พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๕. รมณียวิหารีเถรคาถา ว่าด้วยคาถาของพระรมณียวิหารีเถระ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  18 พ.ย. 2564
หมายเลข  40446
อ่าน  397

[เล่มที่ 50] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 253

เถรคาถา เอกนิบาต

วรรคที่ ๕

๕. รมณียวิหารีเถรคาถา

ว่าด้วยคาถาของพระรมณียวิหารีเถระ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 50]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 253

๕. รมณียวิหารีเถรคาถา

ว่าด้วยคาถาของพระรมณียวิหารีเถระ

[๑๘๒] ได้ยินว่า พระรมณียวิหารีเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้ อย่างนี้ว่า

โคอาชาไนยตัวสมบูรณ์ พลาดล้มแล้ว ย่อมกลับลุกขึ้นตั้งตัวได้ ฉันใด ท่านทั้งหลายจงทรงจำเราไว้ว่า เป็นสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้สมบูรณ์ด้วยทัสสนะ ฉันนั้นเถิด.

อรรถกถารมณียวิหารีเถรคาถา

คาถาของท่านพระรมณียวิหารีเถระ เริ่มต้นว่า ยถาปิ ภทฺโท อาชญฺโ. เรื่องราวของท่านเป็นอย่างไร?

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 254

แม้พระเถระนั้น ก็เป็นผู้มีอธิการอันกระทำไว้แล้วในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ สั่งสมบุญไว้เป็นอันมากในภพนั้นๆ ในกัปที่ ๙๑ แต่ภัทรกัปนี้ เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพระนามว่า วิปัสสี แล้วมีจิตเลื่อมใส ถวายบังคมด้วยเบญจางคประดิษฐ์ แล้วทำการบูชาด้วยดอกหงอนไก่ ด้วยบุญกรรมนั้น เขาเกิดในเทวโลกแล้วกระทำบุญ ท่องเที่ยวไปๆ มาๆ อยู่ในเทวดาและ มนุษย์ทั้งหลาย เกิดเป็นบุตรของเศรษฐีคนใดคนหนึ่ง ในกรุงราชคฤห์ ในพุทธุปบาทกาลนี้ ถึงความหมกมุ่นในกามคุณ เพราะความเมาในความเป็นหนุ่มอยู่.

วันหนึ่ง เขาเห็นบุรุษคนหนึ่ง เป็นชู้กับเมียคนอื่น ถูกลงโทษมีกรมวิธีหลายอย่าง เกิดความสลดใจ ฟังธรรมในสำนักของพระศาสดาแล้วบวช ถึงจะบวชแล้ว เพราะความเป็นคนมีราคจริต จึงปัดกวาดบริเวณจนสะอาด ตั้งน้ำฉัน น้ำใช้ ไว้อย่างดี ตกแต่งเตียงตั่งอย่างเรียบร้อย. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงมีนามปรากฏว่า "รมณียวิหารี".

เพราะเป็นผู้หนาแน่นด้วยราคะ ท่านจึงทำกิจโดยไม่แยบยล ต้องอาบัติ ในเพราะตั้งใจทำน้ำสุกกะให้เคลื่อนแล้ว มีวิปฏิสารว่า "น่าตำหนิตัวเราจริงหนอ เราเป็นอย่างนี้ พึงบริโภคอาหารที่เขาถวายด้วยศรัทธา (ได้อย่างไร) " เดินไป โดยคิดว่า จักสึก นั่งพักที่โคนไม้ในระหว่างทาง. ก็เมื่อหมู่เกวียนเดินผ่านทางนั้นไป โคที่เขาเทียมเกวียนตัวหนึ่งเหน็ดเหนื่อย ลื่นตกไปในทางที่ไม่สม่ำเสมอ เจ้าของเกวียนจึงปลดมันออกจากแอก ให้หญ้าให้น้ำ พอหายเหนื่อยแล้ว ก็เทียมมันเข้าที่แอกอีก เดินทางต่อไป. พระเถระเห็นดังนั้นก็คิดว่า โคตัวนี้ แม้พลาดไปแล้วหนหนึ่ง ยังลุกขึ้นนำธุระของตนไปได้ ฉันใด แม้เราก็ฉันนั้น แม้จะพลั้งพลาดไปบ้างครั้งหนึ่งด้วยอำนาจกิเลส ก็ควรจะลุกขึ้นบำเพ็ญสมณธรรม ดังนี้แล้ว เกิดโยนิโสมนสิการ กลับไปแจ้งข่าวความเป็นไปของตน

