พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑๕. เสฏฐิปุตตเปตวัตถุ ว่าด้วยที่สุดไม่มี

 
บ้านธัมมะ
วันที่  17 พ.ย. 2564
หมายเลข  40393
อ่าน  386

[เล่มที่ 49] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 591

มหาวรรคที่ ๔

๑๕. เสฏฐิปุตตเปตวัตถุ

ว่าด้วยที่สุดไม่มี


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 49]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 591

๑๕. เสฏฐิปุตตเปตวัตถุ

ว่าด้วยที่สุดไม่มี

พระศาสดาได้ตรัสพระคาถาที่เปรต ๔ ตน ปรารภจะกล่าวคนละคาถาให้บริบูรณ์ว่า :-

[๑๓๕] เมื่อพวกเราพากันหมกไหม้อยู่ในนรก ๖ หมื่นปีเต็มบริบูรณ์ โดยประการทั้งปวง เมื่อไรที่สุดจักมี.

ที่สุดไม่มี ที่สุดจักมีแต่ที่ไหน ที่สุดย่อมไม่ปรากฏ แน่ะท่านผู้นิรทุกข์ เพราะเรากับท่านได้ทำบาปกรรมไว้.

พวกเราเหล่าใดไม่ให้ของที่มีอยู่ พวกเราเหล่านั้นย่อมเป็นอยู่ลำบาก เมื่อไทยธรรมมีอยู่ พวกเราไม่ได้ทำที่พึ่งแก่ตน.

เรานั้นไปจากเปตโลกนี้ ได้กำเนิดเป็นมนุษย์แล้ว จักเป็นผู้รู้ความประสงค์ของผู้ขอ สมบูรณ์ด้วยศีล ทำกุศลให้มากเป็นแน่.

จบ เสฏฐิตปุตตเปตวัตถุที่ ๑๕

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 592

อรรถกถาเสฏฐิปุตตเปตวัตถุที่ ๑๕

เรื่องเปรตผู้เป็นบุตรเศรษฐีนี้ มีคำเริ่มต้นว่า สฏฺิวสฺสสหสฺสานิ ดังนี้. เรื่องนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร?

พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในพระเชตวันกรุงสาวัตถี ก็โดยสมัยนั้นแล พระเจ้าปัสเสนทิโกศล ทรงประดับตกแต่งแล้ว เสด็จขึ้นคอช้างเผือกประเสริฐ เสด็จเลียบพระนครด้วยราชฤทธิ์อันใหญ่ ด้วยราชานุภาพอันใหญ่ ทรงทอดพระเนตรเห็นแล้ว หญิงคนหนึ่งมีส่วนเปรียบด้วยนางเทพอัปสรเพราะสมบูรณ์ด้วยรูป เปิดหน้าต่างชั้นบนปราสาทในเรือนหลังหนึ่งแลดูการตบแต่ง องค์พระราชานั้นมีจิตกลุ้มรุมด้วยความฟุ้งแห่งกิเลสที่เกิดขึ้นโดยฉับพลันในอารมณ์ที่ไม่เคยเห็น แม้จะมีชนในพระราชวังผู้สมบูรณ์ด้วยคุณวิเศษ มีตระกูล รูป และอาจาระเป็นต้น ก็มีจิตปฏิพัทธ์ในหญิงนั้น ด้วยอำนาจจิตที่ข่มได้ยาก เกิดเร็วดับเร็วเป็นสภาวะ จึงได้ให้สัญญาแก่บุรุษผู้นั่งอยู่หลังพระอาศน์ว่า เธอจงตรวจดูปราสาทนี้และหญิงนี้ แล้วเสด็จเข้าไปยังพระราชนิเวศน์. เรื่องอื่นทั้งหมดพึงทราบโดยนัยที่มาแล้วในเรื่องอัมพสักขรเปรตนั้นแล.

