พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๒. อุจฉุทายิกาวิมาน ว่าด้วยอุจฉุทายิกาวิมาน

 
บ้านธัมมะ
วันที่  16 พ.ย. 2564
หมายเลข  40278
อ่าน  377

[เล่มที่ 48] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 223

๑. อิตถิวิมานวัตถุ

ปาริฉัตตกวรรคที่ ๓

๒. อุจฉุทายิกาวิมาน

ว่าด้วยอุจฉุทายิกาวิมาน


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 48]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 223

๒. อุจฉุทายิกาวิมาน

ว่าด้วยอุจฉุทายิกาวิมาน

[๓๐] พระมหาโมคคัลลานเถระ ถามนางเทพธิดานั้นด้วยคาถาความว่า

ดูก่อนนางเทพธิดา ท่านมีสิริ มีผิวพรรณเปล่งปลั่ง มียศและเดชสว่างไสวไพโรจน์ทั่วแผ่นดิน รวมทั้งเทวโลกเหมือนกับพระจันทร์เป็นผู้ประเสริฐ เหมือนท้าวมหาพรหม รุ่งเรืองกว่าเทพเจ้าเหล่าไตรทศพร้อมทั้งอินทร์ อาตมาขอถามท่านผู้ทัดทรงดอกอุบล ยินดีแต่พวงมาลัยประดับเศียร มีผิวพรรณเปล่งปลั่งดั่งทองคำ ประดับประดาอาภรณ์สวยงาม นุ่งห่มผ้าอย่างดี ดูก่อนเทพธิดาผู้เลอโฉม ท่านเป็นใครมาไหว้อาตมาอยู่ เมื่อก่อน ครั้งเมื่อเกิดเป็นมนุษย์ในชาติก่อน ท่านได้ทำกรรมอะไรไว้ด้วยตน ได้ให้ทานหรือรักษาศีลอย่างไรไว้ ท่านได้เข้าถึงสุคติ มีเกียรติยศ เพราะกรรมอะไร ดูก่อนนางเทพธิดา อาตมาถามแล้วขอจงบอกผลนี้แห่งกรรมอะไร.

นางเทพธิดานั้น อันพระมหาโมคคัลลานเถระถามแล้ว กล่าวตอบด้วยคาถาว่า

ข้าแต่ท่านผู้เจริญ พระเถระรูปหนึ่งเข้ามายังบ้านของดีฉันเพื่อบิณฑบาต ในกรุงราชคฤห์นี้ ทันใด

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 224

นั้น ดีฉันมีจิตเลื่อมใสเพราะปีติสุดที่จะหาสิ่งใดมาเทียบได้ จึงได้ถวายท่อนอ้อยแก่ท่าน ภายหลังแม่ผัวได้ถามถึงท่อนอ้อยที่หายไปว่า ท่อนอ้อยหายไปไหน จึงตอบว่า ท่อนอ้อยนั้นดีฉันไม่ได้ทิ้ง ทั้งไม่ได้รับประทาน แต่ดีฉันได้ถวายแก่ภิกษุผู้สงบระงับ ทันใดนั้นแม่ผัวได้บริภาษดีฉันว่า เธอหรือฉันเป็นเจ้าของท่อนอ้อยนั้น ว่าแล้วก็คว้าเอาตั่งฟาดดีฉันจนถึงตาย เมื่อดีฉันจุติจากมนุษยโลกนั้นแล้ว จึงมาเกิดเป็นนางเทพธิดา ดีฉันได้ทำกุศลกรรมนั้นไว้อย่างเดียว เพราะกรรมนั้นเป็นเหตุ ดีฉันจึงมาเสวยความสุขด้วยตนเอง เพรียบพร้อมด้วยเทพเจ้าผู้รับใช้ ร่าเริงบันเทิงใจอยู่ด้วยเบญจกามคุณ อนึ่ง ดีฉันได้ทำกุศลกรรมนั้นเท่านั้น เพราะกรรมนั้นเป็นเหตุ ดีฉันจึงมาเสวยความสุขด้วยตนเอง เป็นผู้ที่ท้าวสักกะจอมเทพคุ้มครองแล้ว และเป็นผู้อันเทพเจ้าขาวไตรทศอารักขาด้วย จึงเป็นผู้เพรียบพร้อมไปด้วยเบญจกามคุณ ผลบุญเช่นนี้มิใช่น้อย การถวายท่อนอ้อยของดีฉันมีผลอันยิ่งใหญ่ ดีฉันเพรียบพร้อมด้วยเทพเจ้าผู้รับใช้ ร่าเริงบันเทิงใจอยู่ด้วยเบญจกามคุณ ผลบุญเช่นนี้มิใช่น้อย การถวายท่อนอ้อยของดีฉันมีผลรุ่งเรืองมาก ดีฉันเป็นผู้ที่ท้าวสักกะจอมเทพทรงคุ้มครองแล้ว ทั้งเทพเจ้าไตรทศก็ให้อารักขาด้วย ดังท้าวสหัสนัยน์

