พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๒. วิชยเถรคาถา ว่าด้วยคาถาของพระวิชยเถระ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  18 พ.ย. 2564
หมายเลข  40493
อ่าน  384

[เล่มที่ 50] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 433

เถรคาถา เอกนิบาต

วรรคที่ ๑๐

๒. วิชยเถรคาถา

ว่าด้วยคาถาของพระวิชยเถระ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 50]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 433

๒. วิชยเถรคาถา

ว่าด้วยคาถาของพระวิชยเถระ

[๒๒๙] ได้ยินว่า พระวิชยเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้ อย่างนี้ว่า

ผู้ได้มีอาสวะสิ้นแล้ว ไม่ติดอยู่ในอาหาร มีสุญญตวิโมกข์ และอนิมิตตวิโมกข์ เป็นโคจร รอยเท้าของผู้นั้นรู้ได้ยาก เหมือนรอยเท้าของฝูงนกในอากาศ ฉะนั้น.

อรรถกถาวิชยเถรคาถา

คาถาของท่านพระวิชยเถระ เริ่มต้นว่า ยสฺสาสวา ปริกฺขีณา. เรื่องราวของท่านเป็นอย่างไร?

แม้พระเถระนี้ ก็มีอธิการอันกระทำแล้วในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ เกิดในตระกูลที่สมบูรณ์ด้วยสมบัติ ในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพระนามว่า ปิยทัสสี บรรลุถึงความเป็นผู้รู้แล้ว เมื่อพระศาสดาปรินิพพานแล้ว ให้ช่างกระทำไพที (แท่นที่วางเครื่องสักการะ) อันขจิตด้วยรัตนะ สำหรับพระสถูปของพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า ปิยทัสสี แล้วให้ทำการฉลองไพทีอย่างโอฬาร ที่พระสถูปนั้น.

ด้วยบุญกรรมนั้น เขาท่องเที่ยวไปด้วยแสงสว่างแห่งแก้วมณี ในหลายร้อยอัตภาพ. เมื่อเขาท่องเที่ยวอยู่ในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายอย่างนี้

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 434

บังเกิดแล้วในตระกูลพราหมณ์ ในพระนครสาวัตถี ในพุทธุปบาทกาลนี้ ได้ มีนามว่า วิชยะ. วิชยพราหมณ์เจริญวัยแล้ว สำเร็จการศึกษาในวิชชาของ พราหมณ์ทั้งหลาย บวชเป็นดาบส เป็นผู้ได้ฌาน อยู่ชายป่าฟังข่าวการบังเกิด ขึ้นของพระพุทธเจ้าแล้ว เกิดความเลื่อมใส เข้าไปสู่สำนักของพระศาสดา ถวายบังคมพระศาสดา แล้วนั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่ง พระศาสดาทรงแสดงธรรมแก่เขาแล้ว เขาฟังธรรมแล้วบวช เริ่มตั้งวิปัสสนา บรรลุพระอรหัต ต่อกาลไม่นานนัก สมดังคาถาประพันธ์ที่ท่านกล่าวไว้ในอปทานว่า

เมื่อพระโลกนาถทรงพระนามว่า ปิยทัสสี ผู้สูงกว่านระ ปรินิพพานแล้ว เรามีจิตเลื่อมใส มีใจโสมนัส ได้กระทำแท่นบูชาพระพุทธเจ้า แวดล้อมด้วยแก้วมณี แล้ว ได้กระทำการฉลองอย่างมโหฬาร ครั้นทำการฉลองแท่นบูชาแล้ว เราได้ทำกาลกิริยา ณ ที่นั้น เราเข้าถึงกำเนิดใดๆ คือความเป็นเทวดาหรือมนุษย์ ในกำเนิดนั้นๆ เทวดาทั้งหลาย ย่อมทรงแก้วมณีไว้ในอากาศ นี้เป็นผลแห่งบุญกรรม ในกัปที่ ๑,๖๐๐ แต่ภัทรกัปนี้ ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิราช ๓๒ พระองค์ พระนามว่า "มณิปภา" มีพลมาก. เราเผากิเลส ทั้งหลายแล้ว ฯลฯ คำสอนของพระพุทธเจ้า เรากระทำสำเร็จแล้ว ดังนี้.

