พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๙. วัชชีปุตตเถรคาถา ว่าด้วยคาถาของพระวัชชีบุตรเถระ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  18 พ.ย. 2564
หมายเลข  40520
อ่าน  395

[เล่มที่ 50] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 535

เถรคาถา เอกนิบาต

วรรคที่ ๑๒

๙. วัชชีปุตตเถรคาถา

ว่าด้วยคาถาของพระวัชชีบุตรเถระ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 50]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 535

๙. วัชชีปุตตเถรคาถา

ว่าด้วยคาถาของพระวัชชีบุตรเถระ

[๒๕๖] ได้ยินว่า พระวัชชีบุตรเถระได้ภาษิตคาถานี้ ไว้ อย่างนี้ว่า

ดูก่อนอานนท์ ผู้โคตมโคตร ท่านจงเข้าไปสู่ชัฎแห่งโคนไม้ จงหน่วงพระนิพพานไว้ในหทัย แล้วจงเพ่งฌาน และอย่าประมาท การใส่ใจถึงประชุมชน จักทำประโยชน์อะไรให้แก่ท่านได้.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 536

อรรถกถาวัชชีปุตตเถรคาถา

คาถาของท่านพระวัชชีบุตรเถระ เริ่มต้นว่า รุกฺขมูลคหนํ ปสกฺกิย. เรื่องราวของท่านเป็นอย่างไร?

แม้พระเถระนี้ ก็เป็นผู้มีอธิการอันกระทำแล้วในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ สั่งสมบุญอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานไว้ในภพนั้นๆ ในกัปที่ ๙๔ แต่ภัทรกัปนี้ เห็นพระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่ง เดินไปเพื่อภิกษา เป็นผู้มีใจเลื่อมใสแล้ว ได้ถวายผลกล้วย.

ด้วยบุญกรรมนั้น เขาบังเกิดในเทวโลก กระทำบุญแล้วท่องเที่ยว ไปๆ มาๆ อยู่ในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เกิดเป็นโอรสแห่งเจ้าลิจฉวี ในเมืองเวสาลี ในพุทธุปบาทกาลนี้ เขาได้มีสมัญญานามว่า วัชชีบุตร เพราะความเป็นโอรสของเจ้าวัชชี. เขาเจริญเป็นหนุ่ม แม้ในเวลาศึกษาศิลปะ มีศิลปะที่จะต้องศึกษาในเพราะช้างเป็นต้น ก็เป็นผู้มีอัธยาศัยน้อมไปในทางพ้นทุกข์ เพราะความเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยเหตุ ท่องเที่ยวไปในเวลาเป็นที่ฟังพระธรรมเทศนา ไปสู่วิหาร นั่งอยู่ท้ายบริษัทฟังธรรม ได้เป็นผู้มีศรัทธาจิต บวชในสำนักของพระศาสดา เจริญวิปัสสนาได้เป็นผู้มีอภิญญา ๖ ต่อกาลไม่นานนัก. สมดังคาถาถาประพันธ์ที่ท่านกล่าวไว้ในอปทานว่า

พระผู้มีพระภาคผู้สยัมภู ผู้มีรัศมีนับด้วยพัน ไม่พ่ายแพ้อะไรๆ ออกจากวิเวกแล้ว ออกโคจรบิณฑบาต เราถือผลไม้อยู่ได้เห็นแล้ว จึงได้เข้าไปหาพระนราสภ เรามีจิตเลื่อมใส มีใจโสมนัส ได้ถวายผลไม้ในกัปที่ ๙๔ แต่ภัทรกัปนี้ เราได้ถวายผลไม้ใดในกาลนั้น

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 537

ด้วยการถวายผลไม้นั้น เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งการถวายผลไม้. เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ฯลฯ คำสอนของพระพุทธเจ้า เรากระทำสำเร็จแล้ว ดังนี้.

