พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑. มัณฑูกเทวปุตตวิมาน ว่าด้วยมัณฑูกเทวปุตตวิมาน

 
บ้านธัมมะ
วันที่  16 พ.ย. 2564
หมายเลข  40301
อ่าน  637

[เล่มที่ 48] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 418

๒. ปุริสวิมานวัตถุ

มหารถวรรคที่ ๕

๑. มัณฑูกเทวปุตตวิมาน

ว่าด้วยมัณฑูกเทวปุตตวิมาน


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 48]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 418

๒. ปุริสวิมานวัตถุ

มหารถวรรคที่ ๕

๑. มัณฑูกเทวปุตตวิมาน

ว่าด้วยมัณฑูกเทวปุตตวิมาน

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามเทพบุตรองค์หนึ่งว่า

[๕๑] ใครรุ่งเรืองด้วยฤทธิ์ ด้วยยศ มีวรรณะงาม ทำทิศทุกทิศให้สว่างไสว กำลังไหว้เท้าของเรา.

เทพบุตรกราบทูลว่า

เมื่อชาติก่อน ข้าพระองค์เป็นกบอยู่ในน้ำ มีน้ำเป็นถิ่นที่หากิน กำลังฟังธรรมของพระองค์อยู่ คนเลี้ยงโคก็ฆ่าเสีย ขอพระองค์โปรดดูฤทธิ์และยศ ดูอานุภาพ วรรณะ และความรุ่งเรืองของความเลื่อมใสแห่งจิตเพียงครู่เดียวของข้าพระองค์ ข้าแต่ท่านพระโคดม ชนเหล่าใดได้ฟังธรรมของพระองค์ตลอดกาลยาวนาน ชนเหล่านั้นก็ถึงฐานะที่ไม่หวั่นไหว ซึ่งคนไปแล้วไม่เศร้าโศกเลย.

จบมัณฑูกเทวปุตตวิมาน

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 419

ปุริสวิมานวัตถุ

มหารถวรรคที่ ๕

อรรถกถามัณฑูกเทวปุตตวิมาน

มัณฑูกเทวปุตตวิมาน มีคาถาว่า โก เม วนฺทติ ปาทานิ เป็นต้น.

มัณฑกเทวปุตตวิมานเกิดขึ้นอย่างไร?

พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ริมฝั่งสระโบกขรณี ชื่อ คัคครา นครจัมปา. เวลาใกล้รุ่ง พระองค์ทรงเข้ามหากรุณาสมาบัติอันเป็นพุทธาจิณวัตร ทรงออกจากสมาบัตินั้น แล้วทรงตรวจดูเหล่าสัตว์พวกที่เป็นเวไนยพอจะแนะนำได้ ทรงเห็นว่า เวลาเย็นวันนี้ เมื่อเรากำลังแสดงธรรม กบตัวหนึ่งถือนิมิตในเสียงของเรา จักตายด้วยความพยายามของผู้อื่นแล้วบังเกิดในเทวโลก มาให้มหาชนเห็นพร้อมด้วยเทพบริวารเป็นอันมาก คนเป็นจำนวนมากจักได้ตรัสรู้ธรรมในที่นั้น. ครั้นทรงเห็นแล้ว เวลาเช้า ทรงนุ่งแล้วทรงถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังจัมปานครพร้อมด้วยภิกษุหมู่ใหญ่ ทรงทำให้ภิกษุทั้งหลายหาบิณฑบาตได้ง่าย เสวยภัตกิจเสร็จแล้วเสด็จเข้าพระวิหาร. เมื่อภิกษุทั้งหลายทำวัตรปฏิบัติแล้วไปที่พักกลางวันของตนๆ ก็เสด็จเข้าพระคันธกุฎี ทรงใช้เวลาครึ่งวันให้หมดไปด้วยสุขในผลสมาบัติ เวลาเย็นเมื่อบริษัททั้ง ๔ ประชุมกัน เสด็จออกจากพระคันธกุฎีอันหอมตลบ เสด็จเข้ามณฑปศาลาประชุมธรรม ริมฝั่งสระโบกขรณี ด้วยพระปาฏิหาริย์ซึ่งเหมาะแก่ขณะนั้น ประทับนั่ง

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 420

เหนือพระบวรพุทธอาสน์ที่ประดับไว้ ทรงเปล่งพระสุรเสียงเพียงดังเสียงพรหม ซึ่งประกอบด้วยองค์ ๘ (๑. วิสฺสฏฺ สละสลวย ๒. มญฺชุ ไพเราะ ๓. วิญฺเยฺย ชัดเจน ๔. สวนีย เสนาะโสต ๕. อวิสารี ไม่เครือพร่า ๖. พินฺทุ กลมกล่อม ๗. คมฺภีร ลึก ๘. นินฺนาที มีกังวาน.) ราวกะว่าพญาไกรสรสีหราชมิหวาดหวั่น บันลือสีหนาทเหนือพื้นมโนศิลาฉะนั้น ทรงเริ่มแสดงธรรมด้วยพระพุทธสีลาอันหาอุปมามิได้ ด้วยพระพุทธานุภาพอันเป็นอจินไตย.

