อัตตทัณฑสูตรที่ ๑๕ ว่าด้วยความสลดใจ
[เล่มที่ 47] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 839
สุตตนิบาต
อัฏฐกวรรคที่ ๔
อัตตทัณฑสูตรที่ ๑๕
ว่าด้วยความสลดใจ
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 47]
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 839
อัตตทัณฑสูตรที่ ๑๕
ว่าด้วยความสลดใจ
[๔๒๒] ภัยเกิดแล้วแต่อาชญาของตน ท่านทั้งหลายจงเห็นคนผู้ทะเลาะกัน เราจักแสดงความสลดใจตามที่เราได้สลดใจมาแล้ว.
เราได้เห็นหมู่สัตว์กำลังดิ้นรนอยู่ (ด้วยตัณหาและทิฏฐิ) เหมือนปลาในแอ่งน้ำน้อย ฉะนั้น ภัยได้เข้ามาถึงเราแล้ว เพราะได้เห็นคนทั้งหลายผู้พิโรธกันและกัน.
โลกโดยรอบหาแก่นสารมิได้ ทิศทั้งปวงหวั่นไหวแล้ว เราปรารถนาความต้านทานแก่ตนอยู่ ไม่ได้เห็นสถานที่อะไรๆ อันทุกข์มีชราเป็นต้นไม่ครอบงำแล้ว.
เราไม่ได้มีความยินดี เพราะได้เห็นสัตว์ทั้งหลาย ผู้อันทุกข์มีชราเป็นต้นกระทบ แล้วผู้ถึงความพินาศ อนึ่ง เราได้เห็นกิเลสดุจลูกศรมีราคะเป็นต้น ยากที่สัตว์จะเห็นได้ อันอาศัยหทัยในสัตว์เหล่านี้.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 840
สัตว์อันกิเลสดุจลูกศรมีราคะเป็นต้นใดเสียบติดอยู่แล้ว ย่อมแล่นไปยังทิศทั้งปวง บัณฑิตถอนกิเลสดุจลูกศรมีราคะเป็นต้นนั้นออกได้แล้ว ย่อมไม่แล่นไปยังทิศและไม่จมลงในโอฆะทั้งสี่.
อารมณ์น่ายินดีเหล่าใดมีอยู่ในโลก หมู่มนุษย์ย่อมพากันเล่าเรียนศึกษา เพื่อให้ได้ซึ่งอารมณ์ที่น่ายินดีเหล่านั้น กุลบุตรผู้เป็นบัณฑิต ไม่พึงขวนขวายในอารมณ์ที่น่ายินดีเหล่านั้น พึงเบื่อหน่ายกามทั้งหลาย โดยประการทั้งปวงแล้ว พึงศึกษานิพพานเพื่อตน.
มุนีพึงเป็นผู้มีสัจจะ ไม่คะนองไม่มีมายา ละการส่อเสียดเสีย เป็นผู้ไม่โกรธพึงข้ามความโลภอันลามกและความตระหนี่เสีย.
นรชนพึงครอบงำความหลับ ความเกียจคร้าน ความท้อแท้เสีย ไม่พึงอยู่ร่วมด้วยความประมาท ไม่พึงดำรงอยู่ในการดูหมิ่นผู้อื่น พึงมีใจน้อมไปในนิพพาน.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 841
ไม่พึงน้อมไปในการกล่าวมุสา ไม่พึงกระทำความเสน่หาในรูปและพึงกำหนด รู้ความถือตัว พึงเว้นเสียจากความผลุนผลัน เเล้วเที่ยวไป.
ไม่พึงเพลิดเพลินถึงอารมณ์ที่ล่วงมาแล้ว ไม่พึงกระทำความพอใจในอารมณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า ไม่พึงเศร้าโศกถึงอารมณ์ที่กำลังละไปอยู่ ไม่พึงเป็นผู้อาศัยตัณหา.
เรากล่าวความกำหนัดยินดีว่าเป็นโอฆะอันใหญ่หลวง กล่าวตัณหาว่าแล่นไปเร็ว กล่าวตัณหาว่า เป็นเครื่องกระซิบใจ กล่าวตัณหาว่าเป็นอารมณ์ กล่าวตัณหาว่าทำใจให้กำเริบ เปือกตมคือกาม ยากที่สัตว์จะล่วงไปได้.
