พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๖. มหากาฬเถรคาถา ว่าด้วยคาถาของพระมหากาฬเถรคาถา

 
บ้านธัมมะ
วันที่  19 พ.ย. 2564
หมายเลข  40540
อ่าน  429

[เล่มที่ 51] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้า 70

เถรคาถา เอกนิบาต

วรรคที่ ๒

๖. มหากาฬเถรคาถา

ว่าด้วยคาถาของพระมหากาฬเถรคาถา


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 51]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้า 70

๖. มหากาฬเถรคาถา

ว่าด้วยคาถาของพระมหากาฬเถรคาถา

[๒๗๓] ได้ยินว่า พระมหากาฬเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้ อย่างนี้ว่า

หญิงชื่อ กาฬี มีร่างกายใหญ่ ดำดังกา หักขาซ้าย ขาขวา แขนซ้ายแขนขวา และทุบศีรษะของซากศพ ให้มันสมองไหลออก ดังหม้อทธิ แล้ววางไว้ตามเดิม นั่งอยู่ ผู้ใดไม่รู้แจ้ง เป็นคนเขลา ก่อให้เกิดกิเลส ผู้นั้นย่อมเข้าถึงทุกข์ร่ำไป เพราะฉะนั้น บุคคลรู้ว่า อุปธิเป็นเหตุเกิดทุกข์ จึงไม่ควรก่อให้เกิดกิเลส เราอย่าถูกเขาทุบศีรษะ นอนอยู่อย่างนี้ อีกต่อไป.

อรรถกถามหากาฬเถรคาถา

คาถาของท่านพระมหากาฬเถระ เริ่มต้นว่า กาฬี อิตฺถี. เรื่องราว ของท่านเป็นอย่างไร?

แม้พระเถระนี้ ก็สั่งสมบุญไว้ในภพนั้นๆ ในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ เกิดในเรือนแห่งตระกูล ในกัปที่ ๙๑ แต่ภัทรกัปนี้ บรรลุนิติภาวะแล้ว ไปป่า ด้วยกรณียกิจบางอย่าง เห็นผ้าบังสุกุลจีวรห้อยอยู่ที่กิ่งไม้ มีจิตเลื่อมใสว่า ผ้ากาสาวพัสตร์ อันเป็นธงชัยของพระอริยเจ้าห้อยอยู่ แล้วเก็บเอาดอกกระดึง มาบูชาผ้าบังสุกุลจีวร.

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้า 71

ด้วยบุญกรรมนั้น เขาท่องเที่ยวไปในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย บังเกิดในตระกูลของพ่อค้าเกวียน ในเสตัพยนคร ในพุทธุปบาทกาลนี้ ได้มี นามว่า มหากาฬ บรรลุนิติภาวะแล้ว อยู่ครองเรือน บรรทุกสินค้าด้วย เกวียน ๕๐๐ เล่ม ไปสู่พระนครสาวัตถี ด้วยกิจของการค้า พักกองเกวียนไว้ ณ ที่แห่งหนึ่ง บรรเทาความเหน็ดเหนื่อยในการเดินทาง นั่งอยู่กับบริษัทของตน เห็นพวกอุบาสก ถือเอาของหอมและระเบียบเป็นต้น ไปสู่พระเชตวันวิหาร ในเวลาเย็น แม้ตนเองก็ไปสู่วิหารกับพวกอุบาสกเหล่านั้น ฟังธรรมในสำนักของพระศาสดาแล้ว เป็นผู้ที่จิตศรัทธาบวชแล้ว อธิษฐานโสสานิกังคธุดงค์ (ธุดงค์คือการถืออยู่ป่าช้าเป็นวัตร) แล้วอยู่ในป่าช้า.

ครั้นวันหนึ่ง มีหญิงคนหนึ่งนามว่า กาฬี เป็นคนเผาศพ (สัปเหร่อ) หักขา หักแขน ของศพที่ตายใหม่ๆ อย่างละ ๒ ข้าง และทุบศีรษะให้ มันสมองไหลออกดังหม้อทธิ แล้วต่ออวัยวะทุกชิ้นส่วนให้เหมือนเดิม เพื่อให้พระเถระปลงกรรมฐาน ตั้งไว้ให้พระเถระพิจารณา ในที่สำหรับประกอบความเพียร แล้วนั่ง ณ ที่ส่วนข้างหนึ่ง. พระเถระเห็นชิ้นส่วนของซากศพแล้ว เมื่อจะสอนตน ได้กล่าวคาถา ๒ คาถา ความว่า

หญิงชื่อกาฬี มีร่างกายใหญ่ ดำดังกา หักขาซ้าย ขาขวา แขนซ้ายแขนขวา และทุบศีรษะของซากศพ ให้มันสมองไหลออกดังหม้อทธิ แล้ววางไว้ตามเดิม นั่งอยู่ ผู้ใดแลไม่รู้แจ้ง เป็นคนเขลาก่อให้เกิดกิเลส ผู้นั้นย่อมเข้าถึงทุกข์ร่ำไป เพราะฉะนั้น บุคคลรู้ว่า อุปธิเป็นเหตุเกิดทุกข์ จึงไม่ควรก่อกิเลสให้เกิด เราอย่าถูกเขาทุบศีรษะ นอนอยู่อย่างนี้อีกต่อไป ดังนี้.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้า 72

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กาฬี เป็นชื่อของหญิงนั้น. อีกอย่างหนึ่ง ท่านเรียกชื่อ (ว่ากาฬี) อย่างนี้ เพราะความเป็นหญิง มีร่างกายสีดำ

บทว่า พฺรหตี ได้แก่ มีร่างกายใหญ่ คือมีร่างกายกำยำล่ำสัน.

