พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

สารีปุตตสูตรที่ ๑๖ ว่าด้วยความไม่สะดุ้งกลัว

 
บ้านธัมมะ
วันที่  14 พ.ย. 2564
หมายเลข  40219
อ่าน  433

[เล่มที่ 47] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 850

สุตตนิบาต

อัฏฐกวรรคที่ ๔

สารีปุตตสูตรที่ ๑๖

ว่าด้วยความไม่สะดุ้งกลัว


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 47]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 850

สารีปุตตสูตรที่ ๑๖

ว่าด้วยความไม่สะดุ้งกลัว

ท่านพระสารีบุตรทูลถามว่า [๔๒๓] พระศาสดา ผู้มีพระวาจาไพเราะอย่างนี้ เสด็จมาแต่ชั้นดุสิต สู่ความเป็นคณาจารย์ ข้าพระองค์ยังไม่ได้เห็นหรือไม่ได้ยินต่อใครๆ ในกาลก่อนแต่นี้เลย.

พระองค์ผู้มีพระจักษุย่อมปรากฏแก่มนุษย์ทั้งหลาย เหมือนปรากฏแก่โลกพร้อมด้วยเทวโลก ฉะนั้น พระองค์ผู้เดียวบรรเทาความมืดได้ทั้งหมด ทรงถึงความยินดีในเนกขัมมะ.

ศิษย์ทั้งหลายมีกษัตริย์เป็นต้นเป็นอันมาก มาเฝ้าพระองค์ผู้เป็นพุทธะ ผู้อันตัณหา และทิฏฐิไม่อาศัยแล้ว ผู้คงที่ ไม่หลอกลวง เสด็จมาเเล้วสู่ความเป็นคณาจารย์ ณ เมืองสังกัสสะนี้ ด้วยปัญหามีอยู่.

เมื่อภิกษุเกลียดชังแต่ทุกข์ มีชาติเป็นต้นอยู่ เสพที่นั่งอันสงัด คือ โคนไม้ ป่าช้า หรือที่นั่งอันสงัดในถ้ำแห่งภูเขา ในที่นอน

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 851

อันเลวและประณีต ความขลาดกลัวซึ่งเป็นเหตุจะไม่ทำให้ภิกษุหวั่นไหว ในที่นอนและที่นั่งอันไม่มีเสียงกึกก้องนั้น มีประมาณเท่าไร.

อันตรายในโลกของภิกษุผู้จะไปยังทิศที่ไม่เคยไป ซึ่งภิกษุจะพึงครอบงำเสียในที่นอนและที่นั่งอันสงัด มีประมาณเท่าไร.

ภิกษุนั้นพึงถ้อยคำอย่างไร พึงมีโคจรในโลกนี้อย่างไร ภิกษุผู้มีใจเด็ดเดี่ยว พึงมีศีลและวัตรอย่างไร สมาทานสิกขาอะไร จึงเป็นผู้มีจิตแน่วแน่ มีปัญญารักษาตน มีสติ พึงกำจัดมลทินของตน เหมือนนายช่างทองกำจัดมลทินของทอง ฉะนั้น.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า

ดูก่อนสารีบุตร ถ้าว่าธรรมเป็นเครื่องอยู่สำราญ และธรรมที่สมควรนี้ใดของภิกษุ ผู้เกลียดชังแต่ทุกข์มีชาติเป็นต้น ผู้ใคร่จะตรัสรู้ เสพอยู่ซึ่งที่นั่งและที่นอนอันสงัดมีอยู่ไซร้ เราจะกล่าวธรรมเป็นเครื่องอยู่สำราญ และธรรมที่สมควรนั่นตามที่รู้ แก่เธอ.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 852

ภิกษุผู้เป็นนักปราชญ์ มีสติ ประพฤติอยู่ในเขตแดนของตน ไม่พึงกลัวแต่ภัย ๕ อย่าง คือ เหลือบ ยุง สัตว์เสือกคลาน ผัสสะแห่งมนุษย์ (มีมนุษย์ผู้เป็นโจร เป็นต้น) สัตว์สี่เท้า.

