พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑๑. ปฐมปติพพตาวิมาน ว่าด้วยปติพพตาวิมาน ๑

 
บ้านธัมมะ
วันที่  15 พ.ย. 2564
หมายเลข  40257
อ่าน  403

[เล่มที่ 48] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 92

๑. อิตถิวิมานวัตถุ

ปีฐวรรคที่ ๑

๑๑. ปฐมปติพพตาวิมาน

ว่าด้วยปติพพตาวิมาน ๑


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 48]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 92

๑๑. ปฐมปติพพตาวิมาน

ว่าด้วยปติพพตาวิมาน ๑

[๑๑] พระโมคคัลลานะถามว่า

ดูก่อนเทพีผู้มีอานุภาพมาก นกกระเรียน นกยูงทอง หงส์ นกดุเหว่า ซึ่งล้วนเป็นทิพย์ ส่งเสียงอย่างไพเราะ ชุมนุมกันอยู่ วิมานนี้ดาดาษด้วยดอกไม้สด งดงามมาก เทพบุตรและเทพธิดามาคบหากับท่าน นั่งอยู่ในวิมานนั้น เหล่าเทพผู้มีฤทธิ์ สำแดงฤทธิ์ มีรูปแปลกๆ กันเป็นอันมาก อัปสรเหล่านี้ฟ้อนรำขับร้องอยู่รอบข้าง ให้ท่านบันเทิงอยู่.

ดูก่อนเทพีผู้มีอานุภาพมาก ท่านก็ได้เทพฤทธิ์ ครั้งเป็นมนุษย์ท่านได้ทำบุญอะไรไว้ เพราะบุญอะไร ท่านจึงมีอานุภาพมากรุ่งเรืองอย่างนี้ และวรรณะของ ท่านจึงสว่างไสวไปทุกทิศ.

เทวดานั้นถูกพระโมคัลลานะซักถามแล้ว ดีใจ ก็ได้พยากรณ์ปัญหาของกรรมที่มีผลอย่างนี้ว่า

ครั้งเป็นมนุษย์อยู่ในหมู่มนุษย์ ดีฉันได้เป็นผู้ปฏิบัติซื่อตรงต่อสามี ไม่ประพฤตินอกใจ ถนอมใจสามีเหมือนกันมารดาถนอมบุตร แม้ดีฉันจะโกรธ ไม่กล่าวคำหยาบ ละการพูดเท็จ ดำรงมั่นอยู่ในความสัตย์ ยินดีในการให้ทาน ชอบอุทิศตนสงเคราะห์

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 93

ผู้อื่น มีใจเลื่อมใส เมื่อบริจาคข้าวและน้ำ ได้ถวายทานอันไพบูลย์โดยความเคารพ เพราะบุญนั้น ดีฉันจึงมีวรรณะอย่างนี้ เพราะบุญนั้น ผลนี้จึงสำเร็จแก่ ดีฉัน และโภคะทุกอย่างที่น่ารักจึงเกิดแก่ดีฉัน.

ข้าแต่ท่านภิกษุผู้มีอานุภาพมาก ดีฉันขอบอกแก่ท่าน ครั้งเป็นมนุษย์ ดีฉันได้ทำบุญใดไว้ เพราะบุญนั้น ดีฉันจึงมีอานุภาพรุ่งเรืองอย่างนี้ และวรรณะของดีฉันจึงสว่างไหวไปทุกทิศ.

จบปฐมปติพพตาวิมาน

อรรถปฐมปติพพตาวิมาน

ปฐมปติพพตาวิมาน มีคาถาว่า โกญฺจา มยุรา ทิวิยา หํสา เป็นต้น. ปฐมปติพพตาวิมาน เกิดขึ้นอย่างไร?

พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน กรุงสาวัตถี. ในกรุงสาวัตถีนั้น สตรีผู้หนึ่งได้เป็นผู้ปฏิบัติสามี นางคล้อยตามสามี อดทน ถือโอวาทสามีโดยเคารพ แม้โกรธก็ไม่หุนหันพลันแล่น ไม่พูดคำหยาบ พูดแต่เรื่องจริง มีความเชื่อและเลื่อมใส และให้ทานตามควรแก่ทรัพย์สมบัติ นางเกิดเป็นโรคบางอย่าง ก็ตายไปบังเกิดในภพดาวดึงส์. ต่อมา ท่านพระมหาโมคคัลลานะเที่ยวจาริกไป โดยนัยก่อนๆ นั่นแล พบเทวธิดาองค์นั้น ซึ่งกำลังเสวยสมบัติอย่างใหญ่ จึงเข้าไปใกล้ๆ. เทวธิดาองค์นั้น มีอัปสรพันหนึ่งแวดล้อม มีอัตภาพประดับด้วยเครื่องอลังการ