พราหมณ์ผู้เป็นมุนี ไม่ปลีกออกจากสัจจะแล้ว ย่อมตั้งอยู่บนบก คือ นิพพานมุนีนั้นแล สละค้นอายตนะทั้งหมดแล้วโดยประการทั้งปวง เรากล่าวว่า เป็นผู้สงบ.
มุนีนั้นแลเป็นผู้รู้ เป็นผู้ถึงเวท รู้สังขตธรรมแล้ว อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยเป็นอยู่ในโลกโดยชอบ ย่อมไม่ทะเยอทะยาน ต่ออะไรๆ ในโลกนี้.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 842
ผู้ใดข้ามกามทั้งหลาย และธรรมเป็นเครื่องข้องยากที่สัตว์จะล่วงได้ในโลกนี้ได้แล้ว ผู้นั้นตัดกระแสตัณหาขาดแล้ว ไม่มีเครื่องผูกพัน ย่อมไม่เศร้าโศก ย่อมไม่เพ่งเล็ง.
ท่านจงทำกิเลสชาติเครื่องกังวลในอดีตให้เหือดแห้ง กิเลสชาติเครื่องกังวลในอนาคตอย่าได้มีแก่ท่าน ถ้าท่านจักไม่ถือ เอาในปัจจุบันไซร้ ท่านจักเป็นผู้สงบเที่ยวไป.
ผู้ใดไม่มีความยึดถือในนามรูป ว่าเป็นของเราโดยประการทั้งปวง และไม่เศร้าโศกเพราะเหตุแห่งนามรูปอันไม่มี ผู้นั้นแลย่อมไม่เสื่อมในโลก.
ผู้ใดไม่มีกิเลสเครื่องกังวลว่า สิ่งนี้ของเรา และว่าสิ่งนี้ของผู้อื่น ผู้นั้นไม่ประสบการยึดถือในสิ่งนั้นว่าเป็นของเราอยู่ ย่อมไม่เศร้าโศกว่า ของเราไม่มี.
เราเป็นผู้อันเขาถามถึงบุคคลผู้ไม่หวั่นไหว จะบอกอานิสงส์ ๔ อย่างในบุคคลนั้น ดังนี้ว่า บุคคลนั้นไม่มีความขวนขวาย
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 843
ไม่กำหนัดยินดี ไม่มีความหวั่นไหว เป็นผู้เสมอในอารมณ์ทั้งปวง.
ธรรมชาติเครื่องปรุงแต่งอะไรๆ ย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่หวั่นไหว ผู้รู้แจ้ง ผู้นั้นเว้นแล้ว จากการปรารภมีปัญญาภิสังขารเป็นต้น ย่อมเห็นความปลอดโปร่งในที่ทุกสถาน.
มุนีย่อมไม่กล่าวยกย่องตนในบุคคลผู้เสมอกัน ผู้ต่ำกว่า ผู้สูงกว่า มุนีนั้นเป็นผู้สงบปราศจากความตระหนี่ ย่อมไม่ยึดถือ ไม่สละธรรมอะไรๆ ในบรรดาธรรมมีรูป เป็นต้น,
จบอัตตทัณฑสูตรที่ ๑๕
อรรถกถาอัตตทัณฑสูตรที่ ๑๕
อัตตทัณฑสูตรมีคำเริ่มต้นว่า อตฺตทณฺฑา ภยํ ชาตํ ดังนี้
พระสูตรนี้มีการเกิดขึ้นอย่างไร?
พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงทราบการทะเลาะกันเพราะเรื่องน้ำของเจ้าศากยะและเจ้าโกลิยะ ดังได้พรรณนาไว้แล้วในเรื่องการเกิดขึ้นแห่งสัมมาปริพพาชนิยสูตร ทรงดำริว่าพวกพระญาติทะเลาะกัน เอาเถิด เราจักห้ามพระญาติเหล่านั้นดังนี้ เสด็จประทับยืน ณ ท่ามกลางเหล่าเสนาทั้งสองฝ่าย แล้วจึงตรัสพระสูตรนี้.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 844
ในสูตรนั้นพึงทราบความในคาถาต้นดังนี้. ภัยอันใดเกิดขึ้นในปัจจุบันและสัมปรายภพ ภัยนั้นทั้งหมดเกิดแต่อาชญาของตน เกิดแต่เหตุทุจริตของตน เมื่อเป็นอย่างนี้ ท่านทั้งหลายจงเห็นชนผู้ทะเลาะกัน จงเห็นชนมีเจ้าศากยะเป็นต้นนี้ทะเลาะกัน ทำร้ายกัน เบียดเบียนกันและกัน.
พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงตำหนิชนผู้พิโรธตอบโต้กัน ผู้ปฏิบัติผิดนั้นอย่างนี้แล้วเพื่อให้เกิดสังเวชแก่ชนนั้น ด้วยการแสดงสัมมาปฏิบัติของพระองค์จึงตรัสว่า สํเวคํ กิตฺตยิสฺสามิ ยถา สํวิชิตํ มยา เราจักแสดงความสลดใจ ตามที่เราได้สลดใจมาแล้ว อธิบายว่า เคยเป็นพระโพธิสัตว์มาแล้วนั่นเอง.
บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงประการตามที่พระองค์สลดพระทัยมาแล้ว จงตรัสคำมีอาทิว่า ผนฺทมานํ หมู่สัตว์กำลังดิ้นรนอยู่ดังนี้.
ในบทเหล่านั้น บทว่า ผนฺทมานํ ได้แก่ หมู่สัตว์กำลังดิ้นรนอยู่ด้วยตัณหาและทิฏฐิ. บทว่า อปฺโปทเก คือในแอ่งน้ำน้อย. บทว่า อญฺมญฺเหิ พฺยารุทฺเธ ทิสฺวา คือ เพราะเห็นคนทั้งหลายผู้พิโรธกันและกันเหมือนสัตว์ ต่างๆ. บทว่า มํ ภยมาวิสิ คือ ภัตได้เข้ามาถึงเราแล้ว. บทว่า สมนฺตมสาโร โลโก โลกโดยรอบหาแก่นสารมิได้ คือ โลกโดยรอบตั้งแต่นรกเป็นต้นหา แก่นสารมิได้ คือ เว้นจากแก่นสารมีความเป็นของเที่ยงเป็นต้น. บทว่า ทิสา สพฺพา สเมริตา คือ ทิศทั้งปวงหวั่นไหวแล้ว เพราะความเป็นของไม่เที่ยง. บทว่า อิจฺฉํ ภวนมตฺตโน คือ เราปรารถนาความต้านทานแก่ตนอยู่. บทว่า นาทฺทสาสึ อโนสิตํ คือ ไม่ได้เห็นสถานที่อะไรๆ อันทุกข์มีชราเป็นต้น
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 845
ไม่ครอบงำแล้ว บทว่า โอสาเนเตฺวว พฺยารุทฺเธ ทิสฺวา เม อรตึ อหุ เราไม่ได้มีความยินดี เพราะได้เห็นสัตว์ทั้งหลายผู้อันทุกข์มีชราเป็นต้นกระทบ แล้วในที่สุด คือ เรามิได้มีความยินดี เพราะเห็นสัตว์ทั้งหลายผู้อันทุกข์มีชรา เป็นต้นกระทบแล้ว ถึงความพินาศไปในที่สุด แห่งความเป็นหนุ่มสาวเป็นต้น นั้นเอง. บทว่า อเถตฺถ สลฺลํ คือ เราได้เป็นกิเลสดุจลูกศรมีราคะเป็นต้น ในสัตว์ทั้งหลายเหล่านี้. บทว่า หทยนิสฺสิตํ อันอาศัยหทัย คือ อันอาศัยจิต. หากมีคำถามว่า กิเลสดุจลูกศรมีอานุภาพอย่างไร พึงทราบคาถาว่า เยน สลฺเลน โอติณฺโณ สัตว์ถูกกิเลสดุจลูกศรเสียบติดแล้ว.
บทว่า ทิสา สพฺพา วิธาวติ สัตว์ย่อมแล่นไปยังทิศทั้งปวง คือ สัตว์ย่อมแล่นไปยังทิศคือความทุจริตทั้งปวงบ้าง ยังทิศบูรพาเป็นต้นบ้าง. บทว่า ตเมว สลฺลํ อพฺพุยฺห น ธาวติ น สีทติ คือ บัณฑิตถอนกิเลส ดุจลูกศรนั้นแลออกเสียได้ ย่อมไม่แล่นไปยังทิศและไม่จมลงในโอฆะ ๔. เมื่อมนุษย์ทั้งหลายถูกกิเลสดุจลูกศรอันมีอานุภาพมากเสียบอย่างนี้แล้ว พึงทราบคาถาว่า ตตฺถ สิกฺขานุคียนฺติ ยานิ โลเก คธิตานิ หมู่มนุษย์ย่อมพากันเล่าเรียนศิลปะ เพื่อให้ได้อารมณ์ที่น่ายินดีในโลก.
