พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑๒. กัณณมุณฑเปตวัตถุ ว่าด้วยภรรยานอกใจตายไปเป็นเปรต

 
บ้านธัมมะ
วันที่  17 พ.ย. 2564
หมายเลข  40367
อ่าน  376

[เล่มที่ 49] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 312

อุพพรีวรรคที่ ๒

๑๒. กัณณมุณฑเปติวัตถุ

ว่าด้วยภรรยานอกใจตายไปเป็นเปรต


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 49]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 312

๑๒. กัณณมุณฑเปติวัตถุ

ว่าด้วยภรรยานอกใจตายไปเป็นเปรต

พระเจ้าพาราณสีตรัสถามนางเวมานิกเปรตว่า

[๑๐๙] สระโบกขรณีนี้มีน้ำใสสะอาด มีบันไดทองคำ ลาดด้วยทรายทองคำ ในสระนั้นมีกลิ่นหอมฟุ้งน่ารื่นรมย์ใจ ดาดดื่นไปด้วยหมู่ไม้นานา มีลมรำเพยมาพัดเอากลิ่นหอมต่างๆ มา ดารดาษด้วยบัวต่างๆ เกลื่อนกล่นด้วยบัวขาวมีกลิ่นหอมเจริญใจ อันลมรำเพยพัดฟุ้งขจร ระงมไปด้วยเสียงหงส์และนกกะเรียน นกจักพรากมาร่ำร้องไพเราะจับใจ เกลื่อนกล่นไปด้วยฝูงนกต่างๆ ส่งเสียงร้องอยู่อึงมี่ มีหมู่รุกขชาติอันมีดอกและผลนานาพรรณ ไม่มีเมืองใดในมนุษย์เหมือนเมืองของท่านนี้ ปราสาทเป็นอันมากของท่าน ล้วนแล้วด้วยทองคำและเงิน รุ่งเรืองงามสง่าไปทั่วทั้ง ๔ ทิศโดยรอบ นางทาสี ๕๐๐ คอยบำเรอท่านประดับด้วยกำไรทอง นุ่งห่มผ้าทองคำ บัลลังก์ของท่านมีมาก ซึ่งสำเร็จด้วยทองคำและเงิน ปูลาดด้วยหนังชะมดและผ้าโกเชาว์อันบุคคลจัดแจงไว้แล้ว ท่านจะเข้านอนบนบัลลังก์ใด ก็

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 313

สำเร็จดังความปรารถนาทุกอย่าง เมื่อถึงเที่ยงคืน ท่านลุกจากบัลลังก์นั้นลงไปสู่สวนใกล้สระโบกขรณี ยืนอยู่ที่ฝั่งสระนั้นอันมีหญ้าเขียวอ่อนงดงาม ลำดับนั้น สุนัขหูด้วนก็ขึ้นมาจากสระนั้น กัดอวัยวะน้อยใหญ่ของท่าน เมื่อใดท่านถูกสุนัข กัดกินแล้วเหลือแต่กระดูก เมื่อนั้นท่านจึงลงสู่สระโบกขรณี ร่างกายก็กลับมีเหมือนเดิม ภายหลังจากเวลาลงสระโบกขรณี ท่านกลับมีอวัยวะน้อยใหญ่เต็มบริบูรณ์ งดงามดูน่ารัก นุ่งห่มแล้ว มาสู่สำนักของเรา ท่านได้ทำกรรมชั่วอะไรไว้ ด้วยกาย วาจา ใจ และเพราะวิบากแห่งกรรมอะไร สุนัขหูด้วนจึงกัดกินอวัยวะน้อยใหญ่ของท่าน.

นางเวมานิกเปรตกราบทูลว่า

มีคฤหบดีคนหนึ่ง เป็นอุบาสกผู้มีศรัทธา อยู่ในเมืองกิมพิละ หม่อมฉันเป็นภรรยาของอุบาสกนั้น เป็นคนทุศีล ประพฤตินอกใจเขา เมื่อหม่อมฉันนอกใจเขาอย่างนั้น สามีหม่อมฉันจึงพูดว่า การที่เธอประพฤตินอกใจฉันนั้นเป็นการไม่เหมาะไม่สมควร และหม่อมฉันได้กล่าวมุสาวาทสบถอย่างร้ายแรงว่า ฉันไม่ได้ประพฤติ

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 314

นอกใจท่านด้วยกายหรือด้วยใจ ถ้าฉันประพฤตินอกใจท่านด้วยกายหรือด้วยใจ ขอให้สุนัขหูด้วนตัวนี้กัดกินอวัยวะน้อยใหญ่ของฉันเถิด วิบากแห่งกรรมอันลามก คือ การประพฤตินอกใจสามีและมุสาวาททั้งสอง อันหม่อมฉันได้เสวย แล้วตลอด ๗๐๐ ปี เพราะกรรมอันลามกนั้น สุนัขหูด้วนจึงกัดกินอวัยวะน้อยใหญ่ของหม่อมฉัน ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ พระองค์มีอุปการะแก่หม่อนฉันมา พระองค์เสด็จมาที่นี่ เพื่อประโยชน์แก่หม่อมฉัน หม่อมฉันพ้นดีแล้วจากสุนัขหูด้วน ไม่มีความโศก ไม่มีภัยแต่ที่ไหนๆ ขอเดชะ หม่อมฉันขอถวายบังคมพระองค์ หม่อมฉันขอประนมอัญชลีวิงวอนว่า ขอพระองค์จงเสวยกามสุขอันเป็นทิพย์ รื่นรมย์อยู่กับหม่อมฉันเถิด.

