๓. มัตตาเปตวัตถุ ว่าด้วยผู้ดุร้ายตายเป็นนางเปรต
[เล่มที่ 49] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 165
อุพพรีวรรคที่ ๒
๓. มัตตาเปติวัตถุ
ว่าด้วยผู้ดุร้ายตายเป็นนางเปรต
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 49]
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 165
๓. มัตตาเปติวัตถุ
ว่าด้วยผู้ดุร้ายตายเป็นนางเปรต
นางติสสาถามหญิงเปรตตนหนึ่งว่า
[๑๐๐] ดูก่อนนางเปรตผู้ซูบผอมมีแต่ซี่โครง ท่านเป็นผู้เปลือยกาย มีรูปร่างน่าเกลียด ซูบผอม มีตัวสะพรั่งไปด้วยเส้นเอ็น ท่านเป็นใคร มายืนอยู่ในที่นี้.
นางเปรตนั้นตอบว่า
เมื่อก่อนท่านชื่อติสสา ส่วนฉันชื่อมัตตา เป็นหญิงร่วมสามีกับท่าน ได้ทำกรรมอันลามกไว้ จึงจากมนุษยโลกนี้ไปสู่เปตโลก
นางติสสาถามว่า
ท่านได้ทำกรรมชั่วอะไรไว้ด้วยกาย วาจา ใจ หรือเพราะวิบากแห่งกรรมอะไร ท่านจึงจากมนุษยโลกนี้ไปสู่เปตโลก.
นางเปรตนั้นตอบว่า
ฉันเป็นหญิงดุร้ายและหยาบคาย มักหึงหวง มีความตระหนี่ เป็นคนโอ้อวด ได้กล่าววาจาชั่วกะท่าน จึงจากโลกนี้ไปสู่เปตโลก
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 166
นางติสสากล่าว
เรื่องทั้งหมดนั้นเป็นความจริง แม้ฉันก็รู้ว่า ท่านเป็นหญิงดุร้ายอย่างไร แต่อยากจะถามท่านสักอย่างหนึ่ง ท่านมีสรีระเปื้อนฝุ่นเพราะกรรมอะไร.
นางเปรตนั้นตอบว่า
ท่านกับฉันพากันอาบน้ำแล้ว นุ่งห่มผ้าสะอาด ตบแต่งร่างกายแล้ว แต่ฉันแต่งร่างกายเรียบร้อยยิ่งกว่าท่าน เมื่อฉันแลดูท่านคุยอยู่กับสามี ลำดับนั้น ความริษยาและความโกรธได้เกิดแก่ฉันเป็นอันมาก ทันใดนั้นฉันจึงกวาดเอาฝุ่น โปรยลงรดท่าน ฉันมีสรีระเปื้อนด้วยฝุ่น เพราะวิบากแห่งกรรมนั้น.
นางติสสากล่าวว่า
เรื่องทั้งหมดนั้นเป็นความจริง แม้ฉันก็รู้ว่า ท่านเอาฝุ่นโปรยใส่ฉัน แต่ฉันอยากจะถามท่านสักอย่างหนึ่ง ท่านเป็นหิดคันไปทั่วตัว เพราะกรรมอะไร.
นางเปรตนั้นตอบว่า
เราทั้งสองเป็นคนหายา ได้พากันไปป่า ส่วนท่านหายามาได้ แต่ฉันนำเอาผลหมามุ่ยมา
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 167
เมื่อท่านเผลอ ฉันได้โปรยหมามุ่ยลงบนที่นอนของท่าน ฉันเป็นหิดคันไปทั้งตัวเพราะวิบากแห่งกรรมนั้น.
นางติสสากล่าวว่า
เรื่องทั้งหมดนั้นเป็นความจริง แม้ฉันก็รู้ว่า ท่านโปรยผลหมามุ่ยลงบนที่นอนของฉัน แต่ฉันอยากจะถามท่านสักอย่างหนึ่ง ท่านเป็นผู้เปลือยกายเพราะกรรมอะไร.
นางเปรตนั้นตอบว่า
วันหนึ่ง ได้มีการประชุมพวกมิตรสหายและญาติทั้งหลาย ส่วนท่านได้รับเชิญ แต่ฉันซึ่งสามีกับท่านไม่มีใครเชิญ เมื่อท่านเผลอฉันได้ลักผ้าของท่านซ่อนเสีย ฉันเป็นผู้เปลือยกายเพราะวิบากแห่งกรรมนั้น.
นางติสสากล่าวว่า
เรื่องทั้งหมดนั้นเป็นความจริง แม้ฉันก็รู้ว่า ท่านได้ลักผ้าของฉันไปซ่อน แต่ฉันอยากจะถามท่านสักอย่างหนึ่ง ท่านมีกลิ่นกายเหม็นดังคูถ เพราะกรรมอะไร.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 168
นางเปรตนั้นตอบว่า
ฉันได้ลักของหอม ดอกไม้ และเครื่องลูบไล้อันมีค่ามากของท่านทิ้งลงในหลุมคูถ บาปนั้นฉันได้ทำไว้แล้ว ฉันมีกลิ่นกายเหม็นดังคูถ เพราะวิบากแห่งกรรมนั้น.
