๗. ทาสกเถรคาถา ว่าด้วยคาถาของพระทาสเถระ
[เล่มที่ 50] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 142
เถรคาถา เอกนิบาต
วรรคที่ ๒
๗. ทาสกเถรคาถา
ว่าด้วยคาถาของพระทาสเถระ
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 50]
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 142
๗. ทาสกเถรคาถา
ว่าด้วยคาถาของพระทาสเถระ
[๑๕๔] ได้ยินว่า พระทาสกเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้อย่างนี้ว่า
เมื่อใด บุคคลเป็นผู้ง่วงเหงา และกินมาก มักนอนหลับ กลิ้งเกลือกไปมา เมื่อนั้น เขาเป็นคนเขลา ย่อมเข้าห้องบ่อยๆ เหมือนสุกรใหญ่ ที่เขาปรนปรือ ด้วยเหยื่อฉะนั้น.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 143
อรรถกถาทาสกเถรคาถา
คาถาของท่านพระทาสกเถระเริ่มต้นว่า มิทฺธี ยทา. เรื่องราวของท่าน เป็นอย่างไร?
ได้ยินว่า ในกัปที่ ๙๑ แต่ภัทรกัปนี้ เมื่อพระตถาคตเจ้ายังไม่ได้เสด็จอุบัติขึ้น ท่านได้ถวายผลมะม่วง อันน่าพึงใจแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าพระนามว่า อชิตะ ผู้ลงจากเขาคันธมาทน์มาสู่คลองแห่งมนุษย์ แล้วเที่ยวบิณฑบาตในบ้านแห่งใดแห่งหนึ่ง ด้วยบุญกรรมนั้น ท่านท่องเที่ยวไปในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย แล้วบวชในศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพระนามว่า กัสสปะ ได้กระทำบุญอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานไว้เป็นอันมาก.
ท่านขวนขวายกุศลกรรมอย่างนี้ ละจากสุคติเข้าถึงสุคติ เกิดในเรือนมีตระกูล ในพระนครสาวัตถี ในพุทธุปบาทกาลนี้. ท่านอันอนาถบิณฑิกเศรษฐี แต่งตั้งไว้ในหน้าที่ปฏิบัติพระวิหาร ก็ปฏิบัติพระวิหารโดยเคารพ ได้มีศรัทธา โดยได้เห็นพระพุทธเจ้า และโดยการฟังพระสัทธรรมเนืองๆ บวชแล้ว. ส่วนอาจารย์บางพวกกล่าวว่า พระทาสกเถระนี้เกิดในเรือนมีตระกูล ในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่ากัสสปะ เจริญวัยแล้ว บำรุงพระเถระผู้เป็นพระขีณาสพรูปใดรูปหนึ่ง มีความประสงค์จะให้ท่านช่วยทำกิจบางอย่าง จึงสั่งบังคับท่าน ด้วยกรรมนั้น เขาเกิดในท้องของหญิงทาสีของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ในพระนครสาวัตถี ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทั้งหลาย เจริญวัยแล้ว อันท่านเศรษฐีแต่งตั้งไว้ในตำแหน่งผู้ปฏิบัติพระวิหาร ได้เป็นผู้มีศรัทธาแล้ว โดยนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล. ท่านมหาเศรษฐีสดับศีลาจารวัตรและอัธยาศัยของเขาแล้ว กระทำให้เขาเป็นไท
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 144
(พ้นจากทาส) แล้วบอกว่า ขอท่านจงบวชตามสบาย ภิกษุทั้งหลายให้เขาบรรพชาแล้ว. จำเดิมแต่บวชแล้ว เขากลับเป็นผู้เกียจคร้าน เป็นผู้ที่มีความเพียรเสื่อม ไม่กระทำวัตรปฏิบัติใดๆ ที่ไหนจะบำเพ็ญสมณธรรมเล่า มุ่งแต่บริโภคจนเต็มที่ มักมากไปด้วยการนอนอย่างเดียว. แม้ในเวลาฟังธรรม ก็เข้าไปสู่มุมแห่งหนึ่ง นั่งท้ายบริษัท หลับกรนครอกๆ ตลอดเวลา. ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรวจดูบุรพนิสัยของท่านแล้ว เพื่อจะให้ท่านเกิดความสังเวช จึงได้ตรัสพระคาถาว่า
เมื่อใด บุคคลเป็นผู้ง่วงเหงา และกินมาก มักนอนหลับ กลิ้งเกลือกไปมา เมื่อนั้น เขาเป็นคนเขลา ย่อมเข้าห้องบ่อยๆ เหมือนสุกรใหญ่ ที่เขาปรนปรือ ด้วยเหยื่อ ฉะนั้น ดังนี้.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มิทฺธี ความว่า เป็นผู้อันถีนะและมิทธะ ครอบงำแล้ว. อธิบายว่า มิทธะครอบงำผู้ใด แม้ถีนะก็ย่อมครอบงำผู้นั้นด้วย เหมือนกัน. บทว่า ยทา แปลว่า ในกาลใด.