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 225

ในสวนนันทนวันฉะนั้น ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ก็ดีฉันเข้ามานมัสการท่านผู้มีความกรุณา มีปัญญารู้แจ้งแล ถามถึงความไม่มีโรคภัยด้วย เพราะฉะนั้น ดีฉันมีใจเลื่อมใสด้วยปีติสุดที่จะหาสิ่งใดๆ มาเทียบเคียงได้ ได้ถวายท่อนอ้อยแก่พระคุณเจ้าในครั้งนั้น.

จบอุจฉุทายิกาวิมาน

อรรถกถาอุจฉุทายิกาวิมาน

อุจฉุทายิกาวิมาน มีคาถาว่า โอภาสยิตฺวา ปวึ สเทวกํ ดังนี้ เป็นต้น. อุจฉุทายิกาวิมานนั้นเกิดขึ้นอย่างไร?

บทมีอาทิว่า ภควา ราชคเห วิหรติ ทั้งหมดเช่นเดียวกับที่ได้กล่าวมาแล้วในวิมานเป็นลำดับไป แต่ในที่นี้ต่างกันที่นางถวายอ้อย. นางถูกแม่ผัวประหารด้วยตั่งตายในขณะนั้นทันทีแล้วไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ในคืนนั้นเอง นางมาปรนนิบัติพระเถระ มีรัศมีรุ่งเรืองดุจพระจันทร์และพระอาทิตย์ ยังภูเขาคิชฌกูฏ ให้สว่างไสวไปทั่ว ยืนประคองอัญชลีไหว้พระเถระอยู่ ณ ส่วนหนึ่ง. ลำดับนั้น พระเถระถามนางด้วยคาถาเหล่านี้ว่า

ท่านยังปฐพีพร้อมด้วยเทวโลกให้สว่างไสวรุ่งเรืองยิ่ง ด้วยสิริ ด้วยวรรณะ ด้วยยศ และด้วยเดชดุจพระจันทร์และพระอาทิตย์ ดุจพระพรหมในไตรทศ

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 226

เทวโลกพร้อมด้วยพระอินทร์ เราขอถามท่าน ดูก่อน เทวดาผู้งาม มีหนังสีทอง ตกแต่งงดงาม ท่านคล้องมาลัยดอกบัว สวมดอกไม้ทำด้วยแก้วบนศีรษะ นุ่งผ้า ชั้นยอด ท่านเป็นใครจึงไหว้เรา เมื่อก่อนท่านได้ทำกรรมอะไรไว้ด้วยตน ท่านเป็นมนุษย์ในชาติก่อน สะสมทานและสำรวมในศีล เข้าถึงสุคติมียศ ด้วยกรรมอะไร.

ดูก่อนเทพธิดา เราถามท่าน ท่านจงบอกว่า นี้เป็นผลของกรรมอะไร.

ในบทเหล่านั้น บทว่า โอภาสยิตฺวา ปวึ สเทวกํ ความว่า ยังปฐพีนี้อันเป็นภูมิภาคที่เข้าไปถึงได้ พร้อมกับอากาศเทวโลกให้รุ่งโรจน์ เพราะรุ่งโรจน์ด้วยรัศมีอันซ่านออกจากข้างภูเขาสิเนรุปนกับรัศมีพระจันทร์และพระอาทิตย์. อธิบายว่า ทำให้มีแสงสว่างเป็นอันเดียวกัน คือให้มีความรุ่งโรจน์เป็นอันเดียวกัน. โยชนาแก้ว่า ยังปฐพีให้สว่างไสวดุจพระจันทร์และพระอาทิตย์. บทว่า อติโรจสิ ได้แก่ รุ่งเรืองยิ่งนัก. ก็พระเถระกล่าวความรุ่งเรืองยิ่งนักนั้นว่า ด้วยกรรมอะไร ดุจอะไร หรือเพราะอะไร มีคำตอบว่า ด้วยสิริเป็นต้น. ในบทเหล่านั้น บทว่า สิริยา ได้แก่ ด้วยความวิเศษมีความงามเลิศเป็นต้น. บทว่า เตชสา ได้แก่ ด้วยอานุภาพของตน. บทว่า อาเวฬินิ ได้แก่ พวงบุปผาทำด้วยแก้ว.

