พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๓. วนวัจฉเถรคาถา ว่าด้วยคาถาของพระวนวัจฉเถระ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  18 พ.ย. 2564
หมายเลข  40514
อ่าน  388

[เล่มที่ 50] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 507

เถรคาถา เอกนิบาต

วรรคที่ ๑๒

๓. วนวัจฉเถรคาถา

ว่าด้วยคาถาของพระวนวัจฉเถระ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 50]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 507

๓. วนวัจฉเถรคาถา

ว่าด้วยคาถาของพระวนวัจฉเถระ

[๒๕๐] ได้ยินว่า พระวนวัจฉเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้ อย่างนี้ว่า

ภูเขากว้างใหญ่ มีน้ำใสสะอาด เกลื่อนกล่นไป ด้วยลิงและค่าง ดาษดื่นไปด้วยน้ำและสาหร่าย ย่อมทำใจของเราให้รื่นรมย์.

อรรถกถาวนวัจฉเถรคาถา

คาถาของท่านพระวนวัจฉเถระ เริ่มต้นว่า อจฺโฉทิกา ปุถุสิลา. เรื่องราวของท่านเป็นอย่างไร?

แม้พระเถระนี้ ก็เป็นผู้มีอธิการอันกระทำแล้วในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ ปลูกพืช คือ กุศลอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานไว้ในภพนั้นๆ บังเกิดในเรือนแห่งตระกูล ในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้า พระนามว่า วิปัสสี ถึงความเป็นผู้รู้เดียงสาแล้ว ทำงานรับจ้างเลี้ยงชีพ ทำความผิดมีมลทินต่อคนบางคน อันความกลัวตายคุกคามแล้วหลบหนีไป เห็นโพธิพฤกษ์ในระหว่างทาง เป็นผู้มีจิตเลื่อมใส ปัดกวาดโคนโพธิพฤกษ์นั้น ทำการบูชาด้วยดอกอโศกอันติดกันเป็นกลุ่ม ไหว้แล้ว หันหน้าไปสู่โพธิพฤกษ์ นมัสการอยู่ นั่งขัดสมาธิ เห็นศัตรูเดินทางมาเพื่อจะฆ่าตน ไม่ทำจิตให้โกรธในศัตรูเหล่านั้น เมื่อรำลึกถึงโพธิพฤกษ์นั่นแหละ ก็ตกไปในเหวลึกชั่วร้อยบุรุษ.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 508

ด้วยบุญกรรมนั้น เขาบังเกิดในเทวโลก กระทำบุญเป็นอันมากแล้ว ท่องเที่ยวไปๆ มาๆ อยู่ในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เกิดเป็นบุตรของพราหมณ์ ผู้สมบูรณ์ด้วยสมบัติ ในพระนครราชคฤห์ ในพุทธุปบาทกาลนี้ ได้มีนามว่า วัจฉะ. เขาเจริญวัยแล้ว เป็นผู้มีศรัทธาจิตอันได้แล้ว ในสมาคมของพระเจ้าพิมพิสาร บวชแล้ว บรรลุพระอรหัต. สมดังคาถาประพันธ์ที่ท่าน กล่าวไว้ในอปทานว่า

เราเกี่ยวข้องในคดีประทุษร้ายผู้อื่น ได้กระทำ ความผิดไว้ เพรียบพร้อมไปด้วยภัยและผู้เป็นศัตรู ได้เห็นต้นไม้มีดอกเป็นกลุ่มก้อน บานสะพรั่ง จึงถือเอาดอกมันแดงไปเกลี่ยลงที่โพธิพฤกษ์ ปัดกวาดไม้ แคฝอยอันเป็นไม้ตรัสรู้นั้นแล้ว เข้าไปนั่งขัดสมาธิที่ โคนโพธิ์ ชนทั้งหลายแสวงหาช่องทางที่เราหลบไป ได้เข้ามาใกล้เราและเราก็เห็นเขาเหล่านั้นในที่นั้นแล้ว รำพึงถึงแต่โพธิพฤกษ์อันอุดม ด้วยใจอันผ่องใสแล้ว ไหว้โพธิพฤกษ์แล้ว ได้ตกลงไปในเหวอันน่ากลัว ลึกหลายชั่วลำตาล ในกัปที่ ๙๑ แต่ภัทรกัปนี้ เราได้บูชาโพธิพฤกษ์ด้วยดอกไม้ใด ด้วยการบูชานั้น เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งการบูชาโพธิพฤกษ์ และในกัปที่ ๓ แต่ภัทรกัปนี้ เราได้เป็นพระเจ้าจักพรรดิราช พระนามว่า สุสัญญตะ * สมบูรณ์ด้วย แก้ว ๗ ประการ มีพลมาก. เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ฯลฯ คำสอนของพระพุทธเจ้า เรากระทำสำเร็จแล้ว ดังนี้.


