พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

สุทธัฏฐกสูตรที่ ๔ ว่าด้วยเรื่องเห็นผู้บริสุทธิ์

 
บ้านธัมมะ
วันที่  14 พ.ย. 2564
หมายเลข  40207
อ่าน  423

[เล่มที่ 47] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 721

สุตตนิบาต

อัฏฐกวรรคที่ ๔

สุทธัฏฐกสูตรที่ ๔

ว่าด้วยเรื่องเห็นผู้บริสุทธิ์


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 47]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 721

สุทธัฏฐกสูตรที่ ๔

ว่าด้วยเรื่องเห็นผู้บริสุทธิ์

[๔๑๑] คนพาลผู้ประกอบด้วยทิฏฐิ สำคัญเอาเองว่าเราได้เห็นบุคคลผู้บริสุทธิ์ เป็นบุคคลผู้ยิ่งใหญ่หาโรคมิได้ ความหมดจดด้วยดี ย่อมมีได้แก่นรชนด้วยการเห็น เมื่อคนพาลนั้นสำคัญเอาเองอย่างนี้ รู้ว่าความเห็นนั้นเป็นความเห็นยิ่ง.

แม้เป็นผู้เห็นบุคคลผู้บริสุทธิ์เนืองๆ ก็ย่อมเชื่อว่า ความเห็นนั้นเป็นมรรคญาณ ถ้าว่าความบริสุทธิ์ย่อมมีได้แก่นรชนด้วยการเห็น หรือนรชนนั้นย่อมละทุกข์ได้ด้วยมรรค อันไม่บริสุทธิ์อย่างอื่นจากอริยมรรค นรชนผู้เป็นอย่างนี้ย่อมบริสุทธิ์ไม่ได้เลย ก็คนมีทิฏฐิ ย่อมกล่าวยกย่องความเห็นนั้นของคนผู้กล่าวอย่างนั้น.

พราหมณ์ไม่กล่าวความบริสุทธิ์โดยมิจฉาทิฏฐิญาณอย่างอื่นจากอริยมรรคญาณ ที่เกิดขึ้นในเพราะรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ฟัง

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 722

ศีล พรต และในเพราะอารมณ์ที่ได้ทราบ พราหมณ์นั้นไม่ติดอยู่ในภพและบาป ละความเห็นว่าเป็นตนเสียได้ ไม่กระทำในบุญและบาปนี้.

ชนผู้ประกอบด้วยทิฏฐิ เป็นผู้กล่าวความบริสุทธิ์โดยทางมรรคอย่างอื่นเหล่านั้น ละศาสดาเบื้องต้นเสีย อาศัยศาสดาอื่น อันตัณหาครอบงำย่อมข้ามธรรมเป็นเครื่องข้องไม่ได้ ชื่อว่าถือเอาธรรมนั้นด้วย สละธรรมนั้นด้วย เปรียบเหมือนวานรจับและปล่อยกิ่งไม้ที่ตรงหน้าเสียเพื่อจับกิ่งอื่น ฉะนั้น.

สัตว์ผู้ข้องอยู่ในกามสัญญา สมาทานวัตรเองแล้ว ไปเลือกหาศาสดาดีและเลว ส่วนพระขีณาสพผู้มีปัญญาเสมอด้วยแผ่นดิน ผู้มีความรู้แจ้ง ตรัสรู้ธรรมด้วยเวทคือมรรคญาณ ย่อมไม่ไปเลือกหาศาสดาดีและเลว.

พระขีณาสพนั้นครอบงำมาร และเสนาในธรรมทั้งปวง คืออารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งที่ได้เห็น ได้ฟัง หรือได้ทราบ ใครๆ จะพึงกำหนดพระขีณาสพผู้บริสุทธิ์ ผู้เห็นความบริสุทธิ์ เป็นผู้มีหลังคาคือกิเลส

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 723

อันเปิดแล้ว ผู้เที่ยวไปอยู่ ด้วยการกำหนด ด้วยตัณหาและทิฏฐิอะไรในโลกนี้.

