พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๖. อภัยเถรคาถา ว่าด้วยคาถาของพระอภัยเถระ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  18 พ.ย. 2564
หมายเลข  40424
อ่าน  466

[เล่มที่ 50] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 175

เถรคาถา เอกนิบาต

วรรคที่ ๓

๖. อภัยเถรคาถา

ว่าด้วยคาถาของพระอภัยเถระ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 50]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 175

๖. อภัยเถรคาถา

ว่าด้วยคาถาของพระอภัยเถระ

[๑๖๓] ได้ยินว่า พระอภัยเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้ อย่างนี้ว่า

เราได้ฟังพระวาจาอันเป็นสุภาษิตของพระพุทธเจ้า ผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระอาทิตย์ จึงได้รู้แจ้งแทงตลอดซึ่งธรรมอันละเอียด เหมือนบุคคลยิงปลายขนทราย ด้วยลูกศร ฉะนั้น.

อรรถกถาอภัยเถรคาถา

คาถาของท่านพระอภัยเถระเริ่มต้นว่า สุตฺวา สุภาสิตํ วาจํ. เรื่องราวของท่านเป็นอย่างไร?

ได้ยินว่า ท่านบวชในศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพระนามว่า ปทุมุตตระ เป็นพระธรรมกถึก ในเวลาจะแสดงธรรม กล่าวชมพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยคาถา ๔ คาถาก่อน แล้วจึงแสดงธรรมในภายหลัง. ด้วยกำลังแห่งบุญกรรมนั้น ขึ้นชื่อว่า การปฏิสนธิในอบาย ไม่เคยมีแก่ท่านตลอดแสนแห่งกัป. สมดังที่ท่านกล่าวคำเป็นคาถาไว้ว่า

พระอภัยเถระ ผู้มีจิตเลื่อมใสแล้ว กล่าวสรรเสริญพระชินเจ้า ทรงพระนามว่า ปทุมุตตระ

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 176

ผู้เป็นพระสยัมภู ท่านเป็นผู้มีศรัทธาโอฬาร ไม่ต้องไปสู่อบายภูมิ ตลอดแสนกัป ดังนี้.

ท่านเป็นผู้มีห้วงแห่งบุญ ห้วงแห่งกุศล หาประมาณมิได้ ได้เป็นเช่นนั้น เพราะสมบัติมีเขตสมบัติเป็นต้น และเพราะบุรพเจตนา ปัจฉิมเจตนา และสันนิฏฐานเจตนา ของท่านโอฬารเหลือเกิน. สมดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า วิบากของผู้ที่เลื่อมใสในอจินไตย ย่อมเป็นอจินไตย ดังนี้. ก็บุญที่ท่านสั่งสม ไว้ในภพนั้นๆ ย่อมเป็นอุปัตถัมภกปัจจัยแก่ท่าน. จริงอย่างนั้น ท่านได้ทำการบูชาพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพระนามว่า วิปัสสี ด้วยดอกลำเจียก ด้วยผลบุญ อันพิเศษโอฬารเช่นนี้ ท่านท่องเที่ยวไปแต่ในสุคติภพเท่านั้น เกิดเป็นพระโอรส ของพระเจ้าพิมพิสาร ในพุทธปบาทกาลนี้ ท่านได้มีนามว่า อภัย. เรื่องราวของท่าน จักแจ่มแจ้งข้างหน้า (ต่อไป). ท่านอันนิครนถนาฏบุตรให้ศึกษาปัญหา ๒ เงื่อน แล้วถูกส่งไปด้วยสั่งว่า ท่านจงถามปัญหานี้ แล้วยกวาทะข่มพระสมณโคดม ดังนี้ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ทูลถามปัญหานั้น เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสถึงความที่ปัญหานั้น เป็นอเนกังสพยากรณ์ ความปราชัยจึงมีแก่พวกนิครนถ์ และท่านก็รู้ความที่พระศาสดาเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงประกาศความเป็นอุบาสก.

ต่อแต่นั้น เมื่อพระเจ้าพิมพิสารสวรรคตแล้ว ท่านเกิดความสังเวชแล้ว บวชในพระศาสนาเป็นพระโสดาบัน เพราะทรงแสดง ตาลัจฉิคคฬูปมสูตร ปรารภวิปัสสนากระทำให้แจ้งพระอรหัตแล้ว. สมดังคาถาประพันธ์ที่ท่าน กล่าวไว้ในอปทานว่า

พระพุทธเจ้าผู้อุดมบุรุษ ประทับอยู่ ณ ฝั่งน้ำวินตานที เราได้พบพระพุทธเจ้าผู้ปราศจากกิเลสธุลี

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 177

เป็นเอกอรรคบุคคล มีพระทัยตั้งมั่นดี ครั้งนั้น เรามีจิตเลื่อมใส มีใจโสมนัส บูชาพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุด ด้วยดอกลำเจียก ซึ่งมีกลิ่นหอมเหมือนน้ำผึ้ง ในกัปที่ ๙๒ แต่ภัทรกัปนี้ เราได้บูชาด้วยดอกไม้ใด ด้วยการบูชานั้นเราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งพุทธบูชา. เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ฯลฯ คำสอนของพระพุทธเจ้าเรากระทำสำเร็จแล้ว ดังนี้.

