พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑. คหวรตีริยเถรคาถา ว่าด้วยคาถาของพระคหวรตีริยเถระ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  18 พ.ย. 2564
หมายเลข  40429
อ่าน  383

[เล่มที่ 50] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 194

เถรคาถา เอกนิบาต

วรรคที่ ๔

๑. คหวรตีริยเถรคาถา

ว่าด้วยคาถาของพระคหวรตีริยเถระ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 50]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 194

เถรคาถา เอกนิบาต วรรคที่ ๔

๑. คหวรตีริยเถรคาถา

ว่าด้วยคาถาของพระคหวรตีริยเถระ

[๑๖๘] ได้ยินว่า พระคหวรตีริยเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้ อย่างนี้ว่า

บุคคล ถูกยุง และเหลือบกัดแล้ว ในป่าใหญ่ พึงเป็นผู้มีสติ อดทนต่อสัมผัสแห่งยุง และเหลือบ ในป่าใหญ่นั้น เหมือนช้างอดทนต่อการถูกอาวุธในสงคราม ฉะนั้น.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 195

วรรควรรณนาที่ ๔

อรรถกถาคหวรตีริยเถรคาถา

คาถาของพระคหวรตีริยเถระเริ่มต้นว่า ผฺฏโ ฑํเสติ. เรื่องราวเป็นอย่างไร.

ได้ยินว่า ท่านมีอธิการอันกระทำไว้แล้ว ในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ ในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพระนามว่า สิขี ในกัปที่ ๓๑ แต่ภัทรกัปนี้ (เกิด) เป็นนายพรานเนื้อ เที่ยวไปในป่าได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า สิขี ทรงแสดงธรรมแก่เทวดา นาค และยักษ์ทั้งหลายที่โคนต้นไม้แห่งใดแห่งหนึ่ง. ก็ครั้นเห็นแล้ว ก็มีจิตเลื่อมใส ได้ถือเอานิมิตในเสียงว่า ธรรมนี้อันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอยู่ ด้วยการที่มีจิตเลื่อมใสนั้น ท่านเกิดในเทวโลก ท่องเที่ยวไปๆ มาๆ อยู่ในสุคติภพนั่นแหละอีก แล้วเกิดในตระกูลพราหมณ์ ในพระนครสาวัตถี ในพุทธุปบาทกาลนี้ ได้นามว่า อัคคิทัตตะ เจริญวัยแล้ว เห็นยมกปาฏิหาริย์ของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว เกิดความเลื่อมใส บวชในพระศาสนา เรียนกรรมฐาน อยู่ในราวป่า ชื่อว่า" คหวรตีระ" ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงได้นามว่า " คหวรตีริยะ."

ท่านเจริญวิปัสสนาแล้ว บรรลุพระอรหัตต่อกาลไม่นานนัก. สมดังคาถาประพันธ์ ที่ท่านกล่าวไว้ในอปทานว่า

เมื่อก่อน เราเป็นพรานเนื้อ เที่ยวอยู่ในป่าอันสงัดเงียบ ได้พบพระพุทธเจ้าผู้ปราศจากกิเลสธุลี อันหมู่เทวดาห้อมล้อม กำลังทรงประกาศสัจจะ ๔

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 196

ทรงแสดงอมตบท เราได้สดับธรรมอันไพเราะของพระพุทธเจ้า ผู้เผ่าพันธุ์ของโลก พระนามว่า สิขี เรายังจิตให้เลื่อมใสในพระสุรเสียง เรายังจิตให้เลื่อมใสในพระองค์ ท่านผู้ไม่มีบุคคลเปรียบเสมอเหมือนแล้ว ข้ามพ้นภพที่ข้ามได้ยาก ในกัปที่ ๓๑ แต่ภัทรกัปนี้ เราได้สัญญาใดในกาลนั้น ด้วยการได้สัญญานั้น เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งสัญญาในเสียง. เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ฯลฯ คำสอนของพระพุทธเจ้า เรา กระทำเสร็จแล้ว ดังนี้.

ก็พระเถระนั้น ครั้นบรรลุพระอรหัตแล้ว ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ไปสู่พระนครสาวัตถีแล้ว. ญาติทั้งหลายพึงข่าวว่าท่านมาแล้ว พากันเข้าไปหา บำเพ็ญมหาทานแล้ว. ท่านพักอยู่ชั่ววันเล็กน้อย ประสงค์จะกลับไปสู่ป่านั่นอีก. ญาติทั้งหลายได้พูดกะท่านว่า ท่านเจ้าข้า ขึ้นชื่อว่าป่า มีอันตรายมาก ด้วยสามารถแห่งยุงและเหลือบ เป็นต้น ขอท่านจงอยู่ในที่นี้แหละ. พระเถระฟังดังนั้นแล้ว กล่าวว่า ป่าอย่างเดียวเท่านั้น เป็นที่ชอบใจของเรา เมื่อจะพยากรณ์พระอรหัตตผล ด้วยมุขคือการประกาศความยินดีในวิเวก ได้ภาษิตคาถาว่า

บุคคลถูกยุงและเหลือบกัดแล้วในป่าใหญ่ พึงเป็นผู้มีสติ อดทนต่อสัมผัสแห่งยุงและเหลือบในป่าใหญ่นั้น เหมือนช้างอดทนต่อการถูกอาวุธในสงคราม ฉะนั้น.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 197

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ผุฏฺโ ฑํเสติ มกเสหิ ความว่า บุคคลที่ถูกแมลงที่แฝงตัวอยู่ในความมืด อันได้นามว่า ยุง เพราะชอบกัด และสัตว์ที่มีปากคมเหมือนเข็ม ที่รู้จักกันว่าเหลือบ สัมผัสคือกัดแล้ว.

บทว่า อรญฺญสฺมึ ความว่า ชื่อว่าในป่า เพราะประกอบด้วยลักษณะของป่า อันท่านกล่าวไว้ว่า หลังจากหมู่บ้านไป ๕๐๐ ช่วงธนู.

บทว่า พฺรหาวเน ความว่า ในป่าใหญ่ชื่อว่า อรัญญานี เพราะ รกชัฏไปด้วยต้นไม้ใหญ่ และสุมทุมพุ่มพฤกษ์.

บทว่า นาโคว สงฺคามสีเสว ความว่า เหมือนช้างตัวประเสริฐ ที่เข้าสู่สงคราม อดทนการถูกอาวุธของทหารฝ่ายข้าศึกในสนามรบ. บุคคลผู้ เกิดอุตสาหะว่า ขึ้นชื่อว่าการอยู่ป่า อันบัณฑิตทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ทรงสรรเสริญแล้ว ชมเชยแล้ว ดังนี้ ชื่อว่า สโต คือเป็นผู้มีสติในที่นั้น คือในป่าใหญ่นั้น. อีกอย่างหนึ่ง เมื่อสัมผัสแห่งยุงเป็นต้นนั้นปรากฏแล้ว พึงอดทนคืออดใจ ได้แก่อดกลั้น. อธิบายว่า ไม่พึงละการอยู่ป่าเสีย ด้วยคิดว่า ยุงเป็นต้น เบียดเบียนเรา ดังนี้.

จบอรรถกถาคหวรตีริยเถรคาถา