๑๐. อชิตเถรคาถา ว่าด้วยคาถาของพระอชิตเถระ
[เล่มที่ 50] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 153
เถรคาถา เอกนิบาต
วรรคที่ ๒
๑๐. อชิตเถรคาถา
ว่าด้วยคาถาของพระอชิตเถระ
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 50]
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 153
๑๐. อชิตเถรคาถา
ว่าด้วยคาถาของพระอชิตเถระ
[๑๕๗] ได้ยินว่า พระอชิตเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้ อย่างนี้ว่า
เราไม่มีความกลัวตาย ไม่มีความอาลัยในชีวิต จักเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะ ละทิ้งกายนี้ไป.
จบวรรคที่ ๒
อรรถกถาอชิตเถรคาถา
คาถาของท่านพระอชิตเถระ เริ่มต้นว่า มรเณ เม ภยํ นตฺถิ. เรื่องราวของท่านเป็นอย่างไร?
ได้ยินว่า ในกัปที่ ๙๑ ท่านเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพระนามว่า วิปัสสี มีจิตเลื่อมใสแล้ว ได้ถวายผลมะขวิด. แม้เบื้องหน้าแต่นั้น ก็ได้กระทำบุญ นั้นๆ ท่องเที่ยวไปในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทั้งหลาย ยังไม่เสด็จอุบัติในกัปนี้ ได้เกิดเป็นบุตรของอัคคาสนียพราหมณ์ ของพระเจ้ามหาโกศล ในพระนครสาวัตถี. เขาได้มีนาม ว่า อชิตะ.
ก็แลในสมัยนั้น พาวรีพราหมณ์ผู้มีปกติอยู่ในพระนครสาวัตถี เป็นผู้ประกอบไปด้วยมหาปุริสลักขณะ ๓ ประการ เรียนจบไตรเพท ออกจากเมืองสาวัตถี แล้วบวชเป็นดาบส อาศัยอยู่ในกปิตถาราม ริมฝั่งน้ำโคธาวรี.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 154
ครั้งนั้น อชิตมาณพ บวชในสำนักของพาวรีพราหมณ์นั้น อันเทวดาผู้หวังประโยชน์ ตักเตือนแล้ว ถูกส่งไปยังสำนักของพระบรมศาสดา เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า พร้อมด้วยมาณพทั้งหลาย มีติสสเมตเตยยมาณพเป็นต้น ทูลถามปัญหาทั้งหลายด้วยใจอย่างเดียว เมื่อปัญหาเหล่านั้นอันพระผู้มีพระภาค เจ้าทรงวิสัชนาแล้ว มีจิตเลื่อมใส บวชในสำนักของพระบรมศาสดา เรียนกรรมฐานแล้ว เจริญวิปัสสนา บรรลุพระอรหัตแล้ว. สมดังคาถาประพันธ์ ที่ท่านกล่าวไว้ในอปทานว่า
เราได้ถวายผลมะขวิด แด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้มีพระฉวีวรรณงามดังทองคำ ผู้สมควรรับเครื่องบูชา กำลังเสด็จดำเนินอยู่ในถนน ในกัปที่ ๙๑ แต่กัปนี้ เราได้ถวายผลไม้ใดในกาลนั้น ด้วยการถวายผลไม้นั้น เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งการถวายผลไม้. เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ฯลฯ คำสอนของพระพุทธเจ้า เราทำสำเร็จแล้ว ดังนี้.
ก็ท่านบรรลุพระอรหัตแล้ว เมื่อจะบันลือสีหนาท ได้ภาษิตคาถาว่า
เราไม่มีความกลัวตาย ไม่มีความอาลัยในชีวิต จักเป็นผู้มีสติ สัมปชัญญะ ละทิ้งกายนี้ไป ดังนี้.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มรเณ ได้แก่ มรณนิมิต คือ เหตุแห่งความตาย.
บทว่า เม แปลว่า แก่เรา คือ ภัยไม่มีแก่เรา เพราะเราเป็นผู้มีชาติสิ้นแล้ว โดยที่รากเหง้าแห่งภพเราถอนขึ้นได้แล้ว. อธิบายว่า สำหรับผู้ที่ยังถอนภพขึ้นไม่ได้ จะพึงกลัวตายว่า การเกิดต่อไปของเรา เป็นเช่นไร หนอแล ดังนี้.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 155
บทว่า นิกนฺตี ได้แก่ ความเพ่งเล็ง คือตัณหา ความเพ่งเล็งในชีวิต ชื่อว่าย่อมไม่มี เพราะเข้าไปปรากฏด้วยดี โดยความที่อุปาทานขันธ์ทั้งหลายเป็นทุกข์ และหาสาระมิได้ เพราะความที่สังขารถูกพิจารณา ขยำขยี้มาแล้วเป็นอย่างดี. เราผู้เป็นแล้วอย่างนี้ จักทิ้ง คือจักทอดทิ้ง ร่างกายของตน คือสรีระ หรือร่างของตนกล่าวคือ เทหะ อันเป็นภาระ คือทุกข์และเมื่อจะทอดทิ้ง ก็คิดว่า กิจที่จะพึงยังประโยชน์ให้สำเร็จ ด้วยร่างกายนี้เราให้สำเร็จแล้ว บัดนี้ รางกายนั้นควรทิ้งไปได้โดยแท้ ดังนี้ ชื่อว่าเป็นผู้มีสัมปชัญญะ เพราะถึงความไพบูลย์ด้วยปัญญา ชื่อว่า มีสติ เพราะถึงความไพบูลย์ด้วยสติ จักทอดทิ้งไป ดังนี้. ก็พระเถระ ครั้นกล่าวคาถานี้แล้วเข้าฌาน ปรินิพพานแล้ว ในระหว่างนั้นเอง ฉะนี้แล.
จบอรรถกถาอชิตเถรคาถา
จบวรรควรรณนาที่ ๒
แห่งอรรถถกถาเถรคาถา ชื่อว่า ปรมัตถทีปนี.
ในวรรคนี้รวมพระเถระได้ ๑๐ รูปคือ
๑. พระจูฬวัจฉเถระ
๒. พระมหาวัจฉเถระ
๓. พระวนวัจฉเถระ
๔. พระสิวกเถระ
๕. พระกุณฑธานเถระ
๖. พระเพลัฏฐสีสเถระ
๗. พระทาสกเถระ
๘. พระสิงคาลปิตาเถระ
๙. พระกุฬเถระ
๑๐. พระอชิตเถระ และอรรถกถา.