ก็ท่านครั้นบรรลุพระอรหัตแล้ว เมื่อจะพยากรณ์พระอรหัตตผล โดยประกาศข้อปฏิบัติของตน จึงได้ภาษิตคาถาว่า

เราได้ฟังพระวาจาอันเป็นสุภาษิตของพระพุทธเจ้า ผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระอาทิตย์ จึงได้รู้แจ้งแทงตลอดซึ่งพระธรรม อันละเอียดเหมือนบุคคลยิงปลายขนทราย ด้วยลูกศรฉะนั้น ดังนี้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สุตฺวา ความว่า เงี่ยโสตลง เข้าไปทรงไว้ ด้วยการแล่นไปตามแห่งโสตทวาร.

บทว่า สุภาสิตํ ความว่า ตรัสดีแล้ว คือตรัสแล้วโดยชอบนั่นเอง ได้แก่ ธรรมกถาที่ประกาศอริยสัจ ๔ อันพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ไม่ทรงยังอะไรๆ ให้ผิดพลาด ตรัสแล้ว โดยยังประโยชน์ ตามที่พระองค์ทรงประสงค์ให้สำเร็จโดยส่วนเดียว เพราะความเป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ และเพราะความเป็นผู้มีมหากรุณา. อธิบายว่า พระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าที่พ้นไปจากสัจจธรรม ไม่มีเลย.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 178

บทว่า พุทฺธสฺส ได้แก่ พระสัพพัญญูพุทธเจ้า. บทว่า อาทิจฺจพนฺธุโน ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า อาทิจจพันธุ์ เพราะ อรรถว่า มีพระอาทิตย์เป็นเผ่าพันธุ์ เพราะประสูติในอาทิตยวงศ์. ของพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นเผ่าพันธุ์ แห่งพระอาทิตย์พระองค์นั้น. อีกอย่างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพระนามว่า อาทิจจพันธุ์ เพราะอรรถว่า เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระอาทิตย์ เพราะความที่พระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นโอรสแห่งพระอาทิตย์นั้น. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า

สุริยะใดเป็นผู้ส่องแสง การทำความสว่างในที่มืดมิด มีสัณฐานเป็นวงกลม มีเดชสูง ดูก่อนราหู ท่านอย่ากลืนกินสุริยะนั้น ผู้เที่ยวไปในอากาศ ดูก่อนราหู ท่านจงปล่อยสุริยะ ผู้เป็นบุตรของเรา ดังนี้.

บทว่า ปจฺจพฺยธึ แปลว่า แทงตลอดแล้ว. อีกอย่างหนึ่ง ศัพท์ว่า หิ เป็นเพียงนิบาต.

บทว่า นิปฺณํ ความว่า ละเอียดอ่อน คือ สุขุมอย่างยิ่ง ได้แก่ นิโรธสัจ หรืออริยสัจนั่นเอง. อีกอย่างหนึ่ง ศัพท์ว่า หิ เป็นนิบาต ลงใน อรรถแห่งเหตุ. ความก็ว่า เพราะแทงตลอดแล้ว ซึ่งสัจจธรรมทั้ง ๔ อันละเอียดอ่อน ฉะนั้น สิ่งอะไรที่จะต้องแทงตลอดอีก ในบัดนี้จึงไม่มี. เพื่อจะตอบคำถามที่ว่า เหมือนแทงตลอดซึ่งอะไร พระเถระจึงกล่าวว่า เหมือน บุคคลแทงปลายขนทรายด้วยลูกศร ฉะนั้น. ประกอบความว่า แทงตลอด อริยสัจ ๔ อันละเอียดอ่อน เหมือนนายขมังธนูผู้ฉลาด ผู้ศึกษาดีแล้ว ยิงปลายขนทราย ที่ผ่าแล้ว ๗ ส่วน ด้วยลูกศร คือลูกเกาทัณฑ์ไม่ให้พลาดฉะนั้น.

จบอรรถกถาอภัยเถรคาถา