ในขณะนั้น กบตัวหนึ่งมาแต่สระโบกขรณี จึงนอนถือนิมิตในพระสุรเสียงด้วยธรรมสัญญาว่านี้เรียกว่าธรรม อยู่ท้ายบริษัท. ขณะนั้น คนเลี้ยงลูกโคคนหนึ่งมายังที่นั้น เห็นพระศาสดากำลังทรงแสดงธรรม และบริษัทกำลังฟังธรรมอย่างสงบเงียบส่งใจไปในเรื่องนั้น ยืนถือไม้ [สำหรับต้อนโค] ไม่ทันเห็นกบจึงได้ยืนปักไม้บนหัวกบเข้า. กบมีจิตเลื่อมใสด้วยธรรมสัญญา ทำกาละตายในขณะนั้นเอง ไปบังเกิดในวิมานทอง ๑๒ โยชน์ ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เป็นเหมือนหลับแล้วตื่นขึ้น เห็นตนถูกหมู่อัปสรแวดล้อม นึกดูว่า เรามาแต่ไหนจึงบังเกิดในที่นี้ เห็นชาติก่อนนึกทบทวนดูว่า เราเกิดในที่นี้และได้รับสมบัติเช่นนี้ เราทำกรรมอะไรหนอ ไม่เห็นกรรมอื่น นอกจากถือนิมิตในพระสุรเสียงของพระผู้มีพระภาคเจ้า เทพบุตรนั้นมาพร้อมด้วยวิมานในขณะนั้นเอง ลงจากวิมานทั้งที่มหาชนเห็นอยู่นั่นแล เข้าไปถวายบังคมพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยเศียรเกล้า แล้วยืนประคองอัญชลีนมัสการอยู่ ด้วยอานุภาพทิพย์ยิ่งใหญ่ ด้วยบริวารหมู่ใหญ่.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 421

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบเทพบุตรนั้น เพื่อจะทรงทำผลแห่งกรรมและพุทธานุภาพให้ประจักษ์แก่มหาชน จึงตรัสถามว่า

ใครรุ่งเรืองด้วยฤทธิ์ ด้วยยศ มีวรรณะงาม ทำทิศทุกทิศให้สว่างไสว กำลังไหว้เท้าของเรา.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โก ได้แก่ บรรดาเทวดานาคยักษ์และมนุษย์ เป็นต้น ใคร ความว่า เป็นประเภทไหน. บทว่า เม แปลว่า ของเรา. บทว่า ปาทานิ แปลว่า เท้าทั้งสอง. บทว่า อิทฺธิยา ได้แก่ ด้วยเทพฤทธิ์นี้ คือเช่นนี้. บทว่า ยสฺสา ได้แก่ ด้วยบริวารและด้วยเกียรติที่กำหนดไว้นี้ คือเช่นนี้. บทว่า ชลํ แปลว่า โชติช่วงอยู่. บทว่า อภิกฺกนฺเตน ได้แก่ น่ารัก น่าใคร่ คืองามเหลือเกิน. บทว่า วณฺเณน ได้แก่ ผิวพรรณ ความว่า ประกายวรรณะของร่างกาย.

ครั้งนั้น เทพบุตรเมื่อกระทำให้แจ้งซึ่งชาติก่อนเป็นต้นของตน ได้ทูลพยากรณ์ด้วยคาถาเหล่านั้นว่า

เมื่อชาติก่อน ข้าพระองค์เป็นกบอยู่ในน้ำ มีน้ำเป็นถิ่นที่หากิน กำลังฟังธรรมของพระองค์อยู่ คนเลี้ยงโคก็ฆ่าเสีย ขอพระองค์โปรดดูฤทธิ์และยศ. ดูอานุภาพวรรณะและความรุ่งเรืองของความเลื่อมใสแห่งจิตเพียงครู่เดียวของข้าพระองค์. ข้าแต่ท่านพระโคดม ชนเหล่าใดได้ฟังธรรมของพระองค์ตลอดกาลยาวนาน ชนเหล่านั้นก็ถึงฐานะที่ไม่หวั่นไหว ซึ่งคนไปแล้วไม่เศร้าโศกเลย.