พระราชาตรัสว่า

กามสุขอันเป็นทิพย์เราเสวยแล้ว และรื่นรมย์แล้วกับท่าน ดูก่อนนางผู้ประกอบด้วยความงาม เราขออ้อนวอนท่าน ขอท่านจงรีบนำฉันกลับเสียเถิด.

จบ กัณณมุณฑเปติวัตถุที่ ๑๒

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 315

อรรถกถากัณณมุณฑเปติวัตถุที่ ๑๒

เมื่อพระศาสดา ประทับอยู่ในกรุงสาวัตถี ทรงพระปรารภภัณณมุณฑเปรต ตรัสพระคาถานี้มีคำเริ่มต้นว่า โสณฺณโสปานผลกา ดังนี้.

ได้ยินว่า ในอดีตกาลในกาลแห่งพระพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า กัสสปะ ในกิมิลนคร ยังมีอุบาสกคนหนึ่งเป็นพระโสดาบัน มีฉันทะร่วมกันกับอุบาสก ๕๐๐ คน เป็นผู้ขวนขวายในบุญกรรม มีการปลูกดอกไม้ สร้างสะพาน และสร้างที่จงกรม เป็นต้นอยู่ สร้างวิหารถวายพระสงฆ์ ได้ไปวิหารตามกาลเวลา พร้อมกับอุบาสกเหล่านั้น. ฝ่ายภริยาของอุบาสกเหล่านั้นเป็นอุบาสิกา มีความพร้อมเพรียงกันและกัน ต่างถือดอกไม้ของหอมและเครื่องลูบไล้เป็นต้น ไปยังวิหารตามกาลเวลา ไปพักผ่อนในสภาอันเป็นที่รื่นรมย์เป็นต้น ในระหว่างทาง.

ภายหลังวันหนึ่ง นักเลงหญิง ๒ - ๓ คน นั่งประชุมกันที่สภาแห่งหนึ่ง เมื่ออุบาสิกาเหล่านั้นพากันไปพักผ่อนในที่นั้น เห็นรูปสมบัติของอุบาสิกาเหล่านั้น มีจิตปฏิพัทธ์ รู้ว่า อุบาสิกาเหล่านั้นถึงพร้อมด้วยศีล อาจารและคุณธรรม จึงสนทนากันว่า ใครสามารถจะทำลายศีลของอุบาสิกาแม้คนหนึ่งในบรรดาอุบาสิกาเหล่านั้น ได้. ในนักเลงเหล่านั้น นักเลงคนหนึ่งกล่าวว่า เราสามารถ. นักเลงเหล่านั้นได้ทำความเสนียดจัญไรว่า พวกเราจะทำกรรม

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 316

อันเป็นเสนียดจัญไร ด้วยค่าจ้าง ๑,๐๐๐. เมื่อท่านทำได้ เราจะให้ทรัพย์ ๑,๐๐๐ แก่ท่าน เมื่อท่านทำไม่ได้ ท่านพึงให้ทรัพย์แก่เรา. เขาพยายามด้วยอุบายเป็นอเนก เมื่ออุบาสิกาเหล่านั้นมายังสภา จึงดีดพิณ ๗ สายมีเสียงเปล่งออกไพเราะเพราะพริ้ง ขับเพลงขับอันประกอบด้วยกามคุณ มีเสียงไพเราะทีเดียวให้หญิงคนหนึ่งในบรรดาอุบาสิกาเหล่านั้น ถึงศีลวิบัติด้วยเสียงเพลงขับ กระทำการล่วงเกิน ให้นักเลงเหล่านั้นพ่ายแพ้ไปด้วยทรัพย์ ๑,๐๐๐. นักเลงเหล่านั้นพ่ายแพ้ไปด้วยทรัพย์ ๑,๐๐๐ แล้วจึงบอกแก่สามีของนาง. สามีถามนางว่า บุรุษเหล่านั้นได้กล่าวโดยประการที่เธอเป็นอย่างนี้หรือ? นางปฏิเสธว่า ฉันไม่รู้เรื่องเช่นนี้ เมื่อสามีไม่เชื่อ จึงแสดงสุนัขที่อยู่ใกล้ ได้ทำการสบถว่า ถ้าฉันทำกรรมชั่วเช่นนั้นไซร้ ขอสุนัขดำตัวหูขาดนี้จงกัดฉันซึ่งเกิดในภพนั้นๆ เถิด. ฝ่ายหญิง ๕๐๐ คน รู้ว่าหญิงนั้นประพฤตินอกใจ ถูกสามีท้วงว่า หญิงนี้ทำกรรมชั่วเช่นนี้ หรือว่าไม่ได้ทำ จึงกล่าวมุสาว่า พวกเราไม่รู้กรรมเห็นปานนี้ จึงได้ทำสบถว่า ถ้าพวกฉันรู้ ขอให้พวกดิฉันพึงเป็นทาสหญิงของหญิงนั้นแหละทุกๆ ภพไปเถิด.

