๑๖. สัฏฐีกูฏหัสสเปตวัตถุ ว่าด้วยเปรตถูกค้อนต่อยศีรษะ
[เล่มที่ 49] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 597
มหาวรรคที่ ๔
๑๖. สัฏฐีกูฏหัสสเปตวัตถุ
ว่าด้วยเปรตถูกค้อนต่อยศีรษะ
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 49]
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 597
๑๖. สัฏฐีกูฏหัสสเปตวัตถุ
ว่าด้วยเปรตถูกค้อนต่อยศีรษะ
วันหนึ่ง พระมหาโมคคัลลานเถระลงจากเขาคิชฌกูฏ ได้เห็นเปรตตนหนึ่ง จึงซักถามด้วยคาถาว่า :-
[๑๓๖] ทำไมหนอ ท่านจึงวิ่งพล่านไปเหมือนคนบ้า เหมือนเนื้อผู้ระแวงภัย ท่านมาร้องอื้ออึงไปทำไม ท่านคงทำบาปกรรมไว้เป็นแน่.
เปรตนั้นตอบว่า :-
ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าเป็นเปรตเสวยทุกข์ เกิดในยมโลก เพราะทำบาปกรรมไว้ จึงจากมนุษยโลกนี้ไปสู่เปตโลก ค้อนเหล็ก ๖ หมื่นครบบริบูรณ์โดยประการทั้งปวง ตกใส่ศีรษะ และต่อยกระหม่อมของข้าพเจ้า.
พระเถระถามว่า :-
ท่านทำกรรมชั่วอะไรไว้ด้วยกาย วาจา ใจ เพราะผลแห่งกรรมอะไร ท่านจึงได้รับทุกข์เช่นนี้ อนึ่งค้อนเหล็ก ๖ หมื่นครบบริบูรณ์โดยประการทั้งปวง ตกใส่ศีรษะและต่อยศีรษะของท่าน เพราะผลแห่งกรรมอะไร.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 598
เปรตนั้นตอบว่า :-
ครั้งนั้น ข้าพเจ้าได้เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่งนามว่าสุเนตตะ มีอินทรีย์อันอบรมแล้ว ผู้หาภัยแต่ที่ไหนมิได้ นั่งเข้าฌานอยู่ที่โคนต้นไม้ ข้าพเจ้าได้ต่อยศีรษะของท่านแตกด้วยการดีดก้อนกรวด เพราะผลแห่งกรรมนั้น ข้าพเจ้าจึงได้ประสบทุกข์เช่นนี้ ค้อนเหล็ก ๖ หมื่นครบบริบูรณ์โดยประการทั้งปวง จึงตกลงใส่ศีรษะของข้าพเจ้า และต่อยศีรษะของข้าพเจ้า.
พระเถระกล่าวว่า :-
แน่ะบุรุษชั่ว ค้อนเหล็ก ๖ หมื่นครบบริบูรณ์โดยประการทั้งปวง ตกใส่ศีรษะและต่อยศีรษะของท่าน เพราะเหตุอันสมควรแก่ท่านแล้ว.
จบ สัฏฐีกูฏสหัสสเปตวัตถุที่ ๑๖
อรรถกถาสักฐิกูฏเปตวัตถุที่ ๑๖
พระศาสดาเมื่อเสด็จประทับอยู่ในพระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภเปรตตนหนึ่ง จึงตรัสพระคาถานี้มีคำเริ่มต้นว่า กึ นุ อุมฺมตตรูโปว ดังนี้.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 599
ได้ยินว่า ในอดีตกาล ในกรุงพาราณสี ยังมีบุรุษเปลี้ยคนหนึ่ง เป็นผู้ฉลาดในการประกอบการดีดกรวด เขาถึงความสำเร็จในศีลปการดีดกรวดนั้น นั่งอยู่ที่โคนต้นไทรใกล้ประตูพระนคร แสดงรูปช้าง ม้า มนุษย์ รถ เรือนยอด ธง และหม้อน้ำเต็มเป็นต้น ที่ใบไทรด้วยการดีดกรวด พวกเด็กในพระนครให้ทรัพย์หนึ่งมาสก และกึ่งมาสก เพื่อประโยชน์แก่การเล่นของตน ให้เขาแสดงศิลปเหล่านั้นตามความชอบใจ
