พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๙. รักขิตเถรคาถา ว่าด้วยคาถาของพระรักขิตเถระ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  18 พ.ย. 2564
หมายเลข  40480
อ่าน  363

[เล่มที่ 50] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 388

เถรคาถา เอกนิบาต

วรรคที่ ๘

๙. รักขิตเถรคาถา

ว่าด้วยคาถาของพระรักขิตเถระ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 50]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 388

๙. รักขิตเถรคาถา

ว่าด้วยคาถาของพระรักขิตเถระ *

[๒๑๖] ได้ยินว่า พระรักขิตเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้ อย่างนี้ว่า

เราละราคะได้หมดแล้ว ถอนโทสะได้หมดแล้ว เรามีโมหะทั้งปวงไปปราศแล้ว เป็นผู้เยือกเย็น ดับความร้อนได้แล้ว.

อรรถกถารักขิตเถรคาถา

คาถาของท่านพระรักขิตเถระ เริ่มต้นว่า สพฺโพ ราโค ปหีโน เจ. เรื่องราวของท่านเป็นอย่างไร?

ได้ยินว่า พระเถระนี้ เกิดในเรือนแห่งตระกูล ในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพระนามว่า ปทุมุตตระ ถึงความเป็นผู้รู้แล้ว วันหนึ่ง สดับพระธรรมเทศนา ของพระศาสดา แล้วมีใจเลื่อมใส ได้กระทำการชมเชย โดยปรารภพระญาณในเทศนา. พระศาสดาทรงตรวจดู ความเลื่อมใสแห่งจิต


* ในอปทานเรียกว่า พระโสภิต ไม่เรียกว่า พระรักขิตเถระ

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 389

ของท่านแล้ว ทรงพยากรณ์ว่า ในที่สุดแห่งแสนกัปนับแต่กัปนี้ เธอจักได้เป็นสาวกชื่อว่า รักขิตะ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า โคตมะ.

ท่านสดับคำพยากรณ์นั้นแล้ว เป็นผู้มีใจเลื่อมใสยิ่งเกินประมาณ กระทำบุญเป็นอันมาก แล้วท่องเที่ยวไปๆ มาๆ ในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายบังเกิด ในตระกูลแห่งเจ้าศากยะ ในเทวทหนิคม ในพุทธุปบาทกาลนี้. ได้มีนามว่า รักขิตะ. ท่านเป็นราชกุมารองค์หนึ่งในบรรดาราชกุมารทั้ง ๕๐๐ ที่พวกเจ้าศากยะและเจ้าโกลิยะทั้งหลาย ทูลถวายเพื่อเป็นบริวารของพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วบวช. ก็ราชกุมารเหล่านั้น ไม่ถูกความกระสันครอบงำ เพราะบวชด้วยความสังเวช ในเวลาที่พระศาสดาทรงนำไปสู่ฝั่งแม่น้ำกุณาลทหะ ทรงประกาศ โทษในกามทั้งหลาย โดยทรงสำแดงโทษของพวกสตรี ในเทศนาว่าด้วย กุณาลชาดกแล้ว ทรงให้ประกอบในกรรมฐาน เวลานั้น แม้พระรักขิตเถระนี้ ก็ขวนขวายกรรมฐาน เจริญวิปัสสนา บรรลุพระอรหัตแล้ว. สมดังคาถา ประพันธ์ที่ท่านกล่าวไว้ในอปทานว่า

พระพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า ปทุมุตตระ เชษฐบุรุษของโลก ประเสริฐกว่านระ ทรงแสดง อมตบท แก่หมู่ซนเป็นอันมาก เวลานั้นเราได้ฟังพระดำรัสอัน เป็นอาสภิวาจา ที่พระองค์ทรงเปล่งแล้ว ประนมอัญชลีเป็นผู้มีใจเป็นอารมณ์เดียว (กล่าวว่า) สมุทร เลิศกว่าทะเลทั้งหลาย เขาสุเมรุ ประเสริฐกว่าเขาทั้งหลาย เป็นที่สั่งสมหิน ฉันใด ชนเหล่าใดย่อมเป็นไปตามอำนาจจิต ชนเหล่านั้นย่อมไม่เข้าถึงเสี้ยวแห่งพระพุทธญาณ ฉันนั้น พระพุทธเจ้าทรงเป็นฤษี ประกอบด้วยพระกรุณา ทรงหยุดการแสดงธรรม

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 390

ประทับนั่ง ในท่ามกลางสงฆ์แล้ว ได้ตรัสพระคาถา เหล่านี้ว่า ผู้ใดสรรเสริญพระพุทธญาณ ผู้นำของโลก ผู้นั้นจะต้องไม่ไปสู่ทุคติตลอดแสนกัป ผู้นั้นจักเผา กิเลสทั้งปวงได้ จักเป็นผู้มีอารมณ์เดียว มีจิตมั่นคง จักได้เป็นสาวกของพระศาสดา มีนามว่า โสภิตะ ในกัปที่ ๕๐,๐๐๐ แต่ภัทรกัปนี้ ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๗ พระองค์ พระนามว่า ยสุคคตะ สมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ มีพลมาก. เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ฯลฯ คำสอนของพระพุทธเจ้า เรากระทำสำเร็จแล้ว ดังนี้.

ก็พระเถระ ครั้นบรรลุพระอรหัตแล้ว เมื่อพิจารณาถึงกิเลสที่ตน ละได้แล้ว ได้กล่าวคาถาว่า

เราละราคะได้หมดแล้ว ถอนโทสะได้หมดแล้ว เรามีโมหะทั้งปวงไปปราศแล้วเป็นผู้เยือกเย็นดับความร้อนได้แล้ว ดังนี้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สพฺโพ ราโค ได้แก่ ราคะแม้ทั้งหมด มีกามราคะเป็นต้นเป็นประเภท.

บทว่า ปหีโน ได้แก่ ละแล้ว ด้วยสามารถแห่งสมุจเฉทปหานด้วยอริยมรรคภาวนา.

บทว่า สพฺโพ โทโส ได้แก่ พยาบาทแม้ทั้งหมดต่างโดยประเภทเป็นอเนก โดยความเป็นอาฆาตวัตถุเป็นต้น.

บทว่า สมูหโต ได้แก่ ถอนขึ้นแล้ว ด้วยมรรค.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 391

บทว่า สพฺโพ เม วิกโต โมโห ได้แก่ โมหะ ๘ ประเภท โดยต่างกันทางวัตถุ มีไม่รู้ทุกข์เป็นต้น คือโมหะแม้ทั้งหมด จำแนกออกไปได้ไม่ใช่น้อย โดยวิภาคแห่งสังกิเลสวัตถุของเรา ชื่อว่า ไปปราศแล้ว เพราะ ถูกเรากำจัดแล้วด้วยมรรค.

บทว่า สีติภูโตสฺมิ นิพฺพุโต ความว่า พระเถระพยากรณ์พระอรหัตตผลว่า ด้วยการละกิเลสที่เป็นมูลได้อย่างนี้ เราชื่อว่าถึงแล้วซึ่งความเยือกเย็น เพราะไม่มีความกระวนกระวาย และความเร่าร้อนหลงเหลืออยู่ เพราะความที่สังกิเลสทั้งหลาย โดยตั้งอยู่ที่เดียวกันกับกิเลสมูลนั้น สงบระงับแล้วโดยชอบนั่นแหละ เพราะเหตุนั้นแล เราจึงชื่อว่าเป็นผู้ปรินิพพานแล้ว เพราะดับกิเลสได้ โดยประการทั้งปวง.

จบอรรถกถารักขิตเถรคาถา