พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๓. โคสาลเถรคาถา ว่าด้วยคาถาของพระโคสาลเถระ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  18 พ.ย. 2564
หมายเลข  40421
อ่าน  473

[เล่มที่ 50] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 165

เถรคาถา เอกนิบาต

วรรคที่ ๓

๓. โคสาลเถรคาถา

ว่าด้วยคาถาของพระโคสาลเถระ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 50]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 165

๓. โคสาลเถรคาถา

ว่าด้วยคาถาของพระโคสาลเถระ

[๑๖๐] ได้ยินว่า พระโคสาลเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้ อย่างนี้ว่า

เราฉันข้าวมธุปายาสที่พุ่มกอไผ่ แล้วพิจารณาความเกิดและความเสื่อมไปแห่งขันธ์ทั้งหลาย โดยเคารพ จักกลับไปสู่สานุบรรพตที่เราเคยอยู่ แล้วเจริญวิเวกต่อไป.

อรรถกถาโคสาลเถรคาถา

คาถาของท่านพระโคสาลเถระเริ่มต้นว่า อหํ โข เวฬุคุมฺพสฺมึ. เรื่องราวของท่านเป็นอย่างไร?

แม้พระเถระนี้ ก็เป็นผู้มีอธิการอันกระทำไว้แล้ว ในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ สั่งสมกุศลอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานในภพนั้นๆ ในกัปที่ ๙๑ แต่ภัทรกัปนี้ เห็นบังสุกุลจีวรของพระปัจเจกพุทธเจ้า ห้อยอยู่ที่โคนไม้ ที่ภูเขาลูกใดลูกหนึ่ง มีจิตเลื่อมใสว่า ผ้าบังสุกุลนี้ เป็นธงชัยของพระอรหันต์หนอ ดังนี้แล้ว บูชาด้วยดอกไม้. ด้วยบุญกรรมนั้น ท่านไปบังเกิดในดาวดึงส์ พิภพ. จำเดิมแต่นั้น ก็ท่องเที่ยวไปในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เกิดในตระกูลที่มั่งคั่งในแคว้นมคธ ในพุทธุปบาทกาลนี้ โดยนามมีชื่อว่า โคสาล ก็เพราะเหตุที่ท่านมีความคุ้นเคย อันการทำไว้กับพระโสณโกฏิกัณณะ ครั้นสดับว่า พระโสณโกฏิกัณณะนั้นบวชแล้ว เกิดความสลดใจว่า ก็ขึ้นชื่อว่า

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 166

พระโสณโกฏิกัณณะแม้นั้น มีสมบัติมาก ยังบวชไซร้ ส่วนตัวเราเล่ามีอะไร เป็นเหตุ ดังนี้แล้ว บวชในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้า เรียนกัมมัฏฐาน อันเหมาะแก่จริยา (ของตน) เมื่อแสวงหาที่อยู่ ก็เลือกอยู่ที่ภูเขา ชื่อว่า สานุ แห่งหนึ่ง ไม่ไกลจากบ้านเกิดของตน. มารดาของท่านถวายภิกษาทุกๆ วัน.

วันหนึ่ง มารดาได้ถวายข้าวปายาส ที่เขาหุงด้วยน้ำผึ้งและน้ำตาลกรวด แก่ท่านผู้เข้าไปสู่บ้านเพื่อบิณฑบาต ท่านรับข้าวมธุปายาสนั้นแล้ว นั่งฉันที่โคนพุ่มไม้ไผ่แห่งใดแห่งหนึ่ง ใต้ร่มเงาของภูเขานั้น ล้างบาตรและมือแล้ว เริ่มเจริญวิปัสสนา. ท่านเป็นผู้มีจิตตั้งมั่น เพราะมีกายและจิตสบาย โดยได้โภชนะเป็นที่สบาย เมื่อญาณมีอุทยัพพยญาณเป็นต้น แข็งกล้าดำเนินไปอยู่ ขวนขวายวิปัสสนา แล้วยังภาวนาให้ถึงที่สุด ตามลำดับแห่งมรรค กระทำให้แจ้งซึ่งพระอรหัต โดยไม่ยากลำบากเลย. สมดังคาถาประพันธ์ที่ท่าน กล่าวไว้ในอปทานว่า

ในที่ไม่ไกลภูเขาหิมวันต์ มีภูเขาลูกหนึ่งชื่ออุทังคณะ ที่ภูเขานั้น เราได้เห็นผ้าบังสุกุลจีวรห้อยอยู่บนยอดไม้ ครั้งนั้น เราร่าเริง มีจิตยินดี เลือกเก็บเอาดอกกระดึงทอง ๓ ดอก มาบูชาผ้าบังสุกุลจีวร ด้วยกรรมที่ทำไว้ดีแล้ว และด้วยการตั้งเจตน์จำนงไว้ เราละร่างมนุษย์แล้ว ได้ไปสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ในกัปที่ ๙๑ แต่ภัทรกัปนี้ เราได้ทำกรรมใดในกาลนั้น เพราะบูชาธงชัยแห่งพระอรหันต์ เราไม่รู้จักทุคติเลย. เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ฯลฯ คำสอนของพระพุทธเจ้า เราทำสำเร็จแล้ว ดังนี้.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 167

ก็ท่านครั้นบรรลุพระอรหัตแล้ว มีความประสงค์จะไปยังภูเขาชื่อว่า สานุเท่านั้น เพื่อต้องการจะอยู่เป็นสุขในทิฎฐธรรม เมื่อจะประกาศข้อปฏิบัติของตน จึงได้ภาษิตคาถาว่า

เราฉันข้าวมธุปายาสที่พุ่มกอไผ่แล้ว พิจารณาความเกิดและความเสื่อมไปแห่งขันธ์ทั้งหลาย โดยความเคารพ จักกลับไปสู่สานุบรรพตที่เราเคยอยู่ แล้วเจริญวิเวกต่อไป ดังนี้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เวฬุคุมฺพสฺมึ ความว่า ใกล้พุ่มไม้ไผ่ คือที่ร่มเงา แห่งพุ่มไผ่นั้น.

บทว่า มธุปายาสํ ความว่า บริโภคข้าวปายาสที่เขาหุงด้วยน้ำผึ้ง. บทว่า ปทกฺขิณํ ความว่า ด้วยการรับเอาโดยเบื้องขวา อธิบายว่า ด้วยการรับเอาพระโอวาทของพระศาสดาโดยชอบ.

บทว่า สมฺมสนฺโต ขนฺธานํ อุทยพฺพยํ ความว่า พิจารณาความเกิดขึ้น และความสิ้นไปแห่งอุปาทานขันธ์ ๕ อธิบายว่า แม้ถ้าว่า ทำกิจเสร็จแล้วในบัดนี้ แต่ต้องเริ่มตั้งวิปัสสนาเพื่อเข้าผลสมาบัติ.

บทว่า สานํ ปฏิคฺคณฺหิสฺสามิ ความว่า เราจักมุ่งไปสานุบรรพต อันเราเคยอยู่แล้วในก่อน.

บทว่า วิเวกมนุพฺรูทเย ความว่า เพิ่มพูนปฏิปัสสัทธิวิเวก และ กายวิเวกคือผลสมาบัติ หรือจักไป โดยมีการเพิ่มพูนวิเวกนั้นเป็นเหตุ. ก็ พระเถระครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ไปที่สานุบรรพตนั้นนั่นแหละ. ก็คาถานี้แล ได้เป็นคาถาพยากรณ์พระอรหัตตผลของพระเถระนั้น.

จบอรรถกถาโคสาลเถรคาถา