พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๗. ติสสเถรคาถา ว่าด้วยคาถาของพระติสสเถระ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  18 พ.ย. 2564
หมายเลข  40498
อ่าน  360

[เล่มที่ 50] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 451

เถรคาถา เอกนิบาต

วรรคที่ ๑๐

๗. ติสสเถรคาถา

ว่าด้วยคาถาของพระติสสเถระ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 50]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 451

๗. ติสสเถรคาถา

ว่าด้วยคาถาของพระติสสเถระ

[๒๓๔] ได้ยินว่า พระติสสเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้ อย่างนี้ว่า

เราได้สละภาชนะทองคำ มีน้ำหนักประมาณ ๑๐๐ ปละ วิจิตรด้วยลวดลายตั้งร้อยชนิด มาถือบาตรดิน นี้เป็นการอภิเษกครั้งที่ ๒ ของเรา.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 452

อรรถกถาติสสเถรคาถา

คาถาของท่านพระติสสเถระเริ่มต้นว่า หิตฺวา สตปลํ กํสํ. เรื่องราว ของท่านเป็นอย่างไร?

แม้พระเถระนี้ ก็เป็นผู้มีอธิการอันกระทำไว้แล้วในพระพุทธเจ้าองค์ ก่อนๆ เกิดในตระกูลของคนทำยานพาหนะ ถึงความเป็นผู้รู้แล้ว วันหนึ่ง เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วมีใจเลื่อมใส ทำแผ่นกระดานด้วยท่อนไม้จันทน์ แล้วน้อมถวายแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า และพระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงใช้สอยแผ่นกระดานนั้น.

ด้วยบุญกรรมนั้น เขาบังเกิดในเทวโลก กระทำบุญแล้วท่องเที่ยว ไปๆ มาๆ อยู่ในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย บังเกิดในราชตระกูล ในโรรุวนคร ในพุทธุปบาทกาลนี้. พระราชกุมารเจริญพระชนพรรษาแล้ว เมื่อพระราชบิดาสวรรคต ก็ดำรงอยู่ในราชสมบัติ เป็นอทิฏฐสหายของพระเจ้าพิมพิสาร ส่งบรรณาการมีแก้วมณี แก้วมุกดา และผ้าเป็นต้น ไปถวายพระเจ้าพิมพิสาร. พระเจ้าพิมพิสาร ทรงสดับความมีบุญของพระเจ้ากรุงโรรุวะนั้น จึงทรงส่งเครื่องราชบรรณาการตอบไป แล้วให้จารึกพระพุทธจริยาลงในจิตรบัตร และ จารึกปฏิจจสมุปบาท ลงในพระสุพรรณบัตรส่งไปถวาย. พระเจ้าโรรุวะ ทรงตรวจดูพระพุทธจรรยา ที่เขียนแสดงไว้ในจิตรบัตร และลำดับแห่งปฏิจจ- สมุปบาท ที่จารึกไว้ในพระสุพรรณบัตร ทรงกำหนดประวัตกาล ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และนิวัติกาลที่ผ่านมาในอดีต ทบทวนลำดับแห่งพระราชสาสน์ในพระทัย แล้วเกิดความสลดพระทัย เพราะพระองค์เป็นผู้มีอธิการอันกระทำไว้ แล้วในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ และเพราะภพนี้เป็นภพสุดท้าย จึงทรงพระดำริว่า

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 453

เพศพรหมจรรย์ของพระผู้มีพระภาคเจ้าเราพบแล้ว และความคืบหน้าของพระราชสาสน์ เราก็รู้แล้ว กามทั้งหลายมีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก ประโยชน์อะไรด้วยการอยู่ครอบครองราชสมบัติในบัดนี้ จึงทรงสละราชสมบัติ ปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ บวชอุทิศเฉพาะพระผู้มีพระภาคเจ้า ถือเอาบาตรที่ทำด้วยดิน ประพฤติเหมือนคนเทขยะ เมื่อมหาชนกำลังปริเทวนาการอยู่นั่นแล ออกจากพระนคร เสด็จถึงกรุงราชคฤห์โดยลำดับ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ประทับอยู่ที่เงื้อมเขาชื่อว่าสัปปโสณฑิกะ ในพระนครราชคฤห์นั้น ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่ง.