พระขีณาสพทั้งหลาย ย่อมไม่กำหนดด้วยตัณหาหรือด้วยทิฏฐิ ย่อมไม่กระทำตัณหาและทิฏฐิไว้ในเบื้องหน้า พระขีณาสพเหล่านั้นย่อมไม่กล่าวว่า ความบริสุทธิ์มีที่สุด ด้วยอกิริยทิฏฐิและสัสสตทิฏฐิ ท่านสละคันถะกิเลสเครื่องร้อยรัดอันเนื่องอยู่ในจิตสันดานได้แล้ว ย่อมไม่กระทำความหวังในโลกไหนๆ

พราหมณ์ผู้ล่วงแดนกิเลสได้ ไม่มีความยึดถือวัตถุหรืออารมณ์อะไร เพราะได้รู้หรือเพราะได้เป็นเป็นผู้ไม่มีความยินดีด้วยราคะ เป็นผู้ปราศจากราคะไม่กำหนัดแล้ว พราหมณ์นั้น ไม่มีความยึดถือวัตถุและอารมณ์อะไรๆ ว่า สิ่งนี้เป็นของยิ่งในโลกนี้ ฉะนี้แล.

จบสุทธัฏฐกสูตรที่ ๔

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 724

อรรถกถาสุทธัฏฐกสูตรที่ ๔

สุทธัฏฐกสูตร มีคำเริ่มต้นว่า ปสฺสามิ สุทฺธํ เราเห็นบุคคลผู้ บริสุทธิ์ดังนี้.

พระสูตนี้มีการเกิดขึ้นอย่างไร?

มีเรื่องเล่าว่า ในอดีตกาลครั้งศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนาม ว่ากัลสปะ กุฎุมพีคนหนึ่ง ชาวกรุงพาราณสีได้ไปยังปัจจันตชนบทพร้อมด้วย เกวียน ๕๐๐ เล่มเพื่อหาสินค้า ณ ที่นั้น กุฎุมพีได้ทำความสนิทสนมกับพรานป่าให้ของใช้แก่เขาแล้วถามว่า สหาย ท่านเคยเห็นแก่นจันทน์บ้างไหม เมื่อพรานป่าตอบว่าเคยเห็น จึงเข้าไปป่าไม้จันทน์กับเขาทันทีบรรทุกแก่นจันทน์แดงจนเต็มเกวียนทุกเล่มแล้วกล่าวกะพรานป่านั้นว่า สหาย เมื่อใดท่านมากรุงพาราณสี เมื่อนั้นท่านพึงเอาแก่นจันทน์แดงมาด้วย แล้วก็กลับไปกรุงพาราณสี. ครั้นต่อมาพรานป่านั้นก็เอาแก่นจันทน์ไปเรือนกุฎุมพีนั้น กุฎุมพีเห็นพรานป่า จึงต้อนรับเป็นอย่างดี ตอนเย็นให้บดแก่นจันทน์ใส่สมุดจนเต็มแล้วกล่าวว่า สหายจงไปอาบน้ำแล้วกลับมาเถิด แล้วส่งเขาไปท่าน้ำกับคนของตน. ตอนนั้นที่กรุงพาราณสีกำลังมีมหรสพ. ชาวกรุงพาราณสีตอนเช้าตรู่ถวายทาน ตอนเย็นนุ่งผ้าเนื้อดีถือดอกไม้และของหอมเป็นต้น ไปไหว้พระมหาเจดีย์ของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่ากัสสปะ พรานป่านั้น เห็นคนทั้งหลายเหล่านั้นจึงถามว่า เขาไปไหนกัน พรานป่าได้ฟังว่าเขาไปวิหารเพื่อไหว้พระเจดีย์จึงได้ไปด้วยตนเอง ณ ที่นั้นพรานป่าเห็นผู้คนทำการบูชาพระเจดีย์โดยวิธีต่างๆ ด้วย