นางติสสากล่าวว่า
เรื่องทั้งหมดนั้นเป็นความจริง แม้ฉันก็รู้ว่า บาปนั้นท่านทำไว้แล้ว แต่ฉันอยากจะถามท่านสักอย่างหนึ่ง ท่านเป็นคนยากจนเพราะกรรมอะไร.
นางเปรตนั้นตอบว่า
ทรัพย์สิ่งใดมีอยู่ในเรือน ทรัพย์นั้นของเราทั้งสองมีเท่าๆ กัน เมื่อไทยธรรมมีอยู่ แต่ฉันไม่ได้ทำที่พึ่งแก่ตน ฉันเป็นคนยากจนเพราะวิบากแห่งกรรมนั้น ครั้งนั้น ท่านได้ว่ากล่าวตักเตือนฉัน ห้ามไม่ให้ทำบาปกรรมว่า ท่านจะไม่ได้สุคติ เพราะกรรมอันลามก.
นางติสสากล่าวว่า
ท่านไม่เชื่อถือเราและริษยาเรา ขอท่านจงดูวิบากแห่งกรรมอันลามกเช่นนี้ เมื่อก่อนนางทาสีและเครื่องอาภรณ์ทั้งหลายได้มีแล้วในเรือน
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 169
ของท่าน แต่เดี๋ยวนี้นางทาสีเหล่านั้นพากันห้อมล้อมคนอื่น โภคะทั้งหลายย่อมไม่มีแก่ท่านแน่แท้ บัดนี้ กฏุมพีผู้เป็นบิดาของบุตรเรา ยังไปในตลาดอยู่ ท่านอย่าเพิ่งไปจากที่นี้เสียก่อน บางทีเขาจะให้อะไรแก่ท่านบ้าง.
นางเปรตนั้นกล่าวว่า
ฉันเป็นผู้เปลือยกาย มีรูปร่างน่าเกลียด ซูบผอมสะพรั่งไปด้วยเส้นเอ็น การเปลือยกาย และมีรูปร่างน่าเกลียดเป็นต้นนี้ เป็นการยังความละอายของหญิงทั้งหลายให้กำเริบ ขออย่าให้กฏุมพีได้เห็นฉันเลย.
นางติสสากล่าวว่า
ถ้าอย่างนั้น ฉันจะให้สิ่งไร หรือทำบุญอะไรให้แก่ท่าน ท่านจึงจะได้ความสุขสำเร็จความปรารถนาทั้งปวง.
นางเปรตนั้นกล่าวว่า
ขอท่านจงนิมนต์ภิกษุจากสงฆ์ ๔ รูป และจากบุคคล ๔ รูป รวมเป็น ๘ รูป ให้ฉันภัตตาหาร แล้วอุทิศส่วนบุญให้ฉัน เมื่อทำอย่างนั้นฉันจึงจะได้ความสุข สำเร็จความปรารถนาทั้งปวง.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 170
นางติสสารับคำแล้ว นิมนต์ภิกษุ ๘ รูป ให้ฉันภัตตาหาร ให้ครองไตรจีวรแล้ว อุทิศส่วนกุศลไปให้นางเปรต ข้าว น้ำและเครื่องนุ่งห่มอันเป็นวิบากได้บังเกิดขึ้นในทันใดนั้นนั่นเอง นี้เป็นผลแห่งทักษิณา ในขณะนั้นนั่นเองนางเปรตมีร่างกายบริสุทธิ์สะอาด นุ่งห่มผ้าอันมีค่ายิ่งกว่าผ้าแคว้นกาสี ประดับด้วยผ้าและอาภรณ์อันวิจิตร เข้าไปหานางติสสาผู้ร่วมสามี.
นางติสสาจึงถามว่า
ดูก่อนเทพธิดา ท่านมีวรรณะงามยิ่งนัก ส่องสว่างไสวไปทั่วทุกทิศ สถิตอยู่ดุจดาวประกายพรึก ท่านมีวรรณะเช่นนี้ อิฐผลย่อมสำเร็จแก่ท่านในวิมานนี้ และโภคะทุกสิ่งทุกอย่างอันเป็นที่พอใจ ย่อมเกิดขึ้นแก่ท่านเพราะกรรมอะไร ดูก่อนนางเทพธิดาผู้มีอานุภาพมาก ฉันขอถามท่าน เมื่อท่านเกิดเป็นมนุษย์ได้ทำบุญอะไรไว้ อนึ่ง ท่านมีอานุภาพอันรุ่งเรืองและมีรัศมีสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้ เพราะกรรมอะไร.
