พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑๖. สิริมาวิมาน ว่าด้วยสิริมาวิมาน

 
บ้านธัมมะ
วันที่  15 พ.ย. 2564
หมายเลข  40262
อ่าน  456

[เล่มที่ 48] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 125

๑. อิตถิวิมานวัตถุ

ปีฐวรรคที่ ๑

๑๖. สิริมาวิมาน

ว่าด้วยสิริมาวิมาน


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 48]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 125

๑๖. สิริมาวิมาน

ว่าด้วยสิริมาวิมาน

[๑๖] พระวังคีสเถระประสงค์จะให้นางสิริมาเทพธิดา ได้ประกาศบุญกรรมที่นางทำไว้ในครั้งก่อน จึงสอบถามนางด้วยสองคาถาว่า

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 126

ม้าของท่านเทียมรถประดับด้วยอลังการอย่างเยี่ยม ก้มหน้าไปในอากาศ มีกำลังว่องไว ม้าเหล่านั้นเทียมรถ ๕๐๐ อันบุญกรรมเนรมิตแล้ว นายสารถีเตือนแล้วก็พาตัวท่านไป ท่านนั้นประดับองค์แล้วยืนอยู่บนรถอันเพริศแพร้ว ก็สว่างไสวคล้ายดวงไฟกำลังโชติช่วงอยู่นี้.

ดูก่อนเทพธิดาผู้อ่าองค์ น่าดูไม่จืด อาตมาขอถามท่าน ท่านมาจากเทพหมู่ไร จึงเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าผู้ที่ไม่มีใครประเสริฐยิ่งกว่า.

สิริมาเทพธิดาจึงตอบด้วยคาถาว่า

บัณฑิตทั้งหลาย กล่าวถึงเทพซึ่งเป็นผู้เลิศด้วยกามหมู่ใดว่า เป็นทวยเทพที่เยี่ยมหาที่เปรียบมิได้ ยินดีด้วยกามสมบัติที่ทวยเทพพวกอื่นมาเนรมิตให้ [นิมมานรดี] ดีฉันเป็นอัปสรที่มีวรรณะงาม มาจากเทพหมู่นั้น มาในมนุษยโลกนี้ก็เพื่อจะถวายบังคมพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ที่ไม่มีใครประเสริฐยิ่งกว่า.

พระเถระใคร่จะถามถึงบุญกรรมที่นางก่อสร้างไว้ในชาติก่อน จึงได้ถามด้วยสองคาถาว่า

ชาติก่อนแต่จะมาในที่นี้ ท่านได้สั่งสมสุจริตกรรมอะไรไว้ ท่านจึงมียศนับประมาณไม่ได้ เปี่ยมไปด้วยความสุข เพราะบุญอะไร ตัวท่านจึงมีฤทธิ์ ซึ่งไม่มีฤทธิ์ไรๆ ประเสริฐยิ่งกว่า และเหาะได้ (เช่นนี้)

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 127

ทั้งวรรณะของท่านจึงสว่างไสวไปทั่วทุกทิศ ดูก่อนเทวดา ท่านมีทวยเทพห้อมล้อมสักการะ ท่านจุติมาจากที่ไหนจึงถึงสุคตินี้ อนึ่ง ท่านได้ทำตามโอวาทานุสาสนีของศาสดาองค์ไร หากท่านเป็นสาวิกาของพระพุทธเจ้าไซร้ ขอท่านได้โปรดบอกอาตมาด้วย.

สิริมาเทพธิดา เมื่อจะตอบเนื้อความตามที่พระเถระถาม จึงกล่าวตอบด้วยคาถาเหล่านี้ว่า

ดีฉันเป็นปริจาริกานางบำเรอของพระเจ้าพิมพิสารผู้ทรงคุณอันประเสริฐ ทรงมีสิริในมหานคร ซึ่งสถาปนาไว้ในระหว่างภูผา ดิฉันมีความชำนาญด้วยศิลปะการฟ้อนรำขับร้องอย่างเยี่ยม คนทั้งหลายในกรุงราชคฤห์ เขารู้จักดิฉันในนามว่า "สิริมา" เจ้าข้า. พระพุทธเจ้าทรงเป็นนิสภะยอดผู้องอาจในจำพวกฤษีผู้แสวงหาคุณอันประเสริฐ ผู้แนะนำสัตว์โลกพิเศษ ได้ทรงแสดงทุกขสัจ สมุทยสัจ ทุกขนิโรธสัจความดับทุกข์ อันไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง และมรรคสัจที่ไม่คดทางตรง เป็นทางเกษมแก่ดีฉัน ดีฉันครั้นฟังอมตบททางไม่ตาย ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง ซึ่ง เป็นคำสอนของพระตถาคตผู้ประเสริฐแล้ว จึงเป็นผู้สำรวมอย่างเคร่งครัดในศีลทั้งหลาย ดำรงมั่นอยู่ในธรรม ที่พระพุทธเจ้าผู้เลิศกว่านรชนทรงแสดงไว้ แล้ว ครั้นดีฉันรู้จักบทอันปราศจากกิเลสดุจธุลี ซึ่งปัจจัยปรุงแต่งมิได้ ที่พระตถาคตผู้ประเสริฐทรง

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 128

แสดงไว้นั้น ดีฉันจึงได้สัมผัสสมาธิอันเกิดจากความสงบในอัตภาพนั้นเอง อันนั้นเป็นความแน่นอนในมรรคผลอันเยี่ยมสำหรับดีฉัน ครั้นได้อมตธรรมอัน ประเสริฐ อันทำให้แยกจากปุถุชนแล้ว จึงเชื่อมั่นโดยส่วนเดียวในพระรัตนตรัย บรรลุคุณพิเศษเพราะตรัสรู้ หมดความสงสัย จึงเป็นผู้ที่ชนเป็นอันมากบูชาแล้ว จึงเสวยความยินดีระเริงเล่นไม่น้อยเลย โดยประการดังกล่าวมานี้ ดีฉันจึงเป็นเทพธิดาผู้เห็นนิพพาน เป็นสาวิกาของพระตถาคตผู้ประเสริฐ เป็นผู้ได้เห็นธรรมตามความเป็นจริง เป็นผู้ตั้งอยู่ในผลขั้นแรก คือ เป็นโสดาบัน ทุคติเป็นอันไม่มีอีกละ ดีฉันนั้นมาเพื่อถวายบังคมพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ และนมัสการภิกษุทั้งหลายที่น่าเลื่อมใส ผู้ยินดีในธรรมฝ่ายกุศล เละเพื่อจะนมัสการสมณะ สมาคมอันเกษม ดีฉันเป็นผู้มีความเคารพในพระธรรมราชาผู้ทรงพระสิริ ครั้นได้เห็นพระสัมพุทธมุนีแล้ว ก็ปลื้มใจอิ่มเอิบ ดีฉันขอถวายบังคมพระตถาคต ผู้เป็นสารถีฝึกคนดีที่ควรฝึก ทรงตัดตัณหาเสียได้ ทรงยินดีแล้วกุศลธรรม ผู้ทรงแนะนำประชุมชนให้พ้นทุกข์ ผู้ทรงอนุเคราะห์สัตวโลกด้วยประโยชน์เกื้อกูลอย่างยิ่ง.

