อุทยปัญหาที่ ๑๓ ว่าด้วยเรื่องวิญญาณดับ
[เล่มที่ 47] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 946
สุตตนิบาต
ปารายนวรรคที่ ๕
อุทยปัญหาที่ ๑๓
ว่าด้วยเรื่องวิญญาณดับ
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 47]
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 946
อุทยปัญหาที่ ๑๓
ว่าด้วยเรื่องวิญญาณดับ
[๔๓๗] อุทยมาณพทูลถามปัญหาว่า
ข้าพระองค์มีความต้องการด้วยปัญหา จึงมาเฝ้าพระองค์ผู้เพ่งฌานผู้ปราศจากธุลี ทรงนั่งโดยปรกติ ทรงทำกิจเสร็จแล้ว ไม่มีอาสวะ ทรงถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง ขอพระองค์จงตรัสบอกอัญญาวิโมกข์ สำหรับทำลายอวิชชาเถิด.
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสพยากรณ์ว่า ดูก่อนอุทยะ
เรากล่าวธรรมเป็นเครื่องละความพอใจในกาม และโทมนัสทั้งสองอย่าง เป็นเครื่องบรรเทาความง่วงเหงา เป็นเครื่องห้ามความรำคาญ บริสุทธิ์ดี เพราะอุเบกขาและสติ มีความตรึกถึงธรรมแล่นไปในเบื้องหน้า ว่าเป็นอัญญาวิโมกข์ สำหรับทำลายอวิชชา.
อุ. โลกมีธรรมอะไรประกอบไว้ ธรรมชาติอะไรเป็นเครื่องเที่ยวไป ของโลกนั้น เพราะละธรรมอะไรได้เด็ดขาด ท่านจึงกล่าวว่า นิพพาน.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 947
พ. โลกมีความเพลิดเพลินประกอบไว้ ความตรึกไปต่างๆ เป็นเครื่องเที่ยวไปของโลกนั้น เพราะละตัณหาได้เด็ดขาด ท่านจึงกล่าวว่า นิพพาน.
อุ. เมื่อบุคคลมีสติอย่างไร เที่ยวไปอยู่ วิญญาณจึงจะดับ ข้าพระองค์ทั้งหลายมาเฝ้าเพื่อทูลถามพระองค์ ข้าพระองค์ทั้งหลาย ขอฟังพระดำรัสของพระองค์.
พ. เมื่อบุคคลไม่เพลิดเพลินเวทนาทั้งภายในและภายนอก มีสติอย่างนี้เที่ยวไปอยู่ วิญญาณจึงจะดับ.
จบอุทยมาณวกปัญหาที่ ๑๓
อรรถกถาอุทยสูตร (๑) ที่ ๑๓
อุทยสูตร มีคำเริ่มต้นว่า ฌายี ผู้เพ่งฌาน ดังนี้.
ในบทเหล่านั้น บทว่า อญฺํ วิโมกฺขํ อัญญาวิโมกข์นี้ ได้แก่ อุทยมาณพทูลถามถึงวิโมกข์ อันเพ่งถึงปุญญานุภาพ.
ลำดับนั้น เพราะอุทยมาณพเป็นผู้ได้ฌานที่สี่ ฉะนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงอัญญาวิโมกข์ คือธรรมเป็นเครื่องพ้นที่ควรรู้ทั่วถึง โดยประการต่างๆ ด้วยอำนาจฌาน ที่อุทยมณพได้แล้ว จึงตรัสคาถาสองคาถา.