นางมัตตาเทพธิดาตอบว่า
เมื่อก่อน ท่านชื่อติสสา ฉันชื่อมัตตา เป็นหญิงร่วมสามีกันกับท่าน ฉันได้ทำกรรมอันลามก
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 171
ไว้ จึงจากโลกนี้ไปสู่เปตโลก ฉันอนุโมทนาทานที่ท่านให้แล้ว จึงไม่มีภัยแต่ที่ไหน คุณพี่ ขอท่านพร้อมด้วยญาติทุกคนจงมีอายุยืนนานเถิด คุณพี่ผู้งดงาม ท่านจงประพฤติธรรมและให้ทานในโลกนี้แล้ว จะเข้าถึงฐานะอันไม่เศร้าโศก ปราศ จากธุลี ปลอดภัย อันเป็นที่อยู่แห่งท้าววสวัสดี ท่านกำจัดมลทินคือความตระหนี่พร้อมด้วยรากแล้ว อันใครๆ ไม่ติเตียนได้ จักเข้าถึงโลกสวรรค์.
จบ มัตตาเปติวัตถุที่ ๓
อรรถกถามัตตาเปติวัตถุที่ ๓
เมื่อพระศาสดา ประทับอยู่ในพระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภนางเปรตชื่อว่า มัตตา จึงตรัสพระคาถานี้มีคำเริ่มต้นว่า นคฺคา ทุพฺพณฺณรูปาสิ ดังนี้.
ได้ยินว่า ในกรุงสาวัตถี ได้มีกฎุมพีผู้หนึ่งเป็นคนมีศรัทธา มีความเลื่อมใส. แต่ภริยาของเขาไม่มีศรัทธา ไม่มีความเลื่อมใส มักโกรธและเป็นหมัน โดยชื่อมีชื่อว่า มัตตา. ลำดับนั้น กฏุมพีนั้นเพราะกลัววงศ์สกุลจะขาดศูนย์ จึงได้นำหญิงอื่นชื่อว่า ติสสา มาจากสกุลเสมอกัน. นางเป็นผู้มีศรัทธา มีความเลื่อมใส ทั้งเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของสามี. ไม่นานนักนางก็ตั้งครรภ์ โดยล่วงไป
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 172
๑๐ เดือน นางจึงคลอดบุตรคนหนึ่ง บุตรคนนั้นมีชื่อว่า ภูตะ. นางเป็นแม่บ้าน อุปัฏฐากภิกษุ ๔ รูป โดยเคารพ, ส่วนหญิงหมัน ษยานาง.
วันหนึ่ง หญิงทั้งสองคนนั้นสระผม ได้ยืนผมเปียกอยู่แล้ว. กฎุมพีมีความเสน่หาผูกพันในนางชื่อว่า ติสสา ด้วยอำนาจคุณความดี มีใจฟูขึ้น ได้ยืนเจรจามากมาย กับนางติสสานั้น. นางมัตตาอดทนต่อเหตุการณ์นั้นไม่ได้ ถูกความริษยาครอบงำ จึงเอาหยากเหยื่อที่กวาดสุมไว้ในเรือนมาโปรยลงบนกระหม่อมของนางติสสา. สมัยต่อมา นางมัตตาทำกาละแล้ว บังเกิดในกำเนิดเปรต เสวยทุกข์ ๕ ประการ เพราะพลังแห่งกรรมของตน. ก็ทุกข์นั้นจะรู้ได้ตามพระบาลีนั่นเอง. ภายหลัง ณ วันหนึ่ง นางเปรตนั้นเมื่อการก่อกรรมผ่านไป จึงแสดงตนแก่นางติสสา ผู้กำลังอาบน้ำ อยู่ด้านหลังเรือน. นางติสสาเห็นนางนั้น จึงสอบถามด้วยคาถาว่า :-
ท่านเป็นผู้เปลือยกาย มีรูปร่างน่าเกลียด ซูบผอม มีตัวสะพรั่งไปด้วยเส้นเอ็น ดูก่อนนางผู้ซูบผอม มีแต่ซี่โครง ท่านเป็นใครมายืนอยู่ใน ที่นี้.
ฝ่ายนางเปรต ได้ให้คำตอบด้วยคาถาว่า :-
เมื่อก่อน ฉันชื่อมัตตา ท่านชื่อติสสา เป็นหญิงร่วมสามีกับท่าน ได้ทำกรรมชั่วไว้ จึงจากมนุษยโลกนี้ไปยังเปตโลก.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 173
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อหํ มตฺตา ตุวํ ติสฺสา ความว่า ดิฉันชื่อมัตตา, ท่านชื่อติสสา. บทว่า ปุเร แปลว่า ในอัตภาพก่อน. บทว่า เต ความว่า ดิฉันได้เป็นผู้ร่วมสามีกับท่าน. นางติสสาจึงถามถึงกรรมที่เขาทำไว้ ด้วยคาถาอีกว่า :-
ท่านได้ทำกรรมชั่วอะไรไว้ด้วยกาย วาจา ใจ เพราะวิบากของกรรมอะไร ท่านจึงจากมนุษยโลกนี้ไปยังเปตโลก.