ภายหลังวันหนึ่ง พระเจ้าพาราณสีเสด็จออกจากพระนคร เข้าไปยังโคนต้นไทรนั้นเห็นการจำแนกรูปต่างๆ โดยเป็นรูปช้าง เป็นต้น ที่แนบสนิทอยู่ที่ใบไทร จึงตรัสถามพวกมนุษย์ว่า ใครหนอ กระทำการจำแนกรูปต่างๆ อย่างนี้ที่ใบไทรเหล่านี้ พวกมนุษย์ชี้ให้ทอดพระเนตรบุรุษเปลี้ยนั้นแล้วทูลว่า บุรุษเปลี้ยนี้กระทำ พระเจ้าข้า. พระราชารับสั่งให้เรียกบุรุษเปลี้ยนั้นมาแล้วตรัสอย่างนี้ว่า แน่ะพนาย เธออาจเพื่อจะเอามูลแพะใส่ให้เต็มท้องของบุรุษคนหนึ่ง ผู้ที่เราชี้ให้ ผู้กล่าวอยู่กะพระราชานั้นนั่นแหละได้ไหมหนอ. บุรุษเปลี้ยทูลว่า ได้พระเจ้าข้า. พระราชาจึงนำบุรุษเปลี้ยนั้นเข้าไปยังพระราชวังของพระองค์ ทรงเบื่อหน่ายปุโรหิตผู้พูดมาก จึงรับสั่งให้เรียกตัวปุโรหิตมา นั่งปรึกษากันในโอกาสที่สงัดกับปุโรหิตนั้น อันแวดล้อมด้วยกำแพง คือม่าน จึงรับสั่งให้เรียกบุรุษเปลี้ยมา. บุรุษเปลี้ยถือเอามูลแพะประมาณทะนานหนึ่งมา รู้อาการของพระราชา นั่งบ่ายหน้าตรงปุโรหิต เมื่อปุโรหิตนั้น
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 600
อ้าปาก ได้ดีดมูลแพะทีละก้อนลงที่โคนลำคอของปุโรหิตนั้นตามช่องกำแพง คือม่าน. เขาไม่สามารถจะคายออกเพราะความละอาย จึงกลืนลงทั้งหมด. ลำดับนั้น พระราชาทรงปล่อยให้ปุโรหิตนั้นผู้มีท้องเต็มด้วยมูลแพะไป ด้วยรับสั่งว่า ไปเถอะพราหมณ์ ท่านได้ผลแห่งความเป็นผู้พูดมากแล้ว ท่านจงดื่มน้ำที่ปรุงด้วยผลและ เปลือกประยงค์ที่ขยำเป็นต้น แล้วจงถ่ายออก ด้วยอาการอย่างนี้เธอก็จะมีความสวัสดี. ก็ด้วยการกระทำของบุรุษเปลี้ยนั้น พระองค์ทรงพอพระทัย ได้พระราชทานบ้านส่วย ๑๔ ตำบล. เธอครั้นได้บ้านส่วย ๑๔ ตำบลแล้ว ทำตนให้คนมีความสุขอิ่มหนำ ทั้งให้คนปริวารชนได้รับความสุขอิ่มหนำ ให้อะไรๆ อันสมควรแก่สมณพราหมณ์เป็นต้น ไม่ทำให้ประโยชน์ปัจจุบันและอนาคตเสื่อมไป เลี้ยงชีพโดยความสุขทีเดียว ทั้งให้บำเหน็จรางวัลแก่คนผู้มายังสำนักตนศึกษาศิลปะอยู่.
ลำดับนั้น บุรุษคนหนึ่งเข้าไปยังสำนักเขากล่าวอย่างนี้ว่า ดีละอาจารย์ ขอท่านอาจารย์ให้ผมศึกษาศิลปะนี้บ้าง กระผมพอแล้วด้วยบำเหน็จและรางวัล. บุรุษเปลี้ยนั้นให้บุรุษนั้นศึกษาศิลปนั้น. บุรุษนั้นศึกษาศิลปได้แล้ว ประสงค์จะทดลองศิลป จึงเดินไป เอาเครื่องพิฆาต คือก้อนกรวดทำลายศีรษะของพระปัจเจกพุทธเจ้า นามว่าสุเนตตะผู้นั่งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำคงคา พระปัจเจกพุทธเจ้าปรินิพพานที่ฝั่งแม่น้ำคงคานั้นนั่นเอง พวกมนุษย์รู้เรื่องเข้า จึงเอาก้อนดินเป็นต้น ตีบุรุษนั้นให้สิ้นชีวิตในที่นั้นนั่นเอง. เขาทำ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 601
กาละแล้วบังเกิดในอเวจีมหานรก ไหม้อยู่ในนรกหลายพันปี ด้วยเศษแห่งวิบากกรรมนั้นนั่นเอง ในพุทธุปบาทกาลนี้ จึงบังเกิดเป็นเปรตไม่ไกลแต่กรุงราชคฤห์. อันวิบากที่พึงเห็นสมกับกรรมนั้นพึงมี เพราะเหตุนั้น ค้อนเหล็กประมาณหกหมื่นที่กำลังแห่งกรรมซัดขึ้น กระหน่ำบนกระหม่อมทั้งเวลาเช้า เวลาเที่ยง และเวลาเย็น. เปรตนั้นมีศีรษะฉีกขาด ได้รับเวทนาแสนสาหัส ล้มลงที่ภาคพื้น แต่เมื่อพอค้อนเหล็กปราศไป มันก็มีศีรษะตั้งอยู่ตามปกติ.