ลำดับนั้น หญิงผู้ประพฤตินอกใจนั้น มีหทัยถูกความเดือดร้อนนั้นนั่นแลแผดเผา จึงซูบซีดไป ไม่นานนัก ก็ตายไป บังเกิดเป็น เวมานิกเปรตอยู่ที่ริมฝั่งสระกัณณมุณฑแห่งหนึ่ง บรรดาสระใหญ่ ๗ สระ ที่ขุนเขาหิมวันต์. และรอบๆ วิมานของนาง ได้บังเกิดสระโบกขรณีขึ้นสระหนึ่ง อันประกอบด้วยการเสวยวิบากแห่ง

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 317

กรรมของนาง ส่วนหญิง ๕๐๐ คนที่เหลือทำกาละแล้ว บังเกิดเป็นนางทาสีของหญิงนั้นนั่นแล ด้วยอำนาจกรรมที่ทำสบถไว้. นางเสวยทิพยสมบัติตลอดกลางวัน เพราะผลแห่งบุญกรรมที่ตนทำไว้ในกาลก่อนนั้น พอถึงเที่ยงคืนก็ถูกพลังแห่งกรรมชั่วตักเตือน จึงลุกขึ้นจากที่นอนไปยังฝั่งสระโบกขรณี. สุนัขดำตัวหนึ่งประมาณเท่าลูกแพะ มีรูปร่างน่ากลัว หูขาด มีเขียวโง้งยาวคมกริบ มีนัยน์ตาเสมือนกองถ่านไม้ตะเคียนที่ลุกโพลงดีแล้ว มีลิ้นเหมือนกลไกแห่งสายฟ้าที่แลบออกมาไม่ขาดระยะ มีเล็บโง้งคมกริบ มีขนน่าเกลียดยาวแข็ง มาจากสระกัณณมุณฑะนั้น แล้วทำนางผู้ไปในที่นั้นให้ล้มลงที่ภาคพื้น เป็นเสมือนถูกความหิวจัดครอบงำ ขู่ข่ม กัดกิน ให้เหลือเพียงร่างกระจก แล้วคาบไปทิ้งที่สระโบกขรณีแลัวก็หายไป. พร้อมกับที่สุนัขทิ้งในสระโบกขรณีนั้นนั่นแหละ นางก็มีรูปเป็นปกติเดิมแล้ว ขึ้นสู่วิมาน นอนอยู่บนที่นอน. ฝ่ายหญิงนอกนั้น เสวยทุกข์เป็นทาสของนางนั้นนั่นแล. พวกหญิงที่อยู่ในที่นั้นล่วงไป ๕๕๐ ปี ด้วยประการฉะนี้.

ลำดับนั้น หญิงเหล่านั้นเว้นจากบุรุษเสีย อยู่เสวยทิพยสมบัติ เกิดความเบื่อหน่าย. ยังมีแม่น้ำสายหนึ่งไหลออกจากสระกัณณมุณฑะ ในบรรดาสระใหญ่ ๗ สระนั้น ออกทางช่องบรรพตแล้ว เข้าไปยังแม่น้ำคงคา. ก็ในที่ใกล้แต่สถานที่อยู่ของหญิงเหล่านั้นยังมีป่าไม้แถบหนึ่งเป็นเช่นกับสวนอันงดงามประกอบไปด้วยต้นมะม่วง ต้นขนุนและน้ำเต้าเป็นต้น ซึ่งมีผลเป็นทิพย์.

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 318

หญิงเหล่านั้นคิดพร้อมกันอย่างนี้ว่า เอาเถอะ พวกเราจักทิ้งผลมะม่วงเหล่านี้ลงในแม่น้ำนี้, ผิไฉน ชายบางคนเห็นผลไม้นี้เข้า เพราะความโลภในผลไม้ จะพึงมาในที่นี้บ้าง พวกเราจักอภิรมย์กับชายนั้น. หญิงเหล่านั้นได้กระทำเหมือนอย่างนั้น. ก็ผลมะม่วงที่หญิงเหล่านั้นพากันโยนลงไป บางผลดาบสเก็บได้. บางผลพรานไพรเก็บเอาไป บางผลกาแย่งเอาไป บางผลคล้องอยู่ที่ริมฝั่ง ส่วนผลหนึ่งลอยไปตามกระแสน้ำในแม่น้ำคงคาถึงกรุงพาราณสีโดยลำดับ.

