๔. นีตเถรคาถา ว่าด้วยคาถาของพระนีตเถระ
[เล่มที่ 50] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 405
เถรคาถา เอกนิบาต
วรรคที่ ๙
๔. นีตเถรคาถา
ว่าด้วยคาถาของพระนีตเถระ
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 50]
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 405
๔. นีตเถรคาถา
ว่าด้วยคาถาของพระนีตเถระ
[๒๒๑] ได้ยินว่า พระนีตเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้ อย่างนี้ว่า
คนโง่เขลา มัวแต่นอนหลับตลอดทั้งคืน และ คลุกคลีอยู่ในหมู่ชนตลอดวันยังค่ำ เมื่อไรจักทำที่สุด แห่งทุกข์ได้เล่า.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 406
อรรถกถานีตเถรคาถา
คาถาของท่านพระนีตเถระ เริ่มต้นว่า สพฺพรตฺตึ สุปิตฺวาน. เรื่องราว ของท่านเป็นอย่างไร?
ได้ยินว่า พระเถระนี้ เป็นพราหมณ์ชื่อว่า สุนันทะ ในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพระนามว่า ปทุมุตตระ สอนมนต์กะพราหมณ์หลายร้อยคนบูชายัญ ชื่อว่า วาชเปยฺยะ พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงอนุเคราะห์พราหมณ์นั้น เสด็จไปสู่ที่บูชายัญ แล้วเสด็จจงกรมในอากาศ พราหมณ์เห็นพระศาสดาแล้วมีใจเลื่อมใส ให้ศิษย์ทั้งหลายนำดอกไม้มาแล้ว โยนขึ้นไปในอากาศ ทำการบูชาแล้ว ด้วยพุทธานุภาพ ที่นั้นและพระนคร ทั้งสิ้น ได้เป็นประดุจถูกคลุมไว้ด้วยแผ่นผ้า คือ ดอกไม้. มหาชนต่างเสวยปีติ โสมนัสอย่างโอฬารในพระศาสดา.
ด้วยกุศลกรรมนั้น สุนันทพราหมณ์ ท่องเที่ยวอยู่ในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เกิดเป็นบุตรของพราหมณ์คนหนึ่ง ในพระนครสาวัตถี ในพุทธุปบาทกาลนี้ ได้มีนามว่า นีตะ. เขาถึงความเป็นผู้รู้เดียงสาแล้ว คิดว่า สมณศากยบุตรเหล่านี้มีศีลสะอาด มีมรรยาทงาม บริโภคโภชนะอย่างดี อยู่ในเสนาสนะที่อับลม เราอาจบวชแล้วอยู่ในเสนาสนะเหล่านี้ได้โดยสบายดังนี้ จึงบวชด้วยปรารถนาความสบาย เรียนกรรมฐานในสำนักของพระศาสดา แล้วมนสิการกรรมฐานได้ ๒ - ๓ วันเท่านั้น ก็ละทิ้งกรรมฐานนั้น ฉันเต็มตามต้องการจนร่างกายไม่เรียกร้องหาอาหาร ยินดีในการคลุกคลีด้วยหมู่วันยังค่ำ ยังเวลาให้ล่วงไปด้วยการสนทนากันด้วยเรื่องไร้สาระ แม้ในเวลากลางคืนก็ถูกถีนมิทธะครอบงำ นอนหลับคืนยังรุ่ง พระศาสดาทรงตรวจดูความสุกงอมแห่งเหตุของเธอแล้ว เมื่อจะทรงประทานโอวาท ได้ตรัสพระคาถาว่า
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 407
คนโง่เขลา มัวแต่นอนหลับตลอดทั้งคืน และ คลุกคลีอยู่ในหมู่ชนตลอดวันยังค่ำ เมื่อไรจักทำที่สุด แห่งทุกข์ได้เล่า.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สพฺพรตฺตี ได้แก่ ตลอดคืนทั้งสิ้น.
บทว่า สุปิตฺวาน แปลว่า นอนหลับแล้ว. อธิบายว่า ไม่ขวนขวายในความตื่น ที่ท่านกล่าวไว้โดยนัยมีอาทิว่า ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอาวรณียธรรมโดยการจงกรม โดยการนั่ง ตลอดปฐมยามแห่งราตรี ดังนี้ แล้วก้าวลงสู่ความหลับ แม้ในยามทั้ง ๓ แห่งราตรีทั้งสิ้น.