จบสิริมาวิมาน

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 129

อรรถกถาสิริมาวิมาน

สิริมาวิมาน มีคาถาว่า ยุตฺตา จ เต ปรมอลงฺกตา เป็นต้น. สิริมาวิมานนั้นเกิดขึ้นอย่างไร?

พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระเวฬุวันกลันทกนิวาปสถาน กรุงราชคฤห์. สมัยนั้น โสเภณีชื่อสิริมา ที่กล่าวไว้ในเรื่องติดต่อมาในหนหลัง [อุตตราวิมาน] สละงานที่เศร้าหมอง [การเป็นโสเภณี] เพราะบรรลุโสดาปัตติผล ได้ตั้งสลากภัต ๘ กอง แก่พระสงฆ์. ตั้งแต่ต้นมา ภิกษุ ๘ รูปก็มาเรือนนางเป็นประจำ. นางสิริมานั้นกล่าวคำ เป็นต้นว่า โปรดรับเนยใส โปรดรับนมสด แล้วบรรจุบาตรของภิกษุเหล่านั้นจนเต็ม. ของที่ภิกษุรูปหนึ่งได้ไป ย่อมพอแก่ภิกษุ ๓ รูปบ้าง ๔ รูปบ้าง นางถวายบิณฑบาต โดยค่าใช้สอย ๑๖ กหาปณะ ทุกวัน.

ต่อมาวันหนึ่ง ภิกษุรูปหนึ่งฉันสลากภัตกองที่ครบ ๘ ในเรือนของนางแล้วก็ไปยังวิหารแห่งหนึ่งไกลออกไป ๓ โยชน์. ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายจึงถามภิกษุรูปนั้น ซึ่งนั่งในที่ปรนนิบัติพระเถระเวลาเย็นว่า ผู้มีอายุ ท่านรับภิกษาที่ไหนจึงมาที่นี่. ตอบว่า ผมฉันสลากภัตกองที่ ๘ ของนางสิริมา. ถามว่า ผู้มีอายุ นางสิริมาถวายสลากภัตนั้นยังน่าพอใจอยู่หรือ. ภิกษุนั้นจึงพรรณนาคุณของนางว่า ผมไม่อาจพรรณนาอาหารของนางได้ นางถวายแต่ของประณีตเหลือเกิน ของที่ภิกษุรูปหนึ่งได้ไปยัง พอแก่ภิกษุ ๓ รูปบ้าง ๔ รูปบ้าง. แต่การเห็นนางต่างหากที่สำคัญกว่าไทยธรรมของนาง. จริงอยู่ หญิงนั้นงามเห็นปานนี้ งามเห็นปานนั้น.

ลำดับนั้น ภิกษุรูปหนึ่งฟังคำพรรณนาคุณของนางสิริมานั้นแล้ว แม้ไม่ได้เห็นตัวก็เกิดสิเนหาโดยได้ยินเท่านั้น คิดว่า เราควรจะไปดูนางใน

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 130

ที่นั้น จึงบอกพรรษาสุดท้ายของตนแล้วถามภิกษุรูปนั้นซึ่งยังอยู่ ฟังคำของภิกษุรูปนั้นว่า ผู้มีอายุ พรุ่งนี้ท่านเป็นสังฆเถระก็จักได้สลากภัตกองที่ ๘ ในเรือนหลังนั้น แล้วก็ถือบาตรจีวรกลับไปในทันใดนั่นเอง พออรุณขึ้นตอนเช้าตรู่ ก็เข้าไปยืนยังโรงสลาก เป็นสังฆเถระได้สลากภัตกองที่ ๘ ในเรือนนาง ในเวลาที่ภิกษุซึ่งฉันเมื่อวันวานกลับไปแล้ว โรคก็เกิดขึ้นในเรือนร่างของนาง เพราะฉะนั้น นางจึงนอนเปลื้องเครื่องประดับทั้งหลาย. ขณะนั้นเหล่าทาสีเห็นภิกษุทั้งหลายมาเพื่อรับสลากภัต กองที่ ๘ จึงบอกนาง. นางไม่อาจจะไปวางอาหารลงในบาตรด้วยมือตนเอง หรือนิมนต์ให้ท่านนั่งได้ ได้แต่ใช้เหล่าทาสี สั่งว่า แม่คุณเอ๋ย พวกเจ้าจงรับบาตรนิมนต์ให้ท่านนั่ง ให้ท่านดื่มข้าวต้ม แล้วถวายของเคี้ยว เวลาอาหารจงบรรจุบาตรให้เต็มแล้วถวาย ทาสีเหล่านั้นรับคำว่า ดีแล้ว แม่นาย แล้วนิมนต์ให้ท่านเข้าไปให้ดื่มข้าวต้มถวายของเคี้ยว เวลาอาหารบรรจุอาหารเต็มบาตรแล้วก็บอกนาง. นางกล่าวว่า พวกเจ้าจงช่วยกันพยุงเราไป จักไหว้พระผู้เป็นเจ้า แล้วทาสีเหล่านั้นช่วยกันพยุงนางไปหาภิกษุทั้งหลาย ไหว้ภิกษุทั้งหลายด้วยเรือนร่างที่สั่นเทาอยู่. ภิกษุนั้นดูนางแล้วก็คิดว่า นางกำลังป่วย รูปยังงามถึงเพียงนี้ เวลานางไม่ป่วยประดับ ด้วยอาภรณ์ครบถ้วน จักงามสักเพียงไหน. ขณะนั้นกิเลสที่สะสมไว้หลายโกฏิปีของภิกษุนั้น ก็ฟุ้งขึ้น. ภิกษุนั้นไม่มีญาณ ไม่อาจฉันอาหารได้ ถือบาตรกลับวิหารปิดบาตรเก็บไว้ ณ ที่แห่งหนึ่ง คลี่ชายจีวรลงปูนอน. ขณะนั้น ภิกษุผู้สหายรูปหนึ่ง แม้อ้อนวอนก็ไม่อาจให้เธอฉันอาหารได้ ภิกษุนั้นก็อดอาหาร.