ภิกษุแสวงหากุศลธรรมอยู่เนืองๆ ไม่พึงสะดุ้งแม้ต่อเหล่าชนผู้ประพฤติธรรมอื่นนอกจากสหธรรมิก แม้ได้เห็นเหตุการณ์ อันนำมาซึ่งความขลาดกลัวเป็นอันมากของชนเหล่านั้น และอันตรายเหล่าอื่น ก็พึงครอบงำเสียได้.

ภิกษุอันผัสสะแห่งโรค คือ ความหิว เย็นจัด ร้อนจัด ถูกต้องแล้ว พึงอดกลั้นได้ ภิกษุนั้นเป็นผู้อันโรคเหล่านั้นถูกต้อง แล้วด้วยอาการต่างๆ ก็มิได้ทำโอกาสให้แก่อภิสังขารเป็นต้น พึงบากบั่นกระทำความเพียรให้มั่นคง.

ไม่พึงกระทำการขโมย ไม่พึงกล่าวคำมุสา พึงแผ่เมตตาไปยังหมู่สัตว์ทั้งที่สะดุ้ง และมั่นคง ในกาลใด พึงรู้เท่าทันความที่ใจเป็นธรรมชาติขุ่นมัว ในกาลนั้น พึงบรรเทาเสียด้วยคิดว่า นี้เป็นฝักฝ่ายแห่งธรรมดำ.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 853

ไม่พึงลุอำนาจแห่งความโกรธและการดูหมิ่นผู้อื่น พึงขุดรากเหง้าแห่งความโกรธ และการดูหมิ่นผู้อื่นเหล่านั้นแล้วดำรงอยู่ เมื่อจะครอบงำ ก็พึงครอบงำความรัก หรือความไม่รักเสียโดยแท้.

ภิกษุผู้ประกอบด้วยปีติอันงาม มุ่งบุญเป็นเบื้องหน้า พึงข่มอันตรายเหล่านั้นเสีย พึงครอบงำความไม่ยินดีในที่นอนอันสงัด พึงครอบงำธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความร่ำไรทั้ง ๔ อย่าง.

ผู้เป็นเสขะ ไม่มีความกังวลเที่ยวไป พึงปราบวิตกอันเป็นที่ตั้งแห่งความร่ำไร เหล่านี้ว่า เราจักบริโภคอะไร หรือว่าเราจักบริโภคที่ไหน เมื่อคืนนี้เรานอนเป็นทุกข์นัก ค่ำวันนี้เราจักนอนที่ไหน.

ภิกษุนั้นได้ข้าวและที่อยู่ในกาลแล้ว พึงรู้จักประมาณ (ในการรับและในการบริโภค) เพื่อความสันโดษในศาสนานี้ ภิกษุนั้นคุ้มครองแล้วในปัจจัยเหล่านั้น สำรวมระวังเที่ยวไปในบ้าน ถึงใครๆ ด่าว่าเสียดสี ไม่พึงกล่าววาจาหยาบ.

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 854

พึงเป็นผู้มีจักษุทอดลง ไม่คะนองเท้า พึงเป็นผู้ขวนขวายในฌาน เป็นผู้ตื่นอยู่โดยมาก ปรารภอุเบกขา มีจิตตั้งมั่นดี พึงตัดเสียซึ่งธรรมเป็นที่อยู่แห่งวิตกและความคะนอง.

ภิกษุผู้อันอุปัชฌาย์เป็นต้น ตักเตือนแล้วด้วยวาจา พึงเป็นผู้มีสติ ยินดีรับคำตักเตือนนั้น พึงทำลายตะปู คือความโกรธในสพรหมจารีทั้งหลาย พึงเปล่งวาจาอันเป็นกุศล อย่าให้ล่วงเวลาไป ไม่พึงคิดในการกล่าวติเตียนผู้อื่น.

ต่อแต่นั้น พึงเป็นผู้มีสติศึกษาเพื่อปราบธุลี ๕ อย่างในโลก ครอบงำความกำหนัดยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส และผัสสะ.

ครั้นปราบความพอใจในธรรมเหล่านี้ ได้แล้ว พึงเป็นผู้มีสติ มีจิตหลุดพ้นด้วยดี พิจารณาธรรมอยู่โดยชอบ โดยกาลอันสมควร มีจิตแน่วแน่ พึงกำจัดความมืดเสียได้ ฉะนี้แล.