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 725

หรดาล และมโนศิลา เป็นต้น ตนเองไม่รู้จะทำอะไรๆ ให้สวยงามได้จึงเอาไม้จันทน์นั้นทำเป็นวงกลมประมาณเท่าถาดสำริดไว้ข้างบนอิฐทองในมหาเจดีย์ ครั้งนั้น ณ ที่นั้นได้เวลาพระอาทิตย์ขึ้น รัศมีพระอาทิตย์ส่องแสง. เขาเห็นดังนั้นจึงเลื่อมใสได้ทำการปรารถนาว่า แม้เกิดในที่ใดๆ ขอให้รัศมีเช่นนี้ จงผุดที่อกของเรา. พรานป่าได้ทำกาละแล้ว ไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์. รัศมีได้ผุดขึ้นที่อกของเขา. เป็นวงกลมไพโรจน์ที่อกของเขาดุจวงกลมของพระจันทร์. ชนทั้งหลายจึงเรียกเขาว่า จันทาภเทพบุตร.

จันทาภเทพบุตรนั้น ยังพุทธันดรหนึ่งให้สิ้นไปโดยกลับไปกลับมาเกิดในสวรรค์ ๖ ชั้น ด้วยสมบัตินั้น เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทรงอุบัติได้บังเกิดในตระกูลพราหมณ์มหาศาล ในกรุงสาวัตถี. ที่อกของเขาได้มีรัศมีวงกลมเช่นกับวงกลมของพระจันทร์ ในวันตั้งชื่อของเขาพวกพราหมณ์กระทำการมงคลเห็นรัศมีวงกลมนั้นจึงประหลาดใจว่า กุมารนี้ลักษณะเป็นผู้มีบุญจึงตั้งชื่อว่าจันทาภะเหมือนกัน. พราหมณ์ทั้งหลายพากุมารผู้เจริญวัยแล้ว ตกเเต่งใส่เสื้อ อย่างดีให้ขึ้นรถพากันบูชาว่า นี้มหาพรหมของเรา แล้วเที่ยวประกาศไปทั่วตามนิคมราชธานีว่า ผู้ใดเห็นจันทาภะผู้นั้นจักได้ยศและทรัพย์เป็นต้น ตายแล้วจักไปสวรรค์. ในที่ที่ไปแล้วๆ พวกชนพากันมามากขึ้นๆ ด้วยได้ข่าวที่เขาประกาศว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย กุมารชื่อจันทาภะนี้ ผู้ใดเห็นผู้นั้นจักได้ยศทรัพย์และสวรรค์เป็นต้นหวั่นไหวไปทั่วทั้งชมพูทวีป. พวกพราหมณ์ไม่แสดงแก่คนที่มามือเปล่า แสดงเฉพาะคนที่ถือทรัพย์ ๑๐๐ หรือ ๑,๐๐๐ มาให้เท่านั้น. พวก พราหมณ์พาจันทาภกุมารเที่ยวไปอย่างนี้จนถึงกรุงสาวัตถีตามลำดับ.

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 726

ก็สมัยนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประกาศธรรมจักรอันประเสริฐได้เสด็จมาถึงกรุงสาวัตถีโดยลำดับ เมื่อจะทรงแสดงธรรมเพื่อประโยชน์แก่ชนเป็นอันมาก จึงประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหารในกรุงสาวัตถี. ครั้งนั้น จันทาภกุมารไปถึงกรุงสาวัตถีมิได้ปรากฏดุจแม่น้ำน้อยไหลไปในมหาสมุทร ฉะนั้น แม้ผู้ที่จะพูดถึงจันทาภะก็ไม่มี ในตอนเย็นจันทาภะเห็นหมู่ชนพากันถือของหอมและดอกไม้เป็นต้นมุ่งหน้าไปเชตวันมหาวิหารจึงถามว่า พวกท่านจะไปไหนกัน มหาชนตอบว่า พระพุทธเจ้าทรงอุบัติเเล้วในโลก พระองค์ทรงแสดงธรรมเพื่อประโยชน์แก่ชนเป็นอันมาก เราจะไปพระวิหารเชตวันเพื่อฟังธรรม.