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 94

มีภาระประมาณ ๖๐ เล่มเกวียน ไหว้ด้วยเศียรเกล้า [ค้อมศีรษะ] ใกล้ๆ เท้าพระเถระแล้วยืน ณ ที่สมควรส่วนหนึ่ง. แม้พระเถระ เมื่อจะถามบุญกรรมที่นางทำไว้ จึงกล่าวว่า

นกกระเรียน นกยูง หงส์ และดุเหว่า ล้วนเป็นทิพย์ ส่งเสียงไพเราะ ชุมนุมกันอยู่. วิมานนี้ดาดาษด้วยปุปผชาติ น่ารื่นรมย์ วิจิตรเป็นอันมาก ทั้งเทพบุตรทั้งเทพธิดาก็มาคบหาสมาคมกัน.

ดูก่อนเทพีผู้มีอานุภาพมาก ท่านนั่งอยู่ในวิมานนี้ เหล่าเทพผู้มีฤทธิ์ ก็สำแดงฤทธิ์ มีรูปเป็นอันมาก และเทพอัปสรเหล่านี้ก็ฟ้อนรำขับร้องและรื่นเริงกันรอบๆ ท่าน.

ดูก่อนเทพีผู้มีอานุภาพมาก ท่านก็บรรลุเทวฤทธิ์แล้ว ครั้งเกิดเป็นมนุษย์ ท่านได้ทำบุญอะไร เพราะบุญอะไร ท่านจึงมีอานุภาพรุ่งเรืองอย่างนี้ และวรรณะของท่านจึงสว่างไสวไปทุกทิศ.

เทวดาองค์นั้นดีใจ ถูกท่านพระโมคคัลลานะถามแล้ว ก็พยากรณ์ปัญหาโดยอาการที่ท่านถาม ถึงกรรมที่มีผลดังนี้.

เทวดาองค์นั้นกล่าวตอบว่า

ครั้งเกิดเป็นมนุษย์ในหมู่มนุษย์ ดีฉันซื่อตรงต่อสามี ไม่นอกใจ ถนอมใจสามีเหมือนมารดาถนอมบุตร ดีฉันแม้โกรธก็ไม่กล่าวคำหยาบ ดีฉันตั้งอยู่

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 95

ในสัจจะ ละคำเท็จ ยินดีในทาน ชอบอุทิศตนสงเคราะห์คนอื่น มีจิตเลื่อมใส [ในพระรัตนตรัย] เมื่อบริจาคข้าวน้ำ ก็ได้ถวายเป็นทานอย่างไพบูลย์โดยเคารพ.

เพราะบุญนั้น วรรณะของดีฉันจึงเป็นเช่นนี้ เพราะบุญนั้น ผลนี้จึงสำเร็จแก่ดีฉัน และโภคะทุกอย่างที่น่ารักจึงเกิดแก่ดีฉัน.

ข้าแต่ท่านภิกษุผู้มีอานุภาพมาก ดีฉันขอบอกแก่ท่าน ดีฉันครั้งเกิดเป็นมนุษย์ได้ทำบุญใด เพราะบุญนั้น ดีฉันจึงมีอานุภาพรุ่งเรืองเช่นนี้ และวรรณะของดีฉันจึงสว่างไสวไปทุกทิศ.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โกญฺจา แปลว่า นกกระเรียน ที่อาจารย์บางพวกเรียกว่า นกกระไน ก็มี. บทว่า มยุรา แปลว่า นกยูง. บทว่า ทิวิยา แปลว่า ที่เป็นทิพย์. จริงอยู่ บทนี้ควรประกอบเข้า ๔ บทโดยนัย ว่า ทิวิยา โกญฺจา นกกระเรียนทิพย์ ทิวิยา มยุรา นกยูงทิพย์ เป็นต้น. บทว่า หํสา ได้แก่ หงส์ มีหงส์ทอง เป็นต้น. บทว่า วคฺคุสฺสรา แปลว่า มีเสียงเพราะ. บทว่า โกกิลา ได้แก่ นกดุเหว่า [กายขาวดำ]. บทว่า สมฺปตนฺติ ได้แก่ เล่นระเริงบินร่อนไปรอบๆ เพื่อความอภิรมย์แห่งเทวดา. จริงอยู่ เหล่าเทวดาที่เป็นบริวารเล่นระเริงโดยรูปของนกกระเรียนเป็นต้น เพื่อให้เกิดความยินดีแก่เทวดา ท่านจึงกล่าวโดยคำว่า โกญฺจา เป็นต้น. บทว่า ปุปฺผาภิกิณฺณํ ได้แก่ เกลื่อนกลาดด้วยดอกไม้รัตนะชนิดต่างๆ ที่ร้อยแล้วและยังไม่ได้ร้อย [เป็นพวง]. บทว่า รมํ ได้แก่ น่ารื่นรมย์

