พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๓. ปักขเถรคาถา ว่าด้วยคาถาของพระปกขเถระ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  18 พ.ย. 2564
หมายเลข  40464
อ่าน  416

[เล่มที่ 50] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 318

เถรคาถา เอกนิบาต

วรรคที่ ๗

๓. ปักขเถรคาถา

ว่าด้วยคาถาของพระปักขเถระ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 50]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 318

๓. ปักขเถรคาถา

ว่าด้วยคาถาของพระปักขเถระ

[๒๐๐] ได้ยินว่า พระปักขเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้ อย่างนี้ว่า

เหยี่ยวทั้งหลาย ย่อมโฉบลง ชิ้นเนื้อหลุดจากปากของเหยี่ยวตัวหนึ่งตกลงพื้นดิน และเหยี่ยวอีกพวกหนึ่งมาคาบเอาไว้อีก ฉันใด สัตว์ทั้งหลายผู้หมุนเวียนไปในสงสาร ก็ฉันนั้น เคลื่อนจากกุศลธรรมแล้ว ไปตกในนรกเป็นต้น ความสุขย่อมติดตามเราผู้สำเร็จกิจแล้ว ผู้ยินดีต่อพระนิพพานด้วยความสุข.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 319

อรรถกถาปักขเถรคาถา

คาถาของท่านพระปักขเถระ เริ่มต้นว่า จุตา ปตนฺติ. เรื่องราว ของท่านเป็นอย่างไร?

แม้ท่านก็มีอธิการอันกระทำแล้ว ในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ กระทำบุญไว้ในภพนั้นๆ ในกัปที่ ๙๑ แต่ภัทรกัปนี้ (เกิด) เป็นยักษ์ผู้เสนาบดี เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า วิปัสสี มีใจเลื่อมใส ได้ทำการบูชาด้วยผ้าทิพย์. ด้วยบุญกรรมนั้น ท่านท่องเที่ยวไปในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เกิดในตระกูลแห่งเจ้าศากยะ ในเทวทหนิคม ในพุทธุปบาทกาลนี้ ได้มีนาม ว่า สัมโมทกุมาร.

ในเวลาที่ท่านยังเล็ก เท้าเดินไม่ได้ด้วยโรคลม (อัมพาต) เขาเที่ยวไปเหมือนคนง่อย ตลอดเวลาอยู่ระยะหนึ่ง. ด้วยเหตุนั้นเขาจึงมีนามใหม่ว่า ปักขะ. ภายหลังในเวลาที่หายโรค คนทั้งหลายก็ยังเรียกชื่อเขาอย่างนั้นเหมือนกัน. เขาเห็นปาฏิหาริย์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ในสมาคมแห่งพระญาติ ได้ศรัทธาบรรพชาแล้ว กระทำกิจเบื้องต้นเสร็จแล้ว เรียนกรรมฐานอยู่ในป่า.

ครั้นวันหนึ่ง ท่านเดินทางเข้าบ้านเพื่อบิณฑบาต นั่งอยู่ที่โคนไม้แห่งหนึ่งในระหว่างทาง. ก็ในสมัยนั้น เหยี่ยวตัวหนึ่ง คาบชิ้นเนื้อบินไปทางอากาศ, เหยี่ยวเป็นอันมากบินตามเหยี่ยวตัวนั้น รุมแย่งจนเนื้อตกลงมา. เหยี่ยวตัวหนึ่ง คาบเอาชิ้นเนื้อที่ตกบินไป. เหยี่ยวตัวอื่นชิงเอาชิ้นเนื้อนั้นคาบต่อไป พระเถระเห็นดังนั้น ก็คิดว่า ชิ้นเนื้อนี้ฉันใด ขึ้นชื่อว่า กาม ทั้งหลายก็ฉันนั้น ทั่วไปแก่คนหมู่มาก มีทุกข์มาก คับแค้นมาก ดังนี้ แล้ว พิจารณาเห็นโทษในกามทั้งหลาย และอานิสงส์ในการออกบวช เริ่มตั้งวิปัสสนา

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 320

มนสิการอยู่โดยนัยมีอาทิว่า อนิจจัง เที่ยวไปบิณฑบาต กระทำภัตกิจเสร็จแล้ว นั่งในที่พักกลางวัน เจริญวิปัสสนา บรรลุพระอรหัตแล้ว. สมดังคาถา ประพันธ์ที่ท่านกล่าวไว้ ในอปทานว่า

ในกาลนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพระนามว่า วิปัสสี เชษฐบุรุษของโลก เป็นพระผู้องอาจ กับภิกษุ สงฆ์ ๖๘,๐๐๐ เสด็จเข้าไปสู่พันธุมวิหาร เราออกจากนครแล้ว ได้ไปที่ทีปเจดีย์ ได้เห็นพระพุทธเจ้าผู้ปราศจากธุลี สมควรรับเครื่องบูชา พวกยักษ์ในสำนักของเรา มีประมาณ ๘๔,๐๐๐ ตน บำรุงเราโดยเคารพ ดังหมู่เทวดาชาวไตรทศ บำรุงพระอินทร์ โดยเคารพ ฉะนั้น เวลานั้น เราถือผ้าทิพย์ออกจากที่อยู่ไปอภิวาท ด้วยเศียรเกล้า และได้ถวายผ้าทิพย์นั้น แด่พระพุทธเจ้า โอพระพุทธเจ้า โอพระธรรม โอความถึงพร้อม แห่งพระศาสดาหนอ ด้วยอานุภาพแห่งพระพุทธเจ้า แผ่นดินนี้หวั่นไหว เราเห็นความอัศจรรย์ อันไม่เคยมี ชวนให้ขนพองสยองเกล้า นั้นแล้ว จึงยังจิตให้เลื่อมใสในพระพุทธเจ้า ผู้เป็นจอมมนุษย์ ผู้คงที่ ครั้งนั้น เรายังจิตให้เลื่อมใส และถวายผ้าทิพย์ แด่พระศาสดาแล้ว พร้อมทั้งอำมาตย์ และบริวารชน ยอมนับถือพระพุทธเจ้าเป็นสมณะ ในกัปที่ ๙๑ แต่ภัทรกัปนี้ เราได้ทำกรรมใดในกาลนั้น ด้วยกรรมนั้น เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งพุทธบูชา

