พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๕. สุนาคเถรคาถา ว่าด้วยคาถาของพระสุนาคเถระ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  18 พ.ย. 2564
หมายเลข  40486
อ่าน  375

[เล่มที่ 50] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 409

เถรคาถา เอกนิบาต

วรรคที่ ๙

๕. สุนาคเถรคาถา

ว่าด้วยคาถาของพระสุนาคเถระ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 50]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 409

๕. สุนาคเถรคาถา

ว่าด้วยคาถาของพระสุนาคเถระ

[๒๒๒] ได้ยินว่า พระสุนาคเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้ อย่างนี้ว่า

ผู้ฉลาดในการถือเอา ซึ่งนิมิตแห่งภาวนาจิต เสวยรสแห่งวิเวก เพ่งฌาน ฉลาดในการรักษากรรมฐาน มีสติตั้งมั่น พึงบรรลุนิรามิสสุขอย่างแน่นอน.

อรรถกถาสุนาคเถรคาถา

คาถาของท่านพระสุนาคเถระ เริ่มต้นว่า จิตฺตนิมิตฺตสฺส โกวิโท. เรื่องราวของท่านเป็นอย่างไร?

แม้พระเถระนี้ ก็มีอธิการอันกระทำไว้แล้วในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ เข้าไปสั่งสมกุศลอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานไว้ในภพนั้นๆ เกิดในตระกูลพราหมณ์ ในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพระนามว่า สิขี ในกัปที่ ๓๑ แต่ภัทรกัปนี้ เจริญวัยแล้ว เป็นผู้ถึงฝั่งแห่งไตรเพท อยู่ในอาศรมใกล้ชัฏป่า สอนมนต์กะพราหมณ์ ๓,๐๐๐ คน. ครั้นวันหนึ่ง เมื่อเขาเห็นพระศาสดาจึงตรวจดูพระลักษณะแล้วร่ายมนต์สำหรับทำนายลักษณะ ก็บังเกิดความเลื่อมใสอย่างโอฬาร ปรารภพระพุทธญาณว่า ผู้ประกอบด้วยลักษณะ เช่นนี้ จักเป็นพระพุทธเจ้าผู้พิชิตมาร มีพระญาณหาที่สุดมิได้ ดังนี้.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 410

ด้วยจิตที่เลื่อมใสนั้น เขาบังเกิดในเทวโลก ท่องเที่ยวไปๆ มาๆ อยู่ในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เกิดเป็นบุตรของพราหมณ์คนหนึ่ง ใน นาลกคาม ในพุทธุปบาทกาลนี้ ได้มีนามว่า สุนาคะ. เขาเป็นสหายครั้งเป็นคฤหัสถ์ของพระธรรมเสนาบดี ไปสู่สำนักของพระเถระ ฟังธรรมแล้วตั้งอยู่ ในทัสสนภูมิ เจริญวิปัสสนา บรรลุพระอรหัตแล้ว. สมดังคาถาประพันธ์ ที่ท่านกล่าวไว้ในอปทานว่า

ภูเขาชื่อว่า วสภะ มีอยู่ในที่ไม่ไกลภูเขาหิมวันต์ ที่เชิงเขาวสภะนั้น มีอาศรมที่เราสร้างไว้ในกาลนั้น เราเป็นพราหมณ์บอกมนต์กะศิษย์ประมาณ ๓,๐๐๐ เรา สั่งสอนศิษย์เหล่านั้นแล้ว เข้าอยู่ (ในที่สงัด) ณ ที่ สมควรข้างหนึ่ง แสวงหาพุทธเวท มีจิตเลื่อมใสในพระญาณ ครั้นเรายังจิตให้เลื่อมใสในพระญาณแล้ว นั่งคู้บัลลังก์อยู่บนเครื่องลาดหญ้า กระทำกาลกิริยา ณ ที่นั้น ในกัปที่ ๓๑ แต่ภัทรกัปนี้ เราได้สัญญาใดในกาลนั้น ด้วยสัญญานั้น เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งสัญญาในพระญาณ ในกัปที่ ๒๗ แต่ภัทรกัปนี้ ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิราช พระนามว่า สิริธร สมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ มีพลมาก. เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ฯลฯ คำสอนของพระพุทธเจ้า เรากระทำสำเร็จแล้ว ดังนี้.

ก็พระเถระครั้นบรรลุพระอรหัตแล้ว เมื่อจะพยากรณ์พระอรหัตตผล ด้วยประกาศการแสดงธรรมของภิกษุทั้งหลาย ได้กล่าวคาถาว่า

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 411

ผู้ฉลาดในการถือเอาซึ่งนิมิต แห่งภาวนาจิต เสวยรสแห่งวิเวก เพ่งฌาน ฉลาดในการรักษากรรมฐาน มีสติตั้งมั่น พึงบรรลุนิรามิสสุขอย่างแน่นอน ดังนี้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า จิตฺตนิมิตฺตสฺส โกวิโท ความว่า ผู้ฉลาดในการถือเอาซึ่งนิมิตแห่งภาวนาจิต คือฉลาดในการถือเอาซึ่งจิตนิมิต อันควรแก่การยกย่องเป็นต้น อย่างนี้ว่า พึงยกย่องจิตในสมัยนี้ พึงให้จิตร่าเริงในสมัยนี้ พึงวางเฉยในสมัยนี้ ดังนี้.

บทว่า ปวิเวกรสํ วิชานิย ความว่า รู้รสแห่งจิตวิเวก อันยังกายวิเวกให้เจริญแล้ว อธิบายว่า เสวยวิเวกสุข. ท่านอธิบายว่า ได้แก่ดื่ม วิมุตติรส. บทว่า ณายํ ได้แก่ เพ่งด้วยอารัมมณูปนิชฌานก่อน และเพ่งด้วยลักขณูปนิชฌานในภายหลัง.

บทว่า นิปโก ได้แก่ ฉลาดในการบริหารกรรมฐาน.

บทว่า ปติสฺสโต ได้แก่ เข้าไปตั้งสติไว้.

บทว่า อธิคจฺเฉยฺย สุขํ นิรามิสํ ความว่า ตั้งอยู่แล้วในสุขอันเกิดแต่จิตวิเวก อันจะพึงได้ด้วยความเป็นผู้ฉลาดในสมถนิมิตเป็นต้นอย่างนี้ เป็นผู้มีสติ มีสัมปชัญญะ เพ่งอยู่ด้วยวิปัสสนาฌานนั่นแล พึงบรรลุ คือพึง เข้าไปถึงพร้อม ซึ่งนิพพานสุขและผลสุข อันชื่อว่าไม่มีอามิส เพราะไม่เจือปน ด้วยอามิสคือกาม และอามิสคือวัฏฏะ.

จบอรรถกถาสุนาคเถรคาถา