จบสารีปุตตสูตรที่ ๑๖

จบอัฏฐกวรรคที่ ๔

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 855

สารีปุตตสูตรที่ ๑๖

สารีปุตตสูตร มีคำเริ่มต้นว่า น เม ทิฏฺโ ข้าพระองค์ไม่ได้เห็น ดังนี้. ท่านกล่าวว่า เถรปัญหสูตรบ้าง.

พระสูตรนี้มีการเกิดขึ้นอย่างไร?

การเกิดพระสูตรนี้มีอยู่ว่า เศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์ได้ปุ่มไม้จันทน์แดง แล้วเอาปุ่มจันทน์แดงทำบาตร ยกแขวนไว้บนอากาศ การห้ามสาวกทั้งหลาย แสดงฤทธิ์ในเพราะเรื่องนั้น พวกเดียรถีย์ประสงค์จะทำปาฏิหาริย์กับพระผู้มีพระภาคเจ้า. การทำปาฏิหาริย์, การเสด็จไปกรุงสาวัตถีของพระผู้มีพระภาคเจ้า การติดตามของพวกเดียรถีย์, การเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าของพระเจ้าปเสนทิ ณ กรุงสาวัตถี, ความปรากฏแห่งต้นคัณฑัมพพฤกษ์, การห้ามบริษัท ๔ แสดง ปาฏิหาริย์ เพื่อเอาชนะเดียรถีย์, การกระทำยมกปาฏิหาริย์, การเสด็จไปดาวดึงส์ พิภพของพระผู้มีพระภาคเจ้าหลังจากทรงทำปาฏิหาริย์แล้ว การแสดงธรรมสิ้นไตรมาส ณ ดาวดึงส์พิภพนั้น และการเสด็จสงจากเทวโลกในสังกัสสนครกับท่านพระมหาโมคคัลลานเถระ ด้วยประการฉะนี้.

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยังเรื่องเหล่านั้น และชาดกให้พิสดารเป็นลำดับๆ ไป ตลอดถึงพวกเทวดาในหมื่นจักรวาลพากันบูชา เสด็จลงที่สังกัสสนคร โดยบันไดแก้วในท่ามกลาง ประทับยืน ณ เชิงบันใด เมื่อจะตรัสพระคาถาในธรรมบทนี้จึงตรัสว่า

ชนเหล่าใดขวนขวายแล้วในฌาน เป็นนักปราชญ์ ยินดีในเนกขัมมะและความสงบ แม้เทวดาทั้งหลายก็รักชนเหล่านั้น ผู้ตรัสรู้พร้อมแล้ว ผู้มีสติ ดังนี้.

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 856

ท่านพระสารีบุตรเถระถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า ซึ่งประทับยืนอยู่ ณ เชิงบันใด ก่อนใครทั้งหมด. ต่อไปภิกษุณีอุบลวรรณา. ลำดับต่อไป หมู่ชนอื่นๆ. ณ ที่นั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงดำริว่า ณ บริษัทนี้พระโมคคัลลานะปรากฏว่าเป็นผู้เลิศทางฤทธิ์ พระอนุรุทธะเป็นผู้เลิศทางทิพยจักษุ พระปุณณะทางธรรมกถึก แต่บริษัทนี้ไม่รู้จักพระสารีบุตรว่าเป็นผู้เลิศด้วยคุณอะไรๆ ถ้ากระไรเราจะพึงประกาศพระสารีบุตรด้วยปัญญาคุณในบัดนี้. ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสถามปัญหากะพระเถระ พระเถระแก้ปัญหาได้ทั้งหมดทั้งที่เป็นปัญหาของปุถุชน ปัญหาของพระเสกขะ และปัญหาของพระอเสกขะ. ในครั้งนั้น ชนจึงได้รู้จักพระสารีบุตรว่าเป็นผู้เลิศทางปัญญา. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า สารีบุตรมิได้เป็นผู้มีปัญญาแต่ในบัดนี้เท่านั้น แม้ในอดีตก็เป็นผู้เลิศด้วยปัญญา จึงทรงนำชาดกมาตรัสเล่า.