ก็สมัยนั้น พระเจ้าพาราณสีทรงสรงสนานในแม่น้ำคงคา ที่เขาล้อมไว้ด้วยตาข่ายโลหะ. ลำดับนั้น ผลไม้นั้นลอยไปตามกระแสแม่น้ำมาโดยลำดับ ติดอยู่ที่ตาข่ายโลหะ. พวกราชบุรุษเห็นผลมะม่วงทิพย์ขนาดใหญ่ สมบูรณ์ด้วยสี กลิ่น และรสนั้นเข้า จึงนำเข้าไปถวายแก่พระราชา. พระราชาทรงหยิบเอาส่วนหนึ่งของผลมะม่วงนั้น เพื่อจะทดลองจึงพระราชทานให้แก่เพชฌฆาตคนหนึ่งที่พระองค์ทรงตั้งไว้ในเรือนจำกิน. เขาเคี้ยวกินผลไม้นั้น แล้วกล่าวว่า ข้าแต่สมมติเทพ ผลไม้เช่นนี้ ข้าพระองค์ไม่เคยเคี้ยวกินเลย ผลมะม่วงนี้ชะรอยว่าจะเป็นของทิพย์. พระราชาได้พระราชทานอีกชิ้นหนึ่งแก่เพชฌฆาตนั้น. เพชฌฆาตเคี้ยวกินผลมะม่วงนั้นแล้ว ปราศจากหนังเหี่ยวและผมหงอก มีรูปร่างน่าพึงใจ ได้เป็นประหนึ่งตั้งอยู่ในวัยหนุ่ม. พระราชาทอดพระเนตรเห็นดังนั้น ทรงเกิดอัศจรรย์พระทัย ไม่เคยมี จึงเสวยผลมะม่วงนั้นบ้าง

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 319

ได้รับความวิเศษในพระวรกาย จึงตรัสถามพวกมนุษย์ว่า ผลมะม่วงทิพย์เห็นปานนี้ มีอยู่ที่ไหน? พวกมนุษย์กราบทูลอย่างนี้ ได้ยินว่า มีอยู่ที่ขุนเขาหิมพานต์ พระเจ้าข้า. พระราชาตรัสว่า ก็ใครสามารถจะนำเอามะม่วงเหล่านั้นมาได้. พวกมนุษย์กราบทูลว่า พรานไพรย่อมรู้พระเจ้าข้า.

พระราชารับสั่งให้เรียกพวกพรานไพรมา จึงแจ้งเรื่องนั้นให้พวกพรานไพรทราบ ได้พระราชทานทรัพย์ ๑,๐๐๐ กหาปณะแก่พรานไพรผู้หนึ่ง ที่พวกพรานไพรเหล่านั้นสมมติมอบถวายไป จึงส่งพรานไพรคนนั้นไปด้วยพระดำรัสว่า เจ้าจงไป จงรีบนำเอาผลมะม่วงนั้นมาให้เรา. พรานไพรนั้นได้ให้ทรัพย์ ๑,๐๐๐ กหาปณะนั้นแก่บุตรและภริยา ถือเอาสะเบียงมุ่งหน้าไปสระกัณณมุณฑะ ตรงกันข้ามกับแม่น้ำคงคา ล่วงเลยถิ่นมนุษย์ไป พบดาบสองค์หนึ่งที่ประเทศประมาณ ๖๐ โยชน์ ฝั่งในแต่ละสระกัณณมุณฑะ เดินไปตามทางที่ดาบสนั้นบอกให้ พบดาบสอีกองค์หนึ่งที่ประเทศประมาณ ๓๐ โยชน์ เดินไปตามทางที่ดาบสนั้นบอกให้ พบดาบสอีกองค์หนึ่งในที่ประมาณ ๑๕ โยชน์ จึงได้บอกเหตุที่ตนมาแก่ดาบสนั้น. ดาบสพร่ำสอนเธอว่า ตั้งแต่นี้ไป เธอจะละแม่น้ำคงคาใหญ่สายนี้เสีย อาศัยแม่น้ำน้อยนี้ เดินทวนกระแสไป ถือเอาน้ำในราตรี ในคราวที่ท่านเป็นช่องบรรพตแล้ว พึงเข้าไป. ก็แม่น้ำสายนี้ในเวลากลางคืนจะไม่ไหล. เพราะฉะนั้น แม่น้ำนั้นจึงเหมาะก็การไปของท่าน. โดยล่วงไป ๒ - ๓ โยชน์ ท่านก็จักเห็น

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 320

ผลมะม่วงเหล่านั้น. เขาได้ทำตามนั้นแล้ว พอพระอาทิตย์อุทัยขึ้น ได้ถึงสวนมะห่วง อันเป็นที่น่ารื่นรมย์ใจยิ่งนัก เป็นภูมิภาคที่โชติช่วงไปด้วยข่ายแห่งรัศมีของรัตนะต่างๆ งดงามไปด้วยส่วนแห่งป่าที่มีผลมาก มีแมกไม้ มีสาขาปกคลุมเป็นดุจเพดาน หมู่วิหกนานาชนิดก็ส่งเสียงร่ำร้อง.