ฝ่ายนางเปรตจึงบอกกรรมที่ตนทำไว้ ด้วยคาถาอีกว่า :-
ดิฉันเป็นหญิงดุร้าย และหยาบช้า มักริษยา ตระหนี่ โอ้อวด ได้กล่าววาจาชั่วกะท่านไว้ จึงจากมนุษยโลกนี้ไปยังเปตโลก.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า จณฺฑี แปลว่า ผู้มักโกรธ. บทว่า ผรุสา แปลว่า ผู้มักกล่าวคำหยาบ. บทว่า อาสึ แปลว่า ได้เป็นแล้ว. บทว่า ตาหํ ตัดเป็น ตํ อหํ. บทว่า ทุรุตฺตํ แปลว่า กล่าว คำชั่ว คือ คำที่ไม่มีประโยชน์. เบื้องหน้าแต่นี้ไป หญิงทั้งสอง คนนั้นได้ประกาศคาถาว่าด้วยการกล่าวและการกล่าวโต้ตอบกันเท่านั้นว่า :-
ติสสา : เรื่องทั้งหมดนั้น แม้ฉันก็รู้ว่าท่านเป็นคนดุร้ายอย่างไร แต่อยากจะถามท่านสักอย่างหนึ่งว่า ท่านมีสรีระเปื้อนฝุ่น เพราะกรรมอะไร.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 174
นางเปรต : ท่านกับฉันพากันอาบน้ำแล้ว นุ่งห่มผ้าสะอาด ตบแต่งร่างกายแล้ว แต่ฉันแต่งร่างกายเรียบร้อยยิ่งกว่าท่าน เมื่อฉันแลดูท่านคุยอยู่กับสามี ลำดับนั้น ความริษยาและความโกรธได้เกิดแก่ฉันเป็นอันมาก ทันใดนั้น ฉันจึงกวาดเอาฝุ่นโปรยรดท่าน ฉันมีร่างกายเปื้อนฝุ่นเพราะวิบากแห่งกรรมนั้น.
ติสสา : เรื่องทั้งหมดนั้นเป็นความจริง แม้ฉันก็รู้ว่า ท่านเอาโปรย โปรยใส่ฉัน แต่ฉันอยากจะถามท่านสักอย่างหนึ่ง ท่าน เป็นหิดคันไปทั้งตัว เพราะกรรมอะไร
นางเปรต : เราทั้งสองเป็นคนหายา ได้พากันไปป่า ส่วนท่านหายามาได้ แต่ฉันนำเอาผลหมามุ่ยมา เมื่อท่านเผลอ ฉันได้โปรยหมามุ่ยนั้นลงบนที่นอนของท่าน ฉันเป็นหิดคันไปทั้งตัว เพราะวิบากแห่งกรรมนั้น.
ติสสา : เรื่องทั้งหมดเป็นความจริง แม้ฉันก็รู้ว่า ท่านโปรยผลหมามุ่ยลงบนที่นอนของฉัน แต่ฉันอยากจะถามท่านสักอย่างหนึ่ง ท่านเป็นผู้เปลือยกาย เพราะกรรมอะไร
นางเปรต : วันหนึ่งได้มีการประชุมพวกมิตรสหายและญาติ ส่วนท่านได้รับเชิญ แต่ฉันผู้ร่วมสามีกับท่าน ไม่มีใครเชิญ เมื่อท่านเผลอ ฉันได้ลักผ้าของท่านไปซ่อนเสีย ฉันเป็นผู้เปลือยกายเพราะวิบากแห่งกรรมนั้น.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 175
ติสสา : เรื่องทั้งหมดนั้นเป็นความจริง แม้ฉันก็รู้ว่า ท่านได้ลักผ้าของฉันไปซ่อน แต่ฉันอยากจะถามท่านสักอย่างหนึ่ง ท่านมีกลิ่นกายเหม็นดังคูถ เพราะกรรมอะไร.
นางเปรต : ฉันได้ลักของหอม ดอกไม้ และเครื่องลูบไล้อันมีค่ามากของท่านไปทิ้งลงในหลุมคูถ บาปนั้นฉันได้ทำไว้แล้ว ฉันมีกลิ่นกายเหม็นดังคูถเพราะวิบากกรรมนั้น.
ติสสา : เรื่องทั้งหมดนั้นเป็นความจริง แม้ฉันก็รู้ว่า บาปนั้นท่านทำไว้แล้ว แต่ฉันอยากจะถามท่านสักอย่างหนึ่งว่า ท่านเป็นคนยากจนเพราะกรรมอะไร
นางเปรต : ทรัพย์สิ่งใดมีอยู่ในเรือน ทรัพย์นั้นของเราทั้งสองมีอยู่เท่าๆ กัน เมื่อไทยธรรมมีอยู่ แต่ฉันไม่ได้ทำที่พึ่งแก่ตน ฉันเป็นคนยากจน เพราะวิบากแห่งกรรมนั้น ครั้งนั้น ท่านได้ว่ากล่าวตักเตือนฉัน ห้ามไม่ให้ทำกรรมชั่วว่า ท่านจักไม่ได้สุคติเพราะกรรมชั่ว.