ในอดีตกาล ฤาษีมากกว่าพันมีรากไม้และผลไม้ในป่าเป็นอาหาร อาศัยอยู่ ณ เชิงภูเขา. อาจารย์ของฤาษีเหล่านั้นเกิดอาพาธ จึงต้องช่วยกันอุปัฏฐาก. อันเตวาสิกผู้เป็นหัวหน้า คิดว่า เราจักหาเภสัชเป็นที่สบาย แล้วกล่าวว่าพวก ท่านอย่าประมาทจงช่วยกันอุปัฏฐากอาจารย์ จึงได้ไปยังที่อยู่ของชาวบ้าน. เมื่อ หัวหน้าอันเตวาสิกนั้นยังไม่กลับ อาจารย์ได้ถึงแก่กรรมเสียแล้ว. พวกอันเตวาสิกพากันถามอาจารย์ปรารภถึงสมาบัติว่า บัดนี้อาจารย์จักถึงแก่กรรม. อาจารย์กล่าวว่า นตฺถิ กิญฺจิ ไม่มีอะไร หมายถึงอากิญจัญญายตนสมาบัติ. พวกอันเตวาสิกต่างถึงเอาว่าอาจารย์ยังไม่ได้บรรลุ. ลำดับนั้นหัวหน้าอันเตวาสิกนำเภสัชมา เห็นอาจารย์ถึงแก่กรรมจึงกล่าวว่า พวกท่านถามอะไรๆ กะอาจารย์

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 857

บ้าง. อันเตวาสิกกล่าวว่า พวกผมถาม ขอรับ. อาจารย์กล่าวว่า ไม่มีอะไร อาจารย์ยังไม่ได้บรรลุอะไรๆ. หัวหน้าอันเตวาสิกกล่าวว่า เมื่ออาจารย์กล่าวว่า ไม่มีอะไร ได้บ่งให้รู้ถึงอากิญจัญญายตนะ ควรเคารพอาจารย์.

บุรุษผู้มีปัญญาใด รู้ความของภาษิต แม้ผู้เดียวยังประเสริฐว่า บุรุษผู้ไม่มีปัญญา ผู้ไม่รู้ความของภาษิต แม้มากกว่า ๑,๐๐๐ คน เหล่านั้น ผู้มาประชุมกันคร่ำครวญอยู่ตั้ง ๑๐๐ ปี ดังนี้.

ก็และเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสชาดกแล้ว ท่านพระสารีบุตรเพื่อจะทูลถามถึงเสนาสนะและโคจรเป็นที่สบาย และศีลพรตเพื่อประโยชน์แก่ภิกษุ ๕๐๐ ซึ่งเป็นสัทธิวิหาริกของตน จึงได้กล่าวคาถา ๘ คาถา เริ่มคาถาสรรเสริญ นี้ว่า น เม ทิฏฺโ อิโต ปุพฺเพ ข้าพระองค์ไม่ได้เห็นหรือไม่ได้ยินต่อใครๆ ในกาลก่อนแต่นี้เลย ดังนี้เป็นต้น. พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงแก้ความนั้น ได้ตรัสคาถาที่เหลือต่อจากนั้น.

ในบทเหล่านั้น บทว่า อิโต ปุพฺเพ ในกาลก่อนแต่นี้ คือ ในกาลก่อน แต่เสด็จลงที่สังกัสสนครนี้. บทว่า วคฺคุวโท คือมีพระวาจาไพเราะ. บทว่า ตุสิตา คณิมาคโต เสด็จมาแต่ชั้นดุสิตสู่หมู่คณะ คือ พระพุทธองค์เสด็จมาจากชั้นดุสิต เพราะทรงจุติจากชั้นดุสิตแล้วมาปฏิสนธิยังพระครรภ์พระมารดา. ที่ชื่อว่าคณี (หมู่คณะ) เพราะเป็นคณาจารย์ หรือเสด็จจากเทวโลกคือชั้นดุสิต เพราะนำความยินดีมาสู่หมู่คณะ หรือเสด็จจากชั้นดุสิตมาสู่หมู่คณะของพระอรหันต์ทั้งหลาย.