จันทาภะแวดล้อมด้วยคณะพราหมณ์ได้ฟังคำนั้นก็ได้ไป ณ พระเชตวันมหาวิหารนั้น. ก็ในตอนนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่ง ณ บวรพุทธอาสน์ในธรรมสภา. จันทาภะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าปฏิสันถารด้วยคำไพเราะ แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. ทันใดนั้นเองแสงสว่างของจันทาภะก็หายไป. เพราะ ณ ที่ใกล้พระรัศมีของพระพุทธเจ้า รัศมีอื่นจะครอบงำไม่ได้ภายใน ๘๐ ศอก จันทาภะนั้นไม่นั่งด้วยคิดว่ารัศมีของเราหายไปเสียแล้วจึงได้ลุกขึ้นเตรียมจะกลับ. ลำดับนั้นบุรุษคนหนึ่งกล่าวกะจันทาภะว่า จันทาภะผู้เจริญ ท่านกลัวพระสมณะหรือจึงจะกลับ. จันทาภะตอบว่า เราไม่กลัวดอก จะกลับละ อีกประการหนึ่งรัศมีของเราหายไปด้วยเดชของพระสมณะนี้. จันทาภะกลับนั่งข้างหน้า พระผู้มีพระภาคเจ้าเห็นความสมบูรณ์มีพระรูป พระรัศมีและพระลักษณะเป็นต้น ตั้งแต่ฝ่าพระบาทจนถึงปลายพระเกษามีใจเลื่อมใสอย่างยิ่งว่า พระสมณโคดมมีศักดิ์มาก รัศมีเพียงเล็กน้อยผุดขึ้นที่อกของเรา แม้เพียงเท่านั้นพวกพราหมณ์

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 727

ยังพาเราเที่ยวไปจนทั่วชมพูทวีป อย่างนี้แล้วพระสมณโคดมผู้ประกอบด้วยความสมบูรณ์แห่งพระลักษณะอันงาม ยังมิได้เกิดความถือพระองค์เลย พระ สมณะนี้จักประกอบด้วยคุณสมบัติอันงามพระองค์จักเป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายเป็นแน่ จึงถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าทูลขอบวช. พระผู้มีพระภาคเจ้ามีพระพุทธดำรัสกะพระเถระรูปหนึ่งว่า เธอจงบวชให้จันทาภะนี้. พระเถระนั้น ครั้นบวชให้จันทาภะภิกษุแล้ว ก็บอกตจปัญจกกรรมฐานให้. จันทาภภิกษุเริ่มเจริญวิปัสสนาแล้วไม่ช้านักก็บรรลุพระอรหัต ได้ชื่อว่าจันทาภเถระ.

ภิกษุทั้งหลายประชุมสนทนากันปรารภพระจันทาภเถระนั้นว่า อาวุโสทั้งหลาย ผู้ที่เห็นจันทาภะแล้วจะได้ยศหรือทรัพย์ หรือได้ไปสวรรค์ หรือได้ถึงความบริสุทธิ์ด้วยเห็นรูปทางจักษุทวารนั้นหรือหนอ. พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสพระสูตรนี้ในเพราะเกิดเรื่องของพระจันทาภเถระนั้น.

