคงคาในกรุงโกสัมพี. อนึ่งท่านปิณโฑลภารทวาชะนี้แม้ในกาลอื่น ก็เคยเข้าไปพักผ่อนที่พระราชอุทยานนั้นบ่อยๆ เหมือนพระควัมปติเถระไปพัก ผ่อน ณ ดาวดึงส์พิภพฉะนั้น ข้อนี้มีนัยดังกล่าวแล้วในอรรถกถาวังคีสสูตร. ท่านปิณโฑลภารทวาชะนั้นนั่งพักกลางวัน ดื่มด่ำกับสมาบัติ ณ โคนต้นไม้ร่มเย็นใกล้ฝั่งแม่น้ำคงคานั้น.

ในวันนั้นพระเจ้าอุเทนเสด็จไปประพาสพระราชอุทยาน ทรงเพลิดเพลินอยู่ในพระราชอุทยาน ด้วยการฟ้อนรำขับร้องเป็นต้นตลอดวัน ทรงมึนเมาเพราะดื่มจัด บรรทมเอาเศียรหมุนบนตักของหญิงคนหนึ่ง. บรรดาหญิงนอกนั้นคิดว่าพระราชาบรรทมหลับแล้วจึงพากันลุกไปเก็บดอกไม้และผลไม้เป็นต้นในพระราชอุทยาน ครั้นเห็นพระเถระแล้วจึงตั้งหิริโอตตัปปะห้ามกัน เองว่าอย่าส่งเสียงดัง ค่อยๆ พากันเข้าไปไหว้แล้วนั่งห้อมล้อมพระเถระ พระเถระออกจากสมาบัติแสดงธรรมแก่หญิงเหล่านั้น. หญิงเหล่านั้นต่างชื่นใจตั้งใจฟังแล้วกล่าวว่า สาธุ สาธุ ดังนี้. หญิงคนที่นั่งเอาพระเศียรของพระราชาพาด

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 703

ตักคิดว่า แม่พวกเหล่านี้ทิ้งเราไปสนุกกัน เกิดริษยาในหญิงพวกนั้นจึงขยับขาให้พระราชาทรงตื่น. พระราชาครั้นทรงตื่นบรรทมไม่เห็นนางสนม รับสั่งถาม ว่า พวกหญิงถ่อยเหล่านี้หายไปไหน. หญิงนั้นทูลว่า พวกเขาพากันไปด้วยคิดว่า เราไม่สมอยากในพระทูลกระหม่อม จักไปรื่นรมย์กับสมณะ ดังนี้. พระราชานั้นทรงพิโรธได้เสด็จมุ่งหน้าไปหาพระเถระ. หญิงเหล่านั้นเห็นพระราชาบางพวกก็ลุกขึ้น บางพวกก็ไม่ลุกโดยทูลว่า ข้าเเต่มหาราช พวกหม่อมฉันจะฟังธรรมในสำนักของนักบวช. เมื่อหญิงเหล่านั้นทูลอย่างนั้น พระราชาทรงพิโรธหนักขึ้นด้วยความเมาไม่ไหว้พระเถระเลย ตรัสถามว่า ท่านมาเพื่ออะไร. พระเถระถวายพระพรว่า เพื่อความวิเวก มหาบพิตร. พระราชาตรัสว่า ท่านมาเพื่อความวิเวก นั่งให้พวกสนมแวดล้อมอยู่อย่างนี้แหละหรือ แล้วตรัสต่อไปว่า ท่านจงบอกวิเวกของท่านดูทีหรือ. พระเถระแม้ชำนาญในการกล่าวถึง วิเวกก็ได้นิ่งเสียด้วยคิดว่า พระราชานี้ตรัสถามประสงค์จะรู้ก็หามิได้. พระราชา ตรัสว่า หากท่านไม่บอก เราจะให้มดแดงกัดท่าน แล้วทรงเด็ดรังมดแดงที่ต้นอโศกต้นหนึ่งเรี่ยรายลงบนพระกายของพระองค์ทรงเช็ดพระกายแล้วเด็ดรังอื่นมุ่งหน้าไปหาพระเถระ. พระเถระคิดว่า หากพระราชานี้ประทุษร้ายเราก็จะพึงไปอบาย จึงอนุเคราะห์พระราชา เหาะขึ้นสู่อากาศด้วยฤทธิ์ไปแล้ว. หญิงทั้งหลายเหล่านั้นทูลว่า ข้าแต่พระทูลกระหม่อมพระราชาเหล่าอื่นเห็นบรรพชิต แล้วก็พากันบูชาด้วยดอกไม้และของหอมเป็นต้น พระองค์สิกลับไม่พอพระทัย โดยจะเอารังมดแดงไปบูชา ตระกูลวงศ์จะถึงความพินาศนะเพคะ. พระราชาทรงสำนึกโทษของพระองค์ จึงทรงนิ่งตรัสถามคนรักษาพระราชอุทยานว่า ใน

