พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๖. ขัณฑสุมนเถรคาถา ว่าด้วยคาถาของพระขัณฑสุมนเถระ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  18 พ.ย. 2564
หมายเลข  40497
อ่าน  393

[เล่มที่ 50] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 448

เถรคาถา เอกนิบาต

วรรคที่ ๑๐

๖. ขัณฑสุมนเถรคาถา

ว่าด้วยคาถาของพระขัณฑสุมนเถระ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 50]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 448

๖. ขัณฑสุมนเถรคาถา

ว่าด้วยคาถาของพระขัณฑสุมนเถระ

[๒๓๓] ได้ยินว่า พระขัณฑสุมนเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้อย่างนี้ว่า

เพราะเสียสละดอกไม้ เพียงดอกเดียว เราได้รับการบำเรออยู่ในสวรรค์ถึง ๘๐ โกฏิปี ที่สุดได้บรรลุนิพพาน เพราะผลกรรมที่เหลือ.

อรรถกถาขัณฑสุมนเถรคาถา

คาถาของท่านพระขัณฑสุมนเถระ เริ่มต้นว่า เอกปุปฺผํ จชิตฺวาน. เรื่องราวของท่านเป็นอย่างไร?

ได้ยินว่า ท่านเกิดในเรือนแห่งตระกูล ในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพระนามว่า ปทุมุตตระ ถึงความเป็นผู้รู้แล้ว เมื่อพระศาสดา ปรินิพพานแล้ว สร้างไพทีสำเร็จด้วยไม้จันทน์ ล้อมรอบพระสถูปนั้นแล้ว ได้ทำการบูชาใหญ่.

ด้วยบุญกรรมนั้น เขาเสวยสมบัติอันโอฬาร ในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เกิดในตระกูลกุฏุมพี ในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า กัสสปะ เมื่อพระศาสดาปรินิพพานแล้ว เมื่อพระราชาทรงการทำการบูชาด้วยดอกไม้ อุทิศถวายพระสถูปทอง เขาหาดอกไม้ไม่ได้ เห็นดอกมะลิกิ่งหนึ่ง

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 449

จึงซื้อมะลิกิ่งนั้นด้วยราคาแพง ถือไปทำการบูชาที่พระเจดีย์ เกิดปีติโสมนัส อย่างมโหฬารหาที่เปรียบมิได้.

ด้วยบุญกรรมนั้น เขาบังเกิดในเทวโลก เสวยความสุขในสวรรค์อยู่ ๘๐ โกฏิปี แล้วเกิดในตระกูลแห่งเจ้ามัลละ ณ เมืองปาวา ในพุทธุปบาทกาลนี้. ในเวลาที่เขาเกิด น้ำอ้อยและน้ำตาลกรวด และดอกมะลิทั้งหลาย ได้เกิดแล้วในเรือนด้วยเหตุนั้น คนทั้งหลายจึงขนานนามเขาว่า ขัณฑสุมนะ. เขาถึงความเป็นผู้รู้แล้ว เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับอยู่ในสวนอัมพวัน ของนายจุนทะ ณ เมืองปาวา เข้าไปเฝ้าแล้วฟังธรรม ได้มีศรัทธาจิตบวชแล้ว บำเพ็ญวิปัสสนา ได้เป็นผู้มีอภิญญา ๖ ต่อกาลไม่นานนัก. สมดังคาถาประพันธ์ที่ท่านกล่าวไว้ใน อปทานว่า

พระชินสีห์สัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า ปทุมุตตระ เชษฐบุรุษของโลก ประเสริฐกว่านระ รุ่งเรืองดังกองอัคคี ปรินิพพานแล้ว เมื่อพระมหาวีระ ปรินิพพานแล้ว ได้มีพระสถูปอันกว้างใหญ่ ชนทั้งหลาย เอาสิ่งของที่จะพึงถวายเข้าไปตั้งไว้ที่สถูปในห้องพระธาตุอันประเสริฐสุด ในกาลนั้น เรามีจิตเลื่อมใส มีใจ โสมนัส ได้ทำไพทีไม้จันทน์อันหนึ่ง อันสมบูรณ์แก่พระสถูป และถวายธูปและของหอม ในภพที่เราเกิด คือในความเป็นเทวดาหรือมนุษย์ เราไม่เห็นความที่เราเป็นผู้ต่ำทรามเลย นี้เป็นผลแห่งบุรพกรรม ในกัปที่ ๑,๕๐๐ แต่ภัทรกัปนี้ ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๘ พระองค์มีนามว่า สมัตตะ ทุกพระองค์ มีพลมาก. เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ฯลฯ คำสอนของพระพุทธเจ้า เรากระทำสำเร็จแล้ว ดังนี้.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 450

