พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๕. สัพพมิตตเถรคาถา ว่าด้วยคาถาของพระสัพพมิตตเถระ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  19 พ.ย. 2564
หมายเลข  40539
อ่าน  348

[เล่มที่ 51] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้า 66

เถรคาถา เอกนิบาต

วรรคที่ ๒

๕. สัพพมิตตเถรคาถา

ว่าด้วยคาถาของพระสัพพมิตตเถระ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 51]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้า 66

๕. สัพพมิตตเถรคาถา

ว่าด้วยคาถาของพระสัพพมิตตเถระ

[๒๗๒] ได้ยินว่า พระสัพพมิตตเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้ อย่างนี้ว่า

คนเกี่ยวข้องในคน คนยินดีกะคน คนถูกคนเบียดเบียน และคนเบียดเบียนคน ก็จักต้องการอะไรกับคน หรือกับสิ่งที่คนทำให้เกิดแล้วแก่คนเล่า ควรละคนที่เบียดเบียนคนเป็นอันมากไปเสีย.

อรรถกถาสัพพมิตตเถรคาถา

คาถาของท่านพระสัพพมิตตเถระ เริ่มต้นว่า ชโน ชนมฺหิ สมฺพทฺโธ เรื่องราวของท่านเป็นอย่างไร?

แม้พระเถระนี้ ก็เป็นผู้มีอธิการอันกระทำแล้วในพระพุทธเจ้าองค์ ก่อนๆ สั่งสมบุญไว้ในภพนั้นๆ เกิดในตระกูลของนายพราน ในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพระนามว่า ติสสะ ในกัปที่ ๙๒ แต่ภัทรกัปนี้ เป็นพรานป่า ฆ่าเนื้อในป่ากินเนื้อเลี้ยงชีวิต.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้า 67

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อจะทรงอนุเคราะห์เขา จึงทรงแสดงรอยพระบาท ไว้ในที่ใกล้ที่เขาอยู่ ๓ รอย แล้ว เสด็จหลีกไป. เขา เห็นรอยพระบาท มีเครื่องหมายเป็นรูปกงจักร เพราะมีการสั่งสมอันกระทำไว้ในพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายในอดีตกาล มีใจเลื่อมใส ทำการบูชาด้วยดอกหงอนไก่ บังเกิดในภพดาวดึงส์ด้วยบุญกรรมนั้น ท่องเที่ยวไปๆ มาๆ อยู่แต่ในสุคติภพเท่านั้น บังเกิดในตระกูลพราหมณ์ ในพระนครสาวัตถี ใน พุทธุปบาทกาลนี้ ได้มีนามว่า สัพพมิตตะ. เขาบรรลุความเป็นผู้รู้เดียงสาแล้ว เห็นพุทธานุภาพ ในคราวที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับมอบพระวิหาร ชื่อว่า เชตวัน เป็นผู้มีศรัทธาจิต บวชแล้ว เรียนกรรมฐานอยู่ในป่า เข้าจำพรรษา แล้วออกพรรษาแล้ว ไปสู่พระนครสาวัตถี เพื่อถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้เห็นลูกเนื้อติดอยู่ในบ่วง ที่นายพรานเนื้อดักไว้ในระหว่างทาง ส่วน นางเนื้อผู้เป็นแม่ของลูกเนื้อนั้น ไม่ติดบ่วง (และ) ไม่หนีไปไกล เพราะความรักห่วงใยในลูก (แต่) ไม่กล้าเข้าไปใกล้บ่วง เพราะกลัวตาย ส่วนลูกเนื้อหวาดกลัว ดิ้นวนไปวนมาข้างโน้น ข้างนี้ ร้องขอความกรุณา. พระเถระ เห็นดังนั้นแล้วคิดว่า โอ! ทุกข์ของสัตว์ทั้งหลาย มีความรักห่วงใยเป็นเหตุ ดังนี้ แล้วเดินต่อไป ต่อจากนั้นเมื่อโจรจำนวนมาก จับบุรุษคนหนึ่งได้ เอาฟ่อนฟางพันร่างกาย เผาทั้งเป็น และเห็นบุรุษนั้นร้องเสียงดังลั่น อาศัยเหตุ ๒ อย่างนั้น เกิดความสลดใจ เมื่อโจรทั้งหลายกำลังฟังอยู่นั้นแล ได้กล่าว คาถา ๒ คาถา ความว่า

คนเกี่ยวข้องในคน คนยินดีกะคน คนถูกคนเบียดเบียน และคนเบียดเบียนคน ก็จักต้องการอะไรกับคน หรือกับสิ่งที่คนทำให้เกิดแล้วแก่คนเล่า ควรละคนที่เบียดเบียนคนเป็นอันมากไปเสีย ดังนี้.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้า 68

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ชโน ได้แก่ คนอันธพาล. บทว่า ชนมฺหิ ได้แก่ ในคนอื่น. บทว่า สมฺพทฺโธ ได้แก่ เกี่ยวข้องด้วยเครื่องเกี่ยวข้องคือตัณหา คือเกี่ยวข้องผูกพัน โดยนัยเป็นต้นว่า ผู้นี้เป็นบุตรของเรา ผู้นี้เป็นมารดาของเรา.