ในสูตรนั้นพึงทราบความในคาถาต้นก่อน. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความบริสุทธิ์มิได้มีด้วยการเห็น เห็นปานนี้เลย อีกประการหนึ่ง คนพาลผู้ประกอบด้วยทิฏฐิเห็นจันทาภพราหมณ์หรือบุคคลอื่นอย่างเดียวกัน ผู้ชื่อว่าไม่บริสุทธิ์เพราะเศร้าหมองด้วยกิเลสผู้ชื่อว่ามีโรคเพราะไม่ปราศจากโรคคือกิเลส แล้วสำคัญเอาเองว่าเราได้เห็นบุคคลผู้บริสุทธิ์ เป็นบุคคลผู้ยิ่งใหญ่หาโรคมิได้ ความหมดจดด้วยดีย่อมมีแก่นรชนด้วยการเห็นอัน ได้แก่การที่ตนได้เห็นแล้วนั้นดังนี้. เมื่อคนพาลนั้นสำคัญเอาเองอย่างนี้ รู้ว่าความเห็นนั้นเป็นความเห็นยิ่ง แม้เป็นผู้เห็นบุคคลผู้บริสุทธิ์เนืองๆ ในความ

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 728

เห็นนั้น ก็ย่อมเชื่อว่า ความเห็นนั้นเป็นมรรคญาณ. แต่ความเห็นนั้นมิใช่เป็นมรรคญาณ. ด้วยเหตุนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ทิฏฺเน เจ สุทฺธิ หากความบริสุทธิ์ย่อมมีได้ด้วยการเห็นดังนี้.

พึงทราบความแห่งคาถาที่สองต่อไปนี้ ผิว่าความบริสุทธิ์แห่งกิเลส ย่อมมีได้แก่นรชนด้วยการเห็นอันได้แก่การเห็นรูปนั้น หรือนรชนนั้นย่อมละทุกข์มีชาติเป็นต้นได้ด้วยญาณนั้น เมื่อเป็นอย่างนั้นนรชนนั้นย่อมบริสุทธิ์ได้ด้วยมรรคอันไม่บริสุทธิ์อย่างอื่นจากอริยมรรค นรชนผู้เป็นอย่างนี้ย่อมบริสุทธิ์ไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นคนมีทิฏฐิย่อมกล่าวยกย่องความเห็นนั้นของคนผู้กล่าวอย่างนั้น คนมีทิฏฐินั้นย่อมกล่าวความเห็นนั้นว่าผู้นี้เป็นมิจฉาทิฏฐิ แต่อาจารย์บางพวกกล่าวอย่างนั้นโดยนัยมีอาทิว่า สสฺสโต โลโก โลกเที่ยงดังนี้.

พึงทราบคาถาที่สามว่า น พฺราหฺมโณ ดังนี้เป็นต้น. บทนั้น มีความดังต่อไปนี้ ก็ผู้ใดชื่อว่าเป็นพราหมณ์เพราะเป็นผู้ลอยบาปได้แล้ว ผู้นั้นเป็นพราหมณ์ขีณาสพถึงความสิ้นอาสวะด้วยมรรคไม่กล่าวความบริสุทธิ์ โดยมิจฉาทิฏฐิญาณอย่างอื่นจากอริยมรรคญาณที่เกิดขึ้นในเพราะรูปที่ได้เห็นอันได้แก่รูปสมมติว่าเป็นมงคลยิ่งในเพราะเสียงที่ได้ฟังอันได้แก่เสียงเป็นอย่างนั้น ในเพราะศีลอันได้แก่ความไม่ล่วง ในเพราะพรตมีตำราดูช้างเป็นต้น และในเพราะอารมณ์ที่ได้ทราบมีปฐวีธาตุเป็นต้น. บทที่เหลือพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเพื่อยกย่องพราหมณ์นั้น. พราหมณ์นั้นมิได้ติดอยู่ในบุญอันมีธาตุสามและในบาปทั้งปวง ชื่อว่าละความเห็นว่าเป็นคนเสียได้ เพราะละทิฏฐิว่าเป็นตนได้แล้ว หรือเพราะละการยึดถือไรๆ ได้ ท่านกล่าวว่าเป็นผู้

