พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๘. สุราธเถรคาถา ว่าด้วยคาถาของพระสุราธเถระ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  19 พ.ย. 2564
หมายเลข  40531
อ่าน  361

[เล่มที่ 51] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้า 33

เถรคาถา ทุกนิบาต

วรรคที่ ๑

๘. สุราธเถรคาถา

ว่าด้วยคาถาของพระสุราธเถระ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 51]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้า 33

๘. สุราธเถรคาถา

ว่าด้วยคาถาของพระสุราธเถระ

[๒๖๕] ได้ยินว่า พระสุราธเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้ อย่างนี้ว่า

ชาติของเราสิ้นแล้ว คำสอนของพระชินเจ้า เราอยู่จบแล้ว ข่าย คือ ทิฏฐิและอวิชชา เราละได้แล้ว ตัณหาเครื่องนำไปสู่ภพ เราถอนได้แล้ว เราออกบวช เป็นบรรพชิต เพื่อประโยชน์ใด ประโยชน์นั้นเราได้บรรลุแล้ว ความสิ้นสังโยชน์ทั้งปวง เราก็ได้บรรลุแล้ว.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้า 34

อรรถกถาสุราธเถรคาถา

คาถาของท่านพระสุราธเถระ เริ่มต้นว่า ขีณา หิ มยฺหํ ชาติ. เรื่องราวของท่าน เป็นอย่างไร?

แม้พระเถระนี้ ก็เป็นผู้มีอธิการอันกระทำไว้แล้ว ในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ สั่งสมบุญไว้ในภพนั้นๆ เกิดในเรือนแห่งตระกูล ในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพระนามว่า สิขี บรรลุความเป็นผู้รู้เดียงสาแล้ว วันหนึ่ง เห็นพระศาสดา มีใจเลื่อมใส ได้ถวายผลหมากงั่ว.

ด้วยบุญกรรมนั้น เขาไปบังเกิดในเทวโลก กระทำบุญแล้วท่องเที่ยว วนไปเวียนมาอยู่แต่ในสุคติภพเท่านั้น เกิดเป็นน้องชายของพระราธเถระ ที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้ติดต่อกันเป็นลำดับมา ในพุทธุปบาทกาลนี้ ได้มีนามว่า สุราธะ. เมื่อพระราธเถระผู้เป็นพี่ชายบวชแล้ว แม้ท่านเองก็ออกบวช เจริญวิปัสสนา บรรลุพระอรหัต ต่อกาลไม่นานนัก. สมดังคาถาประพันธ์ที่ท่าน กล่าวไว้ในอปทานว่า

เราได้เห็นสมเด็จพระโลกนาถ ผู้โชติช่วงเหมือนต้นกรรณิการ์ รุ่งเรืองดังพระจันทร์ในวันเพ็ญ และเหมือนต้นไม้ประจำทวีปที่โพลงอยู่ เราเลื่อมใส ได้เอาผลหมากงั่วถวาย แด่พระศาสดาผู้เป็นทักขิไณยบุคคล เป็นวีรบุรุษ ด้วยมือทั้งสองของตน ในกัปที่ ๓๑ แต่ภัทรกัปนี้ เราได้ถวายผลไม้ใดในกาลนั้น ด้วยการถวายผลไม้นั้น เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งการถวายผลไม้ เราเผากิเลสแล้ว ฯลฯ คำสอนของพระพุทธเจ้า เรากระทำสำเร็จแล้ว ดังนี้.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้า 35

ก็พระเถระ ครั้นบรรลุพระอรหัตแล้ว เมื่อจะพยากรณ์พระอรหัตตผล เพื่อแสดงความที่คำสั่งสอนเป็นนิยยานิกธรรม (นำสัตว์ออกจากทุกข์) จึงได้ กล่าวคาถา ๒ คาถา ความว่า

ชาติของเราสิ้นแล้ว คำสอนของพระชินเจ้า เราอยู่จบแล้ว ข่ายคือทิฏฐิและอวิชชา เราละได้แล้ว ตัณหาเครื่องนำไปสู่ภพ เราถอนได้แล้ว เราออกบวช เป็นบรรพชิต เพื่อประโยชน์อันใด ประโยชน์นั้นเราได้บรรลุแล้ว ความสิ้นสังโยชน์ทั้งปวง เราก็ได้บรรลุ แล้ว ดังนี้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ขีณา ความว่า ถึงแล้วซึ่งความสิ้นไป คือความสิ้นสุด. บทว่า ชาติ ได้แก่ ภพ หรือการบังเกิดในภพ. บทว่า วุสิตํ ชินสาสนํ ความว่า คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่า ชินะ ได้แก่ มรรคพรหมจรรย์ อันเราอยู่แล้ว คืออยู่จบแล้ว. บทว่า ปหีโน ชาลสงฺขาโต ความว่า ทิฏฐิและอวิชชา ที่มีนามอันได้แล้วว่า ชาลสังขาตะ เพราะครอบงำสันดานของสัตว์ และไม่ให้ (โอกาส) เพื่อจะถอนขึ้น อันเราละแล้ว คือถอนขึ้นแล้วด้วยมรรค. บทว่า ภวเนตฺติ สมูหตา ความว่า ตัณหาที่หมายรู้กันว่า นำสัตว์ไปสู่ภพ เพราะนำสัตว์ไปสู่ภพมีกามภพเป็นต้น คือ ยังสัตว์ให้หมุนเป็นไป อันเราเพิกถอนแล้ว. บทว่า ยทตฺถาย ปพฺพชิโต ความว่า เราออกบวช คือ ออกจากเรือน บรรพชา คือบวช เป็นบรรพชิต เพื่อประโยชน์ใด คือเพื่อผลอันใด.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้า 36

อธิบายว่า ประโยชน์ คือประโยชน์อย่างยิ่ง กล่าวคือพระนิพพาน และประโยชน์ของตน กล่าวคือพระอรหัต อันเป็นธรรมเครื่องสิ้นไปแห่งสังโยชน์ทั้งหลาย ต่างโดยโอรัมภาคิยสังโยชน์และอุทธัมภาคิยสังโยชน์ทั้งปวง อันเป็นเครื่องพันธนาการ อันเราบรรลุแล้วโดยลำดับ คือถึงแล้ว.

จบอรรถกถาสุราธเถรคาถา