พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑๐. เทวสภเถรคาถา ว่าด้วยคาถาของพระเทวสภเถระ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  18 พ.ย. 2564
หมายเลข  40501
อ่าน  430

[เล่มที่ 50] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 460

เถรคาถา เอกนิบาต

วรรคที่ ๑๐

๑๐. เทวสภเถรคาถา

ว่าด้วยคาถาของพระเทวสภเถระ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 50]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 460

๑๐. เทวสภเถรคาถา (ที่ ๒)

ว่าด้วยคาถาของพระเทวสภเถระ

[๒๓๗] ได้ยินว่า พระเทวสภเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้ อย่างนี้ว่า

ภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยความเพียรชอบ มีสติปัฏฐานเป็นอารมณ์ ประดับประดาด้วยดอกไม้ คือ วิมุตติ จักเป็นผู้ไม่มีอาสวะ ปรินิพพาน.

จบวรรคที่ ๑๐

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 461

อรรถกถาเทวสภเถรคาถา

คาถาของท่านพระเทวสภเถระ เริ่มต้นว่า สมฺมปฺปธานสมฺปนฺโน. เรื่องราวของท่านเป็นอย่างไร?

แม้พระเถระนี้ ก็เป็นผู้มีอธิการอันกระทำไว้แล้วในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ สั่งสมกุศลอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานไว้ในภพนั้นๆ เกิดใน เรือนแห่งตระกูล ในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า สิขี ถึงความเป็นผู้รู้แล้ว วันหนึ่งเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพระนามว่า สิขี เป็นผู้มีใจ เลื่อมใสแล้ว ได้ทำการบูชาด้วยดอกชบา.

ด้วยบุญกรรมนั้น เขาท่องเที่ยวไปในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย บังเกิดในตระกูลแห่งเจ้าศากยะ ในพระนครกบิลพัสดุ์ ในพุทธุปบาทกาลนี้ ได้มี นามว่า เทวสภะ. เขาเจริญวัยแล้ว เห็นพุทธานุภาพ ในคราวเมื่อพระบรมศาสดาเสด็จมาเพื่อระงับการทะเลาะกันเรื่องเทริด เป็นผู้มีใจเลื่อมใสแล้ว ตั้งอยู่ในสรณคมน์ เมื่อพระศาสดาประทับอยู่ในนิโครธาราม เข้าไปเฝ้าพระศาสดาอีก ได้เป็นผู้มีศรัทธาแล้วบวช กระทำบุรพกิจเสร็จแล้ว เจริญวิปัสสนา บรรลุพระอรหัตแล้วต่อกาลไม่นานนัก. สมดังคาถาประพันธ์ที่ท่านกล่าวไว้ใน อปทานว่า

เราได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพระนามว่า สิขี ผู้ปราศจากมลทินบริสุทธิ์ ผ่องใส ไม่ขุ่นมัว ดังพระจันทร์มีความยินดีในราคะสิ้นแล้ว ทรงข้ามตัณหา ในโลกแล้ว ทรงยังหมู่ชนให้ดับเข็ญ ทรงข้ามเองแล้ว ยังผู้อื่นให้ข้าม เป็นมุนีผู้ประเสริฐ เพ่งฌานอยู่ในป่า

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 462

มีจิตแน่วแน่ ตั้งมั่นดีแล้ว เราร้อยดอกชบาทำเป็นพวงมาลัยแล้วบูชาพระพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า สิขี ผู้เป็นเผ่าพันธุ์ของโลก ในกัปที่ ๓๑ แต่ภัทรกัปนี้ เราได้ทำกรรมใดไว้ในกาลนั้น ด้วยกรรมนั้นเราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งพุทธบูชา ในกัปที่ ๗ แต่ภัทรกัปนี้ เราได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิมีนามว่า สมันตจักษุ เป็นจอมมนุษย์ มียศมาก มีพลมาก. เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ฯลฯ คำสอนของพระพุทธเจ้า เรากระทำสำเร็จแล้ว ดังนี้.

ก็พระเถระครั้นบรรลุพระอรหัตแล้ว เป็นผู้มีปีติโสมนัสบังเกิดแล้ว เพราะอาศัยวิมุตติสุขที่ตนได้บรรลุแล้ว ได้กล่าวคาถาด้วยสามารถแห่งอุทานว่า

ภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยความเพียรชอบ มีสติปัฏฐานเป็นอารมณ์ ประดับประดาด้วยดอกไม้ คือ วิมุตติ จักเป็นผู้ไม่มีอาสวะ ปรินิพพาน ดังนี้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สมฺมปฺปธานสมฺปนฺโน ความว่า ผู้สมบูรณ์ด้วยสัมมัปปธานมีอย่าง ๔ อธิบายว่า ยังกิจที่จะต้องทำด้วยสัมมัปปธานเหล่านั้น ให้ถึงพร้อมแล้วตั้งอยู่.

บทว่า สติปฏฺานโคจโร ความว่า ภิกษุชื่อว่า สติปัฏฐานโคจโร เพราะมีสติปัฏฐาน (๔) มีกายานุปัสสนาสติปัฏฐานเป็นต้นเป็นอารมณ์ คือเป็น ที่ตั้งแห่งความประพฤติ อธิบายว่า เป็นผู้มีจิตตั้งมั่นแล้ว ในสติปัฏฐาน ๔.

ดอกไม้ คือ วิมุตตินั่นแล ชื่อว่า มีกลีบหอมตลบอบอวล เพราะ งามด้วยคุณธรรม ภิกษุ ชื่อว่า ประดับแล้วคือตกแต่งแล้ว ได้แก่ กระทำให้พอแล้ว ด้วยวิมุตติเหล่านั้น โดยประการทั้งปวง คือโดยชอบทีเดียว.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 463

บทว่า วิมุตฺติกุสุมสญฺฉนฺโน ปรินิพฺพิสฺสตฺยนาสโว ความว่า ภิกษุเมื่อปฏิบัติอยู่โดยชอบอย่างนี้ เป็นผู้ไม่มีอาสวะ จักปรินิพพานด้วยสอุปาทิเสสนิพพานธาตุ และอนุปาทิเสสนิพพานธาตุต่อกาลไม่นานเลย.

ก็คำเป็นคาถานี้แหละ ได้เป็นคาถาพยากรณ์พระอรหัตตผลของพระเถระ.

จบอรรถกถาเทวสภเถรคาถา

จบวรรควรรณนาที่ ๑๐

ในอรรถกถาเถรคาถา ชื่อว่า ปรมัตถทีปนี

ในวรรคนี้ รวมพระเถระได้ ๑๐ รูป คือ

๑. พระปริปุณณกเถระ

๒. พระวิชยเถระ

๓. พระเอรกเถระ

๔. พระเมตตชิเถระ

๕. พระจักขุปาลเถระ

๖. พระขัณฑสุมนเถระ

๗. พระติสสเถระ

๘. พระอภัยเถระ

๙. พระอุตติยเถระ

๑๐. พระเทวสภเถระ (ที่ ๒) และอรรถกถา.