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 704

วันอื่นพระเถระยังจะมาในอุทยานนี้อีกไหม. คนรักษาพระราชอุทยานทูลว่า มาพระเจ้าข้า. พระราชาตรัสว่า ถ้าเช่นนั้นเจ้าจงบอกเราในเวลาที่พระเถระมา. วันหนึ่งเมื่อพระเถระมา คนเฝ้าพระอุทยานจึงทูลให้พระราชาทรงทราบ. พระราชาก็เสด็จเข้าไปหาพระเถระตรัสถามปัญหาแล้ว ได้ถึงสรณะตลอดชีวิต.

ก็ในวันที่พระเถระถูกพระราชาไม่ทรงพอพระทัยโดยเอารังมดแดงมาบูชา พระเถระเหาะไปทางอากาศแล้วดำลงไปในดินโผล่ขึ้น ณ พระคันธกุฎี ของพระผู้มีพระภาคเจ้า. ฝ่ายพระผู้มีพระภาคเจ้า มีพระสติสัมปชัญญะสำเร็จสีหไสยาโดยพระปรัศว์เบื้องขวา ทอดพระเนตรเห็นพระเถระแล้วตรัสถามว่า ดูก่อนภารทวาชะ เธอมาในเวลามิใช่กาลหรือ. พระเถระกราบทูลว่า ถูกแล้ว พระเจ้าข้า แล้วจึงกราบทูลเรื่องราวนั้นทั้งหมดให้ทรงทราบ. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสดับดังนั้นแล้วจึงตรัสว่า การพูดถึงเรื่องวิเวกแก่พระราชาผู้ยังต้องการกามคุณ จักมีประโยชน์อะไรดังนี้ ทรงบรรทมด้วยพระปรัศว์เบื้องขวานั่นแหละ ได้ตรัสพระสูตรนี้ เพื่อทรงแสดงธรรมแก่พระเถระ.

ในบทเหล่านั้นบทว่า สตฺโต คือผู้ข้อง. บทว่า คุหายํ ในถ้ำคือ ในกาย. จริงอยู่กายท่านเรียกว่าถ้ำ เพราะเป็นช่องให้สัตว์ร้ายมีราคะเป็นต้น อยู่. บทว่า พหุนาภิฉนฺโน ถูกกิเลสเป็นอันมากปกปิดไว้ คือ ถูกกิเลสมีราคะเป็นต้นเป็นอันมากปกปิดไว้. ด้วยบทนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถึงเครื่องผูกภายใน. บทว่า ติฏฺํ ตั้งอยู่คือตั้งอยู่ด้วยอำนาจกิเลสมีราคะเป็นต้น. บท ว่า นโร คือ สัตว์. บทว่า โมหนสฺมึ ปคาฬฺโห หยั่งลงในกามคุณ เครื่องทำจิตให้ลุ่มหลง ความว่า ท่านกล่าวกามคุณว่าเป็นเครื่องทำจิตให้ลุ่มหลง

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 705

เพราะเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายย่อมลุ่มหลงในกามคุณนี้ เป็นผู้หยั่งลงในกามคุณเหล่านั้น ด้วยบทนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถึงเครื่องผูกภายนอก. บทว่า ทูเร วิเวกา หิ ตถาวิโธ โส ความว่า นรชนเห็นปานนั้น เป็นผู้ไกลจากวิเวก ๓ มีกายวิเวกเป็นต้น. เพราะเหตุไร. เพราะกามทั้งหลายในโลกไม่ใช่ละได้โดยง่ายเลย. ท่านอธิบายว่า เพราะกามทั้งหลายในโลกเป็นสิ่งที่จะพึงละได้โดยง่ายมิได้มี.

พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงยกตัวอย่างให้เห็นว่า นรชนเห็นปานนั้นแล เป็นผู้ห่างไกลจากวิเวก ในคาถาต้นอย่างนี้แล้ว เมื่อจะทรงทำให้แจ้งถึงธรรมดาของสัตว์ทั้งหลายเห็นปานนั้นอีก จึงตรัสคาถาว่า อิจฺฉานิทานา กามคุณทั้งหลายมีความปรารถนาเป็นเหตุ ดังนี้เป็นต้น.

ในบทเหล่านั้น บทว่า อิจฺฉานิทานา คือมีตัณหาเป็นเหตุ. บทว่า ภวสาตพนฺธา เนื่องด้วยความยินดีในภพ คือเนื่องด้วยความยินดีในภพมีสุข เวทนาเป็นต้น. บทว่า เต ทุปฺปมุญฺจา สัตว์เหล่านั้นอันคนอื่นเปลื้องออกให้ไม่ได้เลย คือธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความยินดีในภพเหล่านั้น หรือสัตว์ทั้งหลายมีความปรารถนาเป็นเหตุเนื่องด้วยความยินดีในภพนั้นเหล่านั้นเปลื้องออกได้โดยยาก. บทว่า น หิ อญฺโมกฺขา คือคนอื่นไม่สามารถจะเปลื้องออกให้ได้. อีกอย่างหนึ่ง คำนี้เป็นคำแสดงการณะว่า สัตว์เหล่านั้นเป็นผู้ เปลื้องออกได้ยาก. เพราะเหตุไร. เพราะคนอื่นไม่พึงเปลื้องออกได้ ผิว่าคนอื่นพึงเปลื้องออกได้ ก็พึงเปลื้องได้ด้วยกำลังของตนเอง นี้เป็นอธิบายของบทว่า น หิ อญฺโมกฺขา นั้น. บทว่า ปจฺฉา ปุเร วาปิ อเปกฺขมานา คือนรชนทั้งหลายหวังกามทั้งหลาย ในอนาคตบ้าง ในอดีตบ้าง. บทว่า อิเมว กาเม ปุริเมว ชปฺปํ คร่ำครวญถึงกามเหล่านี้ที่เคยมีมาแล้ว

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 706

ความว่า ปรารถนากามเหล่านี้ที่เป็นปัจจุบัน หรือที่เคยมีมาแล้วแม้ทั้งสองอย่าง คืออดีตและอนาคต ด้วยตัณหาอันแรงกล้า. พึงทราบการเชื่อมบททั้งสองเหล่านี้กับด้วยบทนี้ว่า เต ทุปฺปมุญฺจา น หิ อญฺโมกฺขา ความว่า กามคุณทั้งหลายเปลื้องออกได้โดยยาก คนอื่นจะเปลื้องออกให้ไม่ได้เลย. นรชนทั้งหลายมุ่งหวังคร่ำครวญนอกเหนือไปจากนี้ไม่พึงประกาศว่า กำลังทำอะไร หรือทำอะไรแล้ว.

พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงยกตัวอย่างว่า ทูเร วิเวกา หิ ตถาวิโธ ในคาถาต้นอย่างนี้ และทรงทำให้แจ้งถึงธรรมดาของสัตว์ทั้งหลาย เห็นปานนั้น ด้วยคาถาที่สองแล้ว บัดนี้ทรงทำให้แจ้งถึงการกระทำบาปกรรมของสัตว์เหล่านั้น จึงตรัสคาถาว่า กาเมสุ คิทฺธา ยินดีในกามทั้งหลาย.

