พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๕. อัญชนวนิยเถรคาถา ว่าด้วยคาถาของพระอัญชนวนิยเถระ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  18 พ.ย. 2564
หมายเลข  40456
อ่าน  398

[เล่มที่ 50] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 282

เถรคาถา เอกนิบาต

วรรคที่ ๖

๕. อัญชนวนิยเถรคาถา

ว่าด้วยคาถาของพระอัญชนวนิยเถระ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 50]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 282

๕. อัญชนวนิยเถรคาถา

ว่าด้วยคาถาของพระอัญชนวนิยเถระ

[๑๙๒] ได้ยินว่า พระอัญชนวนิยเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้ อย่างนี้ว่า

เราเข้าไปสู่ป่าอัญชนวัน ทำตั่งให้เป็นกุฎีแล้ว ได้บรรลุวิชชา ๓ เราได้กระทำคำสอนของพระพุทธเจ้าเสร็จแล้ว.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 283

อรรถกถาอัญชนวนิยเถรคาถา

คาถาของท่านพระอัญชนวนิยเถระเริ่มต้นว่า อาสนฺทึ กุฏิกํ กตฺวา. เรื่องราวของท่านเป็นอย่างไร?

ได้ยินว่า ในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า ปทุมุตระ ท่านเป็นช่างดอกไม้ นามว่า สุทัสสนะ บูชาพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยดอกมะลิ กระทำบุญอย่างอื่นไว้ในภพนั้นๆ เป็นอันมาก บวชในศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า กัสสปะ แล้วได้บำเพ็ญสมณธรรม ครั้นในพุทธุปบาทกาลนี้ เกิดในตระกูลเจ้าวัชชี ในพระนครเวสาลี ในเวลาที่เขาเจริญเติบใหญ่แล้ว ภัยทั้ง ๓ คือ ภัยเกิดแต่ฝนแล้ง ๑ ภัยเกิดแต่ความเจ็บไข้ ๑ ภัยเกิดแต่อมนุษย์ ๑ บังเกิดแล้วในแคว้นวัชชี. ภัยทั้งหมดนั้นพึงทราบโดยนัย ดังกล่าวแล้วในอรรถกถารัตนสูตร ก็เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จถึงเมืองเวสาลี เมื่อภัยทุกอย่างสงบแล้ว และเมื่อธรรมาภิสมัยเกิดแล้วแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายจำนวนมาก ในการแสดงธรรมของพระบรมศาสดา ราชกุมารนี้เห็นพุทธานุภาพ ได้มีศรัทธา บรรพชาแล้ว.

ก็ราชกุมารนี้ มีประวัติอย่างไร แม้พระราชาอีก ๔ องค์ ที่จะกล่าวต่อไป ก็มีประวัติอย่างนั้น ก็ราชกุมารแห่งเจ้าลิจฉวีผู้เป็นพระสหายของราชกุมารนี้ แม้เหล่านั้น ก็บรรพชาแล้วโดยทำนองนี้แหละด้วยอาการอย่างนี้ คือ ราชกุมารเหล่านั้นเป็นสหายกัน แม้ในกาลของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระนามว่า กัสสปะ บวชแล้ว ก็ได้บำเพ็ญสมณธรรมร่วมกันกับราชกุมารนี้ ได้กระทำบุญมีการปลูกพืชคือกุศลเป็นต้นไว้แทบบาทมูลของพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ทรงพระนามว่า ปทุมุตตระ พระอัญชนวนิยเถระนี้ การทำบุรพกิจเสร็จแล้ว

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 284

อยู่ที่ป่าช้า ในป่าอัญชนวัน ในเมืองสาเกตนั้น เมื่อจวนถึงเวลาใกล้เข้าพรรษา ได้ตั่งเก่าๆ ที่มนุษย์ทั้งหลายทิ้งแล้ว วางตั่งนั้นไว้บนแผ่นหินทั้ง ๔ ปกปิดด้านบน และด้านกว้างด้วยหญ้าเป็นต้น แล้วประกอบประตูอยู่จำพรรษา. ท่านเพียรพยายามอยู่ ก็ได้บรรลุพระอรหัต ในเดือนแรกเท่านั้น. สมดัง คาถาประพันธ์ที่ท่านกล่าวไว้ในอปทานว่า

