พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๘. อภัยเถรคาถา ว่าด้วยคาถาของพระอภัยเถระ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  18 พ.ย. 2564
หมายเลข  40499
อ่าน  667

[เล่มที่ 50] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 455

เถรคาถา เอกนิบาต

วรรคที่ ๑๐

๘. อภัยเถรคาถา

ว่าด้วยคาถาของพระอภัยเถระ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 50]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 455

๘. อภัยเถรคาถา

ว่าด้วยคาถาของพระอภัยเถระ

[๒๓๕] ได้ยินว่า พระอภัยเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้ อย่างนี้ว่า

เมื่อบุคคลได้เห็นรูปแล้ว มัวใส่ใจถึงอารมณ์อันเป็นที่รัก สติก็หลงลืม ผู้ใดมีจิตกำหนัดยินดีเสวยรูปารมณ์ รูปารมณ์ก็ครอบงำผู้นั้น อาสวะทั้งหลาย ย่อมเจริญแก่ผู้นั้น ผู้เข้าถึงซึ่งมูลแห่งภพ.

อรรถกถาอภัยเถรคาถา

คาถาของท่านพระอภัยเถระ เริ่มต้นว่า รูปํ ทิสฺวา สติ มุฎฺา. เรื่องราวของท่านเป็นอย่างไร?

แม้พระเถระนั้น ก็เป็นผู้มีอธิการอันกระทำไว้แล้วในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ สั่งสมบุญอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานไว้ในภพนั้นๆ เกิดในเรือนแห่งตระกูล ในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า "สุเมธะ" ถึงความเป็นผู้รู้แล้ว เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า สุเมธะ ในวันหนึ่งได้ทำการบูชาด้วยดอกช้างน้าว.

ด้วยบุญกรรมนั้น เขาบังเกิดในหมู่เทพ กระทำบุญแล้วท่องเที่ยว ไปๆ มาๆ อยู่แต่ในสุคติภพเท่านั้น เกิดในตระกูลพราหมณ์ พระนครสาวัตถี ในพุทธุปบาทกาลนี้ ได้มีนามว่า "อภัย" ถึงความเป็นผู้รู้แล้ว อันเหตุสมบัติตักเตือนอยู่

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 456

วันหนึ่งไปยังพระวิหาร ฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดาแล้ว ได้มีศรัทธาจิตบวชแล้ว กระทำบุรพกิจเสร็จแล้ว เจริญวิปัสสนาอยู่.

วันหนึ่ง ท่านเข้าไปสู้บ้านเพื่อบิณฑบาต เห็นมาตุคามแต่งตัวสวยงาม แล้วเกิดฉันทราคะ ปรารภรูปของหญิงนั้น ด้วยสามารถแห่งอโยนิโสมนสิการ ท่านเข้าไปสู่วิหารแล้วข่มจิตของตนว่า เมื่อเราละสติแลดูอยู่ กิเลสในรูปารมณ์ เกิดขึ้นแล้วแก่เรา เรากระทำกรรมอันไม่สมควรแล้ว ดังนี้ เจริญวิปัสสนาใน ทันใดนั้นเอง บรรลุพระอรหัตแล้ว. สมดังคาถาประพันธ์ ที่ท่านกล่าวไว้ใน อปทานว่า

พระสยัมภูผู้ไม่เคยพ่ายแพ้ มีพระนามว่า สุเมธะ เมื่อทรงพอกพูนวิเวก จึงเสด็จเข้าสู่ป่าใหญ่ เราเห็นดอกช้างน้าวกำลังบาน จึงเอามาร้อยเป็นพวงมาลัย บูชาแด่พระพุทธเจ้า ผู้เป็นนายกของโลก เฉพาะพระพักตร์ ในกัปที่ ๓๐,๐๐๐ แต่ภัทรกัปนี้ เราได้บูชา พระพุทธเจ้า ด้วยดอกไม้ใด ด้วยการบูชานั้น เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งพุทธบูชา ในกัปที่ ๑,๙๐๐ แต่ภัทรกัปนี้ ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๑๖ พระองค์ มีนามว่า "สุนิมมิตะ" สมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ มีพลมาก. เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ฯลฯ คำสอนของพระพุทธเจ้า เรากระทำสำเร็จแล้ว ดังนี้.