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 858

พึงทราบวินิจฉัยในคาถาที่สองต่อไป. บทว่า สเทวกสฺส โลกสฺส ยถา ทิสฺสติ เหมือนปรากฏแก่โลกพร้อมทั้งเทวโลก คือเหมือนปรากฏแก่มนุษย์ทั้งหลาย ดุจปรากฏแก่โลกพร้อมทั้งเทวโลก หรือปรากฏโดยความเป็นของแท้ ปรากฏโดยความไม่วิปริต. บทว่า จกฺขุมา คือมีจักษุยอดเยี่ยม. บทว่า เอโก พระองค์ผู้เดียว คือพระองค์ผู้เดียวด้วยการนับเนื่องในบรรพชาเป็นต้น. บทว่า รตึ คือทรงยินดีในเนกขัมมะเป็นต้น.

พึงทราบวินิจฉัยในคาถาที่สามต่อไป. บทว่า พหุนฺนมิธ พทฺธานํ คือศิษย์ทั้งหลายมีกษัตริย์เป็นต้นเป็นอันมากอันนับเนื่องกันในที่นี้. จริงอยู่ศิษย์ทั้งหลาย ท่านเรียกว่า พทฺธา นับเนื่องกัน เพราะมีความประพฤติผูกพันในอาจารย์. บทว่า อตฺถิ ปญฺเหน อาคมํ มาด้วยปัญหามีอยู่ คือ มีความต้องการด้วยปัญหาจึงมา หรือมีปัญหาจึงมา.

พึงทราบวินิจฉัยในคาถาที่สี่ต่อไป. บทว่า วิชิคุจฺฉโต เมื่อเกลียดชัง คือ อึดอัดด้วยทุกข์มีชาติเป็นต้น. บทว่า ริตฺตมาสนํ ที่นั่งอันสงัด คือ เตียงและตั่งอันสงัด. บทว่า ปพฺพตานํ คุหาสุ วา ในถ้ำแห่งภูเขา พึงเชื่อมความด้วยบทว่า ริตฺตมาสนํ ภชโต เสพที่นั่งอันสงัด.

พึงทราบวินิจฉัยในคาถาที่ห้า. บทว่า อุจฺจาวเจสุ สูงและต่ำ คือ ประณีตและเลว. บทว่า สยเนสุ คือ ในเสนาสนะมีวิหารเป็นต้น. บทว่า กีวนฺโต ตตฺถ เภรวา คือ เพราะความขลาดกลัวในที่นอนและที่นั่งนั้นมีประมาณเท่าไร. ปาฐะว่า คีวนฺโต บ้าง. บทนี้มีความว่า ขับร้องอยู่. แต่บทหน้าบทหลังไม่ต่อกัน.

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 859

พึงทราบวินิจฉัยในคาถาที่หก บทว่า กตี ปริสฺสยา คืออันตรายมีประมาณเท่าไร. บทว่า อมตํ ทิสํ ทิศที่ไม่เคยไป คือ นิพพาน. เพราะทิศที่ไม่เคยไปนั้น ชื่อว่าทิศเพราะควรชี้แจงอย่างนั้น. ด้วยเหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่า อมตํ ทิสํ ทิศที่ไม่เคยไป. บทว่า อภิสมฺภเว คือ พึงครอบงำเสีย. บทว่า ปนฺตมฺหิ ที่นอนที่นั่งอันสงัด คือ อยู่สุดท้าย.

พึงทราบวินิจฉัยในคาถาที่เจ็ดต่อไป. บทว่า กฺยาสฺส พฺยปถโย อสฺสุ คือ ภิกษุนั้นพึงมีถ้อยคำอย่างไร.

พึงทราบวินิจฉัยในคาถาที่แปดต่อไป. บทว่า เอโกทิ นิปโก เป็นผู้ มีจิตแน่วแน่ มีปัญญารักษาตน คือ มีจิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง เป็นบัณฑิต

พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นท่านพระสารีบุตรสรรเสริญด้วยคาถา ๓ คาถา แล้วทูลถามถึงเสนาสนะโคจรศีลและพรตเป็นต้น เพื่อประโยชน์แก่ศิษย์ ๕๐๐ ด้วยคาถา ๕ คาถา เพื่อทรงประกาศความนั้น จึงทรงเริ่มแก้ปัญหา โดยนัยมีอาทิว่า วิชิคุจฺฉมานสฺส ของภิกษุผู้เกลียดชัง.