ในกาลนั้นเราเป็นนายมาลาการมีชื่อว่าสุทัสสนะ ได้เห็นพระพุทธเจ้าผู้ปราศจากธุลี เชษฐบุรุษของโลก ประเสริฐกว่านระ เรามีจักษุบริสุทธิ์ มีใจโสมนัส ถือดอกมะลิไปบูชาพระผู้มีพระภาคเจ้า พระนามว่า ปทุมุตตระ ผู้ตรัสรู้แล้วมีจักษุทิพย์ ด้วยบุปผบูชานี้ และด้วยการตั้งจิตไว้ เราไม่เข้าถึงทุคติเลย ตลอดแสนกัป ในกัปที่ ๓๖ แต่ภัทรกัปนี้ ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๑๖ พระองค์ มีพระนามเหมือนกันว่า เทวุตตระ มีพลมาก. เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว คำสอนของพระพุทธเจ้าเรากระทำสำเร็จแล้ว ดังนี้.

ก็ครั้นท่านบรรลุพระอรหัตแล้ว เสวยวิมุตติสุข ออกจากสมาบัติแล้ว พิจารณาสัมบัติตามที่ได้ เมื่อจะเปล่งอุทานด้วยกำลังปีติ จึงได้กล่าวคาถาว่า

เราเข้าไปสู่ป่าอัญชนวัน ทำตั่งให้เป็นกุฎีแล้ว ได้บรรลุวิชชา ๓ คำสอนของพระพุทธเจ้า เรากระทำสำเร็จแล้ว ดังนี้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อาสนฺทิกุฏิกํ กตฺวา ความว่า ตั่ง ๔ เหลี่ยม ขายาว ชื่อว่า อาสันทิ แม้ตั่ง ๔ เหลี่ยมกว้างก็มีเหมือนกัน. พระเถระกระทำตั่งที่สามารถเพื่อจะนั่งได้อย่างเดียว นอนไม่ได้ ให้เป็นกุฎีเพื่ออยู่อาศัย โดยนัยดังกล่าวแล้วในหนหลัง คือกระทำให้เป็นกุฎี โดยประการที่

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 285

เมื่อนั่งบนตั่งนั้นแล้ว สามารถบำเพ็ญสมณธรรมได้โดยสะดวกเพราะไม่มีอันตรายอันเกิดแต่ฤดู. พระเถระแสดงถึงความมักน้อย และความสันโดษ อย่างยอดเยี่ยมในเสนาสนะของตน ด้วยบทนี้. สมดังคาถาประพันธ์ ที่ท่านพระธรรมเสนาบดีกล่าวไว้ว่า

การนั่งขัดสมาธิ นับว่าพอเป็นการอยู่อย่างสบายของภิกษุ ผู้มีใจเด็ดเดี่ยว ดังนี้.

อาจารย์อีกพวกหนึ่ง อ้างปาฐะว่า อาสนฺทิกุฏิกํ กตฺวา แล้วกล่าวอธิบายว่า กระทำกุฎีขนาดเท่าตั่ง. ส่วนอาจารย์เหล่าอื่น กล่าวอธิบายว่า กุฎีที่ทำไว้บนเตียงเฉพาะ คนจะนั่งทำเป็นอาสนะเป็นต้น (วอหาม) ชื่อว่า อาสันทิ กระทำ อาสันทินั้นให้เป็นกุฎี.

บทว่า โอคยฺห ความว่า หยั่งลง คือเข้าไปแล้วโดยลำดับ. บทว่า อญฺชนํวนํ ได้แก่ป่าที่มีชื่ออย่างนี้ อธิบายว่า เถาวัลย์ ท่านเรียกว่า อัญชนะ เพราะมีดอกมีสีเหมือนดอกอัญชัน ป่านั้นได้นามว่า อัญชนวัน เพราะมากไปด้วยเถาวัลย์นั้น. ส่วนอาจารย์พวกอื่นกล่าวว่า กอไม้ใหญ่ ชื่อว่าอัญชนวัน ต้องนำคำที่เหลือว่า วิหรโต มยา มาประกอบความว่า เราเข้าไปสู่ป่าอัญชนวัน นั้น กระทำตั่งให้เป็นกุฎี บรรลุวิชชา ๓ โดยลำดับ กระทำคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้วอยู่. ก็คำเป็นคาถานี้แหละ ได้เป็นคาถาพยากรณ์พระอรหัตตผลของพระเถระ ฉะนี้แล.

จบอรรถกถาอัญชนวนิยเถรคาถา