พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๕. ทวารปาลกวิมาน ว่าด้วยทวารปาลกวิมาน

 
บ้านธัมมะ
วันที่  16 พ.ย. 2564
หมายเลข  40306
อ่าน  424

[เล่มที่ 48] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 469

๒. ปุริสวิมานวัตถุ

มหารถวรรคที่ ๕

๕. ทวารปาลกวิมาน

ว่าด้วยทวารปาลกวิมาน


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 48]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 469

๕. ทวารปาลกวิมาน

ว่าด้วยทวารปาลกวิมาน

วิมานที่ ๕ ต่อจากนี้ พึงให้พิสดารเหมือนกักกฏวิมาน พระมหาโมคคัลลานเถระถามเทพบุตรองค์หนึ่งว่า

[๕๕] วิมานเสาแก้วมณีนี้สูง ๑๒ โยชน์ โดยรอบ มีห้องรโหฐาน ๗๐๐ ห้อง โอฬาร ฯลฯ และวรรณะของท่านจึงสว่างไสวไปทุกทิศ.

เทพบุตรนั้นดีใจ ถูกพระโมคคัลลานะถามแล้ว ก็พยากรณ์ปัญหาของกรรมที่มีผลอย่างนี้ว่า พันปีทิพย์เป็นอายุของข้าพเจ้า มีการขับกล่อมด้วยวาจาให้เป็นไปด้วยใจ ผู้ทำบุญไว้จักดำรงอยู่ได้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ มีความพรั่งพร้อมด้วยกามอันเป็นทิพย์ เพราะบุญนั้น วรรณะของข้าพเจ้าจึงเป็นเช่นนี้ ฯลฯ และวรรณะของข้าพเจ้าจึงสว่างไสวไปทุกทิศ.

จบทวารปาลกวิมาน

อรรถกถาทวารปาลกวิมาน

ทวารปาลกวิมาน มีคาถาว่า อุจฺจมิทํ มณิถูณํ เป็นต้น. ทวารปาลกวิมานเกิดขึ้นอย่างไร?

พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน กรุงราชคฤห์

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 470

สมัยนั้น อุบาสกคนหนึ่งในกรุงราชคฤห์ถวายนิจภัต ๔ ที่แด่พระสงฆ์ เรือนของเขาอยู่ท้ายหมู่บ้าน โดยมากต้องปิดประตู เพราะกลัวพวกโจร ภิกษุทั้งหลายไปแล้ว บางคราวไม่ได้ภัตก็พากันกลับ เพราะประตูปิด อุบาสกกล่าวกะภริยาว่า ที่รัก เธอถวายภิกษาแด่พระคุณเจ้าทั้งหลายโดยเคารพหรือ ภริยากล่าวว่า พระคุณเจ้าทั้งหลายไม่ได้มาหลายวันแล้ว เพราะเหตุไร เห็นจะเป็นเพราะประตูปิด อุบาสกได้ฟังดังนั้น สลดใจจึงแต่งตั้งบุรุษคนหนึ่งให้เป็นคนเฝ้าประตู สั่งว่า ตั้งแต่วันนี้ไป ท่านจงนั่งเฝ้าประตู พระคุณเจ้าทั้งหลายมาเวลาใด จงนิมนต์ท่านให้เข้าเรือนเวลานั้น แล้วจงรู้กิจที่ต้องจัดต้องทำทั้งปวง มีรับบาตรและปูลาดอาสนะเป็นต้น แก่พระคุณเจ้าผู้เข้าเรือนแล้ว บุรุษนั้นรับคำว่า สาธุ เมื่อการทำตามสั่ง ได้ฟังธรรมในสำนักของภิกษุทั้งหลาย เกิดศรัทธาเชื่อกรรมและผลแห่งกรรม ตั้งอยู่ในสรณะและศีลทั้งหลาย ได้บำรุงภิกษุทั้งหลายโดยเคารพ.

เวลาต่อมา อุบาสกผู้ถวายนิจภัตตายไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นยามะ ฝ่ายคนเฝ้าประตูบำรุงภิกษุทั้งหลายโดยเคารพ เกิดขึ้นในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพราะทำความขวนขวายในการบริจาคของผู้อื่น และเพราะอนุโมทนา สมบัติทุกอย่างมีวิมานทอง ๑๒ โยชน์ เป็นต้นของเขา พึงทราบตามนัยที่กล่าวแล้วในกักกฏวิมานนั่นแล. คาถาที่แสดงคำถามและคำตอบมีมาอย่างนี้

