พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

ปิงคิยปัญหาที่ ๑๖ ว่าด้วยการไม่เกิดอีก

 
บ้านธัมมะ
วันที่  14 พ.ย. 2564
หมายเลข  40241
อ่าน  374

[เล่มที่ 47] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 957

สุตตนิบาต

ปารายนวรรคที่ ๕

ปิงคิยปัญหาที่ ๑๖

ว่าด้วยการไม่เกิดอีก


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 47]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 957

ปิงคิยปัญหาที่ ๑๖

ว่าด้วยการไม่เกิดอีก

[๔๔๐] ปิงคิยมาณพทูลถามปัญหาว่า

ข้าพระองค์เป็นคนแก่ มีกำลังน้อย ผิวพรรณเศร้าหมอง นัยน์ตาทั้งสองของข้าพระองค์ไม่แจ่มใส หูสำหรับฟังก็ไม่สะดวก ขอข้าพระองค์อย่าได้เป็นคนหลง ฉิบหายเสียในระหว่างเลย ขอพระองค์จงตรัสบอกธรรมที่ข้าพระองค์ควรรู้อันเป็นเครื่องละชาติและชรา ในที่นี้เสียเถิด.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสพยากรณ์ว่า ดูก่อนปิงคิยะ

ชนทั้งหลายได้เห็นเหล่าสัตว์ผู้เดือดร้อนอยู่เพราะรูปทั้งหลายแล้ว ยังเป็นผู้ประมาท ก็ย่อยยับอยู่เพราะรูปทั้งหลาย ดูก่อนปิงคิยะ เพราะเหตุนั้น ท่านจงเป็นคนไม่ประมาท ละรูปเสียเพื่อความไม่เกิดอีก.

ปิ. ทิศใหญ่สี่ ทิศน้อยสี่ ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องต่ำ รวมเป็นสิบทิศ สิ่งไรๆ ในโลก ที่พระองค์ไม่ได้เห็น ไม่ได้ฟัง ไม่ได้ทราบ หรือไม่ได้รู้แจ้ง มิได้มี ขอพระองค์จงตรัส

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 958

บอกธรรมที่ข้าพระองค์ควรรู้ อันเป็นเครื่องละชาติและชราในอัตภาพนี้เถิด.

พ. ดูก่อนปิงคิยะ เมื่อท่านเห็นหมู่มนุษย์ผู้ถูกตัณหาครอบงำแล้ว เกิดความเดือดร้อน อันชราถึงรอบข้าง ดูก่อนปิงคิยะ เพราะเหตุนั้น ท่านจงเป็นคนไม่ประมาทละตัณหาเสีย เพื่อความไม่เกิดอีก.

จบปิงคิยมาณวกปัญหาที่ ๑๖

อรรถกถาปิงคิยสูตรที่ ๑๖

ปิงคิยสูตร มีคำเริ่มต้นว่า ชิณฺโณหมสฺมิ ดังนี้.

ในบทเหล่านั้น บทว่า ชิณฺโณหมสฺมิ อพโล วีตวณฺโณ ข้าพระองค์เป็นคนแก่ มีกำลังน้อย ผิวพรรณเศร้าหมอง คือ นัยว่าพราหมณ์นั้นถูกชราครอบงำมีอายุได้ ๑๒๐ ปีโดยกำเนิด มีกำลังน้อย คิดว่า เราจักทำให้ถึงบทในที่นี้ กลับทำเสียในที่อื่น และมีผิวพรรณเศร้าหมอง ด้วยเหตุนั้น ปิงคิยะจึงกล่าวว่า ชิณฺโณหมฺสฺมิ อพโล วีตวณฺโณ ดังนี้. บทว่า มาหมฺ ปนสฺสํ โมมูโห อนฺตราย ข้าพระองค์อย่าได้เป็นคนหลงฉิบหายเสียในระหว่างเลย คือ ข้าพระองค์ยังไม่ทำให้แจ้งซึ่งธรรมของพระองค์ ยังเป็นผู้ไม่รู้แจ้ง อย่าได้ฉิบหายเสียในระหว่างเลย. บทว่า ชาติปราย อิธ วิปฺปหานํ ธรรมเป็นเครื่องละชาติและชราในที่นี้ คือ ขอพระองค์จงทรงบอกธรรมเป็นเครื่องละชาติและชรา คือ นิพพานธรรม ณ บาทมูลของพระองค์หรือ ณ ปาสาณกเจดีย์นี้ ที่ข้าพระองค์ควรรู้เถิด.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้า 959

บัดนี้ เพราะปิงคิยะกล่าวคาถาว่า ชิณฺโณหมสฺมิ เพราะเพ่งในกาย ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อให้ปิงคิยะนั้นละความเยื่อใยในกายเสียจึงตรัสว่า ทิสฺวาน รูเปสุ วิหญฺมาเน ชนทั้งหลายได้เห็นเหล่าสัตว์ผู้เดือดร้อนในเพราะรูป ดังนี้.

ในบทเหล่านั้น บทว่า รูเปสุ คือเพราะรูปเป็นเหตุเป็นปัจจัย. บทว่า วิหญฺมาเน คือ เดือดร้อนอยู่ด้วยกรรมกรณ์เป็นต้น. บทว่า รูปฺปนฺติ รูเปสุ ย่อมย่อยยับในเพราะรูปทั้งหลาย คือ ชนทั้งหลายย่อมย่อยยับย่อมลำบากด้วยโรคทั้งหลายมีโรคตาเป็นต้น เพราะรูปเป็นเหตุ.

ปิงคิยะแม้ฟังข้อปฏิบัติที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสจนถึงพระอรหัตแล้วก็ยังไม่บรรลุธรรมวิเศษ เพราะความชราและกำลังน้อย เมื่อจะสรรเสริญพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยคาถานี้อีกว่า ทิสา จ ตสฺโส ทิศใหญ่สี่ดังนี้ จึงวิงวอนขอให้เทศนา. ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงแสดงปฏิปทาจนถึงพระอรหัตแก่ปิงคิยะอีกจึงตรัสคาถาว่า ตณฺหาธิปนฺเน หมู่มนุษย์ถูกตัณหาครอบงำแล้ว ดังนี้เป็นต้น. บทที่เหลือในบททั้งปวงชัดเจนดีแล้ว. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงพระสูตรแม้นี้ ด้วยธรรมเป็นยอดคือพระอรหัตนั่นแล.

อนึ่ง เมื่อจบเทศนาปิงคิยะได้ตั้งอยู่ในอนาคามิผล. นัยว่าปิงคิยะนั้น คิดในระหว่างๆ ว่า พาวรีพราหมณ์ผู้เป็นลุงของเราไม่ได้ฟังเทศนาอันวิจิตร เฉียบแหลมอย่างนี้ จะมีประโยชน์อะไรด้วยการฟังของเรา เพราะความฟุ้งซ่านด้วยความเยื่อใยนั้นปิงคิยะจึงไม่ได้บรรลุพระอรหัต. ส่วนชฎิล ๑,๐๐๐ ที่เป็น อันเตวาสิกของปิงคิยะนั้นได้บรรลุพระอรหัต. ทั้งหมดทรงบาตรและจีวรสำเร็จด้วยฤทธิ์ได้เป็นเอหิภิกขุ ด้วยประการฉะนี้.

จบอรรถกถาปิงคิยสูตรที่ ๑๖ แห่งอรรถกถาขุททกนิกาย

ชื่อปรมัตถโชติกา