พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๔. วนวัจฉสามเณรคาถา ว่าด้วยคาถาของสามเณรของพระวนวัจฉเถระ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  18 พ.ย. 2564
หมายเลข  40412
อ่าน  455

[เล่มที่ 50] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 125

เถรคาถา เอกนิบาต

วรรคที่ ๒

๔. วนวัจฉสามเณรคาถา

ว่าด้วยคาถาของสามเณรของพระวนวัจฉเถระ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 50]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 125

๔. วนวัจฉสามเณรคาถา

ว่าด้วยคาถาของสามเณรของพระวนวัจฉเถระ

[๑๕๑] ได้ยินว่า สามเณรของพระวนวัจฉเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้ อย่างนี้ว่า

พระอุปัชฌาย์ของเราได้กล่าวกะเราว่า ดูก่อนสิวกะ เราจะไปจากที่นี้ กายของเราอยู่ในบ้าน แต่ใจของเราอยู่ในป่า แม้เรานอนอยู่ก็จักไป ความเกี่ยวข้องด้วยหมู่ ย่อมไม่มีแก่ผู้รู้แจ้งชัด ดังนี้.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 126

อรรถกถาวนวัจฉสามเณรคาถา *

คาถาของวนวัจฉสามเณร เริ่มต้นว่า อุปชฺฌาโย. เรื่องราวของท่าน เป็นมาอย่างไร?

ได้ยินว่า ในกัปที่ ๓๑ แต่ภัทรกัปนี้ ท่านเกิดในเรือนแห่งตระกูลในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพระนามว่า เวสสภู วันหนึ่งเข้าสู่ป่าด้วยกรณียกิจบางอย่าง เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพระนามว่า เวสสภู ประทับนั่งอยู่ ณ ซอกภูเขาในป่านั้น มีจิตเลื่อมใส เข้าไปเฝ้าถวายบังคมแล้ว ประคองอัญชลียืนอยู่แล้ว. เขาเห็นผลไม้มะรื่นน่าชื่นใจในป่านั้น จึงเก็บเอาผลมะรื่นเหล่านั้นน้อมเข้าไปถวายพระผู้มีพระภาคเจ้าอีก. พระผู้มีพระภาคเจ้าอาศัยความอนุเคราะห์ จึงทรงรับไว้.

ด้วยบุญกรรมนั้น เขาท่องเที่ยวไปในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เมื่อผู้เป็นลุงบวชในศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพระนามว่า กัสสปะ ก็บวชพร้อมกับลุง สั่งสมกุศลอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานเป็นอันมาก แล้วเกิดเป็นหลานของพระวนวัจฉเถระ ในพุทธุปบาทกาลนี้. ท่านได้นามว่า สิวกะ เมื่อพระวนวัจฉเถระ ผู้เป็นพี่ชายของตน บวชในศาสนาแล้ว ถึงที่สุดแห่งกิจของบรรพชิตแล้ว พำนักอยู่ในป่า มารดาของท่านฟังความเป็นไปนั้นแล้ว พูดกะบุตรว่า พ่อสีวกะ เจ้าจงบวชในสำนักของพระเถระ เดี๋ยวนี้พระเถระแก่แล้ว. เพราะคำพูดของมารดาเพียงคำเดียวเท่านั้น และเพราะอธิการ ที่ตนเคยทำไว้ในกาลก่อน ท่านจึงไปยังสำนักของพระเถระผู้เป็นลุง บวชแล้ว บำรุงพระเถระ อาศัยอยู่ในป่า.

วันหนึ่ง เมื่อท่านไปสู่ท้ายบ้านด้วยกรณียกิจบางอย่าง เกิดอาพาธอย่างหนัก. แม้เมื่อผู้คนช่วยจัดยาถวาย อาพาธก็ไม่สงบ. เมื่อท่านชักช้าอยู่


* ฉบับพม่าเป็น สิวกสามเณร.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 127

พระเถระคิดว่า สามเณรประพฤติล้าช้า จะมีเหตุอะไรหนอ ดังนี้ จึงไปที่ท้ายบ้านนั้น เห็นท่านป่วย จึงกระทำสิ่งที่ควรกระทำนั้นๆ แก่ท่าน ยังส่วนแห่งวันให้ล่วงไปแล้ว ในเวลาใกล้รุ่ง ตอนกลางคืน จึงพูดว่า ดูก่อนสิวกะ นับจำเดิมแต่เราบวชแล้ว ไม่เคยอยู่ในบ้าน เราจะจากบ้านนี้ไปสู่ป่าเดี๋ยวนี้แหละ ส่วนสามเณร ฟังดังนั้นแล้ว จึงกล่าวว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ บัดนี้ แม้ว่ากายของผมจะอยู่ท้ายบ้าน แต่จิตอยู่ในป่า เพราะฉะนั้น แม้ถึงจะนอน ผมก็จะไปป่าเหมือนกัน. พระเถระฟังดังนั้นแล้ว จึงจับแขนสามเณร นำไปสู่ป่าทันที แล้วให้โอวาท. สามเณรตั้งอยู่ในโอวาทของพระเถระ เห็นแจ้งแล้วบรรลุพระอรหัต. สมดังคำที่ท่านกล่าวไว้ในอปทานว่า