ส่วนความแปลกกันมีดังต่อไปนี้ :-

ในเรื่องนี้ บุรุษมาในเมื่อพระอาทิตย์ยังไม่อัศดงคต เมื่อเขาปิดประตูเมือง จึงวางดินสีอรุณและดอกอุบลที่ตนนำมาไว้ที่บานประตูเมือง แล้วไปยังพระเชตวัน

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 593

มหาวิหารเพื่อจะนอน. ฝ่ายพระราชาเสด็จเข้าที่ประทับบนที่บรรทมอันเป็นศิริ ในเวลามัชฌิมยามได้ทรงสดับอักขระ ๔ ตัว เหล่านี้ คือ ส น ทุ โส ด้วยเสียงขรม เหมือนเปล่งออกด้วยลำคอใหญ่ ได้ยินว่า ในอดีตกาลเศรษฐีบุตร ๔ คน ชาวเมืองสาวัตถี มัวเมาด้วยความเมาในโภคทรัพย์ ได้ประสบอกุศลเป็นอันมาก ด้วยอำนาจ กรรมที่ส้องเสพภรรยาคนอื่นในเวลาเป็นหนุ่ม ภายหลังทำกาละแล้ว บังเกิดในโลหกุมภี ใกล้นครนั้นนั่นเอง ไหม้อยู่ถึงขอบปากโลหกุมภี ประสงค์จะกล่าวคาถาคนละคาถา จึงได้กล่าวเพียงอักขระต้นแห่งคาถาเหล่านั้นที่ตนเปล่งขึ้น ได้รับเวทนาก็กลับลงสู่โลหกุมภี.

ฝ่ายพระราชาทรงสดับเสียงนั้น สดุ้งตกพระทัย ทรงสลด เกิดขนพองสยองเกล้า ทรงให้ราตรีที่เหลือนั้นล่วงไปโดยลำบาก พอราตรีสว่าง จึงรับสั่งให้เรียกปุโรหิตมาแล้วตรัสเล่าเรื่องนั้น. ปุโรหิตเป็นคนติดลาภ รู้ว่าพระราชาสะดุ้งตกพระทัย จึงคิดว่า อุบายอันเป็นเหตุให้เกิดลาภแก่เราและแก่พวกพราหมณ์เกิดขึ้นแล้วแล จึงทูลว่า ข้าแต่มหาราช อุปัทวันตรายอย่างใหญ่หลวงนี้เกิดขึ้นแล้วหนอ ขอพระองค์จงบูชายัญอันประกอบด้วยหมวด ๔ แห่งวัตถุทั้งปวง พระราชาทรงสดับคำของปุโรหิตนั้นแล้ว จึงสั่งอำมาตย์ทั้งหลายว่า เออ พวกเธอจงตระเตรียมอุปกรณ์ยัญ ๔ หมวดแห่งวัตถุทั้งมวล. พระนางมัลลิกาเทวีได้ทรงสดับดังนั้น จึงทูลพระราชาอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า เพราะเหตุไรพระองค์ทรงสดับคำของปุโรหิตนั้นแล้ว จึงมีพระประสงค์จะกระทำกิจ คือ

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 594

การฆ่าและเบียดเบียนสัตว์เป็นอันมาก พระองค์ควรทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้มีพระญาณอันเที่ยวไปไม่ติดขัดในที่ทั้งปวง มิใช่หรือ. และพระองค์ควรปฏิบัติอย่างที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพยากรณ์แก่พระองค์. พระราชาทรงสดับคำของพระเทวีแล้ว เสด็จไปเฝ้าพระศาสดา กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนมหาบพิตร เหตุจากเสียงนั้นที่จะเป็นอันตรายอะไรๆ แก่พระองค์หามีไม่ ดังนี้แล้ว จึงได้ตรัสประวัติของสัตว์ผู้เกิดในโลหกุมภีเหล่านั้น ตั้งแต่ต้น จึงได้ตรัสคาถาที่เปรตเหล่านั้นเริ่มเปล่งแต่ละตนให้บริบูรณ์ว่า :-

เมื่อพวกเราพากันหมกไหม้ในนรกหกหมื่นปีเต็มบริบูรณ์ โดยประการทั้งปวง เมื่อไร ที่สุดจักมี.

ที่สุดไม่มี ที่สุดจักมีแต่ที่ไหน ที่สุดย่อมไปปรากฏ แน่ะท่านผู้นิรทุกข์ เพราะเรากับท่านได้ทำบาปกรรมไว้.

พวกเราเหล่าใดไม่ให้ของที่มีอยู่ พวกเราเหล่านั้นย่อมเป็นอยู่ลำบาก เมื่อไทยธรรมมีอยู่ พวกเราไม่ได้ทำที่พึ่งแก่ตน.