เวลาเย็นวันนั้นนั่นเอง นางสิริมาก็ตาย. พระราชาทรงส่งข่าวไป

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 131

ทูลพระศาสดาว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นางสิริมาน้องสาวของหมอชีวก ตายเสียแล้วพระเจ้าข้า. พระศาสดาทรงทราบข่าวนั้นแล้ว ทรงส่งข่าวถวายพระราชาว่า อย่าเพิ่งทำฌาปนกิจสิริมา ขอได้โปรดนำไปป่าช้าศพสด ให้นอนให้รักษาไว้ โดยวิธีที่ฝูงกาเป็นต้นจะไม่จิกกิน. พระราชาก็ทรงปฏิบัติตามพระพุทธประสงค์. ล่วงเวลาไป ๓ วัน ตามลำดับ. วันที่ ๔ ร่างของนางก็พองขึ้น. เหล่าหนอนก็ไหลออกจากปากแผลทั้ง ๙. ทั่วเรือนร่างก็เป็นเหมือนถาดข้าวสาลีแตก. พระราชาก็โปรดให้ตีกลองป่าวประกาศไปในพระนครว่า ยกเว้นเด็กเฝ้าบ้านเสีย คนที่ไม่มาดูนางสิริมา ต้องเสียค่าปรับไหม ๘ กหาปณะ ทรงส่งข่าวไปทูลพระศาสดาว่า เขาว่า พระสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข จะเสด็จมาดูนางสิริมา. พระศาสดาจึงตรัสบอกภิกษุทั้งหลายว่า จักไปดูนางสิริมา.

ภิกษุหนุ่มแม้รูปนั้น ไม่เธอฟังคำของใครๆ นอนอดอาหารอยู่ ๔ วัน. อาหารในบาตรก็บูด บาตรก็ขึ้นสนิม. ภิกษุรูปนั้นถูกเพื่อนภิกษุเข้าไปหาพูดว่า ท่าน พระศาสดาจะเสด็จไปดูนางสิริมานะ แม้จะถูกความหิวครอบงำ แต่พอได้ยินเพื่อนภิกษุออกชื่อว่าสิริมา ก็รีบลุกขึ้นถามว่า ท่านพูดอะไร ถูกเพื่อนภิกษุกล่าวว่า พระศาสดาจะเสด็จไปดูนางสิริมา ตัวท่านจักไปไหมเล่า. ก็ตอบว่า ไปสิขอรับ แล้วเทอาหารทิ้งล้างบาตร เก็บใส่ถลก ก็ไปพร้อมกับภิกษุสงฆ์. พระศาสดามีหมู่ภิกษุแวดล้อม ประทับยืนอยู่ข้างหนึ่ง ทั้งภิกษุสงฆ์ ทั้งราชบุรุษ ทั้งอุบาสกบริษัท ทั้งอุบาสิกาบริษัท ก็พากันยืนอยู่แต่ละข้างๆ พระศาสดาตรัสถามพระราชาว่า ถวายพระพรมหาบพิตร นั่นใคร พระราชาทูลว่า ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ น้องสาวของหมอชีวก ชื่อสิริมา พระเจ้าข้า. ตรัสถามว่านั่น

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 132

สิริมาหรือ. ทูลว่า พระเจ้าข้าขอรับ. ตรัสว่าถ้าอย่างนั้น โปรดให้ตีกลอง ป่าวประกาศไปในพระนครว่า คนทั้งหลายจงให้ทรัพย์พันหนึ่งแล้วรับสิริมาไป. พระราชาตรัสสั่งให้ปฏิบัติตามพระพุทธประสงค์. บรรดาคนเหล่านั้น ไม่มีแม้แต่คนเดียวที่จะพูดว่าฉันรับ พระราชาจึงกราบทูลพระศาสดาว่า ไม่มีคนรับ พระเจ้าข้า. ตรัสว่า ถ้าอย่างนั้น ก็จงลดราคาลงมาสิ มหาบพิตร. พระราชาก็ให้ตีกลองป่าวประกาศว่า ใครให้ทรัพย์ ๕๐๐ ก็จงรับสิริมาไป ไม่ทรงเห็นใครๆ ที่จะรับ จึงให้ตีกลองป่าว ประกาศลดราคาลง ๒๕๐, ๒๐๐, ๑๐๐, ๕๐, ๒๕, ๒๐, ๑๐, ๕, ๑ กหาปณะ ครึ่งบาท ๑ มาสก ๑ กากณึก, ให้เปล่าๆ [ไม่คิดราคา] บรรดาชนแม้เหล่านั้น ก็ไม่มีใครพูดว่า ฉันรับๆ. พระราชาจึงกราบทูลว่า ให้เปล่าๆ ก็ไม่มีคนรับ พระเจ้าข้า. พระศาสดาทรงแสดงว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงดูมาตุคาม ซึ่งเป็นที่รักของมหาชน แต่ก่อนคนทั้งหลายในพระนครนี้ ให้ทรัพย์พันหนึ่ง ก็ได้นางไปตลอดวันหนึ่ง บัดนี้ให้เปล่าๆ ก็ไม่มีคนรับ นามรูปเห็นปานนี้ถึงความสิ้นไปเสื่อมไปเป็นธรรมดา ทำให้งดงามด้วยเครื่องประดับภายนอกก็ยังมีแผล โดยปากแผลทั้ง ๙ อันกระดูก ๓๐๐ ท่อน สร้างเป็นโครงขึ้น อาดูรเดือดร้อนอยู่เป็นประจำ ชื่อว่า มีความดำริมาก เพราะมหาชนผู้เขลา ดำริโดยส่วนมากอย่างเดียว อัตภาพที่ไม่ยั่งยืน ดังนี้ จึงตรัสพระคาถาว่า

ปสฺส จิตฺตกตํ พิมฺพํ อรุกายํ สมุสฺสิตํ อาตุรํ พหุสงฺกปฺปํ ยสฺส นตฺถิ ธุวํ ิตี

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 133

เธอจงดูรูปกาย ที่ปัจจัยทำให้งดงาม มีแผล กระดูกสร้างเป็นโครงขึ้น มีความเดือดร้อน มีความดำริมาก ซึ่งไม่มีความยืนยงคงที่เลย.

