พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๒. อาตุมเถรคาถา ว่าด้วยคาถาของพระอาตุมเถระ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  18 พ.ย. 2564
หมายเลข  40473
อ่าน  390

[เล่มที่ 50] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 359

เถรคาถา เอกนิบาต

วรรคที่ ๘

๒. อาตุมเถรคาถา

ว่าด้วยคาถาของพระอาตุมเถระ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 50]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 359

๒. อาตุมเถรคาถา

ว่าด้วยคาถาของพระอาตุมเถระ

[๒๐๙] ได้ยินว่า พระอาตุมเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้ อย่างนี้ว่า

หน่อไม้มียอดอันงอกงาม เจริญด้วยกิ่งก้านโดยรอบ ย่อมเป็นของที่บุคคลขุดขึ้นได้โดยยาก ฉันใด เมื่อโยมมารดานำภรรยามาให้ฉันแล้ว ถ้าฉันมีบุตร หรือธิดาขึ้น ก็ยากที่จะถอนตนออกบวชได้ฉันนั้น เพราะฉะนั้น ฉันจึงบวชแล้วในบัดนี้.

อรรถกถาอาตุมเถรคาถา

คาถาของท่านพระอาตุมเถระ เริ่มต้นว่า ยถา กฬีโร สุสุ วฑฺฒิตคฺโค เรื่องราวของท่านเป็นอย่างไร?

แม้ท่านก็มีอธิการอันกระทำแล้ว ในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ สั่งสมบุญ อันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานไว้ในภพนั้นๆ ในกัปที่ ๙๑ แต่ภัทรกัปนี้ บังเกิดในเรือนแห่งตระกูล ถึงความเป็นผู้รู้เดียงสาแล้ว เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพระนาม ว่า วิปัสสี ทรงดำเนินไปในระหว่างถนน มีใจเลื่อมใส ได้ทำการบูชาด้วยน้ำหอม และด้วยจุณแห่งของหอม. ด้วยบุญกรรมนั้น ท่านบังเกิดในเทวโลก ท่องเที่ยวไปๆ มาๆ อยู่ในเทวโลกเท่านั้น บวชในศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพระนามว่า กัสสปะ แล้วบำเพ็ญสมณธรรม แต่ไม่สามารถจะ ทำคุณพิเศษให้เกิดขึ้นได้ เพราะญาณยังไม่แก่กล้า.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 360

ครั้นในพุทธุปบาทกาลนี้ เกิดเป็นเศรษฐีบุตร ในพระนครสาวัตถี ได้มีนามว่า " อาตุมะ" เมื่อท่านเจริญวัยแล้ว มารดาปรึกษากับหมู่ญาติว่า พวกเราจักนำภรรยามาให้บุตรของเรา เขาพิจารณาใคร่ครวญดูเหตุนั้นแล้ว อันเหตุสมบัติทักท้วงไว้ จึงคิดว่า ประโยชน์อะไรด้วยการอยู่ครองเรือนแก่เรา เราจักบวชในบัดนี้แหละ ดังนี้แล้ว ไปยังสำนักของภิกษุทั้งหลายบวชแล้ว. มารดามีความประสงค์จะยังท่านผู้แม้บวชแล้วให้สึก เล้าโลมโดยนัยต่างๆ. ท่านไม่ยอมให้โอกาสแก่มารดา เมื่อจะประกาศอัธยาศัยของตน ได้กล่าวคาถาว่า

คนหนุ่มเหมือนหน่อไม้มียอดอันงอกงาม เจริญด้วยกิ่งก้านโดยรอบ ย่อมเป็นของที่บุคคลขุดขึ้นได้โดยยาก ฉันใด เมื่อโยมมารดานำภรรยามาให้อาตมา แล้ว ถ้าอาตมามีบุตรหรือธิดาขึ้น ก็ยากที่จะถอนตนขึ้นออกบวชได้ ฉันนั้น เพราะฉะนั้น อาตมาจึงไม่ยินยอม บวชแล้วในบัดนี้ ดังนี้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กฬีโร แปลว่า หน่อไม้. แต่ในคาถานี้ หมายเอาหน่อคือเชื้อสาย.

บทว่า สุสุ แปลว่า คนหนุ่ม.

บทว่า วฑฺฒิตคฺโค ความว่า มีกิ่งก้านเจริญงอกงาม.

อีกอย่างหนึ่ง บทว่า สุสุวฑฺฒิตคฺโค ความว่า แผ่กิ่งก้านสาขา ออกไปด้วยดี คือ มีใบและกิ่งเกิดแล้ว.