พระเถระครั้นบรรลุพระอรหัตแล้ว เมื่อจะพยากรณ์พระอรหัตตผล ได้กล่าวคาถาว่า

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 435

ผู้ใดมีอาสวะสิ้นแล้ว ไม่ติดอยู่ในอาหาร มีสุญญตวิโมกข์ และอนิมิตตวิโมกข์ เป็นโคจร รอยเท้าของผู้นั้น รู้ได้ยาก เหมือนรอยเท้าของฝูงนกในอากาศ ฉะนั้น ดังนี้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยสฺสาสวา ปริกฺขีณา ความว่า อาสวะ ๔ มีกามาสวะเป็นต้น ของบุคคลผู้สูงสุดใด สิ้นแล้วโดยประการทั้งปวง คือ ให้สิ้นไปแล้วด้วยพระอริยมรรค.

บทว่า อาหาเร จ อนิสฺสิโต ความว่า บุคคลใดไม่ติดอยู่แล้ว คือไม่ลุอำนาจของความอยาก ได้แก่ไม่ถึงความละโมบในอาหาร ด้วยธรรมเป็นเครื่องติด คือ ตัณหาและทิฏฐิ บทนี้เป็นเพียงตัวอย่าง พึงทราบว่าใน คาถานี้ ท่านถือเอาปัจจัยแม้ทั้ง ๔ ไว้ด้วยศัพท์ที่เป็นประธาน คืออาหารศัพท์ อีกอย่างหนึ่ง พึงทราบว่าในคาถานี้ อาหารศัพท์เป็นปริยายแห่งปัจจัย.

ในบทว่า สุญฺโต อนิมิตฺโต จ นี้ ท่านหมายเอาอัปปณิหิตวิโมกข์ เข้าไว้ด้วย. ก็วิโมกข์ทั้ง ๓ แม้เหล่านี้ เป็นชื่อของพระนิพพานทั้งนั้น อธิบาย ว่า พระนิพพานชื่อว่า ว่าง เพราะไม่มีกิเลสมีราคะเป็นต้น ท่านเรียกว่า สุญญตวิโมกข์ เพราะว่างและพ้นจากกิเลสมีราคะเป็นต้นเหล่านั้น อนึ่ง พระนิพพาน ชื่อว่า หานิมิตมิได้ เพราะไม่มีนิมิตมีราคะเป็นต้น และเพราะไม่มี สังขารนิมิต ท่านเรียกว่า อนิมิตตวิโมกข์ เพราะไม่มีกิเลสเหล่านั้นเป็นนิมิต และว่างจากกิเลสเหล่านั้น พระนิพพานชื่อว่า หาที่ตั้งมิได้ เพราะไม่มีที่ตั้งมีกิเลสเป็นต้น ท่านเรียกว่า อัปปณิหิตวิโมกข์ เพราะกิเลสเหล่านั้นตั้งไม่ได้ และหลุดพ้นจากกิเลสเหล่านั้น. วิโมกข์ทั้ง ๓ อย่างแม้นี้ เป็นโคจรของภิกษุใด ผู้กระทำพระนิพพานนั้นให้เป็นอารมณ์ แล้วอยู่ด้วยสามารถแห่งผลสมาบัติ.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 436

บทว่า อากาเสเยว สกุณานํ ปทํ ตสฺส ทุรนฺวยํ ความว่า รอยเท้าของนกทั้งหลายที่บินไปในอากาศ อันบุคคลไม่สามารถเพื่อจะรู้ได้ว่า นกทั้งหลายใช้เท้าเหยียบในที่นี้แล้วบินไป กระทบที่ตรงนี้ด้วยท้องแล้วบินไป กระทบที่ตรงนี้ ด้วยศีรษะแล้วบินไป กระทบที่ตรงนี้ ด้วยปีกแล้วบินไป ดังนี้ ฉันใด สำหรับภิกษุเห็นปานนี้ ก็ฉันนั้น อันบุคคลไม่สามารถเพื่อจะรู้ได้ว่า ไปแล้วในทางทั้งหลาย มีทางนรกเป็นต้น ด้วยทางชื่อนี้ ฉะนี้แล.

จบอรรถกถาวิชยเถรคาถา