ในบทเหล่านั้น พึงทราบความในคาถาที่หนึ่งก่อน. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนสารีบุตร ถ้าว่าธรรมเป็นเครื่องอยู่สำราญ และธรรมที่สมควรนี้ใด ของภิกษุผู้เกลียดชังแต่ทุกข์มีชาติเป็นต้น. ผู้ใคร่จะตรัสรู้ เสพที่นั่งและที่นอนอันสงัด เราจะกล่าวธรรมเป็นที่อยู่สำราญและธรรมที่สมควรนั้นตามที่รู้แก่เธอ.

พึงทราบวินิจฉัยในคาถาที่สองต่อไป. บทว่า ปริยนฺตจารี ประพฤติอยู่ในเขตเเดน คือ ประพฤติอยู่ในเขตแดง ๔ มีศีลเป็นต้น. บทว่า ฑํสาธิปาตานํ ได้แก่ เหลือบและยุง เพราะยุงทั้งหลายก้มลงดูด ฉะนั้น

 
  ข้อความที่ 11  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 860

จึงเรียกว่า อธิปาตา ก้มดูดเลือด. บทว่า มนุสฺสผสฺสานํ ผัสสะแห่งมนุษย์ คือ ผัสสะแต่ภัยมีโจรภัยเป็นต้น.

พึงทราบวินิจฉัยในคาถาที่สามต่อไป. สหธรรมิก ๗ จำพวก ชื่อว่าผู้ประพฤติธรรมอื่น ทั้งหมดก็เป็นคนภายนอก. บทว่า กุสลานุเอสี คือผู้แสวงหากุศลธรรมอยู่เนืองๆ.

พึงทราบวินิจฉัยในคาถาที่สี่ต่อไป. บทว่า อาตงฺกผสฺเสน คือ อันผัสสะแต่โรค. บทว่า สีตํ อจฺจุณฺหํ ได้แก่ เย็นและร้อน. บทว่า โส เตหิ ผุฏฺโ พหุธา ภิกษุนั้นอันผัสสะแต่โรคถูกต้องแล้ว คือ แม้เป็นผู้ถูกอาการไม่น้อยมีโรคเป็นต้นเหล่านั้นถูกต้องแล้ว. บทว่า อโนโก คือมิได้ทำโอกาสให้แก่อภิสังขารและวิญญาณเป็นต้น.

พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแก้ปัญหาที่พระสารีบุตรถามแล้ว ด้วยคาถา ๓ คาถามีอาทิว่า ภิกฺขุโน วิชิคุจฺฉโต ภิกษุผู้เกลียดชังอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เมื่อจะทรงแก้ปัญหาที่พระสารีบุตรถาม โดยนัยมีอาทิว่า กฺยาสฺส พฺยปถโย ภิกษุนั้นพึงมีถ้อยคำอย่างไร จึงตรัสคำมีอาทิว่า เถยฺยํ น กเรยฺย ไม่พึงทำการขโมยดังนี้.

ในบทเหล่านั้น บทว่า ผสฺเส คือพึงแผ่ไป. บทว่า ยถาวิลตฺตํ มนโส วิชญฺา พึงรู้เท่าความที่ใจเป็นธรรมชาติขุ่นมัว คือ พึงบรรเทาความขุ่นมัวทั้งหมดนั้นด้วยคิดว่า นี้เป็นฝ่ายแห่งธรรมดำ. บทว่า มูลมฺปิ เตสํ ปลิขญฺเ ติฏฺเ พึงขุดรากเหง้าแห่งความโกรธและความดูหมิ่นผู้อื่น เหล่านั้นแล้วดำรงอยู่ คือ พึงขุดรากเหง้ามีอวิชชาเป็นต้นแห่งความโกรธและ