บทนั้นมีความดังนี้ กามคุณ ๕ ใดในโลก ท่านเรียกว่า คธิตานิ ยินดี เพราะอรรถว่า ย่อมปรารถนาเพื่อจะได้คืน หรือเพราะเสพตลอดกาลนาน หรือเพราะกล่าวเล่าเรียนศิลปะหลายแขนงมีศิลปะการฝึกช้างเป็นต้นอันเป็นเครื่องหมายในกามคุณเหล่านั้น ท่านทั้งหลายจงดูเถิด โลกนี้มัวเมากันเพียงไร กุลบุตรผู้เป็นบัณฑิต ไม่พึงขวนขวายในอารมณ์ที่น่ายินดีเหล่านั้น หรือในศิลปะเหล่านั้น พึงเบื่อหน่ายกามทั้งหลายโดยประการทั้งปวง ด้วยการเห็นลักษณะมีลักษณะไม่เที่ยงเป็นต้นโดยถ่องแท้ พึงศึกษานิพพานเพื่อตนเถิด.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 846
บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงถึงสิ่งที่ควรศึกษา จึงตรัสคำมีอาทิว่า สจฺโจ สิยา ดังนี้.
ในบทเหล่านั้น บทว่า สจฺโจ พึงเป็นผู้มีสัจจะ คือ พึงเป็นผู้ประกอบด้วยวาจาสัจจะ ญาณสัจจะ มรรคสัจจะ. บทว่า ริตฺตเปสุโณ คือ ละคำส่อเสียด. บทว่า เววิจฺฉํ คือความตระหนี่. บทว่า นิทฺทํ ตนฺทึ สเห ถีนํ พึงครอบงำความหลับ ความเกียจคร้าน ความท้อแท้ ได้แก่ พึงครอบงำธรรม ๓ อย่างเหล่านี้ คือ ความง่วงเหงาหาวนอน ความเกียจคร้านทางกาย และความเกียจคร้านทางจิต. บทว่า นิพฺพานมนโส คือ มีจิตน้อมไปในนิพพาน. บทว่า สาหสา ความผลุนผลัน คือ เพราะเหตุแห่งความผลุนผลัน อันมีประเภทแห่งความประพฤติกำหนัดเป็นต้นของตนกำหนัด. บทว่า นาภินนฺเทยฺย ไม่พึงยินดีสิ่งที่ล่วงหาแล้ว คือ รูปที่ล่วงมาแล้วเป็นต้น. บทว่า นเว คือในปัจจุบัน. บทว่า หิยฺยมาเน คือ อารมณ์ที่หายไป. บทว่า อากาสํ น สิโต สิยา คือ ไม่พึงเป็นผู้อาศัยอากาศ. จริงอยู่ ตัณหา ท่านเรียกว่าอากาศ เพราะเป็นช่องแห่งรูปเป็นต้น หากมีคำถามว่า เพราะอะไร จึงไม่พึงเป็นผู้อาศัยตัณหา. พึงทราบคาถาต่อไปว่า อหํ หิ อิมํ เคธํ พฺรูมิ เพราะเรากล่าว ตัณหานี้ว่าเป็นความกำหนัดยินดี.