๑. บาลีเป็น อุทยปัญหา.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 948
ในบทเหล่านั้น บทว่า ปหานํ กามจฺฉนฺทานํ ธรรมเป็นเครื่องละความพอใจในกาม พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เรากล่าวธรรมเป็นเครื่องละความพอใจในกาม ของผู้ยังปฐมฌานให้เกิดว่าเป็นอัญญาวิโมกข์. พึงประกอบบททั้งปวงอย่างนี้. บทว่า อุเปกฺขาสติสํสุทฺธํ คือบริสุทธิ์ดีด้วยอุเบกขาและสติในฌานที่สี่. บทว่า ธมฺมตกฺกปุเรชวํ มีความตรึกถึงธรรมแล่นไปเบื้องหน้า คือ ภิกษุตั้งอยู่ในจตุตถฌานวิโมกข์นั้น เห็นแจ้งซึ่งองค์ฌานแล้ว ย่อมกล่าวถึงอรหัตวิโมกข์ที่ตนบรรลุแล้ว. จริงอยู่ ความตรึกถึงธรรมมี สัมมาสังกัปปะอันสัมปยุตด้วยมรรคเป็นต้นของอรหัตวิโมกข์ ชื่อว่าเป็นธรรมแล่นไปเบื้องหน้า. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ธมฺมตกฺกปุเรชวํ มีความตรึกถึงธรรมแล่นไปเบื้องหน้า. บทว่า อวิชฺชาย ปเภทนํ สำหรับทำลายอวิชชา พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เรากล่าวว่านั่นแลเป็น อัญญาวิโมกข์สำหรับทำลายอวิชชาโดยนัยที่ใกล้เคียงกับเหตุ เพราะอาศัยนิพพานกล่าวคือการทำลายอวิชชาเกิดขึ้น. อุทยมาณพได้ฟังนิพพานที่พระผู้มีพระภาคตรัส ด้วยพระดำรัสอันเป็นการทำลายอวิชชาอย่างนี้แล้ว เมื่อจะทูลถามว่า ที่เรียกว่านิพพานนั้น เพราะละอะไรได้ จึงกล่าวคาถาว่า กึสุ สํโย ชโน ดังนี้เป็นต้น.
ในบทเหล่านั้น บทว่า กึสุ สํโยชโน คือโลกมีอะไรประกอบไว้. บทว่า กึสุ วิจารโณ (๑) คือธรรมอะไรเป็นเครื่องเที่ยวไป. บทว่า กิสฺสสฺส วิปฺปหาเนน คือเพราะละธรรมนั้น ธรรมนั้นชื่ออะไร.
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงพยากรณ์ความนั้น แก่อุทยมาณพนั้นจึงตรัสคาถาว่า นนฺทิสํโยชโน โลกมีความเพลิดเพลินประกอบไว้.
๑. บาลีเป็น วิจารณา.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 949
ในบทเหล่านั้นบทว่า วิตกฺกสฺส ได้แก่ วิตกมีกามวิตกเป็นต้น. บัดนี้อุทยมาณพ เมื่อจะทูลถามทางแห่งนิพพานนั้นจึงกล่าวคาถาว่า กถํ สตสฺส เมื่อบุคคลมีสติอย่างไร. ในบทเหล่านั้น บทว่า วิญฺาณํ ได้แก่ อภิสังขารวิญญาณ (วิญญาณที่เกิดพร้อมกับอภิสังขาร)
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะตรัสบอกทางแก่อุทยมาณพนั้น จึงตรัสคาถาว่า อชฺฌตฺตญฺจ ภายใน. ในบทเหล่านั้น บทว่า เอวํ สตสฺส มีสติอย่างนี้ คือมีสติสัมปชัญญะอย่างนี้. บทที่เหลือในบททั้งปวงชัดเจนดีแล้ว. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงพระสูตรแม้นี้ ด้วยธรรมเป็นยอดคือพระอรหัตนั้นเอง ด้วยประการฉะนี้.
อนึ่ง เมื่อจบเทศนาได้มีผู้บรรลุธรรมเช่นครั้งก่อนนั่นแล.
จบอรรถกถาอุทยสูตรที่ ๑๓ แห่งอรรถกถาขุททกนิกาย
ชื่อปรมัตถโชติกา