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 321

ในกัปที่ ๑๕ แต่ภัทรกัปนี้ เราได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๑๖ ครั้ง มีพระนามว่า วาหนะ ทรงสมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ มีพลมาก. เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ฯลฯ คำสอนของพระพุทธเจ้า เรากระทำสำเร็จแล้ว ดังนี้.

ก็พระอรหัตตผล ที่พระเถระผู้บรรลุพระอรหัต กระทำสังเวควัตถุใดแลให้เป็นขอสับ แล้วเจริญวิปัสสนา บรรลุแล้ว พระเถระเมื่อพยากรณ์พระอรหัตตผล โดยมุขคือการประกาศสังเวควัตถุนั้น จึงได้กล่าวคาถาว่า

เหยี่ยวทั้งหลายโฉบลง ชิ้นเนื้อหลุดจากปากของเหยี่ยวตัวหนึ่ง ตกลงพื้นดิน และเหยี่ยวอีกพวกหนึ่งมาคาบเอาไว้อีก ฉันใด สัตว์ทั้งหลายผู้หมุนเวียนไปในสงสาร ก็ฉันนั้น เคลื่อนจากกุศลธรรมแล้ว ไปตกในนรกเป็นต้น ความสุขย่อมติดตามเราผู้สำเร็จกิจ แล้วผู้ยินดีต่อนิพพาน ด้วยความสุข ดังนี้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า จุตา แปลว่า หลุดแล้ว. บทว่า ปตนฺติ แปลว่า โฉบลง. บทว่า ปติตา ความว่า ชิ้นเนื้อตกลงที่พื้นดิน ด้วยสามารถแห่งการพลัดหล่น หรือตกลงโดยยังลอยอยู่ในอากาศ. บทว่า คิทฺธา ความว่า ถึงความยินดี. บทว่า ปุนราคตา ความว่า เข้ามาคาบไปอีก. พึงประกอบ จ ศัพท์ควบไปด้วยทุกๆ บท มีคำอธิบายว่า เหยี่ยวทั้งหลายในที่นี้ โฉบลงและร่อนลง และชิ้นเนื้อก็หลุดจากปากของเหยี่ยวนอกนี้ ก็ชิ้นเนื้อที่หลุดแล้ว ก็ตกลงไปที่พื้นดิน เหยี่ยวทั้งหลายอยากได้ชิ้นเนื้อ (ถึงความอยาก) เหยี่ยวทั้งหมดนั่นแหละ จึงมารุมคาบเอาไปอีก. ก็เหยี่ยวเหล่านี้ มีอุปมาฉันใด เหล่าสัตว์ที่หมุนไปในสงสาร ก็ฉันนั้น

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 322

สัตว์เหล่าใด เคลื่อนจากธรรมที่เป็นกุศล สัตว์เหล่านั้นย่อมตกลงไปในอบายมีนรกเป็นต้น ก็เหล่าสัตว์ที่ตกลงไปแล้วอย่างนี้ ผู้ที่ตั้งอยู่ในสัมปัตติภพ ถึงความยินดีและย้อนกลับมาอีก ด้วยสามารถแห่งความใคร่ในภพ ทั้งในกามภพ รูปภพ และอรูปภพ โดยยังข้องอยู่ ในกามสุขัลลิกานุโยค ในภพนั้นๆ ชื่อว่า กลับมาสู่ทุกข์ ที่หมายรู้กันว่าภพนั้นๆ อีก ด้วยกรรมที่ทำให้ถึงภพ นั้นๆ เพราะยังไม่หลุดพ้นจากภพไปได้. สัตว์ทั้งหลายเหล่านี้ เป็นอย่างนี้. ส่วนเราเองกระทำกิจมีปริญญากิจเป็นต้นแล้ว แม้กิจทั้ง ๑๖ อย่าง เราก็ทำสำเร็จแล้ว บัดนี้ไม่มีกิจนั้นที่เราจะต้องทำอีก.

พระนิพพาน อันเป็นแดนที่พระอริยเจ้าทั้งหลายสลัดสังขตธรรมได้ทั้งหมด ที่น่ายินดี น่าอภิรมย์ น่ารื่นรมย์ เรายินดีแล้ว อภิรมย์แล้ว รื่นรมย์แล้ว. ก็ด้วยบทว่า รตํ รมฺมํ นั้น พึงทราบอธิบายว่า ความสุข ย่อมติดตามเราผู้สำเร็จกิจแล้วโดยสะดวก คือพระนิพพาน อันเป็นสุขโดยส่วนเดียว ติดตามมา คือ เข้าถึงโดยเป็นสุขเกิดแต่ผลสมาบัติ อีกอย่างหนึ่ง ได้แก่ ผลสุขและนิพพานสุข อันติดตามมา ด้วยสุขเกิดแต่วิปัสสนา และสุขเกิดแต่มรรค โดยสะดวก คือ โดยเป็นข้อปฏิบัติที่สบาย (สุขาปฏิปทา).

จบอรรถกถาปักขเถรคาถา