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 729

ไม่กระทำในบุญและบาป เพราะไม่กระทำปุญญาภิสังขารเป็นต้น. เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงสรรเสริญพราหมณ์นั้นจึงตรัสอย่างนี้. อนึ่ง พึงทราบการเชื่อมความแห่งบททั้งหมดนั้นด้วยบทต้นดังนี้ พราหมณ์ไม่ติดในบุญและบาป ละความเห็นว่าเป็นต้นเสียได้ไม่กระทำในบุญและบาปนี้ พราหมณ์ไม่กล่าวถึงความบริสุทธิ์โดยมิจฉาทิฏฐิญาณอย่างอื่นจากอริยมรรคญาณ. พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นตรัสว่าพราหมณ์ไม่กล่าวถึงความบริสุทธิ์ โดยมิจฉาทิฏฐิญาณอย่างอื่นจากอริยมรรคญาณแล้ว บัดนี้เมื่อจะทรงแสดงถึงความไม่ปลอดภัยแห่งทิฎฐินั้นของพราหมณ์ผู้มีทิฏฐิกล่าวถึงความบริสุทธิ์อย่างอื่นจากอริยมรรคญาณ จึงตรัสคาถาว่า ปุริมํ ปหาย ละศาสดาเบื้องต้นดังนี้.

บทนั้นมีความดังต่อไปนี้. จริงอยู่ พราหมณ์เหล่านั้นเป็นผู้มีวาทะว่า บริสุทธิ์จากอริยมรรคอื่น ละศาสดาเบื้องต้นเป็นต้นเสีย อาศัยศาสดาอื่นด้วยทิฏฐิที่พ้นจากการยึดเพราะยังละไม่ได้ อันตัณหาคือความอยากครอบงำ ย่อมข้ามธรรมเป็นเครื่องข้องมีราคะเป็นต้นไปไม่ได้ เมื่อข้ามธรรมอันเป็นเครื่องข้องนั้นๆ ไม่ได้ ชื่อว่าถือเอาธรรมนั้นด้วย สละธรรมนั้นด้วย เหมือนวานรจับและปล่อยกิ่งไม้ที่ตรงหน้าเสียเพื่อจับกิ่งอื่นฉะนั้น.

ท่านกล่าวการเชื่อมความคาถาที่ห้าว่า ก็ผู้มีทิฏฐิย่อมกล่าวยกย่องความเห็นนั้นของผู้กล่าวอย่างนั้น ด้วยบทว่า สยํ สมาทาย สมาทานเอง.

ในบทเหล่านั้นบทว่า สยํ แปลว่าเอง. บทว่า สมาทาย คือถือเอา. บทว่า วตานิ ได้แก่ ตำราดูลักษณะช้างเป็นต้น. บทว่า อุจฺจาวจํ ศาสดาดีและเลว คือ เลือกหาศาสดาเป็นต้นแล้วๆ เล่าๆ หรือเลวและประณีตจากศาสดา.

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 730

บทว่า สญฺสตฺโต ผู้ข้องอยู่ในสัญญา คือติดอยู่ในกามสัญญาเป็นต้น. บทว่า วิทฺวา จ เวเทหิ สเมจฺจ ธมฺมํ ผู้มีความรู้แจ้ง ตรัสรู้ธรรมด้วยเวทความว่า ผู้รู้แจ้งปรมัตถธรรม เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ธรรมคืออริยสัจ ๔ ด้วยเวทคือมรรคญาณ ๔. บทที่เหลือชัดแล้ว. บทว่า ส สพฺพธมฺเมสุ วิเสนิภูโต ยํกิญฺจิ ทิฏฺํว สุตํ มุตํ วา พระขีณาสพนั้นครอบงำมารเเละเสนาในธรรมทั้งปวงคืออารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งที่ได้เห็นได้ฟังหรือได้ทราบ ความว่าพระขีณาสพผู้มีปัญญานั้น ชื่อว่าเป็นผู้ครอบงำมารและเสนา เพราะยังมารและเสนาให้พินาศไปในธรรมทั้งปวงเหล่านั้น คืออารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งที่ได้เห็นได้ฟังหรือได้ทราบ. บทว่า ตเมว ทสฺสึ คือพระขีณาสพนั้นผู้เห็นความบริสุทธิ์อย่างนี้. บทว่า วิวฏํ จรนฺตํ เป็นผู้มีหลังคาคือกิเลสอันเปิดแล้ว เพราะปราศจากหลังคาคือตัณหาเป็นต้น เที่ยวไปอยู่. บทว่า เกนิธ โลกสฺมึ วิกปฺเปยฺย พึงกำหนดพระขีณาสพด้วยการกำหนดด้วยตัณหาและทิฏฐิอะไรในโลกนี้ ความว่าใครๆ พึงกำหนดพระขีณาสพด้วยการกำหนดด้วยตัณหา หรือด้วยการกำหนดด้วยทิฏฐิอะไรในโลกนี้ หรือพึงกำหนดด้วยราคะเป็นต้น ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วในตอนต้น เพราะละตัณหาและทิฏฐิได้แล้ว.