เราได้พบพระพุทธเจ้า ผู้ปราศจากกิเลสธุลี เป็นเชษฐบุรุษของโลก ประเสริฐกว่านรชนโชติช่วง เหมือนต้นกรรณิการ์ ประทับนั่งอยู่ที่ซอกภูเขา เรามีจิตเลื่อมใส มีใจโสมนัสประนมอัญชลีเหนือเศียรเกล้า แล้วเอาผลมะรื่นถวายแด่พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุด ในกัปที่ ๓๑ แต่ภัทรกัปนี้ เราได้ถวายผลไม้ใดในกาลนั้น ด้วยการถวายผลไม้นั้น เราไม่รู้จัก ทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งการถวายผลไม้ เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ฯลฯ คำสอนของพระพุทธเจ้าเราทำเสร็จแล้ว ดังนี้.

สามเณร บรรลุพระอรหัตแล้ว เทียบเคียงเนื้อความ อันอุปัชฌาย์และตนกล่าวแล้ว เมื่อจะประกาศความยินดียิ่งในวิเวกของตนและกิจที่ตนทำสำเร็จแล้ว จึงได้ภาษิตคาถาว่า

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 128

พระอุปัชฌาย์ของเราได้กล่าวกะเราว่า ดูก่อนสิวละ เราจะไปจากที่นี้ กายของเราอยู่ในบ้าน แต่ใจของเราไปอยู่ในป่า แม้เรานอนอยู่ก็จักไป ความเกี่ยวข้องด้วยหมู่ ย่อมไม่มีแก่ผู้รู้แจ้ง ดังนี้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุปชฺฌาโย ความว่า ชื่อว่า อุปัชฌายะ เพราะเข้าไปเพ่งโทษน้อยและโทษใหญ่ คือมุ่งแสวงหาประโยชน์เกื้อกูลแล้ว เพ่งดูด้วยญาณจักษุ. สามเณรเรียกตัวเอง ด้วยบทว่า มํ. บทว่า อวจาสิ แปลว่า ได้กล่าวแล้ว.

บทว่า อิโต คจฺฉาม สิวก เป็นคำแสดงอาการที่กล่าวแล้ว. อธิบายว่า ดูก่อนสิวกะ เราจะไปจากละแวกบ้านนี้ เราจงมาพากันไปสู่ที่ๆ เป็นป่าเท่านั้นเถิด ที่ๆ เป็นป่าเท่านั้น เหมาะที่พวกเราทั้งหลายจะอยู่. ก็สิวกสามเณรอันพระอุปัชฌาย์กล่าวอย่างนี้แล้ว เกิดความสลดใจ เหมือนม้าอาชาไนยตัวเจริญ ที่ถูกหวดด้วยแส้ฉะนั้น เมื่อจะประกาศความที่ตนประสงค์ จะไปสู่ป่าอย่างเดียว จึงกล่าวว่า

กายของเราอยู่บ้าน แต่ใจของเราอยู่ในป่า แม้เรานอนอยู่ก็จักไป ความเกี่ยวข้องด้วยหมู่ ย่อมไม่มีแก่ผู้รู้แจ้ง ดังนี้.

คาถานั้น มีใจความดังนี้ เพราะเหตุที่ บัดนี้ แม้ร่างกายของเรานี้ ยังอยู่ที่ท้ายบ้าน แต่อัธยาศัยน้อมไปสู่ป่าอย่างเดียว ฉะนั้น เราแม้นอนอยู่ก็จักไป คือ แม้ชื่อว่านอนอยู่เพราะไม่สามารถ ในการยืน นั่งและเดิน โดยเป็นไข้ ก็จะคลาน กระเสือกกระสนไป เหมือนงู ทั้งๆ อาการที่นอนนี้ มาเถิดท่านขอรับ เราจงไปสู่ป่ากันเถิด เพราะเหตุไร? เพราะความเกี่ยว

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 129

ข้องด้วยหมู่ย่อมไม่มีแก่ผู้รู้แล้ว เพราะสภาพธรรมดา ความเกี่ยวข้องในที่ ไหนๆ ย่อมไม่มีแก่ผู้รู้โทษในกาม และในสงสาร รู้อานิสงส์ในเนกขัมมะ และพระนิพพาน ตามความเป็นจริง ฉะนั้น คำสั่งของอุปัชฌาย์ จึงดำรงมั่นแก่สามเณรด้วยคำพูดหนเดียวเท่านั้น ท่านพยากรณ์พระอรหัตตผลด้วยการอ้างถึงคำสั่งเพียงหนเดียว.

จบอรรถกถาวนวัจฉเถรสามเณรคาถา