บทว่า ทุนฺนิกฺขโม ความว่า ไม่สามารถเพื่อจะถอน คือนำออกจากกอไผ่ได้. บทว่า ปสาขชาโต ความว่า มีกิ่งเล็กกิ่งใหญ่เกิดแล้ว คือ แม้แต่ละกิ่ง ก็เกิดกิ่งเล็กๆ ขึ้นทุกๆ ปล้อง.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 361

บทว่า เอวํ อหํ ภริยายานีตาย ความว่า หน่อคือยอดที่แตกกอ ได้แก่กิ่งเล็กกิ่งน้อย ที่เกี่ยวประสานกันในระหว่างหน่อ ย่อมเป็นของนำออกได้โดยยาก จากพุ่มไผ่ ฉันใด แม้ตัวอาตมาเองก็ฉันนั้น เมื่อโยมมารดานำภรรยามาให้ พึงเป็นผู้มีหน่อเจริญงอกงาม โดยเป็นบุตรและธิดาเป็นต้น พึงเป็นของยาก ที่จะปลีกตนออกจากฆราวาสวิสัยได้ ด้วยอำนาจแห่งตัณหา (รัดรึงไว้).

ก็หน่อคือเชื้อสายที่เนื่องกับกิ่งที่ยังไม่เกิด ย่อมนำออกจากพุ่มไม้ไผ่ได้ง่ายฉันใด แม้เราก็ฉันนั้น เนื่องด้วยหน่อมีบุตรและธิดาที่ยังไม่เกิดแล้ว เป็นต้น ย่อมนำออกได้ง่าย เพราะฉะนั้น เมื่อมารดายังไม่นำภรรยามามอบให้ ข้าพเจ้าจึงไม่ยินดี คือไม่ยอมรับรู้ด้วยตนเอง.

บทว่า ปพฺพชิโตมฺหํ ทานิ ความว่า พระเถระประกาศความยินดี ในการออกบวชของตนว่า ก็บัดนี้ ข้าพเจ้าบวชแล้ว คือการที่ข้าพเจ้าบวชแล้ว นั้น เป็นการดีคือดีแล้ว. อีกอย่างหนึ่ง พระเถระบอกแก่มารดาว่า ข้าพเจ้าไม่ยินดี จึงออกบวชในบัดนี้. ก็ในบาทคาถานี้ มีอธิบายดังนี้ แม้ถ้าโยมมารดาไม่ยินยอมในตอนต้น แต่บัดนี้ ข้าพเจ้าก็ได้บวชแล้ว เพราะฉะนั้นท่านจงยินยอมอนุญาต เพื่อให้ข้าพเจ้าดำรงอยู่ในสมณภาพนั่นแล. ก็เมื่อพระเถระกล่าวอย่างนี้ ทั้งๆ ที่ยืนอยู่นั่นแหละ เจริญวิปัสสนา ยังกิเลสให้ สิ้นไปตามลำดับแห่งมรรค ได้เป็นผู้มีอภิญญา ๖ แล้ว. สมดังคาถาประพันธ์ ที่ท่านกล่าวไว้ในอปทานว่า

เรานั่งอยู่ในปราสาทอันประเสริฐ ได้เห็นพระชินเจ้า ทรงพระนามว่าวิปัสสี งามดังไม้รกฟ้า ผู้เป็นสัพพัญญู เป็นผู้นำอันอุดม พระองค์ผู้นำของโลก

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 362

เสด็จดำเนินไปในที่ไม่ไกลปราสาท รัศมีของพระองค์สว่างไสว ในเมื่อพระอาทิตย์อัสดงคตแล้ว เราประคองน้ำหอมประพรม (บูชา) พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุด ด้วยจิตอันเลื่อมใสนั้น เราทำกาลกิริยา ณ ที่นั้น ใน กัปที่ ๙๑ แต่ภัทรกัปนี้ เราได้ประพรมน้ำหอมใด ด้วยกรรมนั้น เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งพุทธบูชา ในกัปที่ ๓๑ แต่ภัทรกัปนี้ ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิจอมกษัตริย์ พระนามว่าสุคนธ์ สมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ มีพลมาก. เราทำลายกิเลสทั้งหลายแล้ว ฯลฯ คำสอนของพระพุทธเจ้า เรากระทำสำเร็จแล้ว ดังนี้.

ก็พระเถระเป็นผู้ได้อภิญญา ๖ แล้ว อำลามารดา เมื่อมารดาจ้องมองดูอยู่นั่นแล เหาะหลีกไปทางอากาศ. แม้เลยเวลาที่ได้บรรลุพระอรหัตแล้ว ท่านก็ได้กล่าวแต่คาถานั้นอย่างเดียวในระหว่างๆ.

บรรดาบทเหล่านั้น ด้วยการชี้ (บท) นี้ว่า ปพฺพชิโตมฺหิ แม้คาถานี้ ก็จัดว่าเป็นคาถาพยากรณ์พระอรหัตตผลของพระเถระ เพราะแสดงถึงความที่แห่งมลทินมีราคะเป็นต้นในสันดานของตน อันพระเถระละเว้นทั่วแล้ว. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ผู้ที่ไล่มลทินของตนได้ ฉะนั้น จึงเรียกว่า บรรพชิต ดังนี้.

จบอรรถกถาอาตุมเถรคาถา