๑. มัญชิฏฐกวิมาน ว่าด้วยมัญชิฏฐกวิมาน
[เล่มที่ 48] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 331
๑. อิตถิวิมานวัตถุ
มัญชิฏฐกวรรคที่ ๔
๑. มัญชิฏฐกวิมาน
ว่าด้วยมัญชิฏฐกวิมาน
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 48]
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 331
มัญชิฏฐกวรรคที่ ๔
๑. มัญชิฏฐกวิมาน
ว่าด้วยมัญชิฏฐกวิมาน
พระมหาโมคคัลลานเถระถามเทพธิดาองค์หนึ่งว่า
[๓๙] ดูก่อนเทพธิดา ท่านรื่นรมย์อยู่ในวิมานแก้วผลึก มีพื้นดาดาษไปด้วยทรายทอง กึกก้องไปด้วยดนตรีเครื่อง ๕ เมื่อท่านลงจากวิมานแก้วผลึก อันบุญกรรมแต่งไว้ เข้าไปสู่ป่าสาละอันมีดอกบานสะพรั่งตลอดกาลทั้งปวง ยืนอยู่ที่โคนต้นสาละต้นใดๆ ต้นสาละนั้นๆ ซึ่งเป็นไม้อุดมก็น้อมกิ่งโปรยดอกลงมา ป่าสาละนั้นต้องลมแล้วโบกสะบัดไปมา เป็นที่อาศัยแห่งฝูงสกุณชาติ โชยกลิ่นหอมฟุ้งไปทั่วทิศ ดุจต้นอุโลกฉะนั้น ท่านสูดดมกลิ่นอันหอมหวนนั้น ทั้งได้ชมรูปทิพย์ ซึ่งมิใช่ของมนุษย์ ดูก่อนเทพธิดา อาตมาถามแล้ว ขอท่านโปรดบอก นี้เป็นผลแห่งกรรมอะไร.
เทพธิดาตอบว่า
เมื่อชาติก่อน ดีฉันเกิดเป็นมนุษย์อยู่ในมนุษยโลก เป็นทาสอยู่ในตระกูลเจ้านาย ได้เห็น
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 332
พระพุทธเจ้าประทับนั่งอยู่ มีจิตเลื่อมใส ได้โปรยดอกสาละรอบอาสนะ และได้น้อมนำพวงมาลัยดอกสาละอันร้อยกรองอย่างดี ถวายพระพุทธเจ้าด้วยมือของตน ครั้นดีฉันได้ทำกุศลกรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญแล้ว ก็สร่างโศกหมดโรคภัย สุขกาย สุขใจ รื่นเริงบันเทิงอยู่เป็นนิจ.
จบมัญชิฏฐกวิมาน
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 333
มัญชิฏฐกวรรควรรณนาที่ ๔
อรรถกถามัญชิฏฐกวิมาน
มัญชิฏฐกวิมาน มีคาถาว่า มญฺชิฏฺเก วิมานสฺมึ โสวณฺณวาลุกสนฺถเต เป็นต้น. วิมานนั้นเกิดขึ้นอย่างไร?
พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่กรุงสาวัตถี. อุบาสกคนหนึ่งในกรุงสาวัตถีนั้นนิมนต์พระผู้มีพระภาคเจ้า จัดสร้างมณฑปแล้วบูชาสักการะ ถวายทานในมณฑปนั้น โดยนัยที่กล่าวแล้วในวิมานติดๆ กัน. สมัยนั้น หญิงรับใช้ประจำตระกูลคนหนึ่ง เห็นต้นสาละในสวนอันธวันออกดอกบานสะพรั่ง จึงเก็บดอกสาละในสวนนั้นมา เอาเถาไม้ร้อยเป็นมาลัยสวมคอ ทั้งเก็บดอกที่ขาวอย่างมุกดาและดอกงามๆ เป็นอันมากเข้าพระนคร เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งเปล่งพระพุทธรังสีมีวรรณะ ๖ ประการในมณฑปนั้น เหมือนดวงอาทิตย์อ่อนทอแสงส่องเทือกภูเขายุคนธร ก็มี จิตเลื่อมใส เอาดอกไม้เหล่านั้นบูชา วางพวงมาลัยไว้รอบพระพุทธอาสน์ โปรยดอกไม้อีกจำนวนหนึ่ง ถวายบังคมโดยเคารพ ทำประทักษิณสามครั้งแล้วไป. ต่อมานางได้ตายไปเกิดในดาวดึงส์. ที่ดาวดึงส์นั้นนางมีวิมานแก้วผลึกแดง และข้างหน้าวิมานมีสวนสาละใหญ่ พื้นที่สวนลาดทรายทอง. ยามที่นางออกจากวิมานเข้าสวนสาละ กิ่งสาละทั้งหลายโน้มลงโปรยดอกในเบื้องบน ท่านพระมหาโมคคัลลานะเข้าไปหานางตามนัยที่กล่าวแล้วในหนหลัง ถามถึงกรรมที่นางทำไว้ ด้วยคาถาเหล่านี้ว่า