ติสสา : ท่านไม่เชื่อถือเรา เพราะริษยาเรา ขอท่านจงดูวิบากแห่งกรรมชั่วเช่นนี้ เมื่อก่อนนางทาสีและเครื่องอาภรณ์ทั้งหลายได้มีแล้วในเรือนของท่าน แต่เดี๋ยวนี้ ทาสีเหล่านั้นพากันห้อมล้อมคนอื่น โภคะทั้งหลายก็ไม่มีแก่ท่านแน่แท้ บัดนี้กฏุมพีผู้เป็นบิดาของบุตรเรา ยังไปตลาดอยู่ ท่านอย่าเพิ่งไปจากที่นี่เสียก่อน บางทีเขาจะให้อะไรแก่ท่านบ้าง.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 176
นางเปรต : ฉันเป็นผู้เปลือยกายมีรูปร่างน่าเกลียด ซูบผอมสะพรั่งไปด้วยเส้นเอ็น การเปลือยกายและมีรูปร่างน่าเกลียด เป็นต้นนี้ เป็นการทำความละอาย ของหญิงทั้งหลายให้กำเริบ ขออย่าให้ท่านกฏุมพีได้เห็นฉันเลย.
ติสสา : ถ้าอย่างนั้น ฉันจะให้สิ่งไรหรือทำบุญอะไรให้แก่ท่าน ท่านจึงจะได้ความสุขสำเร็จความปรารถนาทั้งปวงได้.
นางเปรต : ขอท่านจงนิมนต์ภิกษุจากสงฆ์มา ๔ รูป จากบุคคล ๔ รูป รวมเป็น ๘ รูป ให้ฉันภัตตาหาร แล้วอุทิศส่วนบุญให้ฉัน เมื่อทำอย่างนั้น ฉันจึงจะได้ความสุข สำเร็จความปรารถนาทั้งปวงได้. นางติสสารับคำแล้ว นิมนต์ภิกษุ ๘ รูป ให้ฉันภัตตาหาร ให้ครองไตรจีวรแล้ว อุทิศส่วนกุศลไปให้นางเปรต ในทันตาเห็นนั่นเอง วิบากคือ ข้าว น้ำ และเครื่องนุ่งห่มได้เกิดขึ้น นี้เป็นผลแห่งทักษิณา ในขณะนั้นเอง นางเปรตมีร่างกายบริสุทธิ์สะอาด นุ่งห่มผ้าอันมีค่ายิ่งกว่าผ้าแคว้นกาสี ประดับด้วยผ้าและอาภรณ์อันวิจิตร เข้าไปหานางติสสา ผู้เป็นหญิงร่วมสามี.
ติสสา : ดูก่อนนางเทพธิดา ท่านมีวรรณะงามยิ่งนัก ส่องสว่างไสวไปทุกทิศสถิตอยู่ดุจดาวประกายพรึก ท่านมีวรรณะเช่นนี้ เพราะกรรมอะไร อิฐผลสำเร็จ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 177
แก่ท่านในวิมานนี้ เพราะกรรมอะไร และโภคะทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะกรรมอะไร ดูก่อนนางเทพธิดาผู้มีอานุภาพมาก ฉันขอถามท่าน เมื่อท่านเกิดเป็นมนุษย์ได้ทำบุญอะไรไว้ อนึ่ง ท่านมีอานุภาพอันรุ่งเรือง และมีรัศมีอันสว่างไสวไปทุกทิศอย่างนี้ เพราะกรรมอะไร.
เทพธิดา : เมื่อก่อนฉันชื่อมัตตา ท่านชื่อ ติสสา เป็นหญิงร่วมสามีกับท่าน ได้ทำกรรมชั่วไว้ จึงจากมนุษยโลกนี้ไปยังเปตโลก. ฉันอนุโมทนาทานที่ท่านให้แล้ว จึงไม่มีภัยแต่ที่ไหน คุณพี่ ขอท่านพร้อมด้วยญาติทุกคนจงมีอายุยืนนาน คุณพี่ ผู้งดงาม ท่านจงประพฤติธรรมและให้ทานในโลกนี้แล้ว จักเข้าถึงฐานะอันไม่เศร้าโศก ปราศจากธุลี อันเป็นที่อยู่แห่งท้าววสวัตตี ท่านกำจัดมลทินคือความตระหนี่พร้อมทั้งราก อันใครๆ ติเตียนไม่ได้ จะเข้าถึงโลกสวรรค์.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สพฺพํ อหมฺปิ ชานามิ ยถา ตฺวํ จณฺฑิกา อหุ ความว่า คำที่ท่านกล่าว เราเป็นผู้ดุร้ายและมีวาจาหยาบทั้งหมดนั้น แม้ข้าพเจ้าก็รู้ว่าท่านเป็นผู้ร้าย มักโกรธ มีวาจาหยาบ มักริษยา ตระหนี่ และโอ้อวด. บทว่า อญฺญฺจ โข ตํ ปุจฺฉามิ ความว่า บัดนี้เราขอถามท่านสักอย่างหนึ่งอีก.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 178
บทว่า เกนาสิ ปํสุกุนฺถิตา ความว่า ท่านเป็นผู้เปื้อนด้วยหยากเยื่อและฝุ่น เป็นผู้มีร่างกายเกลื่อนกล่นโดยประการทั้งปวง เพราะกรรมอะไร.