ลำดับนั้น พวกหญิงอมนุษย์เหล่านั้น เห็นพรานไพรนั้นเดินมาแต่ไกล จึงวิ่งเข้าไปด้วยหมายใจว่า คนนี้เป็นที่พึ่งของเรา คนนี้เป็นที่พึ่งของเรา. ก็พรานไพรนั้นพอเห็นหญิงเหล่านั้นเข้าจึงตกใจกลัวร้องหนีไป เพราะตนไม่ได้ทำบุญกรรมอันเหมาะสมที่จะเสวยทิพยสมบัติในที่นั้นร่วมกับหญิงเหล่านั้นได้ จึงไปถึงกรุงพาราณสีโดยลำดับแล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระราชา. พระราชาทรงสดับเรื่องนั้นแล้ว จึงเกิดความหวังเพื่อจะเห็นหญิงเหล่านั้น และเพื่อจะบริโภคผลมะม่วงทั้งหลาย จึงให้พวกอำมาตย์สำเร็จราชการแทนพระองค์ ทรงผูกสอดกำธนู เหน็บพระขรรค์ โดยอ้างว่าจะไปล่าเนื้อ มีมนุษย์ ๒ - ๓ คนเป็นบริวาร เสด็จไปตามทางที่พรานไพรนั้นนั่นแหละชี้แนะให้ จึงพักพวกมนุษย์ไว้ในที่ระยะ ๒ - ๓ โยชน์ จึงพาเฉพาะพรานไพรไปโดยลำดับ ให้พรานไพรแม้นั้น กลับจากที่นั้น พอพระอาทิตย์อุทัย ก็เสด็จเข้าถึง สวนมะม่วง. ลำดับนั้น พวกหญิงเหล่านั้นเห็นเทพบุตรนั้นเหมือนเกิดในภพใหม่ จึงต้อนรับ รู้ว่าเขาเป็นพระราชา จึงเกิดความรักและความนับถือมาก ให้อาบน้ำโดยเคารพ ให้ประดับตกแต่ง

 
  ข้อความที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 321

ด้วยดี ด้วยผ้า เครื่องอลังการ ดอกไม้ ของหอม และเครื่องลูบไล้ ยกขึ้นสู่วิมาน ให้บริโภคโภชนะอันเป็นทิพย์มีรสเลิศต่างๆ แล้ว ได้เข้าไปนั่งใกล้เขาตามสมควรแก่ความปรารถนา.

ครั้นล่วงไป ๑๕๐ ปี พระราชาเสด็จลุกขึ้นในเวลาเที่ยงคืน ประทับนั่งทอดพระเนตรเห็นนางเปรตผู้ประพฤติล่วงเกินนั้น กำลังเดินไปยังฝั่งสระโบกขรณี มีความประสงค์จะทดลองดู จึงตามไป ด้วยคิดว่า เพราะเหตุไรหนอ หญิงนี้จึงไปในเวลานี้. ลำดับนั้น พระราชาเห็นนางผู้ไปในที่นั้นกำลังถูกสุนัขกัด เมื่อไม่รู้ว่า นี่อะไรกันหนอ จึงทดลอง ๒ - ๓ วัน จึงคิดว่า สุนัขนี้ชะรอยจะเป็นศัตรูแก่หญิงนี้ จึงพุ่งหลาวอันลับดีแล้ว ปลงเสียจากชีวิต และโบยหญิงนั้นแล้ว ให้ลงยังสระโบกขรณี เห็นรูปที่ตนได้เห็นครั้งก่อนแล้ว จึงตรัสถามประวัติของนางนั้นด้วยคาถา ๑๒ คาถาว่า :-

สระโบกขรณีนี้มีน้ำใสสะอาด มีบันไดทองคำลาดด้วยทรายทองโดยรอบ ในสระนั้นมีกลิ่นหอมฟุ้งน่ารื่นรมย์ใจ ดาดดื่นไปด้วยหมู่ไม้นานาชนิด มีกลิ่นต่างๆ หอมตลบไปด้วยลมรำเพยพัดดารดาษด้วยบัวต่างๆ เกลื่อนกล่นด้วยบัวขาวมีกลิ่นหอมเจริญใจอันลมรำเพยพัดฟุ้งขจร เสียงระงมไปด้วยหงษ์และนกกะเรียน นกจักพรากมาร่ำร้องไพเราะจับใจ เกลื่อนกล่น

 
  ข้อความที่ 11  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 322

ไปด้วยฝูงนกต่างๆ ส่งเสียงร้องอื้ออึ้ง มีหมู่รุกขชาติ อันมีดอกและผลนานาพรรณ ไม่มีเมืองใดในมนุษย์เหมือนเมืองของท่านนี้เลย ปราสาทเป็นอันมากของท่านล้วนแล้วด้วยทองคำและเงิน รุ่งเรืองงามสง่าไปทั่วทั้ง ๔ ทิศ โดยรอบนางทาสี ๕๐๐ คนคอยบำเรอท่าน ประดับด้วยกำไลทองคำ นุ่งห่มผ้าขลิบทองคำ บัลลังก์ของท่านมีมาก ซึ่งสำเร็จด้วยทองคำและเงิน ปูลาดด้วยหนังชะมดและผ้าโกเชาว์ อันบุคคลจัดแจงไว้แล้ว ท่านจะเข้านอนบนบัลลังก์ใด ก็ สำเร็จดังความปรารถนาทุกอย่าง เมื่อถึงเที่ยงคืน ท่านลุกจากบัลลังก์นั้นลงไปสู่สวนใกล้สระโบกขรณี ยืนอยู่ที่ฝั่งสระนั้น อันมีหญ้าเขียวอ่อนงดงาม ลำดับนั้น สุนัขหูด้วนก็ขึ้นมาจากสระนั้น กัดอวัยวะน้อยใหญ่ของท่าน เมื่อใดท่านถูกสุนัข กัดกินแล้วเหลือแต่กระดูก เมื่อนั้นท่านจึงลงสู่สระโบกขรณี ร่างกายก็กลับเป็นเหมือนเดิม ภายหลังจากเวลาลงสระโบกขรณี ท่านกลัวมีอวัยวะน้อยใหญ่เต็มบริบูรณ์งดงาม ดูน่ารัก นุ่งห่มแล้ว มาสู่สำนักของเรา ท่านได้ทำกรรมนชั่วอะไรไว้ด้วยกายวาจาใจ หรือเพราะวิบากแห่งกรรมอะไร