พึงทราบการเชื่อมความและความแห่งคาถาว่า น กปฺปยนฺติ ไม่กำหนด มีอะไรที่จะควรกล่าวยิ่งไปกว่านั้น คือ เพราะพระขีณาสพเหล่านั้นเป็นผู้สงบไม่กำหนดด้วยตัณหาและทิฏฐิ ไม่กระทำตัณหาและทิฏฐิไว้ในเบื้องหน้า อย่างใดอย่างหนึ่ง พระขีณาสพเหล่านั้นย่อมไม่กล่าวว่าความบริสุทธิ์ล่วงส่วน ด้วยอกิริยทิฏฐิและสัสสตทิฏฐิอันไม่เป็นความบริสุทธิ์ล่วงส่วนทีเดียว เพราะยัง

 
  ข้อความที่ 11  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 731

ไม่ปราศจากความบริสุทธิ์ล่วงส่วนโดยปรมัตถ์. บทว่า อาทานคนฺถํ คธิตํ วิสชฺช ความว่า ท่านสละคือตัดคันถะกิเลสเครื่องร้อยรัดอันทำให้ถือมั่น เพราะเป็นเหตุให้ถือมั่นรูปเป็นต้น แม้ ๔ อย่าง อันผูกรัดติดอยู่ในสันดานของตนได้ด้วยศัสตรา คืออริยมรรค.

บทว่า สีมาติโค พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสโดยเทศนาอันเป็นบุคลาธิษฐานอย่างเดียว. พึงทราบการเชื่อมคาถานั้นเช่นกับคาถาก่อนนั่นแล. คือ พึงทราบอย่างเดียวกันกับอรรถกถา. มีอะไรยิ่งไปกว่านั้น ท่านอธิบายไว้ว่า พระขีณาสพผู้มีปัญญาดุจแผ่นดินเช่นนี้ชื่อว่าล่วงแดนกิเลสได้เพราะล่วงแดนกิเลส ๔ อย่างได้ ชื่อว่าเป็นพราหมณ์เพราะเป็นผู้ลอยบาปเสียแล้ว ไม่มีความยึดถือยึดมั่นวัตถุหรืออารมณ์อะไร เพราะได้รู้ด้วยญาณคือรู้จิตผู้อื่นและรู้การระลึกชาติได้ หรือเพราะได้เห็นด้วยมังสจักษุและทิพยจักษุ. พราหมณ์นั้นเป็นผู้ไม่มีความยินดีด้วยราคะเพราะไม่มีกามราคะ เป็นผู้ปราศจากราคะหมดกำหนัดแล้ว เพราะไม่มีรูปราคะและอรูปราคะ พราหมณ์นั้นไม่มีความยึดถือวัตถุและอารมณ์ไรๆ ว่าสิ่งนี้เป็นของยิ่งในโลกนี้. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงจบเทศนาด้วยธรรมเป็นยอดคือพระอรหัต.

จบอรรถกถาสุทธัฏฐกสูตรที่ ๔ แห่งอรรถกถาขุททกนิกาย

ชื่อปรมัตถโชติกา