พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๗. กุมาปุตตสหายเถรคาถา ว่าด้วยคาถาของพระกุมาบุตรสหายเถระ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  18 พ.ย. 2564
หมายเลข  40438
อ่าน  385

[เล่มที่ 50] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 220

เถรคาถา เอกนิบาต

วรรคที่ ๔

๗. กุมาปุตตสหายเถรคาถา

ว่าด้วยคาถาของพระกุมาบุตรสหายเถระ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 50]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 220

๗. กุมาปุตตสหายเถร คาถา

ว่าด้วยคาถาของพระกุมาบุตรสหายเถระ

[๑๗๔] ได้ยินว่า พระกุมาบุตรสหายเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้ อย่าง นี้ว่า

ภิกษุทั้งหลายไม่สำรวม กาย วาจา ใจ พากัน เที่ยวไปสู่ชนบทต่างๆ ทอดทิ้งสมาธิ การเที่ยวไปสู่ แคว้นต่างๆ จักสำเร็จประโยชน์อะไรเล่า เพราะฉะนั้น ภิกษุพึงกำจัดความแข่งดี อย่าให้มิจฉาวิตกและกิเลส มีตัณหาเป็นต้นครอบงำ พึงเจริญฌาน.

อรรถกถากุมาปุตตสหายเถรคาถา

คาถาของท่านพระกุมาบุตรสหายเถระ เริ่มต้นว่า นานาชนปทํ ยนฺติ. เรื่องราวของท่านเป็นอย่างไร?

ได้ยินว่า ท่านมีอธิการอันกระทำไว้แล้วในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ เข้าไปสั่งสมกุศลอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานไว้ในภพนั้นๆ เกิดในเรือนมีตระกูล ในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพระนามว่า สิทธัตถะ ในกัปที่ ๙๔ แต่ภัทรกัปนี้ถึงความเป็นผู้รู้แล้ว เข้าไปสู่ป่าตัดท่อนไม้เป็นอันมาก ทำไม้เท้าถวายสงฆ์. และเขากระทำบุญตามสมควรแก่สมบัติอย่างอื่น (อีก) แล้วเกิดในหมู่เทพ จำเดิมแต่นั้นก็ท่องเที่ยวอยู่ในสุคติอย่างเดียวเท่านั้น

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 221

เกิดในตระกูลที่มั่งคั่ง ในเวฬุกัณฎกนคร ในพุทธุปบาทกาลนี้ เขาได้มีนามว่า "สุทันตะ". อาจารย์บางพวกเรียกว่า "วาสุละ". เขาเป็นสหายรักของท่าน พระกุมาบุตรเถระ (เคย) ท่องเที่ยว (มาด้วยกัน) ฟังข่าวว่า กุมาบุตรกุมาร บวชแล้ว คิดว่าก็กุมาบุตรกุมารบวชแล้วในพระธรรมวินัยใด ธรรมวินัย นั้นคงไม่ต่ำต้อยเป็นแน่ ดังนี้แล้ว ด้วยความผูกพันในท่านพระกุมาบุตรเถระ ผู้เคยเป็นสหายรักนั้น ก็มีความประสงค์จะบวชแม้ด้วยตนเอง เข้าไปสู่สำนักของพระบรมศาสดาแล้ว. พระบรมศาสดาทรงแสดงธรรมแก่เขาแล้ว เขาเกิดมีฉันทะในบรรพชาเหลือประมาณ บวชแล้ว เป็นผู้ขวนขวายในภาวนาอยู่ท้ายภูเขา ร่วมกับพระกุมาบุตรเถระนั่นแหละ. ก็โดยสมัยนั้น ภิกษุมากรูปด้วยกัน เที่ยวจาริกไปยังชนบท ในชนบทต่างๆ ไปบ้าง มาบ้าง เข้าไปถึงที่นั้นแล้ว. ด้วยเหตุนั้น จึงเกิดโกลาหลขึ้นที่ท้ายภูเขานั้น. พระสุทันตเถระเห็นดังนั้น ก็เกิดความสลดใจว่า ภิกษุเหล่านี้ บวชในพระศาสนาที่เป็นนิยยานิกธรรม ระเริงไปกับวิตกในชนบท ย่อมทำจิตที่เป็นสมาธิให้เคลื่อนคลาด กระทำความ สังเวชนั้นแหละให้เป็นขอสับ ฝึกจิตของตนได้ภาษิตคาถาว่า

ภิกษุทั้งหลายไม่สำรวม กาย วาจา ใจ พากัน เที่ยวไปสู่ชนบทต่างๆ ทอดทิ้งสมาธิ การเที่ยวไปสู่ แคว้นต่างๆ จักสำเร็จประโยชน์อะไรเล่า เพราะฉะนั้น ภิกษุพึงกำจัดความแข่งดี อย่าให้มิจฉาวิตก และกิเลสมีตัณหาเป็นต้นครอบงำ พึงเจริญฌาน ดังนี้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นานาชนปทํ ได้แก่ชนบทที่แตกต่างกัน ลักษณะต่างๆ กัน. อธิบายว่า ได้แก่แคว้นเป็นอเนก มีแคว้นกาสี และ แคว้นโกศลเป็นต้น.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 222

บทว่า ยนฺติ แปลว่า ย่อมไป. บทว่า วิจรนฺตา ความว่า เที่ยวจาริกไปสู่ชนบท ด้วยสามารถแห่งวิตก มีอาทิว่า ชนบทโน้นหาภิกษาได้ง่าย หาอาหารได้ง่าย ชนบทโน้นปลอดภัย ไม่มีโรค.