 
  ข้อความที่ 12  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 323

สุนัขหูด้วนจึงกัดกินอวัยวะน้อยใหญ่ของท่าน.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โสณฺณโสปานผลกา แปลว่า แผ่นกระดานบันไดล้วนแล้วด้วยทองคำ. บทว่า โสวณฺณวาลุกสนฺถตา แปลว่า ลาดด้วยทรายทองคำโดยรอบ. บทว่า ตตฺถ ได้แก่ในสระโบกขรณีนั้น. บทว่า โสคนฺธิยา แปลว่ามีกลิ่นหอม. บทว่า วคฺคู แปลว่า ดีน่าชอบใจ. บทว่า สุจิคนฺธา แปลว่า มีกลิ่นเป็นที่ฟูใจ. บทว่า นานาคนฺธสเมริตา ได้แก่ มีกลิ่นน่ารื่นรมย์ใจ หอมตลบไปด้วยลมรำเพยพัด. บทว่า นานาปทุมสญฺฉนฺนา ได้แก่ พื้นน้ำดาดาษไปด้วยบัวต่างๆ ชนิด. บทว่า ปุณฺฑรีกสโมตฺตา ได้แก่ เกลื่อนกล่นไปด้วยบัวขาว. บทว่า สุรภึ สมฺปวายนฺติ ความว่า มีกลิ่นหอมน่าเจริญใจ ถูกลมรำเพยพัดฟุ้งขจร. อธิบายว่า สระโบกขรณี. บทว่า หํสโกญฺจาภิรุทา แปลว่า เสียงระงมไปด้วยหงส์และนกกะเรียน.

บทว่า นานาทิชคณา กิณฺณา แปลว่า เกลื่อนกล่นไปด้วยฝูงนกต่างๆ บทว่า นานาสรคณายุตา แปลว่า ประกอบไปด้วยหมู่นกต่างๆ ส่งเสียงร้องไพเราะจับใจอยู่อึงมี่. บทว่า นานาผลธรา ความว่า มีรุกขชาติอันทรงดอกออกผลอยู่ทุกฤดูกาล. บทว่า นานาปุปฺผธรา วนา ความว่า ได้แก่ป่าที่มีหมู่ไม้ให้เผล็ดดอกน่ารื่นรมย์ใจนานาชนิด. จริงอยู่ บทว่า วนา ท่านกล่าวด้วยลิงควิปัลลาส.

บทว่า น มนุสฺเสสุ อีทิสํ นครํ ความว่า ในมนุษยโลก ไม่มีนครใดที่จะเสมอเหมือนนครของท่านนี้ อธิบายว่า หาไม่ได้

 
  ข้อความที่ 13  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 324

ในมนุษยโลก. บทว่า รูปิยามยา แปลว่า ล้วนแล้วด้วยเงิน. บทว่า ททฺทลฺลมานา แปลว่า รุ่งโรจน์อย่างยิ่ง. บทว่า อาเภนฺติ แปลว่า ย่อมงดงาม. บทว่า สมนฺตา จตุโร ทิสา ความว่า ตลอดทั้ง ๔ ทิศโดยรอบ

บทว่า ยา เตมา ตัดเป็น ยา เต อิมา. บทว่า ปริจาริกา ได้แก่ หญิงผู้ทำการขวนขวาย. บทว่า ตา ได้แก่ หญิงบำเรอ. บทว่า กมฺพุกายูรธรา แปลว่า ประดับด้วยกำไลทองคำ. บทว่า กญฺจนาเวฬภูสิตา ได้แก่ มีผมและมือประดับด้วยดอกไม้ กรองทอง.

บทว่า กทลิมิคสญฺฉนฺนา แปลว่า ลาดด้วยหนังชะมด. บทว่า สชฺชา แปลว่า อันบุคคลจัดแจงแล้ว คือ เหมาะสมที่จะนอน. บทว่า โคณกสนฺถตา แปลว่า ลาดด้วยผ้าโกเชาว์มีขนยาว.

บทว่า ยตฺถ คือ ในบัลลังก์ใด. บทว่า วาสูปคตา แปลว่า เข้าไปยังที่อยู่ อธิบายว่า นอน. บทว่า สมฺปตฺตายฑฺฒรตฺตาย แปลว่า เมื่อถึงเวลาเที่ยงคืน. บทว่า ตโต แปลว่า จากบัลลังก์.