* พระสูตรเป็น สัมมสิตะ

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 509

ก็พระเถระครั้นบรรลุพระอรหัตแล้ว ยังคงอยู่ในป่านั่นแหละด้วยความยินดียิ่งในวิเวก จึงได้เกิดสมัญญานามใหม่ว่า วนวัจฉะ จะเป็นบางครั้งบางคราว ที่พระเถระไปสู่พระนครราชคฤห์เพื่ออนุเคราะห์หมู่ชนผู้เป็นญาติ อันญาติทั้งหลายบำรุงอยู่ในพระนครราชคฤห์นั้น พักอยู่ไม่กี่วัน ก็แสดงอาการที่จะกลับไป ญาติทั้งหลายอ้อนวอนท่านว่า ท่านเจ้าข้า ขอท่านจงพักอยู่ในวิหาร ที่ใกล้ๆ เพื่ออนุเคราะห์พวกกระผมเถิด พวกกระผมจักทำนุบำรุงท่านเอง ดังนี้ พระเถระเมื่อจะประกาศความยินดีในวิเวก ด้วยการชี้ให้เห็นคุณของความเป็นผู้มีภูเขาเป็นที่มายินดีแก่คนเหล่านั้น ได้กล่าวคาถาว่า

ภูเขากว้างใหญ่ มีน้ำใสสะอาด เกลื่อนกล่นไป ด้วยลิงและค่าง ดาษดื่นไปด้วยน้ำและสาหร่าย ย่อมทำใจของเราให้รื่นรมย์ ดังนี้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อจฺโฉทิกา ความว่า เมื่อควรจะกล่าวว่า อจฺโฉทกา เพราะเป็นที่มีน้ำใส ไม่ขุ่น (และ) สะอาด ท่านกล่าวเสียว่า อจฺโฉทิกา เพราะเป็นลิงควิปัลลาส. พระเถระแสดงถึงความสมบูรณ์ของน้ำ แห่งภูเขาเหล่านั้น ด้วยบทว่า อจฺโฉทิกา นี้. บทว่า ปุถุสิลา ความว่า ภูเขาชื่อว่า ปุถุสิลา เพราะเป็นภูเขากว้างใหญ่ มีสัมผัสนุ่มสบาย พระเถระแสดงถึงความสมบูรณ์ด้วยที่อันเป็นที่นั่ง ด้วยบทว่า ปุถุสิลา นี้. ชื่อว่า โคนงฺคุลา เพราะเป็นสัตว์มีหางงอน เหมือนหางโค ได้แก่ ลิงที่มีสีดำ แม้อาจารย์บางพวกก็กล่าวว่า ได้แก่ ลิงธรรมดานั่นเอง. ชื่อว่า โคนงฺคุลมิคายุตา เพราะระคนเกลื่อนกล่นไปด้วยลิงค่างและอีเก้งเป็นต้น ที่วิ่งพลุกพล่านอยู่ในที่นั้นๆ พระเถระแสดงถึงความที่ธรรมชาติเหล่านั้นเข้าถึงลักษณะของความเป็นป่า เพราะภูเขาเหล่านั้นเป็นอุปจารของพวกอมนุษย์ ด้วยบทว่า โคนงฺคุลมิคายุตา นี้.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 510

บทว่า อมฺพุเสวาลสญฺฉนฺนา ความว่า ชื่อว่าดาษดื่นไปด้วยน้ำ และสาหร่ายในที่นั้นๆ เพราะมีน้ำไหลหลั่ง โดยมีน้ำไหลออกตลอดเวลา.

บทว่า เต เสลา รมยนฺติ มํ มีอธิบายว่า เราอยู่ที่ภูเขาใด ภูเขานั้น เป็นภูเขาหินมีสภาพเช่นนี้ ทำให้เรายินดีด้วยความยินดียิ่งในวิเวก เพราะเหตุนั้น เราจะไปที่ภูเขานั้นแหละ. ก็คำเป็นคาถานี้แหละ ได้เป็นการพยากรณ์พระอรหัตตผลของพระเถระ.

จบอรรถกถาวนวัจฉเถรคาถา