พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๖. เมฬชินเถรคาถา ว่าด้วยคาถาของพระเมฬชินเถระ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  19 พ.ย. 2564
หมายเลข  40529
อ่าน  357

[เล่มที่ 51] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้า 27

เถรคาถา ทุกนิบาต

วรรคที่ ๑

๖. เมฬชินเถรคาถา

ว่าด้วยคาถาของพระเมฬชินเถระ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 51]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้า 27

๖. เมฬชินเถรคาถา

ว่าด้วยคาถาของพระเมฬชินเถระ

[๒๖๓] ได้ยินว่า พระเมฬชินเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้ อย่างนี้ว่า

เมื่อใดเราได้ฟังธรรมของพระศาสดาผู้ทรงแสดงอยู่ เมื่อนั้น เราไม่รู้สึกมีความสงสัย ในพระศาสดาผู้รู้ธรรมทั้งปวง ผู้อันใครๆ ชนะไม่ได้ ผู้นำหมู่ แกล้วกล้าเป็นอันมาก ประเสริฐสุดกว่าสารถีทั้งหลาย หรือ ว่าความสงสัยในมรรคปฏิปทา ย่อมไม่มีแก่เรา.

อรรถกถาเมฬชินเถรคาถา

คาถาของท่านพระเมฬชินเถระ เริ่มต้นว่า ยทาหํ ธมฺมมสฺโสสึ. เรื่องราวของท่านเป็นอย่างไร?

แม้พระเถระนี้ ก็เป็นผู้มีอธิการอันกระทำแล้วในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ สั่งสมบุญทั้งหลายไว้ในภพนั้นๆ เกิดในเรือนแห่งตระกูล ในกาล ของพระผู้มีพระภาคเจ้า พระนามว่า สุเมธะ บรรลุนิติภาวะแล้ว วันหนึ่ง เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเที่ยวไปบิณฑบาต มีใจเลื่อมใส ได้ถวายผลอาโมทะ มีรสอร่อย.

ด้วยบุญกรรมนั้น เขาท่องเที่ยวไปเกิดในตระกูลกษัตริย์ กรุงพาราณสี ในพุทธุปบาทกาลนี้ ได้นามว่า เมฬชินะ ถึงความสำเร็จในศิลปวิทยา

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้า 28

เป็นผู้ฉลาดปราดเปรื่อง มีนามกระฉ่อนปรากฏไปทั่วทิศ. เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับอยู่ ณ ป่าอิสิปตนะ กรุงพาราณสี เขาไปสู่พระวิหาร เข้าเฝ้าพระศาสดา ฟังธรรมแล้วได้ศรัทธาจิต บวชแล้วเริ่มตั้งวิปัสสนา บรรลุพระอรหัตในวันนั้นเอง. สมดังคาถาประพันธ์ที่ท่านกล่าวไว้ในอปทานว่า

พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้สยัมภู ผู้มีพระรัศมีนับด้วยพัน ไม่ทรงพ่ายแพ้อะไรๆ ทรงออกจากวิเวกแล้ว เสด็จออกโคจรบิณฑบาต เราถือผลไม้อยู่ได้เห็นแล้ว จึงได้เข้าไปเฝ้าพระนราสภ เรามีจิตเลื่อมใส มีใจโสมนัส ได้ถวายผลไม้ ในกัปที่ ๙๔ แต่ภัทรกัปนี้ เราได้ถวายผลไม้ใดในกาลนั้น ด้วยการถวายผลไม้นั้น เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งการถวายผลไม้. เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ฯลฯ คำสอนของพระพุทธเจ้า เรากระทำสำเร็จแล้ว ดังนี้.

ก็พระเถระครั้นบรรลุพระอรหัตแล้ว ในเวลาต่อมา อันภิกษุทั้งหลาย ถามว่า อาวุโส ท่านได้บรรลุอุตริมนุสธรรมแล้วหรือ เมื่อจะบันลือสีหนาท ได้กล่าวคาถา ๒ คาถา ความว่า

เมื่อใด เราได้ฟังธรรมของพระศาสดาผู้ทรงแสดงอยู่ เมื่อนั้น เราไม่รู้สึกความสงสัยในพระศาสดา ผู้รู้ธรรมทั้งปวง ผู้อันใครๆ ชนะไม่ได้ ผู้นำหมู่ แกล้วกล้าเป็นอันมาก ประเสริฐสุดกว่าสารถีทั้งหลาย หรือว่าความสงสัยในมรรคปฏิปทา ย่อมไม่มีแก่เรา.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยทา ได้แก่ ในกาลใด. พระเถระเรียก ตัวเองว่า " เรา ".