บทนั้นมีความดังนี้ เพราะเรากล่าวตัณหาที่เรียกว่าอากาศนี้ว่าเป็นความกำหนัดยินดี เพราะเป็นช่องทางแห่งรูปเป็นต้น. มีอะไรยิ่งไปกว่านั้น มีดังนี้ เรากล่าวตัณหาว่าเป็นโอฆะ เพราะการทำลายลง กล่าวตัณหาว่าอาชวะ เพราะแล่นไปเร็ว กล่าวตัณหาว่าเป็นเครื่องกระซิบ เพราะเหตุให้กระซิบว่า นี้ของเรา นี้ของเรา กล่าวตัณหาว่าเป็นอารมณ์ เพราะปล่อยได้ยาก กล่าวตัณหาว่า
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 847
ทำใจให้กำเริบ เพราะเหตุทำให้หวั่นไหว อนึ่ง ตัณหานี้เป็นเปือกตมคือกาม ชื่อว่า ยากที่สัตว์จะล่วงไปได้ เพราะเป็นความห่วงใยของโลก และเพราะสัตว์ก้าวพ้นไปได้ยาก. หากมีคำถามว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้ว่า ไม่พึงเป็นผู้อาศัยอากาศดังนี้ อากาศคืออะไร. ตอบว่า เคธํ พฺรูมิ พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสว่า เรากล่าวอากาศว่าเป็นความกำหนัดยินดี ด้วยเหตุนั้นพึงทราบการเชื่อมคาถานั้นด้วยประการฉะนี้. ในบทนั้นพึงทราบการแก้บทว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสว่า เรากล่าวอากาศว่าเป็นความกำหนัดยินดี เหมือนอย่างเรากล่าวว่า ตัณหาเป็นห้วงน้ำใหญ่ ตัณหาเป็นความแล่นไปเร็ว ตัณหาเป็นเครื่องกระซิบใจ ตัณหาเป็นอารมณ์ ตัณหาเป็นความกำเริบ ตัณหาเป็นเปือกตมคือกามในโลก พร้อมทั้งเทวโลกอันสัตว์ข้ามได้ยาก. ไม่พึงเป็นผู้อาศัยอากาศอันเป็นปริยายว่า ความกำหนัดยินดีเป็นต้นอย่างนี้. พึงทราบคาถาว่า สจฺจา อโวกฺกมฺม มุนี ไม่ปลีกออกจากสัจจะแล้ว.
บทนั้นมีความดังนี้ พราหมณ์ไม่ปลีกออกจากสัจจะ ๓ อย่างดังกล่าว มาก่อนแล้ว เรียกชื่อว่าเป็นมุนี เพราะปฏิบัติปฏิปทาเพื่อความเป็นมุนี ตั้งอยู่บนบกคือนิพพาน พราหมณ์นั้นแลสละคืนอายตนะทั้งหมดแล้ว เรากล่าวว่า เป็นผู้สงบ. มีอะไรยิ่งไปกว่านั้น มีคาถาว่า สเว วิทวา มุนีนั้นแล เป็นผู้รู้ ดังนี้เป็นต้น.
ในบทเหล่านั้น บทว่า ตฺวา ธมฺมํ คือรู้ธรรมอันปรุงแต่งโดยนัย มีความเป็นของไม่เที่ยงเป็นต้น. บทว่า สมฺมา โส โลเก อริยาโน มุนีนั้นเป็นอยู่ในโลกโดยชอบ คือ เพราะละกิเลสอันทำให้เป็นอยู่โดยมิชอบเสียได้. ก็เมื่อไม่ทะเยอทะยานอย่างนี้ พึงทราบคาถาต่อไปว่า โยธ กาเม ผู้ใดข้ามกามทั้งหลายในโลกนี้ได้ ดังนี้เป็นต้น.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 848
ในบทเหล่านั้น บทว่า สงฺคํ ธรรมเป็นเครื่องข้อง คือผู้ใดข้ามธรรม เป็นเครื่องข้อง ๗ อย่างได้. บทว่า นาชฺเฌติ คือย่อมไม่เพ่งเล็ง. เพราะฉะนั้น ในบรรดาท่านทั้งหลาย ผู้ใดปรารถนาจะเป็นอย่างนี้ เรากล่าวถึงผู้นั้น. พึงทราบคาถาต่อไปว่า ยํ ปุพฺเพ ดังนี้เป็นต้น.
ในบทเหล่านั้น บทว่า ปุพฺเพ คือกิเลสชาติและกรรมในอดีตปรารภสังขารในอดีตเกิดขึ้นเป็นธรรมดา. บทว่า ปจฺฉา เต มาหุ กิญฺจนํ กิเลสชาติเครื่องกังวลในภายหลังอย่าได้มีแก่ท่าน คือ กิเลสชาติเครื่องกังวลมีราคะเป็นต้นปรารภสังขารแม้ในอนาคตอย่าได้มีแก่ท่าน. บทว่า มชฺเฌ เจ โน คเหสฺสสิ หากท่านจักไม่ถือเอาในปัจจุบัน คือ หากท่านจักไม่ถือธรรม มีรูปในปัจจุบันเป็นต้น.
พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงการบรรลุพระอรหัตด้วยบทว่า อุปสนฺโต จริสฺสสิ ท่านจักเป็นผู้สงบเที่ยวไปอย่างนี้แล้ว บัดนี้ได้ตรัสคาถาทั้งหลายต่อจากนี้ ด้วยการสรรเสริญพระอรหัต.
