พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๘. ปฐมกุณฑลีวิมาน ว่าด้วยกุณฑลีวิมานที่ ๑

 
บ้านธัมมะ
วันที่  16 พ.ย. 2564
หมายเลข  40323
อ่าน  385

[เล่มที่ 48] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 566

๒. ปุริสวิมานวัตถุ

ปายาสิกวรรคที่ ๖

๘. ปฐมกุณฑลีวิมาน

ว่าด้วยกุณฑลีวิมานที่ ๑


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 48]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 566

๘. ปฐมกุณฑลีวิมาน

ว่าด้วยกุณฑลีวิมานที่ ๑

พระมหาโมคคัลลานเถระ ได้ถามเทพบุตรองค์หนึ่งว่า

[๗๒] ท่านแต่งองค์ทรงมาลัย ทรงพัสตราภรณ์สวย ใส่ตุ้มหูอันงาม แต่งผมและหนวดเรียบร้อย สวมอาภรณ์ประดับมือ เรืองยศ อยู่ในวิมานทิพย์ ดุจ พระจันทร์ อนึ่ง พิณทิพย์ก็บรรเลงไพเราะ เทพอัปสรชั้นไตรทศจำนวน ๖๔,๐๐๐ ก็เป็นผู้ดี ล้วนชำนาญศิลป์ พากันมาฟ้อนรำขับร้องทำให้บันเทิงใจ ท่านบรรลุเทวฤทธิ์ มีอานุภาพมาก ครั้งเกิดเป็นมนุษย์ ท่านได้ทำบุญอะไรไว้ เพราะบุญอะไร ท่านจึงมีอานุภาพรุ่งเรืองอย่างนี้ และวรรณะของท่านจึงสว่าง ไสวไปทุกทิศ.

เทพบุตรนั้น ถูกพระโมคคัลลานเถระถามแล้ว

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 567

ดีใจ พยากรณ์ปัญหาของกรรมที่มีผลอย่างนี้ว่า

ครั้งเกิดเป็นมนุษย์อยู่ในหมู่มนุษย์ ข้าพเจ้าได้เห็นสมณะทั้งหลายผู้มีศีล มีวิชชาและจรณะพรั่งพร้อม มียศ เป็นพหูสูต บรรลุธรรมที่สิ้นตัณหา มีจิตเลื่อมใส เมื่อบริจาคข้าวและน้ำ ได้ถวายทานอย่างไพบูลย์ โดยความเคารพ เพราะบุญนั้น ข้าพเจ้าจึงมีวรรณะเช่นนี้ ฯลฯ และวรรณะของข้าพเจ้าจึงสว่างไสวไปทุกทิศ.

จบปฐมกุณฑลีวิมาน

อรรถกถาปฐมกุณฑลีวิมาน

ปฐมกุณฑลีวิมาน มีคาถาว่า อลงฺกโต มาลฺยธโร สุวตฺโถ เป็นต้น. ปฐมกุณฑลีวิมานนั้นเกิดขึ้นอย่างไร?

พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวันวิหาร กรุงสาวัตถี. สมัยนั้น ท่านพระอัครสาวกทั้งสองพร้อมด้วยบริวาร เที่ยวจาริกไปในแคว้นกาสี เวลาพระอาทิตย์ตกก็ถึงวิหารแห่งหนึ่ง. อุบาสกผู้หนึ่งในโคจรคาม [หมู่บ้านที่พระเที่ยวบิณฑบาต] ของวิหารนั้นได้ยินเรื่องนั้นแล้ว ก็ไปหาพระเถระไหว้แล้ว น้อมน้ำล้างเท้า น้ำมันทาเท้า เตียงตั่ง เครื่องปูลาด และเครื่องประทีป นิมนต์ฉันวันพรุ่งนี้ รุ่งขึ้นก็ถวายมหาทาน พระเถระทำอนุโมทนาแก่อุบาสกนั้นแล้วก็จาริกต่อไป ต่อมา

