พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑. สิรวัฑฒเถรคาถา ว่าด้วยคาถาของพระสิริวัฑฒเถระ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  18 พ.ย. 2564
หมายเลข  40442
อ่าน  408

[เล่มที่ 50] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 234

เถรคาถา เอกนิบาต

วรรคที่ ๕

๑. สิรวัฑฒเถรคาถา

ว่าด้วยคาถาของพระสิริวัฑฒเถระ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 50]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 234

เถรคาถา เอกนิบาต วรรคที่ ๕

๑. สิรวัฑฒเถรคาถา

ว่าด้วยคาถาของพระสิริวัฑฒเถระ

[๑๗๘] ได้ยินว่า พระสิริวัฑฒเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้ อย่างนี้ว่า

สายฟ้าแลบ ส่องแสงลอดเข้าไป ตามช่องแห่ง ภูเขาเวภาระ และภูเขาปัณฑวะ ฉันใด ภิกษุผู้เป็น บุตรแห่งพระพุทธเจ้าผู้คงที่ ไม่มีผู้เปรียบปาน อยู่ในช่องแห่งภูเขา เจริญฌานอยู่ก็ฉันนั้น.

วรรควรรณนาที่ ๕

อรรถกถาสิริวัฑฒเถรคาถา

คาถาของท่านพระสิริวัฑฒเถระเริ่มต้นว่า วิวรมนุปตนฺติ วิชฺชุตา. เรื่องราวของท่านเป็นอย่างไร?

แม้พระเถระนั้น ก็เป็นผู้มีอธิการอันการทำไว้แล้วในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ สั่งสมกุศลอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานไว้ในภพนั้นๆ บังเกิดในเรือนแห่งตระกูล ในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพระนามว่าวิปัสสี ในกัปที่ ๙๑ แต่ภัทรกัปนี้ ถึงความเป็นผู้รู้เดียงสาแล้ว เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า วิปัสสี จึงกระทำการบูชาด้วยดอกหงอนไก่ ด้วยบุญกรรมนั้น

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 235

ไปบังเกิดในเทวโลก กระทำบุญแล้วท่องเที่ยวไปๆ มาๆ อยู่ในสุคติภพนั่นแหละ เกิดในตระกูลพราหมณ์ ผู้สมบูรณ์ด้วยสมบัติ ในพระนครราชคฤห์ ในพุทธุปบาทกาลนี้. เขาได้มีนามว่า "สิริวัฑฒะ".

สิริวัฑฒกุมาร เจริญวัยแล้ว เกิดความเลื่อมใสในพระบรมศาสดา และในพระสัทธรรม ในสมาคมของพระเจ้าพิมพิสาร บวชแล้ว เพราะสมบูรณ์ด้วยเหตุ. ก็ครั้นท่านบวชแล้ว กระทำบุพกิจเสร็จแล้ว เป็นผู้ขวนขวายในกรรมฐาน อยู่ในถ้ำของภูเขาในราวป่าแห่งใดแห่งหนึ่ง ไม่ไกลจากภูเขาเวภารบรรพต.

ก็ในสมัยนั้น ฝนนอกฤดูเริ่มตั้งเค้าขึ้นหนาแน่น. สายฟ้าแลบแผ่ไปทั่ว ดุจจะลอดเข้าไปสู่ช่องเขา. ความร้อนในฤดูร้อนของพระเถระผู้ถูกความร้อนในฤดูร้อนครอบงำ ก็สงบลง เพราะลมที่พัดเมฆลอยไปเป็นกลุ่มใหญ่. จิตได้เป็นเอกัคคตารมณ์ เพราะได้ฤดูเป็นที่สบาย. พระเถระมีจิตตั้งมั่นแล้ว ขวนขวายวิปัสสนา บรรลุพระอรหัตแล้ว. สมดังคาถาประพันธ์ที่ท่านกล่าวไว้ ในอปทานว่า