บทว่า สีสํ นฺหาตา ปลว่า ท่านสระผมแล้ว. บทว่า อธิมตฺตํ แปลว่า มีประมาณยิ่งกว่า. บทว่า สมลงฺกตตรา แปลว่า ประดับด้วยดี คือดียิ่ง. บาลีว่า อธิมตฺตา ดังนี้ก็มี. อธิบายว่า เป็นผู้เมา คือ เป็นผู้เมาด้วยมานะอย่างยิ่ง คืออาศัยมานะ. บทว่า ตยา แปลว่า อันนางผู้เจริญ. บทว่า สามิเกน สมนฺตยิ ความว่า ท่านกล่าวเจรจาปราศัยกับสามี.
บทว่า ขชฺชสิ กจฺฉุยา ความว่า ท่านถูกโรคหิดกัด คือ เบียดเบียน. บทว่า เภสชฺชหารี แปลว่า ผู้หายา คือ ผู้นำโอสถ มา. บทว่า อุภโย แปลว่า ทั้งสองคน, อธิบายว่า ท่านกับเรา บทว่า วนนฺตํ แปลว่าสู่ป่า. บทว่า ตฺวญฺจ เภสชฺชมาหริ ความว่า ส่วนท่านหายาที่นำอุปการะมาแก่ตนตามที่หมอบอกให้. บทว่า อหญฺจ กปิกจฺฉุโน ความว่า แต่ฉันได้นำเอาผลหมามุ่ย คือผลไม้ที่มีผัสสะชั่วมาให้. อีกอย่างหนึ่ง ความว่า เครือเถาที่เป็นเอง ท่านเรียกว่า กปิกจฺฉุ เพราะฉะนั้น ดิฉันจึงนำเอาใบและผลของเครือเถาที่เป็นเองมา. บทว่า เสยฺยํ ตฺยาหํ สโมกิรึ ความว่า ดิฉันเอาผลและใบหมามุ่ยโปรยรอบที่นอนท่าน.
บทว่า สหายานํ แปลว่า มิตร. บทว่า สมโย แปลว่า การประชุม. บทว่า าตีนํ ได้แก่ พวกพ้อง. บทว่า สมิติ แปลว่า
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 179
การประชุม. บทว่า อามนฺติตา ความว่า ท่านอันดิฉันเชิญโดยการกระทำมงคล. บทว่า สสามินี ความว่า หญิงผู้ร่วมสามี คือ ผู้ร่วมผัว. มีวาจาประกอบความว่า บทว่า โน จ โขหํ ความว่า ส่วนเราเขามิได้เชื้อเชิญเลย. บทว่า ทุสฺสํ ตฺยาหํ ตัดเป็น ทุสฺสํ เต อหํ. บทว่า อปานุทึ ได้แก่ ดิฉันได้ลัก คือ ได้ถือเอาโดยอาการขโมย.
บทว่า ปุจฺจคฺฆํ ได้แก่ ใหม่เอี่ยม. หรือมีค่ามาก. บทว่า อตาเรสึ ได้แก่ ทิ้งไป. บทว่า คูถคนฺธินี ได้แก่ ผู้มีกลิ่นเหมือนกลิ่นคูถ คือ ฟุ้งไปด้วยกลิ่นอุจจาระ.
บทว่า ยํ เคเห วิชฺชเต ธนํ ความว่า เราทั้งสอง คือ ท่านและฉัน มีทรัพย์ที่เกิดขึ้นในเรือนเสมอกัน คือ เท่ากันทีเดียว. บทว่า สนฺเตสุ แปลว่า มีอยู่. บทว่า ทีปํ ได้แก่ ที่พึ่ง. ท่านกล่าวหมายเอาบุญกรรม.