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 96

น่ารื่นใจ. บทว่า อเนกจิตฺตํ ได้แก่ วิจิตรด้วยอุทยาน ต้นกัลปพฤกษ์ และสระโบกขรณีเป็นต้น เป็นอันมาก และด้วยผนังวิเศษเป็นต้นเป็นอันมาก ในวิมานทั้งหลาย. บทว่า นรนาริ เสวิตํ ได้แก่ ที่เหล่าเทพบุตรและเหล่าเทพธิดา ซึ่งเป็นบริวารคบหากัน.

บทว่า อิทฺธิ วิกพฺพนฺติ อเนรูปา ประกอบความว่า ผู้มีฤทธิ์ทั้งหลาย ที่สำเร็จด้วยอานุภาพแห่งกรรม มีรูปเป็นอันมาก เพราะสำแดงรูปได้ต่างๆ ย่อมสำแสดงฤทธิ์ ใช้ฤทธิ์แปลกๆ ท่านก็นั่งอยู่ [ในวิมานนั้น].

บทว่า อนญฺมนา ได้แก่ ซื่อตรงต่อสามี. ใจของสตรีนั้นตกไปในบุรุษอื่น เหตุนั้น สตรีนั้นชื่อว่า อัญญมานา มีใจตกไปในบุรุษอื่น. สตรีนั้นไม่มีใจตกไปในบุรุษอื่น เหตุนั้น จึงชื่อว่า อนัญญมนา ไม่มีใจตกไปในบุรุษอื่น. อธิบายว่า ดีฉันไม่เกิดจิตคิดชั่วในบุรุษอื่น นอกจากสามีของดีฉันอย่างนี้. บทว่า มาตาว ปุตฺตํ อนุรกฺขมานา ความว่า กรุณาเอ็นดูสามีของดีฉัน หรือแม้ทุกตัวสัตว์ เพราะนำเข้ามาแต่ประโยชน์ และเพราะประสงค์จะนำสิ่งที่มิใช่ประโยชน์ออกไปเสีย เหมือนมารดาเอ็นดูบุตรฉะนั้น. บทว่า กุทฺธาปิหํ นปฺผรุสํ อโวจํ ความว่า ดีฉันแม้โกรธอยู่ เพราะผู้อื่นทำความไม่ผาสุกให้ ก็ไม่กล่าวคำหยาบคาย อธิบายว่า ที่แท้ ก็กล่าวแต่คำที่น่ารักเท่านั้น.

บทว่า สจฺเจ ิตา ได้แก่ ดำรงอยู่ในสัจจะ. เพราะเหตุที่เป็นผู้ชื่อว่า ตั้งมั่นในสัจจะ เพราะเจตนางดเว้นกล่าวคำเท็จ มิใช่ตั้งมั่นโดยเพียงกล่าวคำจริงในบางครั้งเท่านั้น ฉะนั้น เทวดาจึงกล่าวว่า โมสวชฺชํ ปหาย ได้แก่ ละมุสาวาทแล้ว. บทว่า ทาเน รตา ได้แก่ ยินดียิ่ง อธิบายว่า

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 97

ขวนขวายในทาน. บทว่า สงฺคหิตตฺตภาวา ประกอบความว่า ดีฉันชอบอุทิศตนสงเคราะห์คนอื่นๆ ด้วยสังคหวัตถุ และมีจิตเลื่อมใสเพราะเชื่อกรรมและผลกรรม จึงได้ถวายข้าว น้ำ โดยเคารพ โดยอาการยำเกรง และได้ถวายทานอย่างอื่นมีผ้าเป็นต้น อย่างไพบูลย์ อย่างโอฬาร. คำที่เหลือมีนัยที่กล่าวมาแล้วทั้งนั้น.

จบอรรถกถาปฐมปติพพตาวิมาน