พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑๐. อุคคเถรคาถา ว่าด้วยคาถาของพระอุคคเถระ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  18 พ.ย. 2564
หมายเลข  40481
อ่าน  388

[เล่มที่ 50] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 391

เถรคาถา เอกนิบาต

วรรคที่ ๘

๑๐. อุคคเถรคาถา

ว่าด้วยคาถาของพระอุคคเถระ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 50]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 391

๑๐. อุคคเถรคาถา

ว่าด้วยคาถาของพระอุคคเถระ

[๒๑๗] ได้ยินว่า พระอุคคเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้ อย่างนี้ว่า

กรรมใดที่เราได้ทำไว้แล้ว น้อยหรือมากก็ตาม กรรมทั้งหมดนั้นสิ้นไปแล้ว บัดนี้การเกิดในภพใหม่ ไม่มี.

จบวรรคที่ ๘

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 392

อรรถกถาอุคคเถรคาถา

คาถาของท่านพระอุคคเถระ เริ่มต้นว่า ยํ มยา ปกตํ กมฺมํ. เรื่องราวของท่านเป็นอย่างไร?

แม้พระเถระนี้ ก็เป็นผู้มีอธิการอันกระทำแล้ว ในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ กรtทำบุญไว้ในภพนั้นๆ เป็นอันมาก เกิดในเรือนแห่งตระกูลในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพระนามว่าสิขี ในกัปที่ ๓๑ แต่ภัทรกัปนี้ ถึงความเป็นผู้รู้แล้ว วันหนึ่ง เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพระนามว่าสิขี เป็นผู้มีใจเลื่อมใสแล้ว ได้ทำการบูชาด้วยดอกการะเกด.

ด้วยบุญกรรมนั้น เขาบังเกิดในเทวโลก ท่องเที่ยวไปๆ มาๆ อยู่ แต่ในสุคติภพเท่านั้น เกิดเป็นบุตรเศรษฐี ในอุคคนิคม ณ แคว้นโกศล ในพุทธุปบาทกาลนี้ เขาได้นามว่า อุคคะ ดังนี้แล. เขาเจริญวัยแล้ว เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่ภัททารามในนิคมนั้น ไปวิหารฟังธรรมในสำนักของพระศาสดา ได้เป็นผู้มีศรัทธาจิต บวชแล้วบำเพ็ญวิปัสสนา บรรลุพระอรหัตต่อกาลไม่นานนัก. สมดังคาถาประพันธ์ที่ท่านกล่าวไว้ในอปทานว่า

ไม้การะเกดกำลังมีดอก มีอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำกว้าง ข้าพระองค์แสวงหาต้นการะเกดนั้นอยู่ ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้นำของโลก ในกาลนั้น ข้าพระองค์ เห็นต้นการะเกดมีดอกบาน จึงตัดที่ขั้วแล้ว บูชาแด่พระพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า สิขี ผู้เป็นเผ่าพันธุ์ของโลก ข้าแต่พระมหามุนีพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ พระองค์ทรงบรรลุอมตบทอันไม่เคลื่อน ด้วยพระญาณใด

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 393

ข้าพระองค์บูชาพระญาณนั้น ข้าพระองค์ กระทำการบูชาพระญาณแล้ว ได้เห็นดอกการะเกด ข้าพระองค์เป็นผู้ได้สัญญานั้น นี้เป็นผลแห่งการบูชา พระญาณ ในกัปที่ ๓๑ แต่ภัทรกัปนี้ ข้าพระองค์บูชาพระพุทธญาณด้วยดอกไม้ใด ด้วยการบูชานั้น ข้าพระองค์ไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งการบูชา พระญาณ ในกัปที่ ๑๓ แต่ภัทรกัปนี้ ได้เป็นพระเจ้า จักรพรรดิ ๑๒ พระองค์ พระนามว่า ผลุคคตะ สมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ มีพลมาก. เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ฯลฯ คำสอนของพระพุทธเจ้า เรากระทำสำเร็จแล้ว ดังนี้.

ก็พระเถระครั้นบรรลุพระอรหัตแล้ว เมื่อจะพยากรณ์พระอรหัตตผล โดยแสดงการเข้าไปกำหนดวัฏฏะของตน ได้กล่าวคาถาว่า

กรรมใดที่เราได้ทำไว้แล้ว น้อยหรือมากก็ตาม กรรมทั้งหมดนั้นสิ้นไปแล้ว บัดนี้ การเกิดในภพใหม่ ไม่มี ดังนี้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยํ มยา ปกตํ กมฺมํ ความว่า กรรมใด คือกรรมที่เป็นวิบากใดที่ข้าพเจ้ากระทำแล้ว คือเข้าไปสั่งสมแล้ว ได้แก่ให้เกิดแล้ว ในสงสารอันมีที่สุดและเบื้องต้น อันบุคคลตามไปอยู่รู้ไม่ได้ โดยประการมิใช่น้อย คือ โดยเป็นอกุศลมีบาปเป็นต้น และโดยเป็นกุศลมีทาน เป็นต้น ด้วยกรรมทวาร ๓ ด้วยอุปปัตติทวาร ๖ (และ) ด้วยอสังวรทวาร ๘

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 394

บทว่า อปฺปํ วา ยทิวา พหุํ ความว่า ก็กรรมนั้นชื่อว่าน้อย เพราะวัตถุ เจตนา ประโยค และกิเลสเป็นต้น มีกำลังน้อยก็ตาม ชื่อว่ามาก เพราะวัตถุ เจตนา ประโยค และกิเลสเป็นต้นเหล่านั้นมีกำลัง และเพราะประพฤติเนืองๆ ก็ตาม.

บทว่า สพฺพเมตํ ปริกฺขีณํ ความว่า ก็กรรมนี้ทั้งหมดนั่นแล ชื่อว่า ถึงความสิ้นไปรอบ เพราะมรรคอันเลิศ อันกระทำให้กรรมหมดสิ้นไป เราบรรลุแล้ว อธิบายว่า เพราะละกิเลสวัฏฏ์ได้ กรรมวัฏฏ์ ย่อมชื่อว่า เป็นอันเราละได้แล้วด้วย เพราะวิบากวัฏฏ์จะเกิดขึ้นไม่ได้. ด้วยเหตุนั้น พระเถระจึงกล่าวว่า บัดนี้การเกิดในภพใหม่ไม่มี ดังนี้. อธิบายว่า การเกิดในภพใหม่ ไม่มีแก่เราอีกต่อไป. ปาฐะว่า สพฺพเมตํ ดังนี้ก็มี. แยกบทออกเป็น สพฺพมฺปิ เอตํ.

จบอรรถกถาอุคคเถรคาถา

จบวรรควรรณนาที่ ๘

ในอรรถกถาเถรคาถา ชื่อว่า ปรมัตถทีปนี

ในวรรคนี้รวมพระเถระ ๑๐ รูป คือ

๑. พระวัจฉปาลเถระ

๒. พระอาตุมเถระ

๓. พระมาณวเถระ

๔. พระสุยามนเถระ

๕. พระสุสารทเถระ

๖. พระปิยัญชหเถระ

๗. พระหัตถาโรหบุตรเถระ

๘. พระเมณฑสิรเถระ

๙. พระรักขิตเถระ

๑๐. พระอุคคเถระ และอรรถกถา.