บทว่า ธงฺกรูปา ความว่า ชื่อว่า มีรูปเหมือนกา เพราะมีร่างกาย สีดำนั่นเอง.

บทว่า สตฺถิญฺจ เภตฺวา ความว่า หักขาซ้ายของคนตาย โดยวิธี หักด้วยเข่า.

บทว่า อปรญฺจ สตฺถึ ความว่า และหักขาขวาอีกด้วย. บทว่า พาหญฺจ เภตฺวา ความว่า หักกระดูกแขนที่ปลายแขน นั่นแหละ.

บทว่า สีลญฺจ เภตฺวา ทธิกาลกํว ความว่า ทุบศีรษะของซากศพ เหมือนหม้อใส่นมส้ม ที่ไหลเยิ้มออกเพราะถูกทุบด้วยก้อนดินและท่อนไม้ นั่นเทียว อธิบายว่า ทุบให้มีมันสมองไหลออก.

บทว่า เอสา นิสินฺนา อภิสนฺทหิตฺวา ความว่า รวบรวมซากศพ ที่มีอวัยวะถูกตัด ถูกหัก (กระจัดกระจาย) อยู่นั่นแล ทำให้ติดต่อกัน โดย วางอวัยวะเหล่านั้นไว้ในตำแหน่งเดิมนั่นแหละ เหมือนกองทิ้งอยู่ตลาดเนื้อสด นั่งอยู่แล้ว.

บทว่า โย เอว อวิทฺวา อุปธึ กโรติ ความว่า บุคคลใดแม้เห็นกรรมฐาน อันปรากฏโดยสภาพของซากศพนี้แล้ว (แต่) ไม่รู้แจ้ง ไม่ฉลาด ทิ้งกรรมฐาน ยังอุปธิคือกิเลสให้เกิด โดยไม่กระทำไว้ในใจโดยแยบคาย บุคคลนั้นเป็นคนเขลา คือมีปัญญาอ่อน ชื่อว่าย่อมเข้าถึงทุกข์ ในอบายมีนรก เป็นต้น บ่อยๆ คือ วนไปเวียนมา เพราะยังไม่ล่วงพ้นสงสาร. เพราะฉะนั้น บุคคลรู้ว่าอุปธิเป็นเหตุเกิดทุกข์ จึงไม่ควรก่อกิเลสให้เกิด.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้า 73

บทว่า ตสฺมา ได้แก่ เพราะเหตุนั้นเป็นอย่างนี้.

บทว่า ปชานํ อุปธึ ความว่า บุคคลใดรู้ว่า อุปธิเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ กระทำไว้ในใจโดยแยบคาย ไม่พึงกระทำ คือไม่พึงก่ออุปธิให้เกิด. เพราะเหตุไร? เพราะเราอย่าถูกเขาทุบศีรษะ นอนอยู่อย่างนี้อีกต่อไป. อธิบายว่า ซากศพนี้ถูกเขาทุบศีรษะ นอนอยู่ฉันใด เราอย่าเป็นคนรกป่าช้า ถูกทุบศีรษะ นอนอยู่ ด้วยการบังเกิดขึ้นบ่อยๆ ในสงสาร ด้วยการก่ออุปธิคือกิเลสเหมือนอย่างนั้นเลย. เมื่อพระเถระกล่าวสอนตนอยู่อย่างนี้แล ขวนขวายวิปัสสนา บรรลุพระอรหัตแล้ว. สมดังคาถาประพันธ์ที่ท่านกล่าวไว้ในอปทานว่า

ในที่ไม่ไกลภูเขาหิมวันต์ มีภูเขาลูกหนึ่งชื่อ อุทังคณะ ที่ภูเขานั้น เราได้เห็นผ้าบังสุกุลจีวร ห้อยอยู่บนยอดไม้ ครั้งนั้น เราร่าเริง มีจิตยินดี เลือกเก็บดอกกระดึงทอง ๓ ดอก มาบูชาผ้าบังสุกุลจีวร ด้วยกรรมที่ทำไว้ดีแล้วนั้น และด้วยการตั้งเจตน์จำนงไว้ เราละร่างมนุษย์แล้วได้ไปสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ในกัปที่ ๙๑ แต่ภัทรกัปนี้ เราได้ทำกรรมใดในกาลนั้น เพราะบูชาผ้าบังสุกุลจีวร อันเป็นธงชัยของพระอรหันต์ เราไม่รู้จักทุคติเลย. เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ฯลฯ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เรากระทำสำเร็จแล้ว ดังนี้.

จบอรรถกถามหากาฬเถรคาถา