บทว่า อสญฺญตา ความว่า ชื่อว่ามีจิตไม่สำรวมแล้ว เพราะละไม่ได้ ซึ่งวิตกในชนบทนั้นนั่นแหละ.

บทว่า สมาธิญฺจ วิราเธนฺติ ความว่า และชื่อว่ายังสมาธิ อันต่างด้วยอุปจารสมาธิ และอัปปนาสมาธิ อันเป็นพื้นฐานของอุตริมนุสธรรม แม้ทั้งปวงให้เคลื่อนคลาด. จ ศัพท์ใช้ในอรรถ แห่งความสรรเสริญ. เมื่อไม่ได้บรรลุสมาธิที่ยังไม่ได้บรรลุ เพราะไม่มีโอกาสเพื่อจะเพ่ง โดยมัวท่องเที่ยวไประหว่างประเทศ ทั้งยังชื่อว่าทำสมาธิที่ถึงแล้วให้เคลื่อนคลาด เพราะเสื่อมไปโดยยังไม่ถึงความชำนาญ.

บทว่า สุ ในบาทคาถาว่า กึสุ รฏฺจริยา กริสฺสติ เป็นเพียง นิบาต. พระเถระเมื่อจะตำหนิ จึงกล่าวว่า การท่องเที่ยวไปสู่แว่นแคว้น คือ ท่องเที่ยวไปตามชนบทของภิกษุผู้เป็นอย่างนี้ จักกระทำอะไรได้ คือ จักยังประโยชน์อย่างไหนให้สำเร็จ เพราะเป็นสิ่งไร้ประโยชน์.

บทว่า ตสฺมา ความว่า เพราะการเที่ยวไปสู่ประเทศอื่นเช่นนี้ ย่อมไม่นำประโยชน์มาให้แก่ภิกษุ ทั้งยังชื่อว่านำซึ่งความฉิบหายมาให้โดยแท้แล เพราะทำให้พลาดจากสมบัติทั้งหลาย.

บทว่า วิเนยฺย สารมฺภํ ความว่า กำจัดคือเข้าไปสงบระงับความแข่งดี อันได้แก่ความเศร้าหมองแห่งจิตที่บังเกิดขึ้น ด้วยสามารถแห่งความยินดีในประเทศที่อยู่ด้วยการพิจารณาอันสมควรแก่ความเศร้าหมองแห่งจิตนั้น.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 223

บทว่า ฌาเยยฺย ความว่า พึงเพ่งด้วยฌานแม้ทั้งสองอย่าง คือ อารัมมณูปนิชฌาน และลักขณูปนิชฌาน.

บทว่า อปุรกฺขโต ความว่า ไม่ยอมให้มิจฉาวิตก หรือกิเลสมีตัณหา เป็นต้นครอบงำได้. อธิบายว่า ไม่เข้าไปสู่อำนาจแห่งกิเลสเหล่านั้น พึงกระทำไว้ในใจ เฉพาะกรรมฐานอย่างเดียว.

ก็พระเถระครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว กระทำความสังเวชนั้นแหละให้เป็นขอสับ เจริญวิปัสสนา บรรลุพระอรหัตแล้ว. สมดังคาถาประพันธ์ที่ท่านกล่าวไว้ในอปทานว่า

ครั้งนั้น เราเข้าไปยังป่าใหญ่ ตัดเอาไม้ไผ่มาทำเป็นไม้เท้า ถวายแด่พระสงฆ์ เรากราบไหว้ท่านผู้มีวัตรอันงามด้วยจิตเลื่อมใสนั้น เราถวายไม้เท้าแล้ว เดินบ่ายหน้าไปทางทิศอุดร ในกัปที่ ๙๔ แต่ภัทรกัปนี้ เราได้ถวายไม้เท้าใดในกาลนั้น ด้วยการถวายไม้เท้านั้น เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งการถวายไม้เท้า เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ฯลฯ คำสอนของพระพุทธเจ้า เราทำสำเร็จแล้ว ดังนี้.

ก็พระเถระนี้ กระทำเนื้อความใดให้เป็นขอสับ บรรลุพระอรหัตแล้ว ท่านตั้งใจเฉพาะเนื้อความนี้เท่านั้น ถึงบรรลุพระอรหัตแล้ว ก็ได้กล่าวคาถานี้แหละ. เพราะเหตุนั้น การกล่าวคาถานั้นแหละ จึงเป็นการพยากรณ์ พระอรหัตของพระเถระนั้น ฉะนี้แล.

จบอรรถกถากุมาปุตตสหายเถรคาถา