จบเทศนา ภิกษุที่มีจิตติดพันนางสิริมา ก็ปราศจากฉันทราคะ เจริญวิปัสสนาแล้วก็บรรลุพระอรหัต. สัตว์ประมาณ ๘๔,๐๐๐ ก็ได้ธรรมาภิสมัย ตรัสรู้ธรรม.

สมัยนั้น สิริมาเทพกัญญาสำรวจความสำเร็จแห่งสมบัติของตน ตรวจดูที่มาก็เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า มีภิกษุสงฆ์แวดล้อมประทับยืน และหมู่มหาชนประชุมกัน ใกล้เรือนร่างของตนในอัตภาพก่อน จึงมีเทพกัญญา ๕๐๐ ห้อมล้อม มาปรากฏกายกับรถ ๕๐๐ ลงจากรถแล้ว มีบริวารตามมาถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ยืนทำอัญชลีประนมมือไหว้. สมัยนั้น ท่านพระวังคีสะยืนอยู่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า การถามปัญหาข้อหนึ่ง แจ่มแจ้งกะข้าพระองค์ พระเจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนวังคีสะ การถามปัญหาจงแจ่มแจ้งกะเธอเถิด [ทรงอนุญาตให้ถามปัญหากะเทพธิดาได้] ท่านพระวังคีสะ จึงได้ถามสิริมาเทพธิดาว่า

ม้าทั้งหลายของท่าน เทียมรถแล้ว ประดับอย่างวิเศษ บ่ายหน้าลงไปในอากาศ [เหาะได้] มีกำลังว่องไว ม้าทั้งหลายของท่านเทียมรถ ๕๐๐ อันบุญกรรมเนรมิตแล้ว สารถีเตือนแล้วก็พาท่านไป.

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 134

ท่านประดับองค์แล้ว ส่องแสงสว่างราวกะดวงไฟโชติช่วง ยืนอยู่เหนือรถอันเพริศแพร้ว. ดูก่อนเทพธิดาผู้อ่าองค์ ดูไม่จืดเลย อาตมาขอถามท่าน ท่านมาจากเทพหมู่ไร จึงเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ไม่มีผู้ใดประเสริฐยิ่งกว่า.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยุตฺตา จ เต ปรมอลงฺกตา หยา ความว่า หยะคือม้าทั้งหลายของท่านคือที่เทียมรถของท่าน ประดับด้วยอลังการอย่างเยี่ยม อย่างเหลือเกิน อย่างวิเศษ หรือประดับด้วยเครื่องอลังการของม้า อันเป็นทิพย์อย่างยิ่ง สูงสุด หรือม้าอาชาไนยอย่างยิ่ง เลิศประเสริฐสุด ประดับด้วยเครื่องอลังการทุกอย่าง หรือว่าม้าที่เทียมรถ เหมาะแก่ท่านและรถของท่าน หรือเทียมรถแล้วประกบเข้ากัน เพราะสมกันและกัน. ก็บทว่า ปรมอลงฺกตา ในคาถานั้น พึงเห็นว่าท่านไม่ทำสนธิในฝ่ายแรก นิเทศไม่แจกในฝ่ายที่สอง. บทว่า อโธมุขา แปลว่า มีหน้าต่ำ, ก็หากมีหน้าของม้าในครั้งนั้นตั้งอยู่โดยปกติ [ไม่ต่ำ] โดยเหตุที่ลงจากเทวโลก ม้าเหล่านั้น ท่านจึงกล่าวว่า อโธมุขา มีหน้าลง. บทว่า อฆสิคมา แปลว่า ไปสู่เวหาส [คือเหาะได้]. บทว่า พลี แปลว่า มีกำลัง. บทว่า ชวา แปลว่า เร็ว อธิบายว่า มีกำลังและวิ่งเร็ว. บทว่า อภินมฺมิตา ได้แก่ อันบุญกรรมของท่านเนรมิตทำให้บังเกิด. อีกอย่างหนึ่ง สิริมาเทพธิดาหมายถึงที่ตนเองเนรมิตแล้วเท่านั้น จึงกล่าวว่า อภินิมฺมิตา เพราะนางเป็นเทพธิดาชั้นนิมมานรดี. บทว่า ปญฺจรถาสตา ท่านกล่าวทำทีฆะอักษร และลิงควิปลาส เพื่อสะดวกแก่คาถา. หรือพึง

 
  ข้อความที่ 11  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 135

เห็นว่าไม่ลบวิภัตติ. อธิบายว่า รถ ๕๐๐. บทว่า อนฺเวนฺติ ตํ สารถิโจทิตา หยา ความว่า ดูก่อนท่านเทวดาผู้เจริญ ม้าเหล่านี้เทียมรถ อันสารถีเตือนแล้วย่อมพาท่านไป. เกจิอาจารย์กล่าวว่า สารถิอโจทิตา ความว่า อันสารถีทั้งหลายไม่ต้องเตือนเลย ก็พาท่านไป. อีกนัยหนึ่ง บทหนึ่งว่า สารถิโจทิตา หยา ท่านกล่าวทำทีฆะ เพื่อสะดวกแก่คาถา ประกอบความว่า ม้าเทียมรถ ๕๐๐ อันสารถีเตือนแล้ว.

บทว่า สา ติฏฺสิ แปลว่า ท่านนั้นยืนอยู่. บทว่า รถวเร ได้แก่ รถอันสูงสุด. บทว่า อลงฺกตา ได้แก่ มีเรือนร่างประดับด้วยทิพยาลังการ มีภาระ [น้ำหนัก] ๖๐ เล่มเกวียน. บทว่า โอภาสยํ ชลมิวโชติปาวโก ได้แก่ ส่องแสงสว่างโชติช่วงอยู่ประดุจดวงไฟลุกโพลง. ท่านอธิบายว่า ส่องแสงสว่างรุ่งเรืองอยู่โดยรอบ. คำว่า โชติ เป็นชื่อทั่วไปของดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์และดวงดาวนักษัตรทั้งหลาย. บทว่า วรตนุ ได้แก่ ผู้ทรงรูปสูงสุด [คือสวย] ผู้งามทุกส่วน. ผู้ที่ดูไม่จืดเลย น่าดูไม่ทราม อธิบาย ว่าน่าดู น่าเลื่อมใส เพราะงามทุกส่วนนั้นนั่นเอง. บทว่า กสฺมา น กายา อนธิวรํ อุปาคมิ ความว่า ท่านมาแต่หมู่เทพชั้นไรหนอ จึงมาเข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ยอดเยี่ยม.