นางเปรตนั้นครั้นบอกเนื้อความที่นางติสสาถามอย่างนี้แล้ว เมื่อจะประกาศความผิดที่ตนไม่กระทำตามคำของนางติสสานั้น ในกาลก่อนกระทำอีก จึงกล่าวคำมีอาทิว่า ในเวลานั้นนั่นเองท่านได้กล่าวสอนเรา.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตเทว แปลว่า ในกาลนั้นนั่นแหละ คือ ในเวลาที่เราตั้งอยู่ในอัตภาพมนุษย์นั่นเอง. บาลีว่า ตเถว ดังนี้ก็มี, อธิบายว่า กรรมที่เกิดขึ้นในบัดนี้ ฉันใด กรรมนั้นก็เป็นอย่างนั้นเหมือนกัน. นางเปรตแสดงอ้างถึงตนว่า มํ. บทว่า ตฺวํ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 180
ได้แก่ ซึ่งนางติสสา. บทว่า อวจ แปลว่า ได้กล่าวแล้ว. ก็เพื่อจะแสดงถึงอาการที่นางติสสากล่าว จึงได้กล่าวคำมีอาทิว่า ปาปกมฺมํ กรรมชั่ว. บาลีว่า ปาปกมฺมานิ ดังนี้ก็มี. นางเปรตกล่าวว่า ท่านกระทำกรรมชั่วอย่างเดียว ท่านไม่ได้สุคติด้วยดี เพราะกรรมชั่วแล โดยที่แท้ได้แต่ทุคติเท่านั้น เพราะฉะนั้น ท่านได้กล่าว คือโอวาท เราในกาลก่อน โดยอาการใด กรรมนั้นก็ย่อมมีโดยอาการนั้นเหมือนกัน.
นางติสสาได้ฟังดังนั้นแล้ว จึงได้กล่าว ๓ คาถา โดยนัยมีอาทิว่า วามโต มํ ตฺวํ ปจฺเจสิ ท่านไม่เชื่อถือเรา ดังนี้. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วามโต นํ ตฺวํ ปจฺเจสิ ความว่า ท่านเชื่อเราโดยอาการผิดตรงกันข้าม คือ ท่านยืดถือเราแม้ผู้แสวงหาประโยชน์แก่ท่าน ก็ทำให้เป็นข้าศึก. บทว่า มํ อุสูยสิ แปลว่า ท่านริษยาเรา คือ ทำความริษยาเรา. ด้วยบทว่า ปสฺส ปาปานํ กมฺมานํ วิปาโก โหติ ยาทิโส นี้ นางเปรตแสดงว่า ท่านจงดูวิบากของกรรมชั่วที่ร้ายกาจมากนั้นโดยประจักษ์.
บทว่า เต อญฺเ ปริจาเรนฺติ ความว่า ทาสีในเรือนของท่าน และเครื่องอาภรณ์เหล่านี้ที่ท่านหวงแหนไว้ในกาลก่อน บัดนี้บำเรอคนอื่น คือ คนอื่นใช้สอย. จริงอยู่ บทว่า อิเม นี้ ท่านกล่าวโดยเป็นลิงควิปลาส. บทว่า น โภคา โหนฺติ สสฺสตา ความว่า ธรรมดาว่าโภคะเหล่านี้ไม่แน่นอน คือไม่ยั่งยืนเป็นของชั่วกาล
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 181
มีอันจะต้องละทิ้งไป อธิบายว่า เพราะฉะนั้น ไม่ควรทำความริษยาและความตระหนี่เป็นต้น เพื่อประโยชน์แก่โภคะนั้น.
บทว่า อิทานิ ภูตสฺส ปิตา ความว่า บัดนี้กฏุมพีผู้เป็นบิดาของเจ้าภูตะผู้เป็นบุตรของเรา. บทว่า อาปณา ความว่า เขาจักมา คือจักกลับจากตลาดมายังเรือน. บทว่า อปฺเปว เต ทเท กิญฺจิ ความว่า กฏุมพีมาถึงเรือนแล้วคงจะให้ไทยธรรมบางอย่าง อันควรที่จะให้แก่ท่านบ้าง. บทว่า มา สุ ตาว อิโต อคา ความว่า นางติสสา เมื่อจะอนุเคราะห์นางเปรตนั้นจึงกล่าวว่า อันดับแรกท่านอย่าได้ไปจากนี้ คือจากที่ดินหลังเรือนนี้.
นางเปรตได้ฟังดังนั้น เมื่อจะประกาศอัธยาศัยของตน จึงกล่าวคาถามีอาทิว่า ดิฉันเปลือยกาย มีรูปร่างน่าเกลียด ดังนี้. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โกปีนเมตํ อิตฺถีนํ ความว่า ความเป็นคนเปลือยกายและมีรูปร่างน่าเกลียดเป็นต้นนี้ เป็นของน่าละอาย คือ ควรจะปกปิดสำหรับหญิงทั้งหลาย เพราะเป็นอวัยวะควรจะต้อง ปกปิด. บทว่า มา มํ ภูตปิตาทฺทส ความว่า นางเปรตละอายพลางกล่าวว่า เพราะฉะนั้น กฏุมพีผู้เป็นบิดาของเจ้าภูตะ อย่าได้พบดิฉันเลย.