บทนั้นมีความดังต่อไปนี้. สัตว์เหล่านั้นยินดีในกามทั้งหลายด้วยอยากบริโภค ขวนขวายในกามทั้งหลาย เพราะขวนขวายในการแสวงหาเป็นต้น ลุ่มหลงอยู่ในกามทั้งหลาย เพราะถึงความลุ่มหลงพร้อม ไม่เชื่อถือถ้อยคำ เพราะไม่เชื่อถือถ้อยคำของบัณฑิตมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น เพราะความดูหมิ่น เพราะความตระหนี่ ตั้งอยู่ในธรรมอันไม่สงบ มีความไม่สงบทางกายเป็นต้น ถูกทุกข์คือความตายครอบงำในกาลสุดท้าย ย่อมรำพันอยู่ว่า เราจุติจากโลกนี้แล้ว จักเป็นอย่างไรหนอ. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า

เพราะเหตุนั้นแล สัตว์พึงศึกษาไตรสิกขาในศาสนานี้ พึงรู้ว่าสิ่งอะไรๆ ในโลกไม่เป็นความสงบ ไม่พึงประพฤติความไม่สงบเพราะเหตุแห่งสิ่งนั้น นักปราชญ์ทั้งหลาย กล่าวชีวิตนั้นว่า เป็นของน้อยนัก.

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 707

ในบทเหล่านั้น บทว่า สิกฺเขถ พึงศึกษา คือพึงศึกษาไตรสิกขา. บทว่า อิเธว คือในศาสนานี้แหละ. บทที่เหลือมีความง่ายทั้งนั้น.

บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงถึงความเสื่อมของสัตว์ ผู้ไม่ทำอย่างนั้น จึงตรัสคาถาว่า ปสฺสามิ เราเห็น ดังนี้เป็นต้น.

ในบทเหล่านั้น บทว่า ปสฺสามิ คือเราเห็นด้วยตาเนื้อเป็นต้น. บทว่า โลเก ในโลก ได้แก่ อบายเป็นต้น. บทว่า ปริปฺผนฺทมานํ คือกำลังดิ้นรนไปข้างโน้นข้างนี้. บทว่า ปชํ อิมํ คือหมู่สัตว์นี้. บทว่า ตณฺหาคตํ คือถูกตัณหาครอบงำ อธิบายว่า ตกลงไป. บทว่า ภเวสุ ในภพทั้งหลาย คือ ในกามภพเป็นต้น. บทว่า หีนา นรา คนเลว คือคนผู้มีการงานเลว. บทว่า มจฺจุมุเข ลปนฺต บ่นเพ้ออยู่ในปากมัจจุราช คือบ่นเพ้ออยู่ในปากของความตายที่มาถึงแล้วในที่สุด. บทว่า อวีตตณฺหาเส คือยังไม่ปราศจากตัณหา. บทว่า ภวาภเวสุ ในภพน้อยภพใหญ่ได้แก่ในกามภพเป็นต้น. อีกอย่างหนึ่ง บทว่า ภวาภเวสุ ได้แก่ในภพและภพ. ท่านอธิบายว่าในภพทั้งหลายบ่อยๆ.

บัดนี้ เพราะสัตว์ทั้งหลายยังไม่ปราศจากตัณหาจึงดิ้นรนและพร่ำเพ้ออยู่อย่างนี้ ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงชักจูงให้สัตว์ทั้งหลายกำจัด ตัณหา จึงตรัสคาถาว่า มมายิเต ถือว่าสิ่งนั้นๆ เป็นของเรา ดังนี้เป็นต้น.

ในบทเหล่านั้น บทว่า มมายิเต คือถือสิ่งนั้นๆ ว่าเป็นของเรา ด้วยตัณหาและทิฏฐิ. บทว่า ปสฺสถ ท่านทั้งหลายจงดู พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสเรียกผู้ฟังทั้งหลาย. บทว่า เอตมฺปิ คือโทษแม้นั้น. บทที่เหลือปรากฏชัดแล้ว.

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 708

พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงแสดงความยินดีในคาถาที่หนึ่งนี้และโทษด้วย ๔ คาถานอกนั้นอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เพื่อทรงแสดงการสลัดออกและอานิสงส์ของการสลัดออก พร้อมด้วยอุบาย จึงทรงแสดงโทษ ความต่ำทรามและความเศร้าหมองของกามทั้งหลายด้วยคาถาเหล่านี้ทั้งหมด เพื่อทรงแสดงถึงอานิสงส์ในเนกขัมมะในบัดนี้ จึงตรัสสองคาถาว่า อุโภสุ อนฺเตสุ ในที่สุดทั้งสอง ดังนี้เป็นต้น.