เทวดานั้นถูกพระเถระถามอย่างนี้แล้ว เมื่อจะแสดงองค์จึงกล่าวคาถาว่า

บัณฑิตกล่าวเทพ [ชั้นปรนิมมิตวสวัดดี] ที่เป็นผู้เลิศด้วยกาม [กามวจร] หมู่ใดว่าเป็นเทวดา ผู้ยอดเยี่ยมยินดีด้วยกามสมบัติที่เหล่าเทพชั้นนิมมานรดีเนรมิตให้ ดีฉันเป็นเทพอัปสรมีวรรณะงาม

 
  ข้อความที่ 12  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 136

จากเทพหมู่นั้น มาในที่นี้ก็เพื่อนมัสการพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ที่ไม่มีใครประเสริฐยิ่งกว่า.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กามคฺคปตฺตานํ ยมาหุนุตฺตรํ ความว่า บัณฑิตทั้งหลายกล่าวเทพหมู่ใดว่ายอดเยี่ยมโดยยศและโดยโภคะเป็นต้น แห่งเทพทั้งหลายชั้นปรนิมมิตวสวัดดี ผู้ถึงความเป็นผู้เลิศด้วยเครื่องอุปโภคคือกามทั้งหลาย. จากเทพหมู่นั้น. บทว่า นิมฺมาย นิมฺมาย รมนฺติ เทวตา ความว่าเหล่าเทวดาชั้นนิมมานรดีเนรมิตๆ ตามความที่ตนปรารถนาด้วยตนเอง ย่อมยินดีเล่น ระเริง อภิรมย์. บทว่า ตสฺมา กายา ได้แก่ จากหมู่เทพชั้นนิมมานรดีนั้น. บทว่า กามวณฺณินี ได้แก่ ผู้ทรงกามรูป ผู้ทรงรูปตามที่ปรารถนา. บทว่า อิธาคตา ได้แก่ มาในที่นี้ คือมนุษยโลกนี้ หรือสู่มนุษยโลกนี้.

เมื่อเทวดากล่าวบอกความที่ตนเป็นเทวดาชั้นนิมมานรดีอย่างนี้แล้ว พระเถระประสงค์จะให้นางกล่าวถึงภพก่อน บุญที่ทำในภพนั้นและลัทธิของนาง จึงได้กล่าวสองคาถาว่า

ท่านสร้างสมสุจริตอะไร ในอัตภาพเทวดานี้ไว้ในภพก่อน เพราะบุญอะไรท่านจึงนั่งม้าเป็นพาหนะ มียศนับไม่ได้ จำเริญสุข และฤทธิ์ของท่าน ไม่มีฤทธิ์อื่นประเสริฐกว่า ยังเหาะได้ทั้งวรรณะของท่านรุ่งโรจน์รูปทั้งสิบทิศ.

ดูก่อนเทวดา ท่านอันทวยเทพแวดล้อมและสักการะแล้ว ท่านจุติจากที่ไหน จึงถึงสุคติ หรือ

 
  ข้อความที่ 13  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 137

ท่านเชื่อฟังคำสั่งสอนของศาสดาองค์ใด หากท่านเป็นพุทธสาวิกา ขอท่านโปรดบอกอาตมาด้วยเถิด.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อาจริ ท่านกล่าวทำทีฆะ [เสียงยาว]. อธิบายว่าสั่งสม. บทว่า อิธ เป็นเพียงนิบาต. หรือว่า อิธ แปลว่า ในอัตภาพเทวดานี้. บทว่า เกนจฺฉสิ ความว่า เพราะบุญอะไร ท่านจึงนั่งม้าเป็นพาหะ. เกจิอาจารย์กล่าวว่า เกนาสิ ตฺวํ. บทว่า อมิตยสา ได้แก่ มียศนับไม่ได้ มีบริวารยศไม่น้อย. บทว่า สุเขธิตา แปลว่า จำเริญโดยสุข อธิบายว่า มีทิพยสุขเพิ่มพูนดี. บทว่า อิทฺธี ได้แก่ อานุภาพทิพย์. บทว่า อนธิรา ได้แก่ ชื่อว่า อนธิวรา เพราะไม่มีฤทธิ์อื่นที่ยิ่งที่วิเศษ. อธิบายว่า สูงสุดยิ่ง. บทว่า วิหงฺคมา แปลว่า ไปได้ทางอากาศ. บทว่า ทส ทิสา แปลว่า ทั้งสิบทิศ. บทว่า วิโรจติ ได้แก่ ส่องสว่าง.

บทว่า ปริจาริตา สกฺกตา จสิ ได้แก่ เป็นผู้อันทวยเทพแวดล้อมแล้วโดยรอบและยกย่องแล้ว. บทว่า กุโต จุตา สุคติคตาสิ ได้แก่ เป็นผู้จุติจากคติไหน ในคติทั้ง ๕ จึงเข้าถึงสุคติ คือเทวคตินี้ โดยอำนาจปฏิสนธิ. บทว่า กสฺส วา ตฺวํ วจนกรานฺสาสนึ ได้แก่ ท่านทำตามคติด้วยการรับโอวาทานุศาสนีในศาสนา คือธรรมวินัยของศาสดาองค์ไรหนอ. หรือว่าพึงทราบความในข้อนี้ว่า ท่านทำตามคำของศาสดาองค์ไรหนอ ด้วยการตั้งอยู่ในคำพร่ำสอนของศาสดาผู้สั่งสอน. พระเถระครั้นถาม ลัทธิของนางโดยไม่ต้องแสดงศาสดาอย่างนี้แล้ว จึงถามโดยต้องแสดงศาสดาอีกว่า หากท่านเป็นพุทธสาวิกา ขอโปรดบอกแก่อาตมาด้วยเถิด. ในคำถามนั้น บทว่า พุทฺธสาวิกา ได้แก่ ชื่อว่าพุทธสาวิกา เพราะเกิด

 
  ข้อความที่ 14  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 138

เมื่อสุดการฟังธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ชื่อว่าพุทธะ เพราะตรัสรู้ไญยธรรมแม้ทุกอย่างด้วยพระสยัมภูญาณ โดยประจักษ์ประดุจผลมะขามป้อมบนฝ่ามือ.