นางติสสา ครั้นได้ฟังดังนั้น จึงเกิดความสงสารกล่าวคาถาว่า เอาเถอะ เราจะให้อะไรแก่ท่านสักอย่าง. บรรดาบทเหล่านั้น ศัพท์ว่า หนฺท เป็นนิปาต ใช้ในอรรถว่า ตักเตือน. บทว่า กึ วา ตฺยาหํ ทมฺมิ ความว่า เราจะให้อะไรแก่ท่าน คือ จะให้ผ้าหรือ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 182
อาหาร. บทว่า กึ วา เตธ กโรมหํ ความว่า เราจะทำอุปการะอะไรแก่ท่านสักอย่าง ในที่นี้ คือในเวลานี้.
นางเปรตได้ฟังดังนั้นแล้ว จึงกล่าวคาถาว่า จตฺตาโร ภิกฺขู สงฺฆโต ดังนี้. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า จตฺตาโร ภิกฺขู สงฺฆโต จตฺตาโร ปน ปุคฺคเล ความว่า ท่านจงให้ภิกษุ ๘ รูป บริโภความความพอใจ อย่างนี้คือ จากภิกษุสงฆ์ คือ จากสงฆ์ ๔ รูป จากบุคคล ๔ รูป ดังนี้แล้วอุทิศส่วนบุญนั้นแก่เรา คือ จงให้ปัตติทานแก่เราเถิด. บทว่า ตทาหํ สุขิตา เหสฺสํ ความว่า ในเวลาที่ท่านอุทิศส่วนบุญแก่เรา เราได้รับความสุข คือถึงความสุขแล้ว จักเป็นผู้สำเร็จสิ่งที่น่าใคร่ทุกอย่าง.
นางติสสา ครั้นได้ฟังดังนั้น จึงได้แจ้งความนั้นแก่สามีของตน ในวันที่ ๒ จึงให้ภิกษุ ๘ รูป ฉันแล้ว อุทิศส่วนบุญแก่นางเปรต, ทันใดนั้นเอง นางเปรตก็ได้รับทิพยสมบัติ จึงกลับไปหานางติสสา. เพื่อจะแสดงความนั้น พระสังคีติกาจารย์ทั้งหลาย จึงได้ตั้ง ๓ คาถามีอาทิว่า นางรับคำแล้ว.
ฝ่ายนางติสสาได้สอบถามนางเปรตผู้เข้าไปยืนอยู่แล้ว ด้วย ๓ คาถา มีอาทิว่า มีวรรณะงามยิ่งนัก. ฝ่ายนางเปรต จึงแจ้งเรื่องของตนด้วยคาถาว่า เราชื่อมัตตา แล้วได้ให้อนุโมทนาแก่นางติสสา ด้วยคาถาเป็นต้นว่า ขอท่านจงมีอายุยืนเถิด ดังนี้แล้วได้ให้โอวาท ด้วยคาถาว่า จงประพฤติธรรมในโลกนี้ ดังนี้เป็นต้น. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตว ทินฺเนน ได้แก่ ทานที่ท่านให้แล้ว.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 183
บทว่า อโสกํ วิรชํ านํ ความว่า ชื่อว่า อโสกะ เพราะไม่มีความเศร้าโศก อนึ่ง ฐานะอันเป็นทิพย์ ชื่อว่า วีรชะ เพราะไม่มีธุลี คือ เหงื่อไคล ทั้งหมดนั้น นางเทพธิดา กล่าวหมายเอาเทวโลก. บทว่า อาวาสํ ได้แก่สถานที่. บทว่า วสวตฺตินํ ได้แก่ เทพทั้งหลายผู้แผ่อำนาจของตน โดยความเป็นอธิบดีอันเป็นทิพย์. บทว่า สมูลํ ได้แก่ เป็นไปกับด้วยโลภะและโทสะ. จริงอยู่ โลภะและโทสะ ชื่อว่า เป็นมูลของความตระหนี่. บทว่า อนินฺทิตา ได้แก่ใครๆ ไม่ติเตียน คือ ควรสรรเสริญ. บทว่า สคฺคมุเปหิ านํ ความว่า จงดำรงฐานะอันเป็นทิพย์ อันได้นามว่า สัคคะ เพราะเลิศด้วยดี ด้วยอารมณ์ทั้งหลายมีรูป เป็นต้น, อธิบายว่า มีสุคติเป็นที่ไปในเบื้องหน้า. คำที่เหลือมีเนื้อความง่ายทั้งนั้น.
ลำดับนั้น นางติสสาบอกเรื่องราวนั้นแก่กฏุมพี. กฏุมพีจึงได้เรียนแก่ภิกษุทั้งหลาย. ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกระทำเรื่องนั้นให้เป็นอัตถุปปัตติเหตุ จึงทรงแสดงธรรมแก่บริษัทผู้ถึงพร้อมแล้ว. มหาชนได้ฟังธรรมนั้น กลับได้ความสลดใจ จึงกำจัดมลทินมีความตระหนี่เป็นต้น เป็นผู้ยินดีในทานและศีลเป็นต้น มีสุคติเป็นที่ไปในเบื้องหน้า ฉะนี้แล.
จบ อรรถกถามัตตาเปติวัตถุที่ ๓