พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๙. โกสัลลวิหารีเถรคาถา ว่าด้วยคาถาของพระโกสัลลวิหารีเถระ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  18 พ.ย. 2564
หมายเลข  40460
อ่าน  360

[เล่มที่ 50] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 298

เถรคาถา เอกนิบาต

วรรคที่ ๖

๙. โกสัลลวิหารีเถรคาถา

ว่าด้วยคาถาของพระโกสัลลวิหารีเถระ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 50]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 298

๙. โกสัลลวิหารีเถรคาถา

ว่าด้วยคาถาของพระโกสัลลวิหารีเถระ

[๑๙๖] ได้ยินว่า พระโกสัลสวิหารีเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้ อย่างนี้ว่า

เราบวชแล้วด้วยศรัทธา เราทำกุฎีไว้ในป่า เราเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีสติ มีสัมปชัญญะ.

อรรถกถาโกสลวิหารีเถรคาถา

คาถาของท่านพระโกสลวิหารีเถระ เริ่มต้นว่า สทฺธายาหํ ปพฺพชิโต. เรื่องราวของท่านเป็นอย่างไร?

แม้พระเถระนี้ ก็หว่านพืช คือ กุศลไว้ในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพระนามว่า ปทุมตตระ ได้กระทำบุญนั้นๆ ไว้ เรื่องที่เหลือก็คล้ายกัน กับเรื่องของพระอัญชนวนิยเถระนั่นแหละ. ส่วนข้อที่แปลกออกไป มีดังนี้

ได้ยินว่า พระเถระนี้ บวชโดยนัยดังกล่าวแล้ว กระทำบุพกิจเสร็จแล้ว อยู่ในป่า โดยอาศัยตระกูลของอุบาสกคนหนึ่ง ในบ้านหลังหนึ่งในแคว้นโกศล. อุบาสกนั้นเห็นพระเถระอยู่ที่โคนไม้ จึงสร้างกุฏิถวาย พระเถระอยู่ในกุฏิ ได้สมาธิ เพราะมีอาวาสเป็นที่สบาย ขวนขวายวิปัสสนา บรรลุพระอรหัต ต่อกาลไม่นานนัก. สมดังคาถาประพันธ์ที่ท่านกล่าวไว้ในอปทานว่า

เราอยู่บนเครื่องลาดใบไม้ ในที่ไม่ไกลภูเขาหิมวันต์ในกาลนั้น เราถึงความลำบากในการหาอาหาร จึงมีการนอนเป็นปกติ เราขุดจาวมะพร้าว มันอ้วน

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 299

มันมือเสือ และมันนกมาไว้ เรานำเอาผลพุทรา ไม้รกฟ้า ผลมะตูม มาจัดแจงไว้ พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพระนามว่า ปทุมุตตระ ทรงรู้แจ้งโลก สมควรรับเครื่องบูชา ทรงทราบความดำริของเราแล้ว เสด็จมาสู่สำนักเรา เราได้เห็นพระองค์ผู้มหานาค ประเสริฐกว่าเทวดาเป็นนราสภ เสด็จมาแล้ว จึงหยิบเอามันมือเสือมาใส่ลงในบาตร ในกาลนั้น พระสัพพัญญูมหาวีรเจ้า จะทรงยังเราให้ยินดีจึงเสวย ครั้นเสวยเสร็จแล้ว ได้ตรัสพระคาถานี้ว่า ท่านยังจิตให้เลื่อมใสแล้ว ได้ถวายมันมือเสือแก่เรา ท่านจะไม่เข้าถึงทุคติตลอดแสนกัป ภพที่สุดย่อมเป็นไปแก่เรา เราถอนภพขึ้นได้หมดแล้ว เราทรงกายที่สุดไว้ในศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในกัปที่ ๕๔ แต่ภัทรกัปนี้ เราได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ พระนามว่า สุเมขลิยะ สมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ มีพลมาก. เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ฯลฯ คำสอนของพระพุทธเจ้า เราทำสำเร็จแล้ว ดังนี้.

ก็ครั้นท่านสำเร็จพระอรหัตแล้ว เมื่อจะเปล่งอุทาน ด้วยกำลังแห่งปิติอันบังเกิดแล้ว ด้วยการเสวยวิมุตติสุข จึงได้กล่าวคาถาว่า

เราบวชแล้วด้วยศรัทธา เราทำกุฎีไว้ในป่า เราเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีสติสัมปชัญญะ ดังนี้.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 300

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สทฺธาย ความว่า เราเห็นอานุภาพในการเสด็จเข้าไปยังพระนครเวสาลีของพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงบวช คือ เข้าถึงเพศบรรพชา ด้วยสามารถแห่งศรัทธาที่เกิดขึ้นแล้วว่า ศาสนานี้นำสัตว์ออกจากทุกข์โดยส่วนเดียว เพราะฉะนั้น เราจักพ้นจากชราและมรณะได้ ด้วยข้อปฏิบัตินี้แน่แท้ ดังนี้.

ด้วยบทว่า อรญฺเ เม กุฏิกา กตา นี้ พระเถระแสดงว่า เราผู้อยู่ในป่า สร้างกุฏิไว้ โดยเหมาะสมแก่เพศบรรพชานั้น คือ เราเป็นผู้มีปกติอยู่ในป่า หลีกออกจากหมู่ อยู่ตามสมควรแก่เพศบรรพชา ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า เราเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีสติสัมปชัญญะ ดังนี้.

พระเถระ เมื่อขวนขวายชาคริยธรรม ด้วยกายวิเวกอันได้จากการอยู่ในป่า จึงชื่อว่าเป็นผู้ไม่ประมาทแล้ว โดยการไม่อยู่ปราศจากสติในป่านั้น. ชื่อว่าปรารภความเพียร เพราะมีความเพียรอันปรารภแล้ว เจริญวิปัสสนาโดยบริบูรณ์ไปด้วยสติและสัมปชัญญะอันเป็นธรรมส่วนเบื้องต้น ชื่อว่า เป็นผู้มีสติ มีสัมปชัญญะอยู่โดยส่วนเดียวเท่านั้น เพราะถึงความไพบูลย์ด้วยปัญญาและสติ โดยบรรลุพระอรหัตตผล ก็คาถานี้แหละ ได้เป็นการพยากรณ์พระอรหัตตผลของพระเถระในการประกาศความเป็นผู้ไม่ประมาทเป็นต้น ก็เพราะเหตุที่ท่านอยู่ แคว้นโกศลมาเป็นเวลานาน จึงเกิดเป็นสมัญญานามว่า โกสลวิหารีเถระ ฉะนี้แล.

จบอรรถกถาโกสลวิหารีเถรคาถา