ภายหลังวันหนึ่ง ท่านพระมหาโมคคัลลานะลงจากเขาคิชฌกูฏ เห็นเปรตนั้นจึงตอบถามด้วยคาถานี้ว่า :-
ทำไมหนอ ท่านจึงวิ่งพล่านไปเหมือนคนบ้า เหมือนเนื้อผู้ระแวงภัย ท่านมาร้องอื้ออึงไปทำไม ท่านคงทำบาปกรรมไว้เป็นแน่.
บรรดาบทเหลานั้น บทว่า อุมฺมตฺตนูโปว ความว่า ท่านเป็นเหมือนมีสภาวะแห่งคนบ้า คือเป็นเหมือนคนถึงความเป็นบ้า. บทว่า มิโค ภนฺโตว ธาวสิ ความว่า ท่านวิ่งพล่านไปข้างโน้นข้างนี้เหมือนเนื้อระแวงภัย. จริงอยู่ เมื่อค้อนเหล็กเหล่านั้นกระหน่ำอยู่ เขาไม่เห็นสิ่งที่ต้านทาน จึงวิ่งไปข้างโน้นข้างนี้ด้วยคิดว่า การประหาร เช่นนี้จะไม่พึงมีหรือหนอ. มีค้อนเหล็กเหล่านั้นถูกกำลังกรรมซัดไป จึงกระหน่ำลงเฉพาะบนศีรษะของเปรตนั้นผู้ยืนอยู่ที่ใดที่หนึ่ง. บทว่า กึ นุ สทฺทายเส ตุวํ ความว่า ท่านร้องไปทำไมหนอ คือ ท่านเที่ยวร้องขรมไปเหลือเกิน.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 602
เปรตได้ฟังดังนั้นจึงให้คำตอบด้วยคาถา ๒ คาถาว่า :-
ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าเป็นเปรตเสวยทุกข์ เกิดในยมโลก เพราะกระทำบาปกรรมไว้ จึงจากมนุษยโลกนี้ไปสู่เปตโลก ค้อนเหล็กหกหมื่นครบบริบูรณ์ โดยประการทั้งปวง กระหน่ำบนศีรษะและต่อยศีรษะข้าพเจ้า.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สฏฺิ กูฏสหสฺสานิ แปลว่า ค้อนเหล็กประมาณหกหมื่น. บทว่า ปริปุณฺณานิ แปลว่า ไม่หย่อน. บทว่า สพฺพโส คือ โดยส่วนทั้งปวง. ได้ยินว่า ศีรษะของเปรตนั้นประมาณยอดเขาใหญ่ บังเกิดเพียงพอที่จะให้ค้อนเหล็กหกหมื่น กระหน่ำ. ค้อนเหล็กเหล่านั้นตกลงกระหน่ำศีรษะของเปรตนั้น ไม่เหลือสถานที่เพียงจดที่สุดปลายขนทรายลงได้ เพราะเหตุนั้น เปรตนั้นจึงกระทำเสียงร้องรบกวนอยู่. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ค้อนเหล็กเหล่านั้นกระหน่ำและทุบศีรษะของข้าพเจ้า โดยประการทั้งปวง.
ลำดับนั้น พระเถระเมื่อจะถามกรรมที่เขาทำกะเปรตนั้น จึงได้กล่าวคาถา ๒ คาถาว่า :-
ท่านกระทำกรรมชั่วอะไรไว้ด้วยกาย วาจา ใจ เพราะผลแห่งกรรมอะไร ท่านจึงได้รับทุกข์เช่นนี้ อนึ่ง ค้อนเหล็กหกหมื่นครบบริบูรณ์
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 603
โดยประการทั้งปวงกระหน่ำบนศีรษะ และต่อยศีรษะของท่าน เพราะผลกรรมอะไร
เปรตเมื่อจะบอกกรรมที่ตนทำแก่พระเถระนั้น จึงได้กล่าวคาถา ๓ คาถาว่า :-
ครั้งนั้น ข้าพเจ้าได้เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่งนามว่าสุเนตตะ มีอินทรีย์อันอบรมแล้ว ผู้หาภัยแต่ที่ไหนมิได้ นั่งเข้าฌานอยู่ที่โคนต้นไม้ ข้าพเจ้าได้ต่อยศีรษะของท่านแตกด้วยการดีดก้อนกรวด เพราะผลแห่งกรรมนั้น ข้าพเจ้าจึงได้รับทุกข์เช่นนี้ ค้อนเหล็กหกหมื่นครบบริบูรณ์โดยประการทั้งปวง จึงตกลงบน ศีรษะข้าพเจ้า และต่อยศีรษะข้าพเจ้า.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สมฺพุทฺธํ ได้แก่ พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า. บทว่า สุเนตฺตํ ได้แก่ ผู้มีชื่ออย่างนี้. บทว่า ภาวิตินฺทฺริยํ ได้แก่ ผู้มีอินทรีย์มีสัทธินทรีย์เป็นต้น อันอบรมแล้ว ด้วยอริยมรรคภาวนา.