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 334
ดูก่อนเทพธิดา ท่านรื่นรมย์อยู่ในวิมานแก้วผลึก มีพื้นดาดาษไปด้วยทรายทอง กึกก้องไปด้วยดนตรีเครื่อง ๕ เมื่อท่านลงจากวิมานแก้วผลึกอันบุญกรรมแต่งไว้เข้าไปสู่ป่าสาละ อันมีดอกบานสะพรั่งตลอดกาลทั้งปวง ยืนอยู่ที่โคนต้นสาละต้น ใดๆ ต้นสาละนั้นๆ ซึ่งเป็นไม้อุดมก็น้อมกิ่งโปรยดอกลงมา ป่าสาละนั้นต้องลมแล้ว โบกสะบัดไปมา เป็นที่อาศัยแห่งฝูงสกุณชาติ โชยกลิ่นหอมฟุ้งไปทั่วทิศ ดุจต้นอุโลกฉะนั้น ท่านสูดดมกลิ่นอันหอมหวนนั้น ทั้งได้ชมรูปทิพย์ซึ่งมิใช่ของมนุษย์ ดูก่อนเทพธิดา อาตมาถามแล้ว ขอท่านโปรดจงบอก นี้เป็นผลแห่งกรรมอะไร.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มญฺชิฏฺเก วิมานสฺมึ ได้แก่ ในวิมานแก้วผลึกแดง. วิมานที่มีสีเหมือนพวงดอกย่างทรายและดอกยี่โถ ท่านเรียกว่า มัญชิฏฐกะ. บทว่า โสวณฺณวาลุกสนฺถเต ความว่า มีพื้นลาดด้วยทรายทองเกลื่อนอยู่รอบๆ. บทว่า รมสิ สุปฺปเวทิเต ความว่า ย่อมรื่นรมย์ด้วยดนตรีเครื่อง ๕ ที่บรรเลงอย่างไพเราะ.
บทว่า นิมฺมิตา รตนามยา ความว่า จากวิมานรัตน์ที่ศิลปินผู้ชำนาญสร้างไว้สำหรับท่าน. บทว่า โอคาหสิ แปลว่า เข้าไป. บทว่า สพฺพกาลิกํ ได้แก่ เป็นสุขทุกเวลา คือ สบายทุกฤดู หรือมีดอกบานทุกกาล.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 335
บทว่า วาเตริตํ ความว่า ถูกลมพัดกระโชกโดยอาการที่ดอกร่วงพรู. บทว่า อาธุตํ ความว่า ถูกลมอ่อนๆ โชยเบาๆ. บทว่า ทิชเสวิตํ ความว่า มีฝูงนกยูงและนกดุเหว่าเป็นต้นเข้าอาศัย. พระเถระถามอย่างนี้แล้ว เทพธิดานั้นได้พยากรณ์ด้วยคาถาเหล่านี้ว่า
เมื่อชาติก่อน ดีฉันเกิดเป็นมนุษย์อยู่ในมนุษยโลก เป็นทาสีอยู่ในตระกูลเจ้านาย ได้เห็นพระพุทธเจ้าประทับนั่งอยู่ มีจิตเลื่อมใส ได้โปรยดอกสาละรอบอาสนะ. และได้น้อมนำพวงมาลัยดอกสาละอันร้อยกรองอย่างดี ถวายพระพุทธเจ้าด้วยมือของตน ครั้นดีฉันทำกุศลกรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญแล้ว ก็สร่างโศกหมดโรคภัย สุขกายสุขใจ รื่นเริงบันเทิงอยู่.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อยฺยิรกุเล แปลว่า ในตระกูลเจ้านาย อธิบายว่า ในเรือนสามี. บทว่า อหุํ แปลว่า ได้เป็นแล้ว. บทว่า โอกิรึ ได้แก่ โปรยด้วยดอกไม้สีมุกดา. บทว่า อุปนาเมสึ ความว่า นำเข้าไปบูชา. คำที่เหลือมีนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล.
จบอรรถกถามัญชิฏฐกวิมาน