เทวดาเมื่อจะกล่าวความที่พระเถระถามอย่างนี้ จึงได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า

ดีฉันเป็นปริจาริกาของพระราชาผู้ทรงคุณอันประเสริฐ ทรงมีสิริ ณ มหานคร ซึ่งสถาปนาไว้เป็นอันดี ณ กลางภูผา [๕ ลูก] เป็นผู้ชำนาญเยี่ยมด้วยศิลปะฟ้อนรำขับร้อง. คนทั้งหลายในกรุงราชคฤห์ได้รู้จักดีฉันในนามว่า สิริมา เจ้าข้า. พระพุทธเจ้าผู้เป็นฤษีประเสริฐสุด เป็นผู้แนะนำ ได้ทรงแสดงทุกขสัจ สมุทยสัจ ทุกขนิโรธสัจ ที่ปัจจัยปรุงแต่งไม่ได้ และมรรคสัจนี้ที่ไม่คด เป็นทางตรง ทางเกษม.

ดีฉันสดับอมตบทที่ปัจจัยปรุงแต่งไม่ได้ เป็ คำสอนของพระตถาคต ผู้ที่ไม่มีผู้อื่นประเสริฐกว่า ดีฉันเป็นผู้สำรวมอย่างยิ่งในศีลทั้งหลาย ตั้งอยู่ในธรรมอันพระพุทธเจ้าผู้เป็นนระประเสริฐทรงแสดงแล้ว.

ดีฉันรู้บทที่ปราศจากกิเลสดุจธุลี ที่ปัจจัยปรุงแต่งไม่ได้ ซึ่งพระตถาคตผู้ที่ไม่มีผู้อื่นประเสริฐกว่า

 
  ข้อความที่ 15  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 139

ทรงแสดงแล้ว ดีฉันได้สัมผัสสมาธิจากสมถะ ในอัตภาพนั้นนั่นแล อันนั้นได้เป็นความแน่นอนอย่างยิ่ง [ที่จะบรรลุมรรคผล] สำหรับดีฉัน.

ดีฉันได้อมตธรรมอันประเสริฐ ทำให้แปลกจากปุถุชน มีความเชื่อมั่นในพระรัตนตรัยส่วนเดียว บรรลุคุณวิเศษเพราะตรัสรู้ ไม่มีความสงสัยอันชนเป็นอันมากบูชาแล้ว ดีฉันเสวยความยินดีระเริงเล่นไม่น้อยเลย.

ดีฉันเป็นเทวดาเห็นอมตธรรมอย่างนี้ เป็นสาวิกาของพระตถาคต ผู้ที่ไม่มีผู้อื่นประเสริฐกว่า เห็นธรรมก็ตั้งอยู่ในผลระดับแรก [โสดาปัตติผล] เป็นพระโสดาบัน ทุคติเป็นอันไม่มีอีกละ.

ดีฉันนั้นเข้ามาเพื่อถวายบังคมพระองค์ ผู้ที่ไม่มีผู้อื่นประเสริฐกว่า และเหล่าภิกษุผู้ยินดีในกุศลที่น่าเลื่อมใส เพื่อนมัสการสมณสมาคมอันรุ่งเรือง ดีฉันมีความเคารพในพระธรรมราชาผู้ทรงสิริ.

ดีฉันพบพระมุนีแล้ว ก็มีใจบันเทิงเอิบอิ่ม ขอถวายบังคมพระตถาคต ผู้ทรงเป็นสารถีฝึกคนดีที่ควรฝึก ทรงตัดตัณหา ยินดีในกุศล เป็นผู้นำสัตว์ ผู้อนุเคราะห์ด้วยประโยชน์เกื้อกูลอย่างยิ่ง.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นคนฺตเร ได้แก่ ในระหว่างกลางภูผา

 
  ข้อความที่ 16  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 140

๕ ลูก คืออิสิคิลิ เวปุลละ เวภาระ ปัณฑวะและคิชฌกูฏ. สมัยที่นครนั้นเขาเรียกกันว่า คิริพชนคร [ปัญจคิรีนคร]. บทว่า นครวเร ได้แก่ นครสูงสุด. สิริมาเทพธิดา กล่าวหมายถึงกรุงราชคฤห์. บทว่า สุมาปิเต ได้แก่ ที่มหาโควินทบัณฑิตสถาปนาโดยชอบ ด้วยวิธีใช้วิชาดูพื้นที่. บทว่า ปริจาริกา ได้แก่ เป็นผู้ปรนนิบัติด้วยการบำเรอด้วยสังคีตะ. บทว่า ราชวรสฺส ได้แก่ พระเจ้าพิมพิสารมหาราชผู้ประเสริฐ. อาจารย์ทั้งหลายกล่าวว่า คำว่า สิริ ในคำว่า สิริมโต นี้ เป็นชื่อของพุทธิความรู้และบุญ. อีกนัยหนึ่ง สมบัติมีความสง่างามแห่งเรือนร่างเป็นต้น อันบังเกิดเพราะบุญ ท่านเรียกว่า สิริ เพราะอาศัยคนทำบุญ หรือคนทำบุญอาศัย. สิรินั้นมีอยู่แก่พระราชานั้น เหตุนั้น พระราชานั้นจึงทรงชื่อว่า สิริมา มีสิริ. พระราชาพระองค์นั้น ผู้ทรงมีสิริ. บทว่า ปรมสุสิกฺขิตา ได้แก่ ศึกษาแล้วอย่างยิ่งและโดยชอบ. บทว่า อหุํ แปลว่า ได้เป็นแล้ว. บทว่า อเวทึสุ แปลว่า รู้กันทั่วแล้ว.

บทว่า อิสินิสโภ ได้แก่ จ่าฝูงโค ๑๐๐ ตัว ชื่อว่าอุสภะ. จ่าฝูง โค ๑,๐๐๐ ตัว ชื่อว่า วสภะ. อีกนัยหนึ่ง จ่าฝูงโค ๑๐๐ คอก ชื่อว่า อุสภะ จ่าฝูงโค ๑,๐๐๐ คอก ชื่อว่า วสภะ โคที่ประเสริฐสุดกว่าโคทุกตัว ทนต่ออันตรายทุกอย่าง สีขาว น่าเลื่อมใส บรรทุกภาระของหนักได้มาก แม้เสียงฟ้าผ่า ๑๐๐ ครั้งก็ไม่ทำให้หวั่นไหว ชื่อว่า นิสภะ โคนิสภะนั้นประกอบด้วยกำลังโคนิสภะ ๔ เท้าเหยียบแผ่นดิน อันตรายไรๆ ก็ทำให้หวั่นไหวไม่ได้ ยืนมั่นด้วยการยืนไม่ไหวติง ฉันใด พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ฉันนั้น ทรงประกอบด้วยกำลังของพระตถาคตทรงใช้พระบาท คือ เวสารัชชญาณทั้ง ๔ เหยียบแผ่นดินคือบริษัท ๘ อัน