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 422

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปุเร แปลว่า ในชาติก่อน. บทว่า อุทเก นี้ เป็นบทแสดงที่เกิดของตนในกาลนั้น. ด้วยบทว่า อุทเก มณฺฑูโก นั้น ย่อมเป็นอันเทพบุตรทำการกลับชาติของกบ ในเพราะผลของซากที่ขึ้นพองเป็นต้น. ชื่อว่า โคจร เพราะอรรถว่า เป็นที่เที่ยวไปของโคทั้งหลาย ชื่อว่า โคจร เพราะเหมือนที่เที่ยวไปของโค คือที่แสวงหาอาหาร ชื่อว่า วาริโคจโร เพราะอรรถว่า มีวารีคือน้ำ เป็นที่แสวงหาอาหารของกบนั้น ความจริง สัตว์ไรๆ มีเต่าเป็นต้น แม้เที่ยวไปในน้ำ แต่ก็ไม่ใช่เป็นพวกวาริโคจร มีน้ำเป็นถิ่นที่กิน ดังนั้น ท่านจึงกล่าวให้แปลกไปว่า วาริโคจโร. บทว่า ตว ธมฺมํ สุณนฺตสฺส ความว่า กำลังฟังธรรมของพระองค์ผู้ทรงแสดงอยู่ด้วยพระสุรเสียงเพียงดังเสียงพรหม ไพเราะดังเสียงร้องของนกการเวก ด้วยถือนิมิตในพระสุรเสียงว่า นี้เรียกว่าธรรม ถือนิมิตในพระสุรเสียง. ฉัฏฐีวิภัตตินั้น พึงทราบว่าลงในอรรถอนาทร (แปลว่า เมื่อ). บทว่า อวชี วจฺฉปาลโก ความว่า เด็กเลี้ยงโค ชื่อว่าคนเลี้ยงโค รักษาลูกโคทั้งหลายมาใกล้ข้าพระองค์ ยืนถือท่อนไม้ ปล่อยท่อนไม้ลงบนศีรษะข้าพระองค์ ทำให้ข้าพระองค์ตาย.

บทว่า มุหุตฺตํ จิตฺตปฺปสาทสฺส ความว่า ความเลื่อมใสแห่งจิตที่เกิดขึ้นชั่วครู่ในพระธรรมของพระองค์ เป็นเหตุ. บทว่า อิทฺธึ แปลว่า ความสำเร็จ ความว่า ความสง่าผ่าเผยอันเป็นทิพย์. บทว่า ยสํ ได้แก่ บริวารยศ. บทว่า อานุภาวํ ได้แก่ อานุภาพอันเป็นทิพย์มีความเป็นผู้มีวรรณะงามเป็นต้น. บทว่า วณฺณํ ได้แก่ ความพรั่งพร้อมแห่งรัศมีในร่างกาย. บทว่า ชุตึ ได้แก่ แสงวิเศษสามารถแผ่ไปได้ถึง ๑๒ โยชน์.

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 423

บทว่า เย แปลว่า สัตว์เหล่าใด. ศัพท์ลงในอรรถพยติเรก. บทว่า เต แปลว่า ของพระองค์. บทว่า ทีฆมทฺธานํ ได้แก่ เวลามาก. บทว่า อสฺโสสุํ แปลว่า ฟังแล้ว. เทพบุตรเรียกพระผู้มีพระภาคเจ้าโดยพระโคตรว่า โคตมะ. บทว่า อจลฏฺานํ ได้แก่ พระนิพพาน. ในบทนี้มีเนื้อความดังต่อไปนี้

ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้โคดม สัตว์เหล่าใดทำบุญไว้แล้ว มิได้ฟังธรรมสิ้นเวลานิดหน่อย เหมือนข้าพระองค์ได้ฟังแล้ว คือได้โอกาสที่จะฟังพระธรรมของพระองค์ตลอดเวลานาน สัตว์เหล่านั้นชื่อว่าทำลายสังสารวัฏฏ์เด่นชัดตลอดกาลนาน สัตว์เหล่านี้ไปในที่ใด ไม่พึงเศร้าโศก สัตว์เหล่านั้นถึงที่นั้นที่ไม่เศร้าโศก อันชื่อว่า ไม่หวั่นไหว เพราะความเป็นของเที่ยง คือสันติบท (พระนิพพาน) เพราะถึงสันติบทนั้น สัตว์เหล่านั้นจึงไม่มีอันตราย.

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรวจดูอุปนิสัยสมบัติของเทพบุตรนั้น และของบริษัทที่ประชุมกันอยู่ แล้วทรงแสดงธรรมโดยพิสดาร. จบเทศนา เทพบุตรนั้นตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล สัตว์แปดหมื่นสี่พันได้ตรัสรู้ธรรม. เทพบุตรนั้นถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า ทำประทักษิณ ทำอัญชลีแด่ภิกษุสงฆ์ พร้อมด้วยบริวารกลับเทวโลก.

จบอรรถกถามัณฑูกเทวปุตตวิมาน