พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๗. อุชชยเถรคาถา ว่าด้วยคาถาของพระอุชชยเถระ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  18 พ.ย. 2564
หมายเลข  40448
อ่าน  440

[เล่มที่ 50] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 261

เถรคาถา เอกนิบาต

วรรคที่ ๕

๗. อุชชยเถรคาถา

ว่าด้วยคาถาของพระอุชชยเถระ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 50]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 261

๗. อุชชยเถรคาถา

ว่าด้วยคาถาของพระอุชชยเถระ

[๑๘๔] ได้ยินว่า พระอุชชยเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้ อย่างนี้ว่า

ช้าแต่พระพุทธเจ้า ผู้แกล้วกล้า ข้าพระองค์ขอนอบน้อมแด่พระองค์ พระองค์เป็นผู้หลุดพ้นแล้วจากสิ่งทั้งปวง เมื่อข้าพระองค์อยู่ในพระบัญชาของพระองค์ จึงเป็นผู้ไม่มีอาสวะ อยู่เป็นสุขสำราญ.

อรรถกถาอุชชยเถรคาถา

คาถาของท่านพระอุชชยเถระเริ่มต้นว่า นโม เต พุทฺธ วีรตฺถุ. เรื่องราวของท่านเป็นอย่างไร?

แม้พระเถระนี้ ก็มีอธิการอันกระทำไว้แล้วในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ กระทำบุญเป็นอันมากไว้ในภพนั้นๆ ในกัปที่ ๙๒ แต่ภัทรกัปนี้ เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า พระนามว่า ติสสะ มีใจเลื่อมใส ทำการบูชาด้วยดอกกรรณิการ์ ด้วยบุญกรรมนั้น ท่านบังเกิดในเทวโลก กระทำบุญแล้วท่องเที่ยวไปๆ มาๆ ในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เกิดเป็นบุตรของพราหมณ์ ชื่อว่า โสตถิยะ คนใดคนหนึ่ง ในกรุงราชคฤห์ ในพุทธุปบาทกาลนี้ ได้มีนามว่า อุชชยะ.

เขาเจริญเติบใหญ่แล้ว เป็นผู้เรียนจบไตรเพท มองไม่เห็นสาระในไตรเพทนั้น อันอุปนิสยสมบัติ ตักเตือนอยู่ ไปยังเวฬุวันวิหาร ฟังธรรมในสำนักของพระศาสดา

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 262

ได้มีศรัทธาบรรพชาแล้ว เรียนกรรมฐานที่เหมาะแก่จริต อยู่ในป่า เจริญวิปัสสนา บรรลุพระอรหัตต่อกาลไม่นานเลย. สมดังคาถาประพันธ์ที่ท่านกล่าวไว้ในอปทานว่า

ในกาลนั้น เราเห็นต้นกรรณิการ์มีดอกบาน จึงเก็บมาบูชาพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพระนามว่า ติสสะ ผู้ข้ามโอฆะได้แล้ว ผู้คงที่ ในกัปที่ ๙๒ แต่ ภัทรกัปนี้ เราได้บูชาพระพุทธเจ้าด้วยดอกไม้ใด ด้วยการบูชานั้น เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่ง พุทธบูชาในกัปที่ ๓๕ แต่กัปนี้ ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ มีพลมาก ปรากฏนามว่า อรุณปาณี สมบูรณ์ ด้วยแก้ว ๗ ประการ. เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ฯลฯ คำสอนของพระพุทธเจ้า เรากระทำสำเร็จแล้ว ดังนี้.

ก็ครั้นท่านบรรลุพระอรหัตแล้ว ไปยังสำนักของพระศาสดา นั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่ง เมื่อจะพยากรณ์พระอรหัตตผล ด้วยอาการชมเชยพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้กล่าวคาถาว่า

ข้าแต่พระพุทธเจ้าผู้แกล้วกล้า ข้าพระองค์ขอนอบน้อมแต่พระองค์ พระองค์เป็นผู้หลุดพ้นแล้วจากสิ่งทั้งปวง เมื่อข้าพระองค์อยู่ในพระโอวาทของพระองค์ จึงเป็นผู้ไม่มีอาสวะ อยู่เป็นสุขสำราญ ดังนี้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นโม แสดงถึงการประณาม. บทว่า เต แสดงถึงการมอบให้ด้วยกิริยานอบน้อม อธิบายว่า ขอนอบน้อมแด่พระองค์.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 263

ก็บทว่า พุทฺธ วีร เป็นคำเรียกพระผู้มีพระภาคเจ้า. อธิบายว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า บัณฑิตเรียกว่า พุทธะ เพราะตรัสรู้อรรถ ต่างด้วยอภิญญาเป็นต้น ด้วยพระสยัมภูญาณ ต่างด้วยอภิญญาเป็นต้น ฉันใด แม้ที่ บัณฑิตเรียกว่า วีระ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะทรงประกอบไปด้วยความเพียรใหญ่ ที่ทรงเริ่มตั้งด้วยสามารถแห่งการย่ำยีมารแม้ทั้ง ๕.

บทว่า อตฺถุ แปลว่า จงมี. บทว่า อตฺถุ นั้นสัมพันธ์เข้ากับ บทว่า นโม.

บทว่า วิปฺปมุตฺโตส สพฺพธิ ความว่า ได้เป็นผู้หลุดพ้นแล้ว คือ พรากแล้ว จากกิเลสทั้งปวง และในสังขารทั้งปวง คือ ไม่มีอะไรเลย ที่พระองค์ยังไม่ทรงหลุดพ้น เพราะเหตุที่ข้าพระองค์อยู่ในโอวาทของพระองค์ จึงเป็นผู้ไม่มีอาสวะ อยู่เป็นสุข อธิบายว่า ข้าพระองค์อยู่ในพระบัญชา คือ ในพระโอวาท ได้แก่ ในมรรคที่ถึงแล้วของพระองค์ ปฏิบัติอยู่ตามสติ ตามกำลัง ชื่อว่าเป็นผู้ไม่มีอาสวะ เพราะละอาสวะ แม้ทั้ง ๔ มีกามาสวะเป็นต้นได้หมดแล้วอยู่ ข้าแต่พระพุทธเจ้าผู้แกล้วกล้า ข้าพระองค์ขอนอบน้อมแด่พระองค์ผู้เช่นนั้น.

จบอรรถกถาอุชชยเถรคาถา