ก็ท่านเป็นผู้มีอภิญญา ๖ แล้ว ในเวลาต่อมา เมื่อพระศาสดาเสด็จปรินิพพานได้ไม่นาน เมื่อพระมหาเถระทั้งหลาย ตั้งข้อสังเกตเพื่อจะสังคายนาพระธรรมวินัย พักอยู่ในที่นั้นๆ วันหนึ่ง ท่านเห็นพระอานนท์ ยังเป็นพระเสขะอยู่นั่นแล อันบริษัทใหญ่แวดล้อมแล้ว แสดงธรรมอยู่ เมื่อจะยังความอุตสาหะให้เกิดแก่พระอานนท์นั้น เพื่อได้บรรลุมรรคชั้นสูงๆ ขึ้นไป ได้กล่าว คาถาว่า

ดูก่อนอานนท์ ผู้โคตมโคตร ท่านจงเข้าไปสู่ชัฎแห่งโคนไม้ จงหน่วงพระนิพพานไว้ในหทัย แล้วจงเพ่งฌาน และอย่าประมาท การใส่ใจถึงประชุมชน จักทำประโยชน์อะไรให้แก่ท่านได้ ดังนี้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า รุกฺขมูลคหนํ ได้แก่ ชัฏ คือ สุมทุม พุ่มพฤกษ์ อันเป็นโคนไม้ อธิบายว่า สุมทุมพุ่มพฤกษ์มีอยู่ ไม่มีโคนไม้ และโคนไม้มีอยู่ (แต่) ไม่มีสุมทุมพุ่มพฤกษ์ ในสองอย่างนั้น พระเถระแสดงความไม่มีอันตรายด้วยลมและแดด เพราะความเป็นที่สมบูรณ์ด้วยร่มและเงา ด้วยศัพท์ว่า รุกขมูล แสดงความไม่มีอันตรายจากลม เพราะความเป็นที่อับลม และความไม่พลุกพล่านด้วยประชาชน ด้วยศัพท์ว่า คหนะ และแสดงถึงความเป็นสถานที่เหมาะแก่การเจริญภาวนา ด้วยศัพท์ทั้งสองนั้น.

บทว่า ปสกฺกิย แปลว่า เข้าไป.

บทว่า นิพฺพานํ หทยสฺมึ โอปิย ความว่า ตั้งพระนิพพานไว้ในหทัย คือทำไว้ในใจว่า เราปฏิบัติอยู่อย่างนี้ พึงบรรลุพระนิพพานได้.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 538

บทว่า ฌาย ความว่า จงเพ่งด้วยลักขณูปนิชฌาน คือ จงยังมรรคภาวนา อันประกอบด้วยวิปัสสนาภาวนาให้เจริญ พระเถระเรียกพระอานนท์ ผู้เป็นธรรมภัณฑาคาริกด้วยโคตรว่า โคตมะ.

บทว่า มา จ ปมาโท ความว่า อย่าถึงความประมาทในอธิกุศลธรรมทั้งหลาย พระเถระเมื่อจะแสดงโดยการห้ามความประมาทของพระ (อานนท) เถระ เท่าที่เป็นไปในปัจจุบัน จึงกล่าวว่า กึ เต พิลิพิลิกา กริสฺสติ (การใส่ใจถึงประชุมชน จักทำประโยชน์อะไรให้แก่ท่านได้ ดังนี้).

บทว่า พิลิพิลิกา ในบาทคาถานั้น ได้แก่กิริยาที่พิรี้พิไร พระเถระ ได้ให้โอวาทว่า เสียงที่เป็นไปอย่างพิรี้พิไร ย่อมไร้ประโยชน์ฉันใด บัญญัติของหมู่ชน อันเป็นเช่นกับการกระทำที่พิรี้พิไรก็ฉันนั้น จักทำประโยชน์อะไรให้แก่ท่านได้ คือจักยังประโยชน์เช่นไรให้สำเร็จแก่ท่าน เพราะเหตุนั้น ผู้ขวนขวายในประโยชน์ของตน จึงต้องละบัญญัติของหมู่ชนเสีย.

พระอานนทเถระ ฟังคาถาอันเป็นโอวาทนั้นแล้ว เกิดความสลดใจ ด้วยอรรถพจน์ที่ระบายกลิ่นอันเป็นพิษที่คนเหล่าอื่นกล่าวไว้ออกไปได้ ยังเวลาให้ล่วงไปด้วยการเดินจงกรมตลอดคืนยังรุ่ง ขวนขวายวิปัสสนา เข้าไปสู่เสนาสนะ พอจะเอนตัวลงนอนบนเตียงเท่านั้น ก็ได้บรรลุพระอรหัต.

จบอรรถกถาวัชชีปุตตเถรคาถา