พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๕. นันทิยเถรคาถา ว่าด้วยคาถาของพระนันทิยเถระ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  18 พ.ย. 2564
หมายเลข  40423
อ่าน  575

[เล่มที่ 50] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 171

เถรคาถา เอกนิบาต

วรรคที่ ๓

๕. นันทิยเถรคาถา

ว่าด้วยคาถาของพระนันทิยเถระ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 50]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 171

๕. นันทิยเถรคาถา

ว่าด้วยคาถาของพระนันทิยเถระ

[๑๖๒] ได้ยินว่า พระนันทิยเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้ อย่างนี้ว่า

จิตของภิกษุใด ได้บรรลุผลญาณ สว่างรุ่งเรืองอยู่เป็นนิตย์ ท่านมาเบียดเบียนภิกษุนั้นเข้า จักได้รับทุกข์แน่นอน นะมาร.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 172

อรรถกถานันทิยเถรคาถา

คาถาของท่านพระนันทิยเถระเริ่มต้นว่า โอภาสชาตํ. เรื่องราวของ ท่านเป็นอย่างไร?

ได้ยินว่า ในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ เมื่อพระศาสดาเสด็จปรินิพพานแล้ว ท่านให้เขาทำไพรที ด้วยไม้แก่นจันทน์ไว้ในพระเจดีย์ ยังการบูชาสักการะอันโอฬารให้เป็นไปแล้ว จำเดิมแต่นั้น ท่านเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยอัธยาศัย สั่งสมบุญกรรมอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานไว้ในภพนั้นๆ เป็นอันมาก ท่องเที่ยวไปในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย แล้วบังเกิดในตระกูลแห่งศากยราชในกรุงกบิลพัสดุ์ ในพุทธุปบาทกาลนี้. มารดาบิดาของท่าน เกิดความชื่นชมยินดี เพราะฉะนั้น จึงให้ชื่อว่า นันทิยะ. นันทิยกุมาร เจริญวัยแล้ว เมื่อพวกเจ้าศากยะทั้งหลายมีเจ้าอนุรุทธะ เป็นต้น บวชในสำนักของพระบรมศาสนา แม้ตัวท่านเองก็บรรพชาแล้ว เจริญวิปัสสนา บรรลุพระอรหัต ต่อกาลไม่นานนัก เพราะเป็นผู้มีอธิการอันกระทำไว้แล้ว. สมด้วยคาถาประพันธ์ที่ท่านกล่าวไว้ในอปทานว่า

พระชินสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า ปทุมุตตระ ผู้เป็นเชษฐบุรุษของโลก ผู้ประเสริฐกว่านระ รุ่งเรืองดุจกองอัคคี ปรินิพพานแล้ว เมื่อพระมหาวีระเจ้านิพพานแล้ว ได้มีสถูปอันกว้างใหญ่ ชนทั้งหลายเอาสิ่งของที่จะพึงถวายเข้าไปตั้งไว้ที่สถูปในห้องพระธาตุอันประเสริฐสุดในกาลนั้น เรามีจิตเลื่อมใส มีใจโสมนัสได้ทำไพรทีไม้จันทน์อันหนึ่ง อันสมบูรณ์แก่สถูป

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 173

และถวายธูปและของหอม ในภพที่เราเกิด คือ ในอัตภาพเทวดาหรือมนุษย์ เราไม่เห็นความที่เราเป็นผู้ต่ำทรามเลย นี้เป็นผลแห่งบุญกรรม. ในกัปที่ ๑,๕๐๐ แต่ภัทรกัปนี้ ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๘ พระองค์ ทรงพระนามว่า สมัตตะ ทุกพระองค์มีพลมาก. คุณวิเศษเหล่านี้ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ อภิญญา ๖ เราทำให้แจ้งชัดแล้ว เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ฯลฯ คำสอนของพระพุทธเจ้า เรากระทำสำเร็จแล้ว ดังนี้.

ก็เมื่อพระเถระนี้ บรรลุพระอรหัตแล้ว อยู่ในปาจีนวังสมิคทายวัน ร่วมกับพระเถระทั้งหลาย มีพระเถระชื่อว่า อนุรุทธะเป็นต้น. วันหนึ่ง มารผู้มีบาป มีความประสงค์จะทำให้ท่านกลัว จึงสำแดงรูปที่น่ากลัวแก่ท่าน. พระเถระรู้ทันว่าเป็นมารนั่นเอง เมื่อแสดงว่า ดูก่อนมารผู้มีบาป พระอริยบุคคลเหล่าใด ล่วงพ้นบ่วงแห่งมารได้แล้ว กิริยาของท่าน จักทำอะไรพระอริยบุคคลเหล่านั้นได้ ตัวท่านนั่นแหละ จักถึงความคับแค้น ความฉิบหาย มีการกระทำ นั้นเป็นเหตุ จึงได้ภาษิตคาถาว่า

จิตของภิกษุใด ได้บรรลุผลญาณ สว่างรุ่งเรืองอยู่เป็นนิตย์ ท่านมาเบียดเบียนภิกษุนั้นเข้า จักได้รับทุกข์มหันต์ นะมาร ดังนี้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โอภาสชาตํ ความว่า ชื่อว่ามีแสงสว่างเกิดแล้ว ด้วยโอภาสคือญาณ เพราะได้บรรลุมรรคญาณอันเลิศแล้ว. อธิบายว่า ชื่อว่าผ่องใสเหลือเกิน เพราะความมืดคือกิเลส ถูกญาณอันเลิศนั้น กำจัดหมดสิ้นแล้วโดยไม่เหลือ.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 174

บทว่า ผลคฺคํ ความว่า ถึง คือเข้าถึงแล้วซึ่งผล อธิบายว่า ประกอบด้วยอัครผลญาณ.

พระเถระเรียกจิตของพระขีณาสพว่า จิต โดยความเป็นสภาพสามัญ ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า อภิณฺหโส. ก็จิตนั้นของพระขีณาสพทั้งหลายไหวอยู่เป็นนิตย์ เพราะน้อมไปในนิโรธ จึงควรที่จะกล่าวว่า ประกอบแล้วด้วยผล เพราะเข้าถึงอรหัตตผลสมาบัติ.

บทว่า ตถารูปํ ความว่า มีอย่างนั้นเป็นรูป อธิบายว่า ได้แก่ พระอรหันต์ทั้งหลาย.

บทว่า อาสชฺช ได้แก่ ข่มขู่ คุกคาม.

พระเถระ เรียกมารว่า กัณหะ อธิบายว่า มารนั้น ท่านเรียกว่า กัณหะ เพราะมีกรรมหยาบช้าและเพราะมีชาติเลวทราม.

บทว่า ทุกฺขํ นิคจฺฉติ ความว่า ท่านจักเข้าถึง คือ ประสบทุกข์อันทำกายให้ลำบาก ไร้ประโยชน์ โดยการเข้าไปสู่ท้อง (มารดา) เป็นต้น ในชาตินี้ และอบายทุกข์อันก่อความเดือดร้อนในภพหน้า. มารฟังดังนั้นแล้วรู้ว่า พระสมณะรู้จักเรา จึงหายไปที่นั้นเอง ฉะนี้แล.

จบอรรถกถานันทิยเถรคาถา