พระสัพพัญญูผู้เป็นนายกของโลก เช่นกับด้วยทองคำอันล้ำค่า พระองค์เป็นผู้นำของโลก เสด็จลงสระน้ำสรงสนานอยู่ เรามีจิตเบิกบานมีใจโสมนัส ได้ถือเอาดอกหงอนไก่ไปบูชาแด่พระสัพพัญญู พระนามว่าวิปัสสี ผู้จอมประชา ผู้คงที่ ในกัปที่ ๙๑ แต่ภัทรกัปนี้ เราได้บูชาพระพุทธเจ้าด้วยดอกไม้ใดด้วยการบูชานั้น เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งพุทธบูชาในกัปที่ ๒๗ แต่ภัทรกัปนี้ ได้เป็น

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 236

พระเจ้าจักรพรรดิ ทรงพระนามว่า ภิมรถะ ทรงสมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ มีพลมาก. เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ฯลฯ คำสอนของพระพุทธเจ้า เรากระทำสำเร็จแล้ว ดังนี้.

ก็ครั้นท่านบรรลุพระอรหัตแล้ว เมื่อจะเปล่งอุทานอันเนื่องด้วยตน โดยอ้างถึงพระอรหัตตผล ได้ภาษิตคาถาว่า

สายฟ้าแลบ ส่องแสงลอดเข้าไปตามช่องแห่งภูเขาเวภาระและภูเขาปัณฑวะ ฉันใด ภิกษุผู้เป็นบุตรแห่งพระพุทธเจ้าผู้คงที่ไม่มีผู้เปรียบปราน อยู่ในช่องแห่งภูเขาเจริญฌานอยู่ฉันนั้น ดังนี้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วิวรํ ได้แก่ ช่องที่มีในระหว่าง คือ ตรงกลาง. บทว่า อนุปตนฺติ ความว่า ตกไป คือเป็นไปในลักษณะคล้อยตาม. อธิบายว่า สว่างจ้า. ก็ที่ชื่อว่าความเป็นไปของสายฟ้า ก็คือฟ้าแลบนั่นเอง. เพราะประกอบอนุศัพท์เข้าไป ในบทว่า วิวรํ นี้ จึงใช้เป็นทุติยาวิภัตติ เหมือน ในประโยคว่า รุกฺขมนุวิชฺโชตนฺติ (สายฟ้าแลบไปตามช่องต้นไม้).

บทว่า วิชฺชุลตา แปลว่า สายฟ้า. บทว่า เวภารสฺส จ ปณฺฑวสฺส จ ประกอบความว่า ส่องแสงลอดเข้าไปตามช่องแห่งภูเขาเวภาระ และปัณฑวะ.

บทว่า นควิวรคโต ความว่า เข้าไปสู่ช่องแห่งภูเขา คือถ้ำของภูเขา. บทว่า ฌายติ ความว่า เพ่งด้วยอารัมมณูปนิชฌาน และลักขณูปนิชฌาน คือเมื่อขวนขวายสมถะและวิปัสสนา ชื่อว่า ย่อมยังฌานให้เจริญ.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 237

บทว่า ปุตฺโต อปฺปฏิมสฺส ตาทิโน ความว่า เป็นบุตรผู้เกิดแต่พระอุระของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า ผู้ไม่มีที่เปรียบ คือ เว้นจากข้อเปรียบเทียบ ด้วยความถึงพร้อมแห่งธรรมกาย มีกองแห่งศีลเป็นต้น และ ด้วยความถึงพร้อมแห่งรูปกาย ชื่อว่าผู้คงที่ เพราะถึงพร้อมด้วยลักษณะของผู้คงที่. พึงทราบความว่า ก็ด้วยคำว่า ปุตฺตศัพท์ ในคาถานี้นั่นแล ชื่อว่าเป็นอันพระเถระพยากรณ์พระอรหัตตผลแล้ว เพราะแสดงถึงความที่คนเป็นผู้เกิดตามพระบรมศาสดา.

จบอรรถกถาสิริวัฑฒเถรคาถา