บทว่า โปกฺขรญฺา คือ ใกล้สระโบกขรณี. บทว่า หริเต แปลว่า หญ้าเขียวอ่อน. บทว่า สทฺทเล แปลว่า ดารดาษไปด้วยหญ้าอ่อน. บทว่า สุเภ แปลว่างดงาม. อีกอย่างหนึ่ง บทว่า สุเภ เป็นคำร้องเรียกนางเปรต. มีวาจาประกอบความว่า ดูก่อน นางผู้งดงาม เจ้าจงไปยืนอยู่ที่ริมสระโบกขรณีนั้น บนหญ้าอันเขียวสดโดยรอบ.

 
  ข้อความที่ 14  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 325

บทว่า กณฺณมุณฺโฑ แปลว่า มีหูขาด คือมีหูด้วน. บทว่า ขายิตา อาสิ ความว่า ท่านเป็นผู้อันสุนัขหูขาดกัดแล้ว. บทว่า อฏฺิสงฺขลิกา กตา แปลว่า กัดให้เหลือเพียงร่างกระดูก. บทว่า ยถา ปุเร ได้แก่ เหมือนในกาลก่อนแต่เวลาที่สุนัขจะกัด.

บทว่า ตโต ได้แก่ ภายหลังจากลงสู่สระโบกขรณี. บทว่า องฺคปจฺจงฺคี แปลว่า มีสรรพางค์กายครบถ้วน. บทว่า สุจารุ แปลว่า น่ารื่นรมย์ใจด้วยดี. บทว่า ปิยทสฺสนา แปลว่า น่าชม. บทว่า อายาสิ แปลว่า ย่อมมา.

นางเปรตนั้นถูกพระราชาตรัสถามแล้วอย่างนี้ เมื่อจะกล่าวประวัติของตนตั้งแต่ต้นแด่พระราชานั้น จึงกล่าวคาถา ๕ คาถาว่า :-

มีคฤหบดีคนหนึ่ง เป็นอุบาสก มีศรัทธา อยู่ในเมืองกิมิละ หม่อมฉันเป็นภริยาของอุบาสกนั้น ประพฤตินอกใจเขา เมื่อหม่อมฉันประพฤตินอกใจเขาอย่างนั้น สามีหม่อมฉันจึงคิดว่า การที่เธอประพฤตินอกใจฉันนั้นเป็นการไม่เหมาะ ไม่สมควร และหม่อมฉันได้กล่าวมุสาวาทสบถอย่างร้ายแรงว่า ฉันไม่ได้ประพฤตินอกใจท่านด้วยกายหรือด้วยใจ ถ้าฉันประพฤตินอกใจท่านด้วยกายหรือด้วยใจไซร้ ขอให้สุนัขหูด้วนตัวนี้กัดกินอวัยวะน้อยใหญ่ของฉันเถิด วิบากแห่งกรรมอันลามก คือการประพฤตินอกใจสามี และ

 
  ข้อความที่ 15  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 326

มุสาวาททั้ง ๒ อันหม่อมฉันได้เสวยแล้วตลอด ๗๐๐ ปี เพราะกรรมอันชั่วนั้น สุนัขหูด้วนจึงกัดกินอวัยวะน้อยใหญ่ของหม่อมฉัน.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กิมิลายํ ได้แก่ ในพระนครมีชื่ออย่างนั้น. มีวาจาประกอบความว่า บทว่า อติจารินี ความว่า จริงอยู่ ภริยาท่านเรียกว่ามีความประพฤตินอกใจ เพราะประพฤตินอกใจสามี เมื่อดิฉันประพฤตินอกใจ สามีหม่อมฉันนั้นจึงได้กล่าวคำนี้กะหม่อมฉัน. บทว่า เนตํ ฉนฺนํ เป็นต้น เป็นการแสดงอาการที่ สามีกล่าวแล้ว. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เนตํ ฉนฺนํ ความว่า การประพฤตินอกใจนั้นเป็นการไม่สมควร. บทว่า น ปติรูปํ เป็น ไวพจน์ของบทว่า เนตํ ฉนฺนํ นั้นนั่นเอง บทว่า ยํ เป็นกิริยาปรามาส. บทว่า อติจราสิ แปลว่าประพฤตินอกใจ อีกอย่างหนึ่ง บาลีก็อย่างนี้เหมือนกัน, อธิบายว่า การที่ท่านประพฤตินอกใจเรานั้น เป็นการไม่เหมาะไม่ควร.

บทว่า โฆรํ แปลว่า ร้ายแรง. บทว่า สปถํ แปลว่า คำสาป. บทว่า ภาสิสํ แปลว่า ได้กล่าวแล้ว. บทว่า สจาหํ ตัดเป็น เสจ อหํ. บทว่า ตํ ได้แก่ ตฺวํ แปลว่าท่าน. บทว่า ตสฺส กมฺมสฺส ได้แก่ กรรมอันลามก คือกรรมแห่งบุคคลผู้ทุศีลนั้น. บทว่า มุสาวาทสฺส จ ได้แก่ พูดมุสาวาทว่า ฉันไม่ได้ประพฤตินอกใจท่าน. บทว่า อุภยํ ได้แก่ วิบากของกรรมทั้ง ๒. บทว่า อนุภูตํ ความว่า ที่หม่อมฉันเสวยอยู่. บทว่า ยโต จากกรรมชั่วใด.