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 255

แก่พระอุบาลีเถระ ออกจากอาบัติโดยวิธีที่กล่าวแล้วนั้น กระทำศีลให้บริสุทธิ์ดุจเดิม เจริญวิปัสสนา บรรลุพระอรหัตต่อกาลไม่นานนัก. สมดังคาถาประพันธ์ที่ท่านกล่าวไว้ในอปทานว่า

เราได้เห็นรอยพระบาท อันประดับด้วยจักรและเครื่องอลังการ ที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพระนามว่า วิปัสสี ผู้แสวงหาคุณใหญ่ทรงเหยียบไว้ จึงเดินตามรอยพระบาทไป เราได้เห็นต้นหงอนไก่ มีดอกบาน จึงเก็บเอามาบูชาพร้อมทั้งราก เราร่าเริง มีจิตโสมนัส ได้ไหว้รอยพระบาทอันอุดม ในกัปที่ ๙๑ แต่ภัทรกัปนี้ เราได้บูชารอยพระพุทธบาทด้วยดอกไม้ใด ด้วยการบูชานั้น เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งพุทธบูชา ในกัปที่ ๕๗ เราได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า วีตมละ ทรงสมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ มีพลมาก. เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ฯลฯ คำสอนของพระพุทธเจ้า เราทำสำเร็จแล้ว ดังนี้.

ก็พระเถระครั้นบรรลุพระอรหัตแล้ว เสวยวิมุตติสุข ได้กล่าวคาถา อันแสดงถึงการบรรลุอริยธรรม พร้อมกับข้อปฏิบัติเบื้องต้นของตนว่า

โคอาชาไนยตัวสมบูรณ์ พลาดล้มแล้ว ย่อมกลับลุกขึ้นตั้งตัวได้ ฉันใด ท่านทั้งหลายจงทรงจำเราไว้ว่า เป็นสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้สมบูรณ์ด้วยทัสสนะนั้นเถิด ดังนี้.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 256

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ขลิตฺวา แปลว่า พลาดแล้ว. บทว่า ปฏิติฏฺติ แปลว่า กลับลุกขึ้นตั้งหลักได้ คือ กลับยืนอยู่ในที่เดิมได้อีก.

บทว่า เอวํ ความว่า โคอาชาไนยตัวเจริญ นำภาระไปถึงแหล่งที่มีอันตราย ลื่นล้มลงไปครั้งหนึ่ง เพราะพื้นที่ไม่เสมอกัน ก็ไม่ทอดทิ้งธุระด้วยเหตุนั้น แม้ถึงจะพลาดไป ก็กลับลุกขึ้นตั้งตัวได้ เพราะสมบูรณ์ด้วยกำลัง ความปราดเปรียว และความพยายามยืนหยัดอยู่ได้ โดยสภาพของตนนั่นแล แล้วนำภาระไปได้ ฉันใด ภิกษุผู้ประสบความลำบากเพราะกิเลสก็ฉันนั้น. ท่านทั้งหลายจงทรงจำข้าพเจ้า ผู้ชื่อว่าสมบูรณ์ด้วยทัสสนะ เพราะถึงจะพลาดพลั้งไป เพราะความผิดพลาดจากการกระทำ ก็ยังทำความพลาดพลั้งนั้น ให้กลับบริสุทธิ์ดุจเดิม เพราะสมบูรณ์ด้วยกำลังและความเพียร โดยมีความเห็นชอบในมรรค. เพราะเหตุนั้นแล จึงชื่อว่า เป็นสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะเกิดแล้วโดยอริยชาติหลังจากการฟัง (ธรรม) ในภพสุดท้าย ชื่อว่าเป็นบุตรผู้เกิดแต่พระอุระ เพราะความเป็นผู้มีอภิชาติอันความพยายามให้เกิดแล้ว ที่พระอุระของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นและชื่อว่าเป็นอาชาไนย เพราะมีหน้าที่คล้ายกับโคอาชาไนย ตัวเจริญ.

จบอรรถกถารมณียวิหารีเถรคาถา