เรานั้นไปจากเปตโลกนี้ ได้กำเนิดเป็นมนุษย์แล้ว จักเป็นผู้รู้ความประสงค์ของผู้ขอ สมบูรณ์ด้วยศีล ทำกุศลให้มากเป็นแน่.

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 595

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สฏฺิวสฺสสหฺสานิ แปลว่า หกหมื่นปี. ได้ยินว่าสัตว์ผู้เกิดในโลหกุมภีนรกนั้นจมลงไปเบื้องล่างถึงพื้นภายใต้สามหมื่นปี แม้ขึ้นมาข้างบนจากพื้นล่างนั้นถึงส่วนขอบปากสามหมื่นปีเหมือนกัน, ด้วยสัญญานั้น เปรตนั้นประสงค์จะกล่าวคาถาว่า สฏฺิวสฺสสหสฺสานิ ปริปุณฺณานิ สพฺพโส พวกเราหมกไหม้อยู่ในนรกหกหมื่นปีเต็มบริบูรณ์โดยประการทั้งปวง ดังนี้ จึงกล่าวว่า ประสบเวทนาเกินประมาณ ล้มคว่ำหน้าลง. ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสคาถานั้นให้บริบูรณ์แก่พระราชา. แม้ในคาถาที่เหลือก็นัยนี้. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กทา อนฺโต ภวิสฺสติ ความว่า เมื่อพวกเราหมกไหม้อยู่ในโลหกุมภีนรก เมื่อไรหนอที่สุดแห่งทุกข์นี้จักสิ้นสุดลง.

บทว่า ตถา หิ ความว่า ที่สุดแห่งทุกข์นี้ย่อมไม่มีแก่ท่านและแก่เรา ที่สุดจักไม่ปรากฏ ฉันใด พึงกล่าวเปลี่ยนวิภัติว่า ท่านกับเราได้กระทำกรรมอันลามกไว้ ฉันนั้น คือ โดยประการนั้น.

บทว่า ทุชฺชีวิตํ ได้แก่ ชีวิตอันวิญญูชนพึงติเตียน. บทว่า เย สนฺเต ความว่า พวกเราเหล่าใด เมื่อไทยธรรมมีอยู่ คือปรากฏอยู่. บทว่า น ททมฺหเส แปลว่า ไม่ได้ให้แล้ว. เพื่อจะกระทำเรื่องที่กล่าวแล้วนั้นแลให้ปรากฏชัด ท่านจึงกล่าวว่า เมื่อไทยธรรมมีอยู่ พวกเราไม่ได้ทำที่พึ่งแก่ตน ดังนี้.

บทว่า โสหํ ตัดเป็น โส อหํ แปลว่า เรานั้น. ศัพท์ว่า นูน เป็นนิบาตลงในอรรถว่าปริวิตก. บทว่า อิโต ได้แก่ จากโลหกุมภี

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 596

นรกนี้. บทว่า คนฺตฺวา แปลว่า ไปปราศแล้ว. บทว่า โยนึ ลทฺธาน มานุสึ ได้แก่ ได้กำเนิดมนุษย์ คืออัตภาพมนุษย์. บทว่า วทญฺญู ได้แก่ ผู้มีการบริจาคเป็นปกติ. หรือผู้รู้ถ้อยคำของผู้ขอ. บทว่า สีลสมฺปนฺโน ได้แก่ ผู้ถึงพร้อมด้วยศีลและอาจาระ. บทว่า กาหามิ กุสลํ พหุํ ความว่า เราไม่ถึงความประมาทเหมือนในกาลก่อน จักกระทำ คือก่อสร้างกุศล คือบุญกรรมไว้ให้มาก คือ ให้เพียงพอ.

พระศาสดาครั้นตรัสพระคาถาเหล่านี้แล้ว จึงทรงแสดงธรรมโดยพิสดาร เมื่อจบเทศนา บุรุษผู้นำดินเหนียวและดอกอุบลแดง ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล พระราชาทรงเกิดความสังเวช ทรงละความเพ่งเล็งในหญิงที่ผู้อื่นหวงแหน ได้เป็นผู้ยินดีแต่ภรรยาของตน ฉะนี้แล.

จบ อรรถกถาเสฏฐิปุตตเปตวัตถุที่ ๑๕