 
  ข้อความที่ 12  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 861

ความดูหมิ่นเหล่านั้นแล้วดำรงอยู่. บทว่า อทฺธา ภวนฺโต อภิสมฺภเวยฺย คือ เมื่อจะครอบงำก็พึงครอบงำความรักหรือความไม่รักเสียโดยแท้อย่างนี้. อธิบายว่า ไม่พึงพยายามให้หย่อนในข้อนั้น. บทว่า ปุญฺํ ปุรกฺขิตฺวา มุ่งบุญเป็นเบื้องหน้า คือทำบุญไว้ก่อน. บทว่า กลฺยาณปีติ มีปีติงาม คือ ประกอบด้วยปีติอันงาม. บทว่า จตุโร สเหถ ปริเทวธมฺเม พึงครอบงำธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความร่ำไร ๔ คือ พึงครอบงำธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความร่ำไรรำพัน ดังกล่าวไว้ในคาถาตามลำดับ.

บทว่า กึสุ อสิสฺสามิ คือเราจักบริโภคอะไร. บทว่า กุวํ วา อสฺสิสฺสํ คือ หรือเราจักบริโภคที่ไหน. บทว่า ทุกฺขํ วต เสตฺถ กุวชฺช เสสฺสํ คือ เมื่อคืนนี้เรานอนเป็นทุกข์หนัก ค่ำวันนี้เราจักนอนที่ไหน. บทว่า เอเต วิตกฺเก ได้แก่วิตก ๔ อย่าง คือ วิตกอาศัยบิณฑบาต ๒ วิตกอาศัยเสนาสนะ ๒. บทว่า อนิเกตจารี ไม่มีความกังวลเที่ยวไป คือไม่มีความห่วงใยเที่ยวไปและไม่มีความทะเยอทะยานเที่ยวไป.

บทว่า กาเล อธิบายว่า ได้ข้าว คือบิณฑบาตในเวลาบิณฑบาต หรือได้เครื่องนุ่งห่ม คือจีวร ในจีวรกาล โดยธรรมโดยสม่ำเสมอ. บทว่า มตฺตํ โส ชญฺา คือ ภิกษุนั้นพึงรู้จักประมาณในการรับและในการบริโภค. บทว่า อิธ คือในศาสนา. หรือว่า บทนี้ เป็นเพียงนิบาต. บทว่า โตสนตฺถํ คือ เพื่อความสันโดษ. ท่านอธิบายว่า พึงรู้ประมาณความต้องการนี้. บทว่า โส เตสุ คุตฺโต คือภิกษุนั้นคุ้มครองแล้วในปัจจัยเหล่านั้น. บทว่า ยตจารี สำรวม ระวังเที่ยวไป คือ สำรวมการอยู่ สำรวมอิริยาบถ อธิบายว่า รักษากายทวาร