วิมานเสาแก้วมณีนี้สูง ๑๒ โยชน์ โดยรอบ มีห้องรโหฐาน ๗๐๐ ห้อง โอฬาร มีเสาแก้วไพฑูรย์ ลาดด้วยเครื่องลาดที่ชอบใจ สวยงาม

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 471

ท่านอยู่ ดื่ม กิน ในวิมานนั้น มีพิณทิพย์บรรเลงไพเราะ มีเบญจกามคุณ มีรสเป็นทิพย์ และเทพนารีแต่งองค์ด้วยเครื่องประดับทองฟ้อนรำอยู่ เพราะบุญอะไร วรรณะของท่านจึงเป็นเช่นนี้ เพราะบุญอะไร ผลอันนี้จึงสำเร็จแก่ท่าน และโภคะทุกอย่างที่น่ารักจึงเกิดแก่ท่าน.

ดูก่อนเทวะผู้มีอานุภาพมาก อาตมาขอถามท่าน ครั้งเกิดเป็นมนุษย์ ท่านได้ทำบุญอะไรไว้ เพราะบุญอะไร ท่านจึงมีอานุภาพรุ่งเรืองอย่างนี้ และวรรณะของท่านจึงสว่างไสวไปทุกทิศ.

เทวบุตรนั้นดีใจ ถูกพระโมคคัลลานะถามแล้ว ก็พยากรณ์ปัญหาของกรรมที่มีผลอย่างนี้ว่า พันปีทิพย์เป็นอายุของข้าพเจ้า มีการขับกล่อมด้วยวาจาให้เป็น ไปด้วยใจ ผู้ทำบุญไว้จักดำรงอยู่ได้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ มีความพรั่งพร้อมด้วยกามอันเป็นทิพย์ เพราะบุญนั้น วรรณะของข้าพเจ้าจึงเป็นเช่นนั้น ฯลฯ และวรรณะของข้าพเจ้าจึงสว่างไสวไปทุกทิศ.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทิพฺพํ มมํ วสฺสสหสฺสมายุ ความว่า ตนเองเกิดในเทพหมู่ใด กล่าวประมาณอายุของเทพหมู่นั้น คือเทวดาในชั้นดาวดึงส์ ด้วยว่าร้อยปีโดยการนับปีของมนุษย์ทั้งหลายเป็นคืนหนึ่ง

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 472

วันหนึ่ง (ของสวรรค์) สามสิบราตรีโดยราตรีนั้นเป็นเดือนหนึ่ง สิบสองเดือนโดยเดือนนั้นเป็นปีหนึ่ง พันปีโดยปีนั้นเป็นอายุ อายุนั้นสามโกฏิหกล้านปี โดยการนับของมนุษย์ทั้งหลาย. บทว่า วาจาภิคีตํ ได้แก่ ขับกล่อมด้วยวาจา คือเพียงกล่าวด้วยวาจาว่า มากันเถิด พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลาย อาสนะปูลาดแล้วในที่นี้ ขอท่านทั้งหลายโปรดนั่งเหนืออาสนะนี้เถิด เป็นต้น และด้วยวาจาเป็นการปฏิสันถารว่า ร่างกายของพระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายไม่มีโรคหรือ ที่อยู่สบายดีหรือ เป็นต้น. บทว่า มนสา ปวตฺติตํ ความว่า เพียงความเลื่อมใสที่ให้เป็นไปด้วยใจว่า พระผู้เป็นเจ้าเหล่านี้เป็นผู้น่ารัก เป็นผู้ประพฤติธรรม เป็นผู้ประพฤติสมถะ เป็นพรหมจารี เป็นต้น แต่ไม่แสดงว่า ของบริจาคบางอย่างอันเป็นสมบัติของข้าพเจ้ามีอยู่. บทว่า เอตฺตาวตา ได้แก่ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ คือเพียงกล่าวและเพียงเลื่อมใสอย่างนี้. บทว่า สฺสติ ปุญฺกมฺโม ความว่า ชื่อว่าเป็นผู้ทำบุญไว้ จักตั้งอยู่ คือจักเป็นไปนานในเทวโลก อธิบายว่า เมื่อตั้งอยู่ เป็นผู้พรั่งพร้อมด้วยกามอันเป็นทิพย์ คือเป็นผู้พรั่งพร้อมคือประกอบด้วยเบญจกามคุณอันเป็นทิพย์ โดยทำนองเป็นของใช้สอยสำหรับเทวดาทั้งหลายในหมู่เทพนั้นแหละ บำรุงบำเรออินทรีย์อยู่. คำที่เหลือมีนัยดังกล่าวแล้วนั้นแล.

จบอรรถกถาทวารปาลกวิมาน