ก็พระเถระครั้นบรรลุพระอรหัตแล้ว เมื่อจะแสดงว่า สำหรับผู้ที่ (ประพฤติ) คล้อยตามกิเลส ไม่มี (โอกาส) ที่จะยกศีรษะขึ้นจากวัฏทุกข์ได้เลย ส่วนตัวเราไม่ประพฤติตามกิเลสเหล่านั้น ดังนี้ ด้วยการชี้ให้เห็นการบังเกิดขึ้น แห่งกิเลสของตน ได้กล่าวคาถาว่า

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 457

เมื่อบุคคลได้เห็นรูปแล้ว มัวใส่ใจถึงอารมณ์อัน เป็นที่รัก สติก็หลงลืม ผู้ใดมีจิตกำหนัด ยินดีเสวยรูปารมณ์ รูปารมณ์ก็ครอบงำผู้นั้น อาสวะทั้งหลาย ย่อมเจริญแก่ผู้นั้น ผู้เข้าถึงซึ่งมูลแห่งภพ ดังนี้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า รูปํ ได้แก่ รูปายตนะ อันเป็นที่ตั้งแห่ง ความกำหนัด. ก็รูปายตนะนั้นในคาถานี้ ท่านหมายถึงรูปแห่งหญิง.

บทว่า ทิสฺวา ได้แก่ เห็นด้วยจักษุ คือ ยึดถือรูปนั้นด้วยสามารถแห่งการกำหนดโดยนิมิต และโดยอนุพยัญชนะ ด้วยการแล่นไปตามแห่งจักษุทวาร อธิบายว่า เพราะการถือเอารูปนั้นว่าเป็นอย่างนั้นเป็นเหตุ.

บทว่า สติ มุฏฺฐา ได้แก่ สติที่เป็นไปในกาย ที่มีความไม่งาม เป็นสภาพ ว่าไม่งามนั่นแล หายไปแล้ว ก็พระเถระเมื่อจะแสดงถึงสติที่หายไป เพราะเห็นรูปนั้น จึงกล่าวว่า มัวใส่ใจถึงอารมณ์อันเป็นที่รัก ดังนี้ ประกอบ ความว่า เมื่อมัวใส่ใจอารมณ์ตามที่เข้ามาปรากฏ ด้วยอโยนิโสมนสิการ กระทำปิยารมณ์ให้เป็นนิมิต โดยนัยมีอาทิว่า งาม เป็นสุข ดังนี้ สติก็หายไป.

ต่อแต่นั้น ก็จะมีจิตยินดีเสวยรูปารมณ์ ได้แก่ เป็นผู้มีจิตกำหนัดแล้วด้วยดี เสวย คือ เพลิดเพลินรูปารมณ์นั้น ก็เมื่อมัวเพลิดเพลินอยู่ รูปารมณ์ ก็ครอบงำผู้นั้น คืออารมณ์จะครอบงำผู้นั้น ทำให้ลำบาก ให้ถึงที่สุดหมุนไป ทีเดียว และอาสวะทั้งหลาย ย่อมเจริญแก่เขาผู้เป็นแล้วอย่างนี้ คือ ชื่อว่า ผู้เข้าถึงซึ่งมูลแห่งภพ ได้แก่ อาสวะทั้งหลาย แม้ทั้ง ๔ มีกามาสวะเป็นต้น ที่มีการเข้าถึงซึ่งความเป็นมูล คือความเป็นเหตุแห่งภพ คือ สงสาร เป็นสภาพ ย่อมเจริญแก่บุคคลนั้นยิ่งๆ ขึ้นไปทีเดียว คือไม่เสื่อมเลย แต่อาสวะแม้ทั้ง ๔ เหล่านั้น อันเราผู้ตั้งอยู่แล้วในการพิจารณา เจริญวิปัสสนาแล้วแทงตลอดอยู่ ซึ่งสัจจะทั้งหลาย ละแล้วโดยไม่เหลือ ตามลำดับแห่งมรรค คือสิ้นไปรอบแล้ว

จบอรรถกถาอภัยเถรคาถา