ก็พระเถระครั้นบรรลุพระอรหัตแล้ว เมื่อระลึกถึงชาติก่อนของตน เห็นการบริจาคดอกมะลิของตน ในชาติก่อนนั้น เป็นนิมิตแห่งสวรรค์สมบัติ และเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพาน เมื่อจะประกาศความนั้นด้วยสามารถแห่ง อุทาน ได้กล่าวคาถาว่า

เพราะสละดอกไม้เพียงดอกเดียว เราได้รับ การบำเรออยู่ในสวรรค์ ถึง ๘๐ โกฎิปี ที่สุดได้บรรลุพระนิพพาน เพราะผลกรรมที่เหลือ ดังนี้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เอกปุปฺผํ ได้แก่ ดอกโกสุมดอกหนึ่ง แต่บทว่า เอกปุปฺผํ นั้นในคาถานี้ ท่านหมายเอาดอกมะลิ.

บทว่า จชิตฺวาน ความว่า เพราะสละ คือเพราะเหตุแห่งการบริจาคดอกไม้ดอกเดียว โดยกระทำเป็นเครื่องบูชาพระสถูปของพระศาสดา.

บทว่า อสีติ วสฺสโกฏิโย ความว่า สิ้น ๘๐ โกฏิปี โดยนับปีแบบของมนุษย์. ก็บทว่า อสีติวสฺสโกฏิโย นี้ เป็นทุติยาวิภัตติลงในอัจจันตสังโยคะ. ก็แลบทนี้ พึงทราบว่าท่านกล่าวไว้ ด้วยสามารถแห่งการอุปบัติแล้วๆ เล่าๆ ในสวรรค์กามาวจรชั้นที่ ๒. เพราะเหตุนั้น บทว่า สคฺเคสุ จึงได้แก่ ในโลกสวรรค์ชั้นดาวดึงส์. ก็ในคาถานี้ บทนี้เป็นพหุพจน์ โดยที่เป็นการบังเกิดขึ้นบ่อยๆ ครั้ง.

บทว่า ปริจาเรตฺวา ความว่า บำรุงบำเรออินทรีย์ในอารมณ์ทั้งหลาย มีรูปารมณ์เป็นต้น แล้วเสวยความสุข อีกอย่างหนึ่ง ได้แก่ให้นางเทพอัปสร บำเรอบำรุงตน.

ด้วยบทว่า เสสเกนมฺหิ นิพฺพุโต นี้ พระเถระกล่าวหมายถึง กุศลกรรม อันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพาน ในอัตภาพนั้น ด้วยกรรมที่เหลือ จากกรรมที่ให้ภวสมบัติ ในกุศลเจตนาอันเป็นไปแล้ว ด้วยสามารถแห่งการบูชาด้วยดอกไม้.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 451

อธิบายว่า ได้แก่เจตนามากหลาย ที่เป็นไปแล้วด้วยสามารถแห่งบุรพเจตนา และอปรเจตนาในกุศลกรรมนั้น.

อีกอย่างหนึ่ง บทว่า เสสเกน ความว่า เมื่อกรรมวิบากนั้นยังไม่ทันสิ้นไป ด้วยวิบากที่ยังเหลืออยู่ของกรรมนั้นนั่นแหละ เราก็เป็นผู้ดับแล้ว คือ เราปรินิพพานแล้ว ด้วยกิเลสปรินิพพาน. ด้วยบทว่า เสสเกน นี้ พระเถระ แสดงว่า พระอรหัตอันตนตั้งอยู่แล้วในอัตภาพใด กระทำให้แจ้งแล้ว อัตภาพครั้งสุดท้าย แม้นั้น เป็นกรรมวิบาก ของกุศลกรรมอันนั้น.

คำว่า ด้วยวิบากที่ยังเหลืออยู่ของกรรมนั้นนั่นแหละ. ดังนี้ ที่ท่านกล่าวไว้แม้ในที่อื่น ก็หมายถึงอัตภาพสุดท้ายเช่นนั้น.

จบอรรถกถาขัณฑสุมนเถรคาถา