ในบทเหล่านั้น พึงทราบความแห่งคาถาว่า สพฺพโส โดยประการทั้งปวงเป็นต้น. บทว่า มมายิตํ ยึดถือในนามรูปว่าเป็นของเรา คือ ทำความยึดถือว่าเป็นของเรา หรือยึดถือวัตถุว่า สิ่งนี้ของเรา ดังนี้. บทว่า อสตา จ น โสจติ คือ ไม่เศร้าโศกเพราะเหตุแห่งนามรูปอันไม่มี เพราะเหตุแห่งความไม่ยินดี. บทว่า น ชยฺยติ ไม่เสื่อมคือไม่ถึงความชรา. มีอะไรยิ่งไปกว่านี้อีก มีคาถาว่า ยสฺส นตฺถิ ดังนี้เป็นต้น.
ในบทเหล่านั้น บทว่า กิญฺจนํ เครื่องกังวลคือธรรมชาติมีรูปเป็นต้น ไรๆ. มีอะไรยิ่งไปอีก มีคำถามว่า อนุฏฺฐุรี ดังนี้เป็นต้น.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 849
ในบทเหล่านั้น บทว่า อนุฏฺฐุรี แปลว่า ไม่มีความขวนขวาย. อาจารย์บางพวกกล่าวว่า อนุทฺธรี ก็มี. บทว่า สพฺพธิ สโม คือเป็นผู้เสมอในอารมณ์ทั้งปวง. อธิบายว่า เป็นผู้วางเฉย. บทนี้ท่านอธิบายว่า บุคคลใดไม่เศร้าโศกว่า ของเราไม่มี เราเป็นผู้ถูกถามถึงบุคคลนั้นผู้ไม่หวั่นไหวจะบอกอานิสงส์ ๔ อย่างในบุคคลนั้นว่า เป็นผู้ไม่มีความขวนขวาย ไม่กำหนัดยินดี ไม่หวั่นไหว เป็นผู้เสมอในอารมณ์ทั้งปวง. มีอะไรยิ่งไปกว่านี้ มีคาถาว่า อเนชสฺส ผู้ไม่หวั่นไหว ดังนี้เป็นต้น.
ในบทเหล่านั้น บทว่า นิสงฺขติ ธรรมชาติเครื่องปรุงแต่งคือสังขารอย่างใดอย่างหนึ่งในปุญญาภิสังขารเป็นต้น เพราะสังขารนั้นถูกปรุงแต่ง หรือย่อมปรุงแต่ง ฉะนั้นท่านจึงเรียก นิสงฺขติ. บทว่า วิยารมฺภา จากการปรารภคือจากการปรารภ ๓ อย่างมีปุญญาภิสังขารเป็นต้น. บทว่า เขมํ ปสฺสติ สพฺพธิ ย่อมเห็นความปลอดโปร่งในที่ทุกสถานคือเห็นความไม่มีภัยในที่ทั้งปวง นั้นเอง. เมื่อเห็นอย่างนี้ พึงทราบคาถาต่อไปว่า น สเมสุ ดังนี้เป็นต้น.
ในบทเหล่านั้น บทว่า น วทเต ย่อมไม่กล่าวยกย่องตนคือไม่กล่าว ยกย่องตนแม้ในบุคคลผู้เสมอกัน ด้วยถือตัวว่าเราเป็นเช่นเดียวกันเป็นต้น แม้ในบุคคลผู้ต่ำกว่า แม้ในบุคคลผู้สูงกว่า. บทว่า นาเทติ น นิรสฺสติ ไม่ยึดถือ ไม่สละ คือ ไม่ยึดถือไม่สละธรรมไรๆ ในบรรดาธรรมมีรูปเป็นต้น. บทที่เหลือชัดแล้วทั้งหมด. พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงจบเทศนาด้วยธรรม เป็นยอดคือพระอรหัต ด้วยประการฉะนี้.
เมื่อจบเทศนา ศากยกุมารและโกลิยกุมาร ๕๐๐ ได้ผนวชด้วยเอหิภิกขุบรรพชา. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพาภิกษุเหล่านั้นเสด็จเข้าไปยังป่ามหาวัน.
จบอรรถกถาอัตตทัณฑสูตรที่ ๑๕ แห่งอรรถกถาขุททกนิกาย
ชื่อปรมัตถโชติกา