พระเถระถามอย่างนี้แล้ว เทพธิดาจึงตอบด้วยคาถาเหล่านี้ว่า

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 227

ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ. บัดนี้พระคุณเจ้าเข้าไปยังเรือนของดีฉัน เพื่อบิณฑบาตในบ้านนี้ แต่นั้นดีฉันมีจิตเลื่อมใส ได้ถวายท่อนอ้อย. มีปีติเป็นล้นพ้น. ภายหลังแม่ผัวซักไซ้ดีฉันว่า นี่แน่แม่หญิงสาว เจ้าทิ้งอ้อยไว้ที่ไหน. ดีฉันตอบว่า ฉันไม่ได้ทิ้งและไม่ได้กิน ฉันได้ถวายแก่ภิกษุผู้สงบด้วยตนเองจ๊ะ. แม่ผัวได้บริภาษดีฉันว่า เอ็งเป็นใหญ่หรือข้าเป็นใหญ่ แล้วแม่ผัวก็ยกตั่งขั้นทุบดีฉันจนถึงตาย ดีฉันจุติจากมนุษยโลกแล้วจึงมาเกิดเป็นเทพธิดา ดีฉันทำกุศลกรรมนั้น จึงได้เสวยสุขด้วยตน ดีฉันรื่นเริงบันเทิงด้วยกามคุณ ๕ ดังเหล่าเทพ. ดีฉันอันจอมเทพคุ้มครอง ทวยเทพในไตรทศรักษา เอิบอิ่มไปด้วยกามคุณ ๕ จึงได้เสวยความสุขด้วยตนเอง. ผลบุญเช่นนี้ไม่ใช่เล็กน้อย การถวายอ้อยของดีฉันเป็นผลบุญยิ่งใหญ่ ดีฉันรื่นเริงบันเทิงด้วยกามคุณ ๕ กับหมู่เทพทั้งหลาย. ผลบุญเช่นนี้ไม่ใช่เล็กน้อย การถวายอ้อยของดีฉันมีผลรุ่งเรืองมาก จอมเทพคุ้มครอง ทวยเทพในไตรทศรักษา ดุจท้าวสหัสนัยน์ในสวนนันทนวันฉะนั้น. ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ ดีฉันเข้าไปหาท่านผู้อนุเคราะห์ ผู้มีปัญญาแล้วไหว้และถามถึงกุศล แต่นั้น ดีฉันมีจิตใจเลื่อมใส มีปีติอันล้นพ้นได้ถวายท่อนอ้อยแก่พระคุณเจ้า ดังนี้.

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 228

ในบทเหล่านั้น บทว่า อิทานิ ได้แก่ เทพธิดากล่าวเพราะเป็นวันที่ล่วงไปแล้วเป็นลำดับ. อธิบายว่า เดี๋ยวนี้. บทว่า อิมเมว คามํ ได้แก่ ในบ้านนี้นั่นเอง. เทวดากล่าวหมายถึงกรุงราชคฤห์. ดังที่ท่านกล่าวว่า บ้านก็ดี นิคมก็ดี เมืองก็ดี ท่านเรียกว่า คาม ทั้งนั้น. อนึ่ง บทว่า อิมเมว คามํ นี้เป็นทุติยาวิภัตติลงในอรรถแห่งสัตตมีวิภัตติ. บทว่า อุปาคมิ ได้แก่ เข้าไปแล้ว. บทว่า อตุลาย ได้แก่ ไม่มีเปรียบ หรือไม่มีประมาณ.

บทว่า อวากิริ ได้แก่ นำออกไป คือทิ้ง หรือทำให้เสียหาย. บทว่า สนฺตสฺส ได้แก่เป็นผู้สำรวมดี มีกิเลสสงบหรือไม่ถึงความดิ้นรน.