ในบทเหล่านั้น บทว่า อุโภสุ อนฺเตสุ คือในการกำหนด ๒ อย่าง มีผัสสะและเหตุเกิดแห่งผัสสะเป็นต้น. บทว่า วิเนยฺย ฉนฺทํ ได้แก่ พึงกำจัดความกำหนัดด้วยความพอใจเสีย. บทว่า ผสฺสํ ปริญฺาย กำหนดรู้ผัสสะ ความว่า กำหนดรู้นามรูปทั้งสิ้นด้วยปริญญา ๓ คือ กำหนดรู้ผัสสะมีจักขุสัมผัสสะเป็นต้น กำหนดรู้อรูปธรรมทั้งปวงอันประกอบด้วยผัสสะนั้นโดยทำนองเดียวกับผัสสะนั้นเอง และกำหนดรู้รูปธรรมด้วยสามารถเป็นวัตถุ ทวาร และ อารมณ์ของอรูปธรรมเหล่านั้น. บทว่า อนานุคิทฺโธ คือไม่ยินดีในธรรมทั้งปวงมีรูปเป็นต้น. บทว่า ยทตฺตครหี ตทกุพฺพมาโน คือติเตียนตนเอง เพราะข้อใด ไม่ควรทำข้อนั้น. บทว่า น ลิมฺปตี ทิฏฺสุเตสุ นักปราชญ์ไม่ติดอยู่ในรูปที่ได้เห็นและเสียงที่ได้ฟัง ความว่า นักปราชญ์ถึงพร้อมด้วยปัญญาเห็นปานนั้น ไม่ติดด้วยการติด ๒ อย่างแม้อย่างเดียว ในธรรมคือรูปที่ได้เห็นและเสียงที่ได้ฟัง ชื่อว่าเป็นผู้ไม่ติด ถึงความผ่องแผ้วในที่สุดเหมือนอากาศฉะนั้น.

คาถาว่า สญฺํ ปริญฺา กำหนดรู้สัญญามีความสังเขปดังต่อไปนี้. กำหนดรู้มิใช่เพียงคำพูดอันไร้ประโยชน์อย่างเดียวเท่านั้น ที่แท้กำหนดรู้แม้

 
  ข้อความที่ 11  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 709

สัญญามีกามสัญญาเป็นต้นด้วย กำหนดรู้นามรูปโดยทำนองเดียวกับสัญญาหรือโดยนัยที่กล่าวแล้วในตอนก่อนด้วยปริญญา ๓ อย่าง พึงข้ามโอฆะแม ๔ อย่าง ได้ด้วยปฏิปทานี้ แต่นั้นนรชนนั้นข้ามโอฆะได้แล้ว เป็นมุนีขีณาสพ ไม่ติดในตัณหาและทิฏฐิ เพราะละกิเลสคือตัณหาและทิฏฐิแล้ว ถอนลูกศรออกเสียได้ เพราะได้ถอนลูกศรคือกิเลสมีราคะเป็นต้นออกได้ ไม่ประมาทเที่ยวไปเพราะมีสติไพบูลย์ หรือไม่ประมาทเที่ยวไปในส่วนเบื้องหน้า เป็นผู้ถอนลูกศรได้แล้ว เพราะเที่ยวไปด้วยความไม่ประมาทนั้น ไม่หวังโลกนี้และโลกหน้าอันต่างด้วยอัตภาพของตนและของผู้อื่นเป็นต้น เป็นผู้ไม่ถือมั่นเพราะดับจิตดวงสุดท้าย (จริมจิต) โดยแท้ ย่อมดับไปเหมือนไฟหมดเชื้อฉะนั้น. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงจบเทศนาลงด้วยธรรมเป็นยอดคือพระอรหัต ทรงบัญญัติไว้เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติธรรมเท่านั้น มิใช่ให้เกิดมรรคหรือผลด้วยเทศนานี้ เพราะทรงแสดงแก่พระขีณาสพ.

จบอรรถกถาคุหัฏฐกสูตรที่ ๒ แห่งอรรถกถาขุททกนิกาย

ชื่อปรมัตถโชติกา