พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

อชิตปัญหาที่ ๑ ว่าด้วยปัญหาของอชิตมาณพ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  14 พ.ย. 2564
หมายเลข  40225
อ่าน  466

[เล่มที่ 47] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 891

สุตตนิบาต

ปารายนวรรคที่ ๕

อชิตปัญหาที่ ๑

ว่าด้วยปัญหาของอชิตมาณพ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 47]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 891

อชิตปัญหาที่ ๑

ว่าด้วยปัญหาของอชิตมาณพ

[๔๒๕] อชิตมาณพทูลถามปัญหาว่า

โลกคือหมู่สัตว์อันอะไรหุ้มห่อไว้ โลกย่อมไม่แจ่มแจ้งเพราะอะไร พระองค์ตรัสอะไรว่า เป็นเครื่องฉาบทาโลกไว้ อะไรเป็นภัยใหญ่ของโลกนั้น.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสพยากรณ์ว่า ดูก่อนอชิตะ

โลกอันอวิชชาหุ้มห่อไว้ โลกไม่แจ่มแจ้งเพราะความตระหนี่ (เพราะความประมาท) เรากล่าวตัณหา ว่าเป็นเครื่องฉาบทาโลกไว้ ทุกข์เป็นภัยใหญ่ของโลกนั้น.

อ. กระแสทั้งหลายย่อมไหลไปในอารมณ์ทั้งปวง อะไรเป็นเครื่องกั้นกระแสทั้งหลาย ขอพระองค์จงตรัสบอกเครื่องกั้นกระแสทั้งหลาย กระแสทั้งหลายอันบัณฑิต ย่อมปิดกั้นได้ด้วยธรรมอะไร.

พ. ดูก่อนอชิตะ สติเป็นเครื่องกั้นกระแสในโลก เรากล่าวสติว่าเป็นเครื่องกั้นกระแสทั้งหลาย กระแสเหล่านั้นอันบัณฑิตย่อมปิดกั้นได้ด้วยปัญญา.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 892

อ. ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ปัญญา สติ และนามรูป ธรรมทั้งหมดนี้ย่อมดับไป ณ ที่ไหน พระองค์อันข้าพระองค์ทูลถามแล้วขอจงตรัสบอกปัญหาข้อนี้แก่ข้าพระองค์ เถิด.

พ. ดูก่อนอชิตะ เราจะบอกปัญหา ที่ท่านได้ถามแล้วแก่ท่าน นามและรูปย่อมดับไปไม่มีส่วนเหลือ ณ ที่ใด สติและปัญญานี้ ย่อมดับไป ณ ที่นั้น เพราะความดับแห่ง วิญญาณ

อ. ชนเหล่าใด ผู้มีธรรมอันพิจารณาเห็นแล้ว และชนเหล่าใดผู้ยังต้องศึกษาอยู่เป็นอันมากมีอยู่ในโลกนี้ ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ พระองค์ผู้มีปัญญารักษาตน อันข้าพระองค์ทูลถามแล้ว ขอจงตรัสบอกความเป็นไปของตนเหล่านั้นแก่ข้าพระองค์เถิด.

พ. ภิกษุไม่กำหนัดยินดีในกามทั้งหลาย มีใจไม่ขุ่นมัว ฉลาดในธรรมทั้งปวง มีสติ พึงเว้นรอบ.

จบอชิตมาณวกปัญหาที่ ๑

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 893

อรรถกถาอชิตสูตร (๑) ที่ ๑

ก็ในปัญหานั้น บทว่า นิวุโต หุ้มห่อ คือ ปกปิดไว้. บทว่า กิสฺสาภิเลปนํ พฺรูสิ คืออชิตมาณพทูลถามว่า พระองค์ตรัสว่าอะไรเป็นเครื่องฉาบทาโลกนั้นไว้.

บทว่า เววิจฺฉา ปมาทา นปฺปกาสติ คือพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า โลกไม่แจ่มแจ้งเพราะความตระหนี่และเพราะความประมาทเป็นเหตุ. จริงอยู่ ความตระหนี่ไม่ให้เพื่อประกาศคุณมีทานเป็นต้นของเขา และความประมาทไม่ให้เพื่อประกาศคุณมีศีลเป็นต้น. บทว่า ชปฺปาภิเลปนํ ตัณหาเป็นเครื่องฉาบทา คือตัณหาเป็นเครื่องฉาบทาโลกนั้นไว้ดุจตังดักลิง ฉาบทาลิงไว้ฉะนั้น. บทว่า ทุกฺขํ ได้แก่ ทุกข์มีชาติเป็นต้น.