บทว่า มหคฺฆโส ความว่า บริโภคมาก เหมือนพราหมณ์อาหรหัตถะ พราหมณ์อลังสาฎกะ พราหมณ์ตัตถวัฏฏกะ พราหมณ์กากมาสกะ พราหมณ์ภุตตวมิตกะคนใดคนหนึ่ง. บทว่า นิทฺทายิตา แปลว่า ผู้มักหลับ. บทว่า สมฺปริวตฺตสายี ความว่า นอนกลิ้งไปกลิ้งมา. ท่านแสดงว่า ประกอบเนืองๆ ซึ่งความสุขในการนอน ความสุขในผัสสะ และความสุขในความง่วงเหงาหาวนอน แม้ด้วยบททั้งสอง. บทว่า นิวาปปุฏฺโฐ ความว่า อันเขาเลี้ยง คือ บำรุงเลี้ยง ด้วยสูกรภัต มีรำข้าวเป็นต้น. อธิบายว่า สุกรในเรือนที่เขาเลี้ยง แต่เวลายังเล็กๆ เวลามีร่างกายอ้วนพีไม่ได้ออกไปนอกคอก ย่อมนอนกลิ้งไปมา ในที่ต่างๆ มีเตียงข้างล่างเป็นต้น ทีเดียว.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 145
ท่านกล่าวอธิบายไว้ดังนี้ ในเวลาใด บุรุษย่อมเป็นผู้ง่วงเหงาหาวนอน และกินมาก ไม่สามารถจะผลัดเปลี่ยนอิริยาบถเป็นอย่างอื่นได้ มักนอนหลับ กลิ้งเกลือกไปมา เหมือนสุกรใหญ่ที่เขาปรนปรือด้วยเหยื่อ ในเวลานั้น บุรุษนั้น ย่อมไม่อาจมนสิการไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เพราะไม่ได้ มนสิการไตรลักษณ์เหล่านั้น เขาจึงเป็นผู้มีปัญญาน้อย ย่อมเข้าห้องบ่อยๆ หรือไม่พ้นจากที่อยู่ คือ ห้องไปได้. พระทาสกเถระ ฟังพระคาถานั้นแล้ว เกิดความสลดใจ เริ่มตั้งวิปัสสนา แล้วได้กระทำให้แจ้งพระอรหัต ต่อกาลไม่นานเลย. สมดังคาถาประพันธ์ที่ท่านกล่าวไว้ในอปทานว่า
ครั้งนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่า อชิตะ ผู้สมบูรณ์ด้วยจรณะ และเป็นผู้ฉลาดในสมาธิ ประทับอยู่ในป่าหิมพานต์ เราได้ถวายผลมะม่วง ในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้มีฉวีวรรณเหมือนทองคำ ผู้สมควรรับเครื่องบูชา กำลังเสด็จดำเนินอยู่ในถนน ในกัปที่ ๙๑ แต่ภัทรกัปนี้ เราได้ถวายผลไม้ใด ในกาลนั้น ด้วยการถวายผลไม้นั้น เราไม่รู่จักทุคติเลย นี้เป็น ผลแห่งการถวายผลไม้ เราเผากิเลสทั้งหลายได้แล้ว ฯลฯ คำสอนของพระพุทธเจ้า เรากระทำสำเร็จแล้ว ดังนี้.
ก็พระเถระครั้นบรรลุพระอรหัตแล้ว ได้กล่าวยืนยันพระคาถานั้นแหละว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนเราด้วยพระคาถานี้ พระคาถานี้เป็นดังขอสับสำหรับเรา. นี้เป็นการพยากรณ์พระอรหัตตผล โดยปริวัตตาหารนัย ของพระเถระนั้น.
จบอรรถกถาทาสกเถรคาถา