 
  ข้อความที่ 17  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 141

ปัจจามิตรผู้ขัดประโยชน์ไรๆ ในโลกพร้อมทั้งเทวโลก ทำให้ทรงหวั่นไหวไม่ได้ ทรงยืนหยัดด้วยการยืนอย่างไม่ไหวติง. เพราะฉะนั้น จึงทรงเป็นนิสภะ เพราะทรงเป็นเหมือนโคนิสภะ. ชื่อว่า ทรงเป็นนิสภะในเหล่าผู้แสวงคุณที่เป็นเสกขะและอเสกขะ ซึ่งได้ชื่อว่า อิสิ ฤษี เพราะอรรถว่าแสวงหาธรรมขันธ์ มีศีลเป็นต้น. อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า ทรงเป็นนิสภะของเหล่าฤษีทั้งหลาย หรือเป็นฤษีด้วย เป็นนิสภะนั้นด้วย เหตุนั้น จึงชื่อว่า อิสินิสภะ เป็นทั้งฤษีทั้งนิสภะ. ทรงชื่อว่า วินายกะ เพราะทรงแนะนำเวไนยสัตว์ทั้งหลาย. อีกนัยหนึ่ง ทรงเว้นจากนายกผู้แนะนำ เหตุนั้น จึงทรงชื่อว่า วินายก อธิบายว่า ทรงเป็นสยัมภู พระผู้เป็นเอง [คือตรัสรู้เอง].

บทว่า อเทสยิ สมุทยทุกฺขนิจฺจตํ ได้แก่ ได้ตรัสว่า สมุทยสัจ ทุกขสัจ ไม่เที่ยง สิ้นไปเป็นธรรมดา ด้วยเหตุนั้น สิริมาเทพธิดาจึงแสดงอาการเป็นไปแห่งญาณ คือ การตรัสรู้ของตนว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดก็มีความดับไปเป็นธรรมดา อีกนัยหนึ่ง บทว่า สมุทยทุกฺขนิจฺจตํ ได้แก่ สมุทยสัจ ทุกขสัจและ อนิจจตา ความเป็นของไม่เที่ยง. ในบทนั้น เทพธิดาแสดงวิปัสสนาภูมิ ด้วยการถือสมุทยสัจและทุกขสัจ แสดงอาการเป็นไปแห่งวิปัสสนาภูมินั้น ด้วยการถือเอาความเป็นของไม่เที่ยง. จริงอยู่ เมื่อเจริญอาการคือความไม่เที่ยงแห่งสังขารทั้งหลาย อาการคือทุกข์ แม้อาการคืออนัตตา ก็เป็นอันเจริญด้วย เพราะอาการทั้งสามนั้นเกี่ยวเนื่องกับสังขารนั้น ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นก็เป็นอนัตตา. บทว่า อสงฺขตํ ทุกฺขนิโรธสสฺสตํ ได้แก่

 
  ข้อความที่ 18  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 142

ชื่อว่าอสังขตะ เพราะปัจจัยไรๆ ปรุงแต่งไม่ได้. ประกอบความว่า ได้ทรงแสดงอริยสัจจธรรม ชื่อทุกขนิโรธ เพราะดับทุกข์ในวัฏฏะหมดสิ้น ชื่อว่า สัสสตะ เพราะเป็นของจริงทุกสมัยแก่ดีฉัน. บทว่า มคฺคญฺจิมํ อกุฏิลมญฺชสํ สีวํ ความว่า มรรคชื่อว่า อกุฏิละ ไม่คด เพราะเว้นขาดอันตะทางสุดทั้งสอง [กามสุขัลลิกานุโยคและอัตตกิลถานุโยค] และเพราะละกิเลสมีมายาเป็นต้นที่ทำให้คด และความคดทางกายเป็นอาทิเสียได้ ชื่อว่า อัญชสะ ทางตรง ก็เพราะไม่คดเคี้ยวนั้นนั่นเอง. ชื่อว่า สิวะเกษม คือนิพพาน ก็เพราะตัดกิเลสมีกามราคะเป็นต้นที่ทำให้ไม่เจริญ รุ่งเรืองได้เด็ดขาด. บทว่า มคฺคํ ประกอบความว่า ได้ทรงแสดงแก่ดีฉันถึงอริยสัจกล่าวคือทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาที่ประจักษ์แล้วแก่ท่านและดีฉันนี่ ซึ่งได้นามว่า มรรค ก็เพราะผู้ต้องการพระนิพพานแสวงหากัน หรือเพราะฆ่ากิเลสทั้งหลายไป.

ในบทว่า สุตฺวานหํ อมตปทํ อสงฺขตํ ตถาคตสฺส อนธิวรสฺส สาสนํ นี้ มีความย่อดังนี้ว่า ดีฉันได้ฟังพระสัทธรรมคำสอนของพระผู้ชื่อว่า ตถาคต เพราะอรรถมีการเสด็จมาอย่างนั้นเป็นต้น ผู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธะนี้ชื่อว่า อนธิวระ เพราะเป็นผู้เลิศในโลก พร้อมทั้งเทวโลก อันชื่อว่า อมตบท อสังขตะ เพราะทรงแสดงเจาะจงถึงพระนิพพาน ที่เป็นอมตบท อสังขตะ เพราะเป็นอุบายให้ดำเนินถึงอมตะ หรือพระนิพพาน และเพราะพระนิพพาน แม้ปัจจัยไรๆ ก็พึงปรุงแต่งไม่ได้. บทว่า สีเลสฺวาหํ ได้แก่ ดีฉัน ในศีลทั้งหลาย ที่พึงเผล็ดผล. บทว่า ปรมสุสํวุตา ได้แก่ สำรวมดีอย่างยิ่ง คือโดยชอบทีเดียว. บทว่า อหุํ แปลว่า ได้เป็นแล้ว. บทว่า ธมฺเม ิตา ได้แก่ ตั้งอยู่ในปฏิปัตติธรรม.

