พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๒. จิตตกเถรคาถา ว่าด้วยคาถาของพระจิตตกเถระ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  18 พ.ย. 2564
หมายเลข  40420
อ่าน  423

[เล่มที่ 50] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 162

เถรคาถา เอกนิบาต

วรรคที่ ๓

๒. จิตตกเถรคาถา

ว่าด้วยคาถาของพระจิตตกเถระ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 50]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 162

๒. จิตตกเถรคาถา

ว่าด้วยคาถาของพระจิตตกเถระ

[๑๕๙] ได้ยินว่า พระจิตตกเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้ อย่างนี้ว่า

นกยูงทั้งหลายมีขนเขียว ขนคองาม หงอนงาม พากันร่ำร้องอยู่ในป่าการวี นกยูงเหล่านั้น พากันร่ำร้องในเวลามีลมหนาว เจือด้วยฝน ย่อมปลุกบุคคลผู้เจริญฌานซึ่งหลับอยู่ให้ตื่น.

อรรถกถาจิตตกเถรคาถา

คาถาของท่านพระจิตตกเถระเริ่มต้นว่า นีลา สุคีวา. เรื่องราว ของท่านเป็นอย่างไร?

ได้ยินว่า ท่านสั่งสมกุศลอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพาน จำเดิมแต่กาลของพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพระนามว่าปทุมุตตระ ในกัปที่ ๙๑ นับแต่ภัทรกัปนี้ เกิดในกำเนิดมนุษย์ รู้เดียงสาแล้ว เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพระนามว่าวิปัสสี มีใจเลื่อมใสแล้ว กระทำการบูชาด้วยดอกไม้ ถวายบังคมแล้ว น้อมใจเชื่อในพระบรมศาสดาและในพระนิพพานว่า ขึ้นชื่อว่า ธรรมอันสงบระงับแล้ว พึงมีในพระศาสนานี้ ดังนี้. ด้วยบุญกรรมนั้น เขาจุติจากนั้นแล้ว เกิดในภพดาวดึงส์ หมั่นการทำบุญบ่อยๆ ท่องเที่ยวไปในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย แล้วเกิดเป็นบุตรของพราหมณ์ผู้สมบูรณ์ด้วยสมบัติ ในพระนครราชคฤห์ ในพุทธุปบาทกาลนี้ โดยนามมีชื่อว่า จิตตกะ เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จไปสู่พระนครราชคฤห์ ประทับอยู่ในเวฬุวันวิหาร

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 163

เขาเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ฟังธรรมแล้วได้ศรัทธา บรรพชาแล้วเรียนกัมมัฏฐานที่เหมาะแก่จริต เข้าไปสู่ราวป่า หมั่นเจริญภาวนาทำฌานให้เกิด แล้วเจริญวิปัสสนาที่มีฌานเป็นบาท บรรลุพระอรหัต โดยกาลไม่นานเลย. สมดังคาถาประพันธ์ ที่ท่านกล่าวไว้ในอปทานว่า

เราได้เห็นพระพุทธเจ้าผู้ปราศจากธุลี ทรงพระนามว่าวิปัสสี ผู้เป็นนายกของโลก โชติช่วงเหมือนต้นกรรณิการ์ ประทับนั่งที่ซอกเขา เราเก็บดอกกระดึงทอง ๓ ดอกมาบูชา ครั้นบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วเดินบ่ายหน้าไปทางทิศทักษิณ ด้วยกรรมที่ทำไว้ดีแล้วนั้น และด้วยเจตน์จำนงที่ตั้งไว้ เราละร่างมนุษย์แล้ว ได้ไปสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ในกัปที่ ๙๑ แต่ภัทรกัปนี้ เราได้บูชาพระพุทธเจ้าพระองค์ใด ด้วยพุทธบูชานั้น เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งพุทธบูชา. เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ฯลฯ คำสอนของพระพุทธเจ้า เรากระทำสำเร็จแล้ว ดังนี้.

ก็ท่านครั้นบรรลุพระอรหัตแล้ว เข้าไปสู่พระนครราชคฤห์ เพื่อถวายบังคมพระบรมศาสดา อันภิกษุทั้งหลายในวิหารนั้น ถามว่า อาวุโส ท่านเป็นผู้ไม่ประมาทแล้ว อยู่ในป่าหรือ? เมื่อจะพยากรณ์พระอรหัตตผล โดยประกาศถึงการอยู่อย่างไม่ประมาทของตน จึงได้ภาษิตคาถาว่า

นกยูงทั้งหลาย มีขนเขียว ขนคองาม พากันร่ำร้องอยู่ในป่าการวี นกยูงเหล่านั้น พากันร่ำร้อง ในเวลามีลมหนาวเจือด้วยฝน ย่อมปลุกบุคคลผู้เจริญฌาน ซึ่งหลับอยู่ให้ตื่น ดังนี้.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 164

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นีลาสุคีวา ถอดออกเป็น นีลสุคีวา. แต่ในคาถานี้ ท่านทำเป็นทีฆะ เพื่อสะดวกในการประพันธ์คาถา. อธิบายว่า ประกอบด้วยคออันงดงาม เพราะมีขนเป็นแนวยาว. ก็นกยูงเหล่านั้น ชื่อว่า มีสีเขียว เพราะโดยมากจะมีสีเขียว. ชื่อว่า สุคีวา เพราะเป็นสัตว์ที่มีลำคองาม.

บทว่า สิขิโน ความว่า มีหงอนโดยความมีสิริงามที่หงอน ซึ่งเกิดที่ศีรษะ. บทว่า โมรา ได้แก่ นกยูงทั้งหลาย. บทว่า การวิยํ ความว่า ที่ต้นกาลัมพะ. อีกอย่างหนึ่ง บทว่า การมฺพิยํ เป็นชื่อของป่านั้น. เพราะฉะนั้น บทว่า การมฺพิยะ จึงได้ความว่า ในป่าชื่อว่า การัมพะ.

บทว่า อภินนฺทนฺติ ความว่า นกยูงเหล่านั้นฟังเสียงฟ้าร้อง ในเวลาใกล้ฝนจะตก จะพากันส่งเสียงร้องระงม ดุจจะข่มสรรพสัตว์ มีหงส์ เป็นต้น ด้วยเสียงประสานขานรับความถึงพร้อมของฤดูกาล. บทว่า เต ได้แก่ นกยูงเหล่านั้น. บทว่า สีตวาตกีฬิตา ความว่า นกยูงเหล่านั้น อันความหนาว คือลมฝน โชยมาชวนให้ร่าเริง จึงร้องระงมอย่างไพเราะ.

บทว่า สุตฺตํ ได้แก่ หลับเพื่อจะบรรเทาความเมาอาหาร หรือหลับ เพื่อระงับความเมื่อยล้าแห่งร่างกาย ในเวลาที่ทรงอนุญาตไว้.

บทว่า ฌานํ ความว่า ผู้มีปกติเพ่งด้วยฌานคือสมถะและวิปัสสนา ได้แก่ประกอบเนืองๆ ซึ่งภาวนา.

บทว่า นิโพเธนฺติ ความว่า ปลุกให้ตื่น. อธิบายว่า ปลุกให้ลุกจากที่นอน ด้วยการยังสัมปชัญญะให้เกิดอย่างนี้ว่า แม้นกยูงเหล่านี้ ยังไม่นอน ตื่นอยู่ ย่อมกระทำกิจที่ตนควรกระทำ ส่วนตัวเราเล่า จะนอนเอาประโยชน์อะไร ดังนี้.

จบอรรถกถาจิตตกเถรคาถา