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 568

อุบาสกนั้นก็ตายไปบังเกิดในวิมานทอง ๑๒ โยชน์ ภพดาวดึงส์ ท่านพระมหาโมคคัลลานะจึงสอบถามเทพบุตรนั้น ด้วยคาถาเหล่านี้ว่า

ท่านแต่งองค์ทรงมาลัย มีพัสตราภรณ์สวย ใส่ตุ้มหูงาม แต่งผมและหนวดเรียบร้อย สวมอาภรณ์ประดับมือ มียศ [เกียรติและบริวาร] อยู่ในวิมานทิพย์ เหมือนพระจันทร์ พิณทิพย์ก็บรรเลงเพราะ และเหล่าเทพกัญญาชั้นไตรทศจำนวน ๖๔,๐๐๐ ก็เป็นผู้ดี ล้วนชำนาญศิลป์ พากันมาฟ้อนรำขับร้อง ทำความบันเทิงอย่างโอฬาร.

ท่านบรรลุเทวฤทธิ์แล้วมีอานุภาพมาก ครั้งเกิดเป็นมนุษย์ ท่านได้ทำบุญอะไรไว้ เพราะบุญอะไร ท่านจึงมีอานุภาพรุ่งเรืองอย่างนี้ และวรรณะของท่านจึงสว่างไสวไปทุกทิศ.

เทพบุตรนั้นดีใจ ถูกท่านพระโมคคัลลานะถามแล้ว ก็พยากรณ์ปัญหาของกรรมที่มีผลอย่างนี้ว่า

ครั้งเกิดเป็นมนุษย์ในหมู่มนุษย์ ข้าพเจ้าเห็นสมณะทั้งหลายมีศีล มีวิชชาและจรณะพรักพร้อม มียศ เป็นพหูสูต เข้าถึงธรรมที่สิ้นตัณหา ก็มีจิตเลื่อมใส เมื่อบริจาคข้าวน้ำ จึงได้ถวายทานอย่างไพบูลย์ โดยเคารพ เพราะบุญนั้น วรรณะของ

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 569

ข้าพเจ้าจึงเป็นเช่นนี้ เพราะบุญนั้น ผลนี้จึงสำเร็จแก่ข้าพเจ้า และโภคะทุกอย่างที่น่ารัก ฯลฯ เพราะ ญนั้น ข้าพเจ้าจึงมีอานุภาพรุ่งเรืองอย่างนี้ และวรรณะของข้าพเจ้าจึงสว่างไสวไปทุกทิศ.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สุกุณฺฑลี ได้แก่ มีหูประดับด้วยตุ้มหูคู่งาม ปาฐะว่า สกุณฺฑลี ก็มี ตุ้มหูเช่นนั้น ชื่อว่า สกุณฑละ ตุ้มหูเช่นนั้นมีอยู่แก่เทพบุตรนั้น เหตุนั้น เทพบุตรนั้น จึงชื่อ สกุณฺฑลี ผู้มีตุ้มหู อธิบายว่า ผู้มีตุ้มหูที่เหมาะ มีตุ้มหูที่สมกันและกันแก่ท่าน. บทว่า กปฺปิตเกสมสฺสุ ได้แก่ แต่งผมและหนวดเรียบร้อย. บทว่า อามุตฺตหตฺถาภรโณ ได้แก่ สวมเครื่องประดับมือ มีนิ้วมือเป็นต้น.

บทว่า ตณฺหกฺขยูปปนฺโน ได้แก่ เข้าถึงธรรมที่สิ้นตัณหา ได้แก่ พระอรหัต หรือนิพพานนั่นเอง อธิบายว่า บรรลุธรรมที่คายกิเลส. คำที่เหลือ มีนัยที่กล่าวมาแล้วทั้งนั้น.

จบอรรถกถาปฐมกุณฑลีวิมาน