 
  ข้อความที่ 19  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 143

บทว่า ตฺวาน ได้แก่ รู้ด้วยการตรัสรู้ด้วยการทำให้แจ้ง. บทว่า ตตฺเถว แปลว่า ในขณะนั้นนั่นเอง หรือในอัตภาพนั้นนั่นแล. บทว่า สมถสมาธิมาผุสํ ได้แก่ สัมผัส คือประสบโลกุตรสมาธิ ที่เป็นสมถะฝ่ายปรมัตถ์ เพราะสงบ เพราะระงับ โดยตัดธรรมฝ่ายข้าศึกได้เด็ดขาด ก็ผิว่า ขณะใดตรัสรู้ด้วยการทำให้แจ้งซึ่งนิโรธ ขณะนั้นนั่นแหละก็เป็นอันตรัสรู้ด้วยการเจริญมรรค แต่เที่ยวแสดงการรู้ทะลุปรุโปร่งซึ่งอารมณ์ ทำให้เป็นเหมือนเหตุที่การรู้ทะลุปรุโปร่งด้วยการเจริญ สำเร็จเป็นเบื้องต้น เทวดาจึงกล่าวว่า ดีฉันรู้บทที่ปราศจากกิเลสดุจธุลี ที่ปัจจัยปรุงแต่งไม่ได้ ซึ่งพระตถาคตผู้ที่ไม่มีผู้อื่นประเสริฐกว่าทรงแสดงแล้ว ดีฉันจึงได้สัมผัสสมาธิทางสมถะในขณะนั้นนั่นเอง เหมือนดังพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า อาศัยจักษุและรูป จักษุวิญญาณจึงเกิด ดังนี้. อีกนัยหนึ่ง บทว่า ตฺวาน พึงทราบว่า เทวดากล่าวโดยที่การเสมอกัน [พร้อมกัน] เหมือนดังพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ดวงอาทิตย์อุทัยสู่ท้องฟ้า กำจัดมืดได้หมด. บทว่า สาเยว แปลว่า ความสัมผัสโลกุตรสมาธิที่ได้แล้วนั่นแหละ. บทว่า ปรมนิยามตา ได้แก่ เป็นความแน่นอนแห่งมรรค อย่างยิ่งสูงสุด.

บทว่า วิเสสํ ได้แก่ แปลก คือให้สำเร็จความผิดแผกจากปุถุชนทั้งหลาย. บทว่า เอกํสิกา ได้แก่ หมดความสงสัยในพระรัตนตรัยที่มีการยึดมั่นส่วนเดียวว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว พระสงฆ์เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว. บทว่า อภิสมเย วิเสสิย ได้แก่ บรรลุคุณวิเศษ โดยการรู้ทะลุปรุโปร่งซึ่งสัจจะ เกจิอาจารย์กล่าวว่า วิเสสินี ก็มี อธิบายว่า มี

 
  ข้อความที่ 20  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 144

คุณวิเศษ เพราะเหตุตรัสรู้. บทว่า อสํสยา ได้แก่ ชื่อว่า ปราศจากความสงสัย เพราะละความสงสัยที่มีวัตถุ ๑๖ และวัตถุ ๘ ได้แล้ว. เกจิอาจารย์กล่าวว่า อสํสิยา. บทว่า พหุชนปูชิตา ความว่า มีคุณที่ผู้ไปสุคติอื่นพึงปรารถนา. บทว่า ขิฑฺฑา รตึ ได้แก่ ความยินดีเล่น อีกอย่างหนึ่ง เล่นด้วย ยินดีด้วย คือ อยู่ด้วยการเล่น และสุขด้วยความยินดี.

บทว่า อมตทสมฺหิ ได้แก่ ดีฉันเป็นผู้เห็นอมตะ เห็นพระนิพพาน. บทว่า ธมฺมทสา ได้แก่ เห็นธรรมคือ สัจจะ ๔. บทว่า โสตาปนฺนา ได้แก่ ผู้ถึงกระแสอริยมรรคเบื้องต้น. บทว่า น จ ปนมตฺถิ ความว่า ก็แต่ดีฉันไม่มีทุคติ เพราะไม่มีการตกต่ำเป็นธรรมดากันละ.

บทว่า ปาสาทิเก ได้แก่ นำมาซึ่งความเลื่อมใส. บทว่า กุสลรเต ได้แก่ ผู้ยินดีในกุศลธรรมที่ไม่มีโทษ พระนิพพาน. บทว่า ภิกฺขโว แปลว่า ซึ่งภิกษุทั้งหลาย. บทว่า นมสฺสิตุํ อุปาคมึ ประกอบกับบทว่า สมณสมาคมํ สิวํ เชื่อมความว่า และดีฉันเข้ามาก็เพื่อจะนั่งใกล้สมาคม สังคม ที่เจริญรุ่งเรือง ที่มีธรรมเกษมของเหล่าพระสมณะผู้สงบบาป พุทธสาวกของพระพุทธเจ้า. บทว่า สิริมโต ธมฺมราชิโน เป็นฉัฏฐีวิภัตติ อธิบายว่าในพระธรรมราชา ผู้ทรงสิริ ก็พวกเกจิอาจารย์ก็กล่าวกันดังนี้ทั้งนั้น.

บทว่า มุทิตมนมฺหิ แปลว่า ดีฉันมีใจบันเทิงแล้ว. บทว่า ปีณิตา ได้แก่ ยินดีแล้ว อีกอย่างหนึ่ง อิ่มแล้ว โดยรสแห่งปีติ. บทว่า นรวรธมฺมสารถึ ได้แก่ พระผู้ชื่อว่า นรวรทัมนสารถี เพราะทรงเป็นผู้ชื่อว่า พระผู้ประเสริฐ เพราะเป็นบุคคลผู้เลิศด้วย เป็นผู้ชื่อว่า ทัมมสารถี เพราะทรงนำผู้ที่ควรฝึก คือ เวไนยสัตว์ที่ควรฝึกให้แล่นมุ่งหน้าไปสู่

 
  ข้อความที่ 21  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 145

พระนิพพานด้วย. บทว่า ปรมหิตานุกมฺปกํ ได้แก่ ทรงอนุเคราะห์สัตว์ทั้งปวงด้วยประโยชน์เกื้อกูลอย่างยิ่ง อย่างสูงสุด.

สิริมาเทพธิดา ครั้นประกาศความเลื่อมใสในพระรัตนตรัย โดยมุข คือประกาศลัทธิของตนอย่างนี้แล้ว ก็ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าและภิกษุสงฆ์ ทำประทักษิณเวียนขวาแล้วก็กลับเทวโลกแห่งเดิม พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำเรื่องที่มาถึงแล้วนั้นนั่นแหละ ให้เป็นอัตถุปปัตติเหตุ เกิดเรื่องแล้วทรงแสดงธรรม. จบเทศนา ภิกษุผู้กระสันก็บรรลุพระอรหัต พระธรรมเทศนานั้นเกิดประโยชน์แม้แก่บริษัทที่ประชุมกันแล.

จบอรรถกถาสิริมาวิมาน