กายคตาสติ ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัส

 
Nuchareeya
วันที่  14 พ.ย. 2564
หมายเลข  40223
อ่าน  502

คำถามจากคุณนิธินาถ ศิริเวช

สมาชิกชมรมบ้านธัมมะ เลขที่ 4760

เนื้อความที่ว่า
“พระอรหันตสัมมาสัมพุทธ ตรัสกายคตาสติที่ภิกษุเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ว่ามีผลมาก มีอานิสงส์มาก”

ขอความกรุณาให้ความกระจ่างของเนื้อความนี้ด้วยค่ะ

ขอบพระคุณค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 14 พ.ย. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ก่อนอื่น ทำความเข้าใจในเรื่อง ของ กายคตาสติให้ถูกต้องก่อนนะครับว่าคืออะไรและเป็นอย่างไร กายคตาสติ คือ สติและปัญญาที่ระลึกเป็นไปในการกาย ซึ่ง กายคตาสติ มี 2 อย่างคือทั้งที่เป็นสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา กายคตาสติที่เป็นสมถภาวนาคงเคยได้ยินนะครับที่ว่า พิจารณา ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น พิจารณาโดยความเป็นของปฏิกูล ในอาการ 32 พิจารณาว่าผม ขน เล็บ ปฏิกูล ไม่น่ายินดี ติดข้อง ขณะที่มีความเข้าใจถูก ในการคิดพิจารณาเช่นนี้ จิตสงบจากกิเลสชั่วขณะ เพราะคิดถูก แต่ไม่ได้รู้ว่าเป็นธรรมไม่ได้ละความยึดถือว่าเป็นเรา เป็นสัตว์ บุคคล ก็ยังเป็นผมของเรา ขนของเราอยู่ แต่พิจารณาถูกว่าเป็นสิ่งปฏิกูล มีสติและปัญญาพิจารณา สิ่งที่เนื่องกับกาย มี ผม ขน เล็บ เป็นต้นว่าปฏิกูล นี่คือกายคตาสติ โดยนัยสมถภาวนา ซึ่งไม่สามารถดับกิเลสได้ เพียงแต่ทำให้จิตสงบชั่วขณะที่พิจารณาครับ

ส่วนกายคตาสติโดยนัย วิปัสสนา คือ สติที่ระลึกเป็นไปในกายเช่นกัน แต่เป็นการรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏที่กาย ที่เป็นธาตุ 4 คือ ธาตุ ดิน น้ำ ไฟ ลม คือ เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว ที่เนื่องกับกาย ขณะนั้นสติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงที่เนื่องกับกายที่เป็นปรมัตถ์ ไม่ใช่การพิจารณาบัญญัติเรื่องราวที่เป็น ผม ขน เล็บ อาการ 32 เป็นต้น เมื่อสติเกิดรู้ว่าเป็นเพียงแข็ง เราก็ไม่มี กายก็ไม่มี มีแต่ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ก็สามารถไถ่ถอนความยึดถือว่าเป็นเรา เป็นสัตว์ บุคคลได้ อันเป็นหนทางดับกิเลสได้ ที่เป็นการเจริญวิปัสสนา ดังนั้น กายคตาสติ อีกชื่อหนึ่งในการเจริญวิปัสสนา ก็คือกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เพราะฉะนั้น การเจริญ กายคตาสติ สติที่เนื่องในกาย ก็เป็นการเจริญสติปัฏฐานในหมวด กายานุปัสสนาสติปัฏฐานนั่นเอง ซึ่งการเจริญสติปัฏฐานเป็นหนทางที่สามารถดับกิเลสได้ครับ ซึ่งจะมีผลมาก อานิสงส์มาก เมื่อเป็นไปในการรู้ความจริงที่เป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ระลึกรู้ลักษณะที่ปรากฎทางกาย ระลึกรู้ความจริงที่มีแต่ อ่อน แข็ง เย็น ร้อน ตึง ไหว เป็นต้น อันเป็นหนทางละความยึดถือว่าเป็นเรานั่นเองครับ นั่นคือ มีผลมาก ผล คือ ละกิเลสได้จนหมดสิ้น อานิสงส์มาก ก็ถึงการดับกิลสจนหมดสิ้นเช่นกันครับ ทั้งหมดต้องเป็นเรื่องของปัญญา ที่เข้าใจถูกตั้งแต่ขั้นการฟังว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 14 พ.ย. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
lokiya
วันที่ 14 พ.ย. 2564

เป็นหัวข้อที่น่าสนใจ ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 15 พ.ย. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กายคตาสติ มีผลมากมีอานิสงส์มาก เพราะทำให้สามารถประจักษ์แจ้งความจริงถึงความเป็นพระอริยบุคคลได้ และ กายคตาสติ ที่จะทำให้ถึงความเป็นพระอริยบุคคลนั้น ต้องเป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐานเท่านั้น เพราะจะทำให้รู้แจ้งซึ่งอริยสัจจธรรม บรรลุเป็นพระอริยบุคคลตามลำดับจนถึงพระอรหันต์ เป็นกายคตาสติที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสรรเสริญ [ไม่ใช่ที่เป็นสมถภาวนา เพราะสมถภาวนาไม่สามารถดับกิเลสได้ เพียงระงับไว้ได้เท่านั้น ไม่สามารถทำลายกิเลสใดๆ ได้เลย] แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเจริญกายคตาสติอย่างเดียวแล้วจะได้บรรลุ เพราะถ้ายังไม่มีการศึกษาให้เข้าใจถึงลักษณะของสภาพธรรมที่นอกเหนือไปจากกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน (กายคตาสติ) ยังมีความไม่รู้และมีความสงสัยในลักษณะของสภาพธรรมอื่นๆ อยู่ ด้วยเหตุนี้ การที่จะขจัดความสงสัยความไม่รู้ในลักษณะของสภาพธรรมนั้น จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะรู้เพียงลักษณะของสภาพธรรมเพียงหมวดเดียวในสติปัฏฐาน ๔ เพราะถ้ารู้เพียงหมวดเดียว ก็แสดงว่ายังไม่รู้สภาพธรรม ในหมวดอื่นๆ ต้องเป็นผู้รู้ทั่วทั้งหมด ทั้งกาย เวทนา จิต และธรรม เมื่อเหตุย่อมสมควรแก่ผล ปัญญาเจริญสมบูรณ์พร้อม ก็ทำให้ผู้นั้นถึงความเป็นพระอริยบุคคลได้ ขึ้นอยู่กับว่าจะบรรลุด้วยอะไร แต่ก่อนที่จะบรรลุได้นั้น ก็จะต้องเป็นผู้มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน ระลึกรู้สภาพธรรมที่มีจริงในชีวิตประจำวันมาแล้วทั้งนั้น เพราะท่านเข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริง ว่าทุกอย่างที่เป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจนั้น เป็นที่ตั้งของสติ (สติปัฏฐาน) ทั้งสิ้น แล้วแต่ว่าสติจะระลึกและปัญญารู้ลักษณะใด โดยไม่จำกัดและไม่เจาะจง เพราะธรรมเป็นอนัตตาไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ครับ.

...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
petsin.90
วันที่ 15 พ.ย. 2564

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