พระศาสดาทรงแสดงธรรมแล้ว ท่านสดับพระธรรมเทศนา ถือเอากรรมฐานในวิปัสสนา หมั่นประกอบเนืองๆ อยู่ ขวนขวายวิปัสสนา บรรลุพระอรหัตแล้ว. สมดังคาถาประพันธ์ ที่ท่านกล่าวไว้ในอปทานว่า

เราเป็นนายช่างทำยานอยู่ในเมือง เป็นผู้ศึกษาดีแล้วในงานของช่างไม้ เราได้ทำแผ่นกระดานด้วยไม้จันทน์ ถวายแด่พระสัมพุทธเจ้าผู้เป็นเผ่าพันธุ์ของโลก วิมานอันบุญกรรมนิรมิตดีแล้วด้วยทองคำนี้ย่อมสว่างไสว ยานช้าง ยานม้า อันเป็นยานทิพย์ ปรากฏแก่เรา ปราสาทและวอ และแก้วอันประมาณมิได้ ย่อมบังเกิดแก่เราตามปรารถนา นี้เป็นผลแห่งการถวายแผ่นกระดาน ในกัปที่ ๙๑ แต่ภัทรกัปนี้ เราได้ถวายแผ่นกระดานใด ด้วยการถวายแผ่นกระดานนั้น เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแต่งการถวายแผ่นกระดาน ในกัปที่ ๕๗ แต่ภัทรกัปนี้ ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๔ พระองค์ มีนามว่า "นิมมิตะ" สมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ มีพลมาก. เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ฯลฯ

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 454

คำสอนของพระพุทธเจ้า เรากระทำสำเร็จแล้ว ดังนี้.

ก็พระเถระครั้นบรรลุพระอรหัตแล้ว เมื่อจะกล่าวถึงข้อปฏิบัติของตน ด้วยสามารถแห่งอุทาน จึงได้กล่าวคาถาว่า

เราได้สละภาชนะทองคำ มีน้ำหนักประมาณ ๑๐๐ ปละ วิจิตรด้วยลวดลายตั้งร้อยชนิด มาถือบาตรดิน นี้เป็นการอภิเษกครั้งที่สองของเรา ดังนี้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า หิตฺวา แปลว่า สละแล้ว.

บทว่า สตปลํ ได้แก่ภาชนะทองคำ ที่มีน้ำหนักประมาณ ๑๐๐ ปละ. บทว่า กํสํ ได้แก่ กังสดาล. บทว่า โสวณฺณํ แปลว่า สำเร็จด้วยทอง.

บทว่า สตราชิกํ ความว่า ประกอบด้วยลวดลายมิใช่น้อย เพราะ ความเป็นภาชนะที่มีฝาอันวิจิตร และงดงามด้วยแนวแห่งลายเขียนเป็นอเนก.

บทว่า อคฺคหึ มตฺติกามตฺตํ ความว่า พระเถระในกาลก่อน เคยฉัน ในภาชนะมีค่ามากเห็นปานนี้ เมื่อกระทำตามพระพุทธโอวาท คิดว่า บัดนี้ เราละภาชนะทอง แล้วถือบาตรดิน โอ! เราทำกรรมดีแล้วหนอ ธรรมเนียมของพระอริยเจ้า ดำรงมาแล้วโดยลำดับดังนี้แล้ว กล่าวอนุโมทนาการสละราชสมบัติ และการเข้าถึงบรรพชาเพศ โดยแถลงยกย่องภาชนะ (ดิน). ด้วยเหตุนั้น พระเถระจึงกล่าวว่า นี้เป็นการอภิเษกครั้งที่ ๒ ของเรา ดังนี้. อธิบายว่า การเข้าถึงบรรพชาเพศนี้ ชื่อว่าเป็นการอภิเษกครั้งที่สองของเรา โดยถือเอาราชาภิเษก เป็นการอภิเษกครั้งแรก. เพราะว่าการอภิเษกครั้งแรกนั้น เป็นกรรมที่เศร้าหมองไปด้วยกิเลสมีราคะเป็นต้น สับสนวุ่นวาย ประกอบไปด้วย อนัตถโทษ เนื่องด้วยทุกข์ เป็นกรรมที่เลวทราม. ส่วนการอภิเษกครั้งที่ ๒ ของเรานี้ ชื่อว่า สูงสุด ประณีต เพราะผิดตรงข้ามจากการอภิเษกครั้งแรกนั้น.

จบอรรถกถาติสสเถรคาถา