 
  ข้อความที่ 16  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 327

ก็แลนางเปรตนั้น ครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว เมื่อจะระบุอุปการะที่พระราชาทำแก่ตนจึงกล่าวคาถา ๒ คาถาว่า :-

ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ พระองค์มีอุปการะแก่หม่อมฉันมาก พระองค์เสด็จมาในที่นี้ เพื่อประโยชน์แก่หม่อมฉัน หม่อนฉันพ้นดีแล้วจากสุนัขหูด้วน ไม่มีความเศร้าโศก ไม่มีภัยแต่ที่ไหนๆ ขอเดชะ หม่อมฉันขอถวายบังคมพระองค์ หม่อมฉันขอประนมอัญชลีวิงวอนว่า ขอพระองค์จงเสวยกามสุขอันเป็นทิพย์ รื่นรมย์อยู่กับหม่อมฉันเถิด.

นางเปรตเรียกพระราชาด้วยคำว่า เทว ในคาถานั้น. บทว่า กณฺณมุณฺฑสฺส ได้แก่สุนัขหูด้วน. จริงอยู่ คำว่า กณฺณมุณฺฑสฺส นี้ เป็นฉัฏฐีวิภัตติ ใช้ในอรรถแห่งปัญจมีวิภัตติ. ลำดับนั้น พระราชาทรงมีพระทัยเบื่อหน่ายด้วยการอยู่ในที่นั้น จึงประกาศอัธยาศัยในการเสด็จไป. นางเปรตได้ฟังดังนั้น มีจิตปฏิพัทธ์ต่อพระราชา เมื่อจะวอนพระราชาให้ประทับอยู่ในที่นั้นนั่นเอง จึงกล่าวคาถา ว่า ตาหํ เทว นนสฺสามิ ขอเดชะ หม่อมฉันขอถวายบังคมพระองค์.

พระราชามีพระประสงค์จะเสด็จไปพระนครโดยส่วนเดียวเทียว เมื่อจะประกาศอัธยาศัยของพระองค์อีก จึงได้กล่าวคาถาสุดท้ายว่า :-

 
  ข้อความที่ 17  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 328

กามสุขอันเป็นทิพย์ เราได้เสวยแล้ว และรื่นรมย์แล้วกับท่าน ดูก่อนนางผู้ประกอบด้วยความงดงาม เราขออ้อนวอนต่อท่าน ขอท่านจงรีบนำฉันกลับไปเสียเถิด.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตาหํ ตัดเป็น ตํ อหํ. บทว่า สุภเค แปลว่า ผู้ประกอบด้วยความงดงาม. บทว่า ปฏินยาหิ มํ แปลว่า ขอเธอจงนำฉันกลับไปยังพระนครของฉันเถิด. คำที่เหลือในบททั้งปวงปรากฏชัดแล้วทั้งนั้น.

ลำดับนั้น นางเวมานิกเปรตนั้น ครั้นสดับพระดำรัสของพระราชาแล้ว เมื่อจะอดกลั้นความพลัดพรากจากกันมิได้ มีหัวใจว้าวุ่น เพราะอาดูรด้วยความเศร้าโศก มีร่างกายสั่นหวั่นไหว ถึงจะอ้อนวอนด้วยอุบายมีประการต่างๆ เมื่อไม่อาจจะให้พระราชาประทับอยู่ในที่นั้นได้ จึงนำพระราชาพร้อมด้วยรัตนะอันควรแก่ค่ามาก เป็นจำนวนมาก ไปยังพระนคร ให้เสด็จขึ้นสู่ปราสาท คร่ำครวญรำพันแล้ว จึงไปยังที่อยู่ของตนตามเดิม. ฝ่ายพระราชา ครั้นเห็นดังนั้นแล้ว จึงเกิดความสลดพระทัย บำเพ็ญบุญกรรมมีทานเป็นต้น ได้เป็นผู้มีสวรรค์เป็นที่ไปในเบื้องหน้า.

ครั้นเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าของพวกเราเสด็จอุบัติขึ้นในโลก ทรงประกาศพระธรรมจักรอันบวร ประทับอยู่ในกรุงสาวัตถี โดยลำดับ วันหนึ่ง ท่านพระมหาโมคคัลลานะเที่ยวจาริกไปยังบรรพต เห็นหญิงนั้นพร้อมด้วยบริวาร จึงถามถึงกรรมที่นางทำไว้.

 
  ข้อความที่ 18  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 329

นางเล่าเรื่องทั้งหมดนั้นตั้งแต่ต้นแก่พระเถระ. พระเถระแสดงธรรมแก่หญิงเหล่านั้น. พระเถระกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกระทำเรื่องนั้นให้เป็นอัตถุปปัตติเหตุแล้ว จึงทรงแสดงธรรมแก่บริษัทผู้ถึงพร้อมแล้ว. มหาชนได้ความสลดใจ งดจากความชั่ว บำเพ็ญบุญกรรมมีทาน เป็นต้น ได้มีสวรรค์เป็นที่ไปในเบื้องหน้า ฉะนี้แล.

จบ อรรถกถากัณณมุณฑเปติวัตถุที่ ๑๒