นุ ศัพท์ในบทว่า ตุยฺหํ นุ เป็นนิบาตลงในอรรถอันส่องถึงความไม่มีตัวตน. นุ ศัพท์นั้นพึงนำมาประกอบแม้ในบทว่า มม เป็น มม นุ ดังนี้. บทว่า อิทํ อิสฺสริยํ แม่ผัวกล่าวหมายถึงความเป็นใหญ่ในเรือน. บทว่า ตโต จุตา ได้แก่ จุติจากมนุษยโลกนั้น. เพราะแม้ไปจากที่ที่ดำรงอยู่ ท่านก็เรียกว่า จุตา ฉะนั้น เพื่อให้ต่างกับจุติ ท่านจึงกล่าวว่า กาลคตา. อนึ่ง แม้ถึงแก่กรรมแล้ว ก็ยังไม่เกิดในที่ใดที่หนึ่ง. ก็แลเมื่อเทพธิดาแสดงว่า ดีฉันถึงความเป็นเทพธิดา จึงกล่าวว่า อมฺหิ เทวตา ดีฉันเป็นเทพธิดา ดังนี้.

บทว่า ตเทว กมฺมํ กุสลํ กตํ มยา ความว่า ดีฉันทำกรรมเป็นกุศลเพียงถวายท่อนอ้อยนั้นเท่านั้น. อธิบายว่า ดีฉันไม่รู้อย่างอื่น. บทว่า สุขญฺจ กมฺมํ ได้แก่ ผลของกรรมอันเป็นความสุข. จริงอยู่ในที่นี้ท่านกล่าวผลของกรรมว่า กมฺมํ ด้วยลบบทหลังหรือใกล้เคียงกับเหตุ ดุจในประโยคมีอาทิว่า

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 229

กุสลานํ ภิกฺขเว ธมฺมานํ สมาทานเหตุ เอวมิทํ ปุญฺํ ปวฑฺฒติ ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุญนี้ย่อมเจริญอย่างนี้ เพราะเหตุแห่งการสมาทานธรรมเป็นกุศล และในประโยคมีอาทิว่า อนุโภมิ สกํ ปุญฺํ ความว่า ข้าพเจ้าเสวยบุญของตนดังนี้. อีกอย่างหนึ่ง บทว่า กมฺมํ เป็นทุติยาวิภัตติลงในอรรถแห่งตติยาวิภัตติ ความว่า กมฺเมน แปลว่า ด้วยกรรม. อีกอย่างหนึ่ง กรรมเกิดในกรรมชื่อยถากรรม. อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่ากรรมเพราะอันบุคคลพึงใคร่ เพราะว่ากรรมนั้นเข้าไปประกอบด้วยกาม เพราะติดในความสุข จึงชื่อว่า กมนียะ เพราะควรใคร่. บทว่า อตฺตนา คือ ด้วยตนเอง อธิบายว่า ด้วยตนเองโดยความเป็นอิสระ เพราะตนเองมีอำนาจ. บทว่า ปริจารยามหํ อตฺตานํ ในคาถาก่อน กล่าวว่า อตฺตนา ควรตั้งบทว่า อตฺตานํ เพราะเปลี่ยนวิภัตติ.

บทว่า เทวินฺทคุตฺตา ได้แก่ ท้าวสักกะจอมเทพคุ้มครอง หรือคุ้มครองดุจจอมเทพเพราะมีบริวารมาก. บทว่า สมปฺปิตา ได้แก่ เอิบอิ่มด้วยดี คือถึงพร้อมด้วยดี. บทว่า มหาวิปากา คือ มีผลไพบูลย์. บทว่า มหาชุติกา คือ มีเดชมาก มีอานุภาพมาก. บทว่า ตุวํ คือ ซึ่งท่าน. บทว่า อนุกมฺปกํ คือ มีความกรุณา. บทว่า วิทุํ คือ มีปัญญา. อธิบายว่า ถึงที่สุดแห่งสาวกบารมี. บทว่า อุเปจฺจ แปลว่า เข้าไปหา. บทว่า วนฺทึ ได้แก่ กราบด้วยเบญจางคประดิษฐ์. ข้าพเจ้าได้ถามถึงกุศลคือความไม่มีโรค. อธิบายว่า ข้าพเจ้าระลึกถึงกุศลนี้ด้วยปีติอันล้นพ้น. บทที่เหลือมีนัยดังได้กล่าวแล้วในหนหลังนั่นแล.

จบอรรถกถาอุจฉุทายิกาวิมาน