 
  ข้อความที่ 13  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 862

วจีทวาร และมโนทวาร. ปาฐะว่า ยถาจารี ดังนี้บ้าง. ความอย่างเดียวกัน. บทว่า รุสิโต โกรธเคือง คือเสียดสี. อธิบายว่า โกรธ. บทว่า ฌานานุยุตฺโต คือ เป็นผู้ขวนขวายในฌานด้วยการทำฌานที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้นและเสพฌานที่ เกิดขึ้นแล้ว. บทว่า อุเปกฺขมารพฺภ สมาหิตตฺโต ภิกษุปรารภอุเบกขา มีจิตตั้งมั่นแล้ว คือ ยังอุเบกขาในจตุตตฌานให้เกิดแล้วมีจิตตั้งมั่น. บทว่า ตกฺกาสยํ กุกฺกุจฺจิยูปฉินฺเท พึงตัดเสียซึ่งธรรมเป็นที่อยู่แห่งความวิตกและความคะนอง คือพึงตัดเสียซึ่งวิตกมีกามวิตกเป็นต้น, ธรรมเป็นที่อยู่แห่งความตรึกถึงกามสัญญาเป็นต้น และความคะนองมีคะนองมือเป็นต้น. บทว่า จุทิโต วจีภิ สติมาภินนฺเท ความว่า ภิกษุผู้อันอุปัชฌาย์ตักเตือนแล้วด้วยวาจา พึงเป็นผู้มีสติยินดีรับคำตักเตือนนั้น. บทว่า วาจํ ปมุญฺเจ กุสฺลํ พึงเปล่งวาจาอันเป็นกุศล คือพึงเปล่งวาจาอันตั้งขึ้นแล้วด้วยญาณ ไม่พึงเปล่งวาจาให้เกินเวลา คือไม่พึงเปล่งวาจาล่วงกาลเวลาและล่วงศีล. บทว่า ชนวาทธมฺมาย ได้แก่ ไม่พึงคิดกล่าวติเตียนผู้อื่น. บทว่า น เจตเยยฺย ไม่พึงคิด คือ ไม่ให้เกิดเจตนา (ตั้งใจ). บทว่า อถาปรํ ต่อแต่นั้น คือ ต่อจากนี้ไป. บทว่า ปญฺจ รชานิ ได้แก่ ธุลี ๕ มีรูปราคะเป็นต้น. บทว่า เยสํ สติมา วินยาย สิกฺเข พึงเป็นผู้มีสติศึกษาเพื่อกำจัดธุลี คือ พึงเป็นผู้มีสติตั้งมั่นศึกษาไตรสิกขาเพื่อปราบธุลี. เมื่อศึกษาอยู่อย่างนี้ครอบงำความกำหนัดในรูป เสียง กลิ่น รส และผัสสะ มิใช่อย่างอื่น. แต่นั้น ภิกษุนั้นศึกษาเพื่อกำจัดธุลีเหล่านั้น. พึงทราบคาถาว่า เอเตสุ ธมฺเมสุ ดังนี้ตามลำดับ.

ในบทเหล่านั้น บทว่า เอเตสุ ได้แก่ในรูปเป็นต้น. บทว่า กาเลน โส สมฺมา ธมฺมํ ปริวีมํสมาโน ภิกษุนั้นพิจารณาธรรมโดยชอบโดยกาลอัน

 
  ข้อความที่ 14  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 863

สมควร คือ ภิกษุนั้นพิจารณาธรรมอันเป็นสังขตธรรมทั้งหมดโดยนัยมีความไม่เที่ยงเป็นต้น ตามกาลดังที่ท่านกล่าวไว้แล้วโดยนัยมีอาทิว่า เมื่อยกระดับจิตขึ้นก็เป็นกาลของสมาธิ. บทว่า เอโกทิภูโต วิหเน ตมํ โส ภิกษุนั้นมีจิตแน่วแน่พึงกำจัดความมืดเสีย คือ ภิกษุนั้นมีจิตมีอารมณ์เป็นหนึ่งเพื่อกำจัด ความมืดมีโมหะเป็นต้นทั้งหมดเสีย ไม่มีสงสัยในข้อนี้. บทที่เหลือในบททั้งปวงชัดดีแล้ว. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงจบเทศนาด้วยธรรมเป็นยอด คือพระอรหัต ด้วยประการฉะนี้.

ในเวลาจบเทศนา พระภิกษุ ๕๐๐ รูปบรรลุพระอรหัตแล้ว. ธรรมาภิสมัย ได้มีแล้วแก่พวกเทวดาและมนุษย์ ๓๐ โกฏิแล.

จบอรรถกถาสารีปุตตสูตรที่ ๑๖ แห่งอรรถกถาขุททกนิกาย

ชื่อปรมัตถโชติกา

จบอัฏฐกวรรคที่ ๔

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้คือ

๑. กามสูตร ๒. คุหัฏฐกสูตร ๓. ทุฏฐัฏฐกสูตร ๔. สุทธัฏฐกสูตร ๕. ปรมัฏฐกสูตร ๖. ชราสูตร ๗. ติสสเมตเตยยสูตร ๘. ปสูรสูตร ๙. มาคันทิยสูตร ๑๐. ปุราเภทสูตร ๑๑. กลหวิวาทสูตร ๑๒. จูฬวิยูหสูตร ๑๓. มหาวิยูหสูตร ๑๔. ตุวฏกสูตร ๑๕. อัตตทัณฑสูตร ๑๖. สารีปุตตสูตร

พระสูตรเหล่านี้ทั้งหมดมีในอัฏฐกวรรคที่ ๔ ด้วยประการฉะนี้.