บทว่า สาลิตฺตกปฺปหาเรน ความว่า ประกอบการดีดกรวดด้วยธนู หรือด้วยนิ้วมือนั่นแหละ ที่ท่านเรียก สาลิตตกะ. จริง
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 604
อย่างนั้น บาลีว่า สกฺขราย ปหาเรน ดังนี้ก็มี. บทว่า ภินฺทิสฺสํ แปลว่า ทุบแล้ว.
พระเถระครั้นได้ฟังดังนั้นแล้ว เมื่อจะแสดงว่า บัดนี้ เธอได้รับผลนี้แห่งกรรมเก่า อันสมควรแก่กรรมที่ตนกระทำนั่นเอง จึงกล่าวคาถาสุดท้ายว่า :-
แน่ะบุรุษชั่ว ค้อนเหล็กหกหมื่นครบบริบูรณ์โดยประการทั้งปวง กระหน่ำบนศีรษะ และต่อยศีรษะของท่าน เพราะเหตุอันสมควรแก่ท่านแล้ว.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ธมฺเมน แปลว่า ด้วยเหตุอันสมควร. บทว่า เต ได้แก่ ท่าน. ท่านแสดงไว้ว่า ผลนี้สมควรแท้แก่บาปกรรมที่ท่านผู้ผิดในพระปัจเจกพุทธเจ้านั้น กระทำแล้ว น้อมนำเข้าไปหาท่าน เพราะฉะนั้น ผลแห่งบาปกรรมนั่นแหละ อันใครๆ จะเป็นเทวดา มาร พรหม หรือแม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ตาม จะพึงป้องกันมิได้เลย.
ก็แลครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว จากนั้นจึงเที่ยวไปบิณฑบาตในพระนคร กระทำภัตตกิจเสร็จแล้ว ในเวลาเย็นจึงเข้าไปเฝ้าพระศาสดา กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า. พระผู้มีพระภาคเจ้า
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 605
ทรงกระทำเรื่องนั้นให้เป็นอัตถุปปัตติเหตุ เมื่อจะทรงแสดงธรรมแก่บริษัทผู้ถึงพร้อมแล้ว จึงทรงประกาศคุณานุภาพแห่งพระปัจเจกพุทธเจ้าและความไม่ดูหมิ่นกรรม มหาชนเกิดความสังเวชละบาปกรรมแล้ว ได้เป็นผู้ยินดีในบุญมีทานเป็นต้น ฉะนี้แล.
จบ อรรถกถาสัฏฐิกูฏเปตวัตถุที่ ๑๖
จบ ปรมัตถทีปนี
อรรถกถาขุททนิกาย เปตวัตถุ
มหาวรรคที่ ๔ ประดับด้วยเรื่อง ๑๖ เรื่อง
ด้วยประการฉะนี้
รวมเรื่องที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. อัมพสักขรเปตวัตถุ ๒. เสริสกเปตวัตถุ ๓. นันทกเปตวัตถุ ๔. เรวดีเปติวัตถุ ๕. อุจฉุเปตวัตถุ ๖. กุมารเปตวัตถุ ๗. ราชปุตตเปตวัตถุ ๘. คูถขาทกเปตวัถุที่ ๑ ๙. คูถขาทกเปตวัตถุที่ ๒ ๑๐. คณเปตวัตถุ ๑๑. ปาฏลิปุตตเปตวัตถุ ๑๒. อัมพวนเปตวัตถุ ๑๓. อักขรุกขเปตวัตถุ ๑๔. โภคสังหรณเปติวัตถุ ๑๕. เสฏฐิปุตตเปตวัตถุ ๑๖. สัฏฐีกูฏสหัสสเปตวัตถุ.
จบ มหาวรรคที่ ๔
จบ เปตวัตถุบริบูรณ์