อีกอย่างหนึ่ง ปาฐะ อย่างนี้นั่นแหละ (แต่) มีความหมายว่า มีจิตผูกพันอย่างนี้ว่า คนเหล่านี้เลี้ยงดูเรามา เราอาศัยคนเหล่านี้เลี้ยงชีพ.

บทว่า ชนเมวสฺสิโต ชโน ความว่า คนอื่นยินดี คือติดแน่นแล้วด้วยตัณหา ได้แก่ กำหนดยึดถือเอาคนอื่นนั่นแลโดยนัยมีอาทิว่า ผู้นี้ เป็นธิดาของเรา.

บทว่า ชโน ชเนน เหฐียติ เหเติ จ ชโน ชนํ ความ ว่า คนยินดีกะคน ด้วยสามารถแห่งความโลภ เพราะกัมมัสสกตาญาณ และ เพราะความไม่มีความรู้ตามความเป็นจริง ฉันใด คนถูกคนอื่นเบียดเบียน คือ ขัดขวาง ด้วยอำนาจโทสะก็ฉันนั้น และคนเมื่อไม่รู้ว่า กรรมที่เราทำนี้นั้น จักเป็นกรรมตกทอดถึงเราเอง โดยเป็นผลสืบเนื่องจากการเบียดเบียนที่รุนแรงขึ้น ดังนี้ จึงเบียดเบียนกันเอง. บทว่า โก หิ ตสฺส ชเนนตฺโถ ความว่า คนที่ยินดีกันด้วยอำนาจแห่งตัณหา หรือเบียดเบียนกันด้วยอำนาจแห่งโทสะ จะเกิดประโยชน์อะไรแก่คนอื่นเล่า?

บทว่า ชเนน ชนิเตน วา ความว่า หรือคนที่เป็นมารดา บิดา มีหน้าที่ยังคนอื่นให้เกิดนั้นจะมีประโยชน์อะไร? บทว่า ชนํ โอหาย คจฺฉํ ตํ เหยิตฺวา พหุํ ชนํ ความว่า เพราะเหตุที่ข้อปฏิบัติของคน ผู้เที่ยวไปในสงสาร มีลักษณะอย่างนี้เหมือนกันหมด ฉะนั้น ควรละคนชนิดนั้น เสีย คือ ตัณหาที่เบียดเบียนคนก็ดี โทสะที่ประทุษร้ายกันนั้นก็ดี เบียดเบียนคนเป็นอันมากแล้วตั้งอยู่ พึงละ คือทิ้งตัณหาและโทสะนั้นโดยประการทั้งปวงแล้วไปเสีย. อธิบายว่า พึงถึง คือบรรลุฐานะที่คนเหล่านั้น ตามเข้าไปประทุษร้ายไม่ได้.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้า 69

ก็พระเถระครั้นกล่าวอย่างนั้นแล้ว ขวนขวายวิปัสสนา บรรลุพระอรหัตแล้วในขณะนั้นเอง. สมดังคาถาประพันธ์ที่ท่านกล่าวไว้ ในอปทานว่า

เมื่อก่อนเรากับบิดาและปู่ เป็นคนทำการงานในป่า เลี้ยงชีพด้วยการฆ่าปศุสัตว์ กุศลกรรมของเราไม่มี ใกล้กับที่อยู่ของเรา พระพุทธเจ้าผู้นำชั้นเลิศของโลก พระนามว่าติสสะ ผู้มีพระปัญญาจักษุ ได้ทรงแสดงรอยพระบาทไว้ ๓ รอย เพื่ออนุเคราะห์ ก็เราได้เห็นรอยพระบาทของพระศาสดา พระนามว่าติสสะ ที่พระองค์ทรงเหยียบไว้ เป็นผู้ร่าเริง มีจิตยินดี ยังจิตให้เลื่อมใสในรอยพระบาท เราเห็นต้นหงอนไก่ ที่ขึ้นมาจากแผ่นดิน มีดอกบานแล้ว จึงเด็ดมาพร้อมทั้งยอด บูชารอยพระบาทอันประเสริฐสุด เพราะกรรมที่เราทำไว้แล้วดีนั้น และเพราะความตั้งเจตนาไว้ เราละร่างมนุษย์แล้ว ไปสู่ดาวดึงส์พิภพ เราเข้าถึงกำเนิดใดๆ คือเป็นเทวดาหรือมนุษย์ ใน กำเนิดนั้นๆ เรามีผิวกายเหมือนสีดอกหงอนไก่ มีรัศมีเป็นแดนซ่านออกจากตน ในกัปที่ ๙๒ แต่ภัทรกัปนี้ เราได้ทำกรรมใดในกาลนั้น ด้วยกรรมนั้น เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งการบูชารอยพระพุทธบาท. เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ฯลฯ คำสอนของ พระพุทธเจ้า เรากระทำสำเร็จแล้ว ดังนี้.

ก็โจรเหล่านั้น ฟังธรรมในสำนักของพระเถระแล้ว เกิดความสลดใจ บวชแล้ว พากันปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ฉะนี้แล.

จบอรรถกถาสัพพมิตตเถรคาถา