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้า 29

บทว่า ธมฺมํ ได้แก่ธรรม คือ อริยสัจ ๔. บทว่า อสฺโสสึ แปลว่า ฟังแล้ว.

บทว่า สตฺถุโน ความว่า ชื่อว่าศาสดา เพราะอรรถว่า ทรงสั่งสอน เวไนยสัตว์ทั้งหลาย ด้วยประโยชน์ทั้งหลาย มีทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์เป็นต้น.

บทว่า กงฺขํ แปลว่า ความสงสัย พระผู้มีพระภาคเจ้าชื่อว่าเป็น สัพพัญญู เพราะอรรถว่า ทรงรู้สังขตธรรมและอสังขคธรรม โดยไม่มีส่วนเหลือ ชื่อว่า อปราชิเต เพราะไม่มีผู้ที่จะทำให้พ่ายแพ้ได้ ไม่ว่าที่ไหนๆ ชื่อว่า สตฺถวาเห เพราะอรรถว่า ขนสัตว์จากกันดาร คือสงสารไปสู่พระนิพพาน. ท่านกล่าวคำอธิบายไว้ดังนี้.

นับจำเดิมแต่เวลาที่พระศาสดาทรงแสดงธรรม เราได้ฟังคือเข้าไปทรงจำ ด้วยการแล่นไปตามแห่งโสตทวาร ได้แก่ ได้รับจตุสัจจธรรม เราไม่มีความสงสัยในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ชื่อว่า ทรงหยั่งรู้พระสัพพัญญุตญาณ โดยไม่มีอะไรขัดขวาง เพราะทรงรู้สมมติธรรมทั้งที่เป็นสังขตะและอสังขตะ โดยไม่มีส่วนเหลือ ด้วยสยัมภูญาณ ชื่อว่า ผู้อันใครๆ ชนะไม่ได้ เพราะ ความเป็นผู้อันมารเหล่านั้นชนะไม่ได้ โดยที่ทรงครอบงำมารแม้ทั้ง ๕ ไว้ได้ และเพราะความเป็นผู้มีจักรคือธรรม อันใครๆ กำจัดไม่ได้ในโลกพร้อมทั้ง เทวโลก ชื่อว่าเป็นผู้นำหมู่ เพราะทรงนำเวไนยสัตว์ให้ผ่านพ้นกันดาร มีโลภกันดารเป็นต้น ชื่อว่าแกล้วกล้าเป็นอันมาก เพราะทรงตัดกำกงแห่งสงสาร อันใหญ่หลวงได้เด็ดขาด ชื่อว่าเป็นผู้ประเสริฐ คือสูงสุดกว่าสารถีทั้งหลาย เพราะทรงเป็นที่พึ่ง คือทรงฝึกบุรุษที่ควรฝึกอันคนอื่นฝึกได้ยาก ได้ด้วยการ ฝึกที่ดีที่สุด ว่าเป็นพระพุทธเจ้า (จริง) หรือหนอ หรือไม่ได้เป็นพระพุทธเจ้า เพราะไม่มีความเคลือบแฝงอย่างอื่นเป็นปัจจัย.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้า 30

ก็ข้อกังขา คือความสงสัยในอริยมรรคอันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแล้วเห็นปานนั้น และในปฏิปทามีศีลเป็นต้น อันเป็นปฏิปทาที่สมควร แก่พระอริยมรรคนั้น ว่า จะเป็นธรรมนำสัตว์ให้พ้นทุกข์ได้จริงหรือไม่หนอ ดังนี้ ย่อมไม่มี คือไม่มีข้อสงสัย. ก็ในบาทคาถานี้ พึงทราบว่า ด้วยการกล่าวถึงความสงสัยในอริยธรรม ก็เป็นอันท่านกล่าวถึงความสงสัยแม้ในพระอริยสงฆ์ ไว้ด้วยแล้วทีเดียว เพราะความเป็นผู้ตั้งอยู่ในมรรคนั้น โดยไม่มีความเป็นอย่างอื่น ฉะนี้แล.

จบอรรถกถาเมฬชินเถรคาถา