บทว่า สวนฺติ สพฺพธิ โสตา กระแสทั้งหลายย่อมแล่นไปในอารมณ์ทั้งปวง คือ กระแสมีตัณหาเป็นต้นย่อมแล่นไปในอายตนะทั้งหลายมี รูปายตนะเป็นต้นทั้งปวง. บทว่า กินฺนิวารณํ อะไรเป็นเครื่องกั้นกระแส คือ อะไรเป็นเครื่องกั้น อะไรเป็นเครื่องคุ้มครองรักษากระแสเหล่านั้น. บทว่า สํวรํ พฺรูหิ คือขอพระองค์ทรงตรัสบอกเครื่องกั้นกระแสอันได้แก่การห้ามกระแส เหล่านั้น. ด้วยบทนี้อชิตมาณพทูลถามถึงการละกระแสที่เหลือ. บทว่า เกน โสตา ปิถิยฺยเร คือ กระแสทั้งหลายเหล่านั้นอันบัณฑิตย่อมปิดกั้น คือ ตัดขาดได้ด้วยธรรมอะไร. ด้วยบทนี้ อชิตมาณพทูลถามถึงการละกระแสโดยไม่มีเหลือ.

บทว่า สติ เตสํ นิวารณํ สติเป็นเครื่องกั้นกระแสเหล่านั้น คือ สติอันมีอยู่ด้วยความสงบประกอบแล้วด้วยวิปัสสนาเป็นทางดำเนินของธรรมอัน


๑. บาลีเป็น อชิตปัญหา.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 894

เป็นกุศลทั้งหลายเป็นเครื่องกั้นกระแสเหล่านั้น. บทว่า โสตานํ สํวรํ พฺรูมิ เรากล่าวสติว่าเป็นเครื่องกั้นกระแสทั้งหลาย อธิบายว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เรากล่าวว่าสตินั้นแลเป็นเครื่องกั้นกระแสทั้งหลาย. บทว่า ปญฺาเยเต ปิถิยฺยเร กระแสเหล่านั้นอันบัณฑิตปิดกั้นได้ด้วยปัญญา คือ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า กระเเสเหล่านั้นอันบัณฑิตย่อมปิดกั้นได้ด้วยมรรคปัญญาอันสำเร็จด้วยการแทงตลอดถึงความเป็นของไม่เที่ยงเป็นต้นในธรรมทั้งหลายมีรูปเป็นต้น โดยประการทั้งปวง.

บทว่า ปญฺา เจว พึงทราบความสังเขปอย่างนี้ว่า ปัญญา สติ และนามรูปที่เหลือนั้นอันใด ที่ท่านกล่าวไว้ในคาถาของปัญหาทั้งหมดนั้นย่อมดับไป ณ ที่ไหน พระองค์อันข้าพระองค์ทูลถามปัญหา ขอจงตรัสบอกปัญหาข้อนี้แก่ข้าพระองค์เถิด.

พึงทราบความในคาถาแก้ปัญหาของอชิตมาณพต่อไป เพราะปัญญาและสติสงเคราะห์ (รวม) กันโดยนามนั่นเอง ฉะนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงมิได้ตรัสปัญญาและสติไว้ต่างออกไป. นี้เป็นความสังเขปในบทนี้. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนอชิตะ ท่านได้ถามปัญหานี้ว่า นามและรูปย่อมดับไป ณ ที่ไหน เราจะบอกปัญหาที่ท่านได้ถามแก่ท่านว่า นามและรูปย่อมดับไปไม่มีส่วนเหลือ ณ ที่ใด สติและปัญญานี้ย่อมดับไปพร้อมกันไม่ก่อนไม่หลัง ณ ที่นั้น เพราะความดับแห่งวิญญาณนั้นๆ ในเพราะความดับแห่งวิญญาณนี้แล นามและรูปจึงดับไป ท่านอธิบายว่า การดับนามและรูปนั้นไม่ล่วงพ้นการดับแห่งวิญญาณนั้นไปได้เลย.

ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ เป็นอันประกาศถึงทุกขสัจจะด้วยบทนี้ว่า ทุกฺขมสฺส มหพฺภยํ ทุกข์เป็นภัยใหญ่ของโลกนี้. ประกาศสมุทยสัจจะด้วยบทนี้ว่า

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 895

ยานิ โสตานิ กระแสทั้งหลายเหล่าใดในโลกดังนี้. ประกาศมรรคสัจจะด้วยบทนี้ว่า ปญฺาเยเต ปิถิยฺยเร กระแสเหล่านี้อันบัณฑิตย่อมปิดกั้นได้ด้วยปัญญา. ประกาศนิโรธสัจจะด้วยบทนี้ว่า อเสสํ อุปรุชฺฌติ นามและรูป ย่อมดับไปไม่เหลือ. อชิตมาณพได้ฟังสัจจะทั้ง ๔ อย่างนี้แล้ว ยังไม่บรรลุอริยภูมิ เมื่อจะทูลถามปฏิปทาของพระเสกขะและอเสกขะต่อไปจึงทูลว่า เย จ สงฺขาตธมฺมาเส ชนเหล่าใดผู้มีธรรมอันพิจารณาเห็นแล้ว ดังนี้เป็นต้น.

ในบทเหล่านั้นบทว่า สงฺขาตธมฺมา ได้แก่ ธรรมที่พิจารณาเห็นแล้ว โดยความเป็นของไม่เที่ยงเป็นต้น. บทนี้เป็นชื่อของพระอรหัต. บทว่า เสกฺขา ได้แก่ พระอริยบุคคลที่เหลือผู้ยังต้องศึกษาศีลเป็นต้น. บทว่า ปุถู มาก ได้แก่ ชน ๗ จำพวก. บทว่า เตสํ เม นิปโก อิริยํ ปุฏฺโ ปพฺรูหิ ความว่า พระองค์ผู้มีปัญญารักษาตนอันข้าพระองค์ทูลถามแล้ว ขอจงตรัสบอกข้อปฏิบัติของชนเหล่านั้น ผู้เป็นเสกขะและอเสกขะ แก่ข้าพระองค์เถิด.

เพราะพระเสกขะควรละกิเลสทั้งหมด ตั้งต้นแต่กามฉันทนิวรณ์ทีเดียว ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงแสดงเสกขปฏิปทาแก่อชิตมาณพนั้นด้วยกึ่งคาถาว่า กาเมสุ ในกามทั้งหลาย ดังนี้เป็นต้น.

บทนั้นมีความดังต่อไปนี้ ภิกษุไม่พึงกำหนัดยินดีในวัตถุกามทั้งหลาย ด้วยความใคร่กิเลส ละธรรมทั้งหลายอันทำความขุ่นมัวแก่ใจมีกายทุจริตเป็นต้น พึงเป็นผู้มีใจไม่ขุ่นมัว. ก็เพราะพระอเสกขะเป็นผู้ฉลาด เพราะเป็นผู้พิจารณาสังขารทั้งปวงโดยความเป็นของไม่เที่ยงเป็นต้น เป็นผู้มีสติด้วยการมีสติตามเห็น ซึ่งกายเป็นต้นในธรรมทั้งปวง และถึงความเป็นภิกษุ เพราะทำลายสักกายทิฏฐิ

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 896

เป็นต้นเสียได้ ย่อมเว้นรอบในทุกอิริยาบถ ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงแสดงอเสกขปฎิปทา ด้วยกึ่งคาถาว่า กุสโล เป็นผู้ฉลาด ดังนี้เป็นต้น. บทที่เหลือในบททั้งหมดชัดดีแล้ว. พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงจบเทศนาด้วยธรรมเป็นยอด คือพระอรหัต ด้วยประการฉะนี้.

เมื่อจบเทศนา อชิตมาณพได้บรรลุพระอรหัตพร้อมกับอันเตวาสิก ๑,๐๐๐ ชนอีก ๑,๐๐๐ เหล่าอื่น ได้เกิดดวงตาเห็นธรรม. หนังเสือเหลือง ชฎา และผ้าป่านเป็นต้นของท่านอชิตะพร้อมด้วยอันเตวาสิกได้หายไปพร้อมกับการบรรลุพระอรหัต. ท่านทั้งหมด ทรงบาตรและจีวรสำเร็จด้วยฤทธิ์ มีผมสององคุลีเป็นเอหิภิกษุ นั่งประนมมือนมัสการพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยประการ ฉะนี้แล.

จบอรรถกถาอชิตสูตรที่ ๑ แห่งอรรถกถาขุททกนิกาย

ชื่อปรมัตถโชติกา