บทว่า ทิวา แปลว่า ทั้งวัน อธิบายว่า ตลอดส่วนแห่งวันทั้งสิ้น.
บทว่า สงฺคณิเก ความว่า การมั่วสุมกับบุคคลผู้มากไปด้วยความมั่นคงทางกาย ด้วยการสนทนากันด้วยเรื่องไร้สาระ. ชื่อว่า การคลุกคลี ผู้ที่ยินดี คือ อภิรมย์ในการคลุกคลีนั้น ได้แก่ ผู้ที่ยังไม่ขาดความพอใจในการคลุกคลี นั้น ท่านกล่าวว่ายินดีแล้วในการคลุกคลี. บาลีว่า สงฺคณิการโต ดังนี้ก็มี.
บทว่า กุทาสฺสุ นาม เท่ากับ กุทา นาม. บทว่า อสฺสุ เป็น นิบาต. อธิบายว่า ได้แก่ ในกาลชื่อไร? บทว่า ทุมฺเมโธ ได้แก่ คน ไม่มีปัญญา. บทว่า ทุกฺขสฺส ได้แก่ ทุกข์ในวัฏฏะ.
บทว่า อนฺตํ แปลว่า ซึ่งที่สุด. อธิบายว่า เมื่อไรจักกระทำ การไม่เข้าไปยึดมั่นได้ โดยส่วนเดียวเล่า คือ การกระทำที่สุดแห่งทุกข์ ย่อมไม่มีแก่คนเช่นนี้. บาลีว่า ทุมฺเมธ ทุกฺขสฺสนฺตํ กริสฺสิ ดังนี้ก็มี.
ก็เมื่อพระศาสดาตรัสพระคาถาอย่างนี้แล้ว พระเถระเกิดความสลดใจ เริ่มตั้งวิปัสสนา บรรลุพระอรหัตต่อกาลไม่นานนัก. สมดังคาถาประพันธ์ ที่ท่านกล่าวไว้ในอปทานว่า
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 408
เราเป็นพราหมณ์ มีนามว่า สุนันทะ ผู้รู้จบมนต์ เป็นผู้คงแก่เรียน เป็นผู้ควรขอ ได้บูชายัญ ชื่อว่า วาชเปยยะ ในกาลนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนาม ว่า ปทุมุตตระ ผู้ทรงรู้แจ้งโลก ผู้เลิศ เป็นพระฤาษี ประกอบด้วยพระกรุณา ทรงเอ็นดูหมู่ชน เสด็จจงกรม อยู่ในอากาศ พระสัพพัญญูสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นนายกของโลก เสด็จจงกรมแล้ว ทรงแผ่เมตตาไปในบรรดาสัตว์ หาประมาณมิได้ ไม่มีอุปธิ พราหมณ์ผู้รู้จบมนต์ เด็ดดอกไม้ที่ขั้วแล้ว ประชุมศิษย์ทั้งหมด ให้ศิษย์ช่วยกันโยนดอกไม้ขึ้นไปในอากาศ ในกาลนั้น หลังคาดอกไม้ ได้มีตลอดทั่วพระนครไม่หายไปตลอด ๗ วัน ด้วยพุทธานุภาพ ด้วยกุศลมูลนั้น พราหมณ์ผู้รู้จบมนต์ ได้เสวยสมบัติแล้ว กำหนดรู้อาสวะทั้งปวง ข้ามโลก ๓ และตัณหาได้แล้ว ในกัปที่ ๑,๑๐๐ แต่ภัทรกัปนี้ ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิจอมกษัตริย์ ๓๕ พระองค์ มีพระนาม เหมือนกันว่า อัมพรังสสะ มีพลมาก. เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ฯลฯ คำสอนของพระพุทธเจ้า เรากระทำสำเร็จแล้ว ดังนี้.
ก็พระเถระครั้นบรรลุพระอรหัตแล้ว เมื่อพยากรณ์พระอรหัตตผล ก็ได้กล่าวย้ำซ้